จิ้งโกร่ง เลี้ยงเป็นอาชีพเสริมได้ เลี้ยงเป็นอาชีพหลักดี

ปัจจุบันประชากรของโลกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาหารที่ใช้บริโภคก็ต้องเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเงาตามตัว องค์การอาหารและยาของสหประชาชาติมีความกังวลเรื่องว่าอาหารที่ใช้บริโภคอาจขาดแคลนในอนาคต การผลิตโปรตีนจากสัตว์เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทรัพยากรมาก อาจมีต้นทุนสูงขึ้นจนทำให้อาหารโปรตีนเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนโดยทั่วถึงกัน แมลงจึงเป็นตัวเลือก

ในโลกนี้มีแมลงเกือบ 1,000 สายพันธุ์ที่มนุษย์ใช้บริโภคกัน ในประเทศสหรัฐอเมริกาการบริโภคแมลงเพิ่งเริ่มต้นในปี 2554 และในปี 2558 ก็ได้ทำเป็นธุรกิจ ได้มีการตอบรับอย่างกว้างขวาง ในต่างประเทศแมลงที่นำมาทำเป็นอาหารนี้จะต้องเป็นฟาร์มที่มีมาตรฐานความปลอดภัย GAP เท่านั้นจึงจะนำมารับประทานได้ แมลงที่อยู่ในธรรมชาติไม่สามารถนำมาผลิตเป็นอาหารได้

ประเทศไทยมีการบริโภคแมลงกันมาช้านานแล้ว ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรพบว่า ประเทศไทยมีแมลงที่มีคุณค่าอาหารร้อยกว่าชนิดที่นิยมบริโภค แมงอินูน แมงกุดจี่ แมงดานา ตัวอ่อนผึ้ง มดแดง ตัวอ่อนของต่อหัวเสือ จิ้งโกร่ง จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงกระชอน แมลงตับเต่าหรือด้วงติ่ง แมลงเม่า หนอน หนอนไหม ด้วงมะพร้าวหรือด้วงสาคู โดยที่อำเภออรัญประเทศ เป็นแหล่งนำเข้าแมลงจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำมาบริโภคภายในประเทศมูลค่าหลายล้านต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแมลงจากธรรมชาติ

 

คุณธเนศและภรรยา

เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม

จิ้งโกร่งเป็นแมลงชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมบริโภคเนื่องจากมีตัวขนาดใหญ่กว่าจิ้งหรีดและรสชาติอร่อยกว่า คุณธเนศ วงษ์สมบูรณ์ หรือ แจ็ค อาศัยอยู่ที่หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี กล่าวความเป็นมาในเรื่องนี้ว่า “ผมมีอาชีพเกษตร ในพื้นที่ 20 ไร่ ได้ปลูกข้าวโพด 10 ไร่ ปลูกมันสำปะหลัง 10 ไร่ มาตลอดระยะเวลาหลายปี แต่ยิ่งทำยิ่งมีหนี้ ต้องกู้ยืมจาก ธ.ก.ส. มาตลอดทำให้เป็นหนี้สะสม จึงมองหาอาชีพเสริมเพื่อเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติมในครอบครัว ได้ซื้อแพะมาเลี้ยงเพราะราคาค่อนข้างดี แต่ระยะเวลาจะต้องรอยาวนานกว่าจะได้ผลผลิต

ต่อมาได้ไปศึกษาดูงานที่ฟาร์มจิ้งโกร่ง ของ ป้าบัวผิน ที่หมู่บ้านวังอ่าง ตำบลหัวลำ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ซึ่งเลี้ยงจิ้งหรีดส่งบริษัทที่รับซื้อ จริงแล้ว ธ.ก.ส. มีโควต้าจะให้เงินกู้เพื่อเลี้ยงจิ้งหรีด แต่ผมยื่นเอกสารไม่ทัน จึงต้องใช้ทุนของตัวเอง ครั้งแรกทดลองเลี้ยงซื้อมา 4 ขัน เป็นเงิน 1,000 บาท และลงทุนทำกล่องอีกกล่องละ 1,000 บาท จำนวน 2 กล่อง เนื่องจากเป็นการเลี้ยงครั้งแรกและใช้จำนวนไข่มีน้อยจึงได้ผลผลิตทั้งสองกล่องเพียง 37 กิโลกรัม แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เลี้ยงต่อไป”

 

ตัวอ้วนคือตัวเมีย ตัวผอมคือตัวผู้

จิ้งโกร่งกำลังวางไข่

ขั้นตอนการเลี้ยง

เมื่อได้ไข่จิ้งโกร่งในขันที่มีอายุประมาณ 8 วัน หรือเริ่มเห็นตัวอ่อนก็จะนำมาใส่กล่อง โดยเราจะใส่แผงไข่จำนวน 150 ใบ ซึ่งปกติจะใช้แค่เพียง 100 ใบ ต่อครึ่งกล่อง แต่คุณแจ็คเห็นว่าถ้าใส่มากจะทำให้ตัวอ่อนที่เพิ่งลอกคราบมีซอกมีมุมที่จะหลบซ่อนจากตัวที่แข็งแรงกว่าที่จะมากินได้มากกว่า จึงใส่ให้แน่นกว่าปกติ แผงไข่จะถูกวางตะแคงและวางไว้เพียงด้านเดียว แล้วจะตัดไม้ไผ่ให้ยาวเท่ากับความยาวของกล่องวางไว้บนพื้นกล่อง 4 อัน เพื่อให้เมื่อเวลาวางแผงไข่จะไม่จมลงไป ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีกข้างจะเอาหนังสือพิมพ์ฉีดน้ำให้เปียกพอประมาณด้วยหัวฉีดพ่นฝอย ปูให้เต็มพื้นที่ แล้วนำไข่ที่อยู่ในขันโรยลงบางๆ เกลี่ยให้เสมอกัน โดย 1 กล่อง ใช้ไข่จำนวน 4 ขัน แล้วเอาพลาสติกขาวใสคลุมอีกชั้นเฉพาะที่โรยไข่

มุ้งเขียวกันแมลงรบกวน บนกระดาษขาวคืออาหาร

หลังจากนั้น จะเอากระดาษหนังสือพิมพ์ปิดอีกทีพร้อมฉีดน้ำพ่นฝอยให้เปียกพอประมาณ นำต้นกล้วยที่หั่นไว้เป็นชิ้นยาวประมาณ 5 เซนติเมตร มาวางโดยรอบไข่ที่โรยไว้ และโรยอาหารบางๆ ไว้ให้ตัวอ่อน  ส่วนใบมันสำปะหลังจะวางไว้ข้างหยวกกล้วยอีกที ส่วนน้ำจะฉีดไม่ให้โดนอาหารจะเน้นฉีดที่ใบมันแทน ตอนที่จิ้งโกร่งตัวเล็กจะฉีดวันละ 4 ครั้ง คือ เช้า สาย บ่าย เย็น และเพิ่มการฉีดน้ำขึ้นเรื่อยๆ ตามขนาดตัว จนกระทั่งมากสุด 10 ครั้ง ต่อวัน และในช่วงกลางคืนอีก 2 ครั้ง คือตอนหัวค่ำและ 4 ทุ่ม การฉีดจะเน้นการฉีดบ่อยแต่ครั้งละไม่มากเกินไป

แผงไข่สำหรับอาศัย
จิ้งโกร่งวัยอ่อนกินอาหารสำเร็จรูป

เลี้ยง 60 วัน ก็ได้เงิน

ในช่วงตัวเล็กอาหารที่ให้จะใช้เวลาหลายวันจึงจะหมด ในช่วงประมาณ 1 เดือนไปแล้วจิ้งโกร่งจะเริ่มกินเยอะขึ้น อาหารที่ให้จะเพิ่มปริมาณขึ้นโดยจะให้ 2 ครั้ง ในตอนเช้าซึ่งจะหมดในตอนเย็น และช่วงเย็นให้อีกรอบซึ่งจะถูกกินหมดในคืนนั้น หรือสังเกตว่าจะให้อาหารก็ต่อเมื่ออาหารหมด ถ้าเราใส่อาหารทบลงไปเรื่อยๆ จะทำให้อาหารเป็นเชื้อรา เมื่ออายุครบ 1 เดือนจะนำแผงไข่มาวางเพิ่มขึ้นอีก 150 แผงเพื่อให้เต็มกล่อง จิ้งโกร่งจะมีที่อาศัยเพิ่มและในช่วงเป็นตัวอ่อนจะมีที่ซ่อนให้พ้นจากอันตรายจากการกัดกินกันเองได้มากขึ้น ในช่วงนี้จะถือโอกาสทำความสะอาดกล่องโดยเก็บเศษอาหารหรือขี้จิ้งโกร่งออกจากกล่องให้หมด ในชีวิตของจิ้งโกร่งจะจับจะลอกคราบถึง 8 ครั้ง การลอกคราบครั้งสุดท้ายจิ้งโกร่งจะตัวขาวกว่าปกติในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ถูกกินได้ง่ายเมื่ออายุครบ 60 วันจิ้งโกร่งจะโตเต็มที่ เราสามารถจับขายได้ในช่วงเวลานี้ แต่ก่อนจับประมาณ 2 วัน ใบมันสำปะหลังจะถูกเก็บขึ้นหมด โดยจะเปลี่ยนเป็นกล้วย ฟักทอง มะม่วงสุก หั่นเป็นชิ้นบางๆ ให้จิ้งโกร่งแทน เพื่อให้จิ้งโกร่งมีกลิ่นและรสชาติที่ดี

ล้างจนสะอาด

 วิธีการจับ

จิ้งโกร่งจะโตเต็มวัยช่วง 55-60 วัน เมื่อสังเกตเห็นว่าจิ้งโกร่งส่วนใหญ่จะโตเต็มวัยแล้ว ก็จะนำถังพลาสติกมาวางไว้ในกล่อง จับแผงไข่ขึ้นมาทีละแผง พลิกเบาๆ ให้ขี้จิ้งโกร่งที่ติดค้างข้างแผงออกไป แต่จิ้งโกร่งส่วนใหญ่จะเกาะแผงอยู่ แล้วจึงนำมาเคาะใส่ถังพลาสติกจนจิ้งโกร่งออกจากแผงหมดก็เก็บแผงมาไว้ด้านนอก ทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจำนวนจิ้งโกร่งจะได้ครึ่งถัง แล้วนำไปสู่ขั้นตอนต่อไป ส่วนจิ้งโกร่งในถังก็จะถูกเก็บไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดเมื่อจำนวนจิ้งโกร่งได้ครึ่งถังก็นำไปเทในกะละมังขนาดใหญ่ซึ่งเตรียมไว้ 4 กะละมัง แช่ไว้ประมาณนาทีเดียวก็ตักมาใส่กะละมังที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 สุดท้าย สิ่งสกปรกที่ติดอยู่ก็จะหมดไป แล้วใส่ตะแกรงพักไว้ให้สะเด็ดน้ำ ต้มน้ำเปล่าในกระทะให้เดือดแล้วใส่ตัวจิ้งโกร่งที่ล้างสะอาดดีแล้วลงในกระทะ ใช้เวลาประมาณ 1 นาทีก็เอากระชอนตักมาวางบนโต๊ะที่ทำเป็นตะแกรง เพื่อทำการคัดแยก จิ้งโกร่งบางตัวที่ยังลอกคราบไม่เต็มวัยเนื่องจากเมื่อบรรจุถุง ตัวที่ยังโตไม่เต็มวัย ซึ่งมีเนื้ออ่อนจะยุ่ยทำให้ตัวอื่นเสียไปด้วยจึงต้องคัดทิ้งและตัวที่มีขนาดเล็กก็ต้องคัดทิ้งเช่นกัน หลังจากนั้น จะนำมาชั่งเป็นถุง น้ำหนักถุงละ 1 กิโลกรัม ส่วนที่แม่ค้ามารับจะบรรจุถุงละ 10 กิโลกรัม แล้วนำไปแช่น้ำแข็งไว้เพื่อให้สดอยู่ตลอดเวลา ราคาขายปลีกหน้าฟาร์มอยู่ที่ 150 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาขายส่ง 130 บาท ต่อกิโลกรัม ผลผลิตของฟาร์มจะได้เฉลี่ยกล่องละ 25 กิโลกรัม

 

กล่องจิ้งโกร่ง

ใส่น้ำมันเครื่อง รองขากล่อง

การสร้างกล่องแบบประหยัด

กล่องที่สร้างนี้จะใช้เหล็กกล่องขนาด 6 หุน ราคาประมาณ 108 บาท ใช้จำนวน 4 เส้น แผ่นสมาร์ทบอร์ดจะใช้ 2 แผ่นครึ่งพอดีสำหรับ 1 กล่อง ซึ่งกล่องจะมีความยาวเท่ากับ 240 เซนติเมตร กว้าง 120 เซนติเมตร สูง 60 เซนติเมตร ราคาแผ่นละ 122 บาท กาวซิลิโคน หลอดละ 80 บาท ส่วนขารองทั้งสี่ใช้ขวดน้ำอัดลมตัดแล้วใส่น้ำมันเครื่องไม่ให้มดไต่เข้ามาทำอันตรายตัวอ่อนได้ ส่วนด้านบนใช้ผ้ามุ้งเขียวไนล่อนสีฟ้ากว้างประมาณ 150 เซนติเมตร ครอบกล่องอีกที ใช้ท่อพีวีซีผ่าครอบไว้ไม่ให้ผ้ามุ้งปลิว ส่วนด้านในกล่องห่างจากขอบบนประมาณ 1 คืน ให้ติดเทปสีที่มีคุณสมบัติลื่นๆ เพื่อไม่ให้ตัวจิ้งโกร่งปีนออกมา ราคาของกล่องจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท ต่อกล่อง

 

เทปลื่นกันปีนรอบกล่อง
ล้างในน้ำสะอาด

ท่านใดสนใจต้องการเลี้ยงและซื้อลูกพันธุ์สามารถติดต่อได้ที่ คุณธเนศ วงษ์สมบูรณ์ หรือ แจ็ค หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เบอร์โทร. (062) 560-7986 ในราคาขายลูกจิ้งโกร่งขันละ 250 บาท ค่าส่งต่างหาก

คัดแล้วรอบรรจุ
แพ็กละ 1 กิโลกรัม

…………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อ