พระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง ชูต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL สู่ร้าน KMITL organic shop สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน กระแสรักสุขภาพและการรับประทานอาหารที่ปลอดภัยกำลังได้รับความนิยม โดยผู้บริโภคได้เล็งเห็นถึงการเลือกซื้อวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร ต้องไม่มีสารปนเปื้อน ทั้งสารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง และปุ๋ยเคมี ซึ่งล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค จึงทำให้การผลิตพืชผักในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้

ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้จัดตั้งโครงการ “ต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL” (The KMITL organic agriculture model) เพื่อพัฒนาการทำเกษตรอินทรีย์ให้เกิดความยั่งยืน โดยนำวิทยาการและองค์ความรู้ต่างๆ ของสถาบันฯ ที่มีความพร้อมในทุกด้านมาเป็นกำลังสำคัญในการผลิตพืชผักในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างเป็นต้นแบบให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจได้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ที่ถูกต้องและเป็นอาชีพที่ยั่งยืน

ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สถาบันฯ มีความพร้อมในเรื่องงานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆ โดยคณะวิทยาศาสตร์ ได้ใช้แนวคิดด้านวิทยาศาสตร์นาโนเทคโนโลยีเคมีหรือด้านฟิสิกส์ และด้านคณิตศาสตร์ เข้ามาช่วยทำการเกษตรให้ปลอดสารและมีประสิทธิภาพสูง นำมาสู่การจัดตั้งโครงการ “ต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL” โดยใช้พื้นที่ ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 80 ไร่ เป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ให้กับผู้ที่สนใจ ตลอดจนเป็นสถานที่ฝึกงานให้กับนักศึกษาในสถาบันฯ อันจะนำไปสู่การต่อยอดทำเป็นธุรกิจของตนเองในอนาคตได้

“เมื่อเรามีฟาร์มต้นแบบแล้ว เมื่อผลผลิตเริ่มมีออกมา ทางสถาบันฯ ได้ทำโครงการตั้งร้าน KMITL organic shop ขึ้นภายในคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อนำผลผลิตเกษตรอินทรีย์มาจำหน่ายให้กับบุคลากรภายในองค์กร และผู้บริโภคที่ใส่ใจในด้านสุขภาพ ได้เลือกซื้อสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ไปประกอบอาหารในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลผลิตทุกชิ้นที่ซื้อจากร้านของเรา เกิดจากความใส่ใจในแบบที่สถาบันฯ ใส่ใจในเรื่องของคุณภาพอย่างแท้จริง” ศ.ดร. สุชัชวีร์ กล่าว

ผศ.ดร. สุพัตรา โพธิ์เอี่ยม หัวหน้าโครงการวิจัย “ต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL”

ด้าน ผศ.ดร. สุพัตรา โพธิ์เอี่ยม หัวหน้าโครงการวิจัย “ต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL” อธิบายว่า ในพื้นที่เพาะปลูก ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีจำนวน 600 ไร่ ได้กันพื้นที่ในการเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ของ KMITL ไว้จำนวน 80 ไร่ เริ่มแรกได้เข้าไปปรับปรุงดินให้มีความพร้อมสำหรับการทำเกษตรอินทรีย์ โดยใช้สารชีวภัณฑ์จากผลงานการวิจัยของอาจารย์ในสถาบันฯ โดยเน้นปลูกพืชผักที่ตลาดมีความต้องการ เช่น หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบเขียว ข้าวโพด มันม่วง มะม่วง มะเขือเทศ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีกล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง ที่สามารถนำมาแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปได้

“พืชผลที่ปลูกจะต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่นั้นๆ ด้วย พืชผักบางชนิดปลูกไม่ประสบความสำเร็จในบางฤดูกาล เช่น คะน้า ขณะที่หน่อไม้ฝรั่ง ผลผลิตออกมาได้ตามมาตรฐาน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค ทั้งนี้ผลผลิตที่ปลูกได้รับรองมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยจาก อาจารย์เกษม สร้อยทอง สมาคมเทคโนโลยีการเกษตรภาคตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย จึงทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า สินค้าที่ออกจากแปลงเกษตรอินทรีย์ของเรามีมาตรฐาน และเป็นไปตามหลักการปฏิบัติที่ถูกต้อง” ผศ.ดร. สุพัตรา กล่าว

ผลผลิตสดใหม่จากแปลง

ในเรื่องของขั้นตอนการผลิตผักนั้น ผศ.ดร. สุพัตรา เล่าว่า เป็นสิ่งที่ทางโครงการหรือผู้ปฏิบัติงานทุกคน มีความใส่ใจและตั้งใจอย่างแท้จริงที่จะผลิตพืชผักและวัตถุทางการเกษตรต่างๆ ออกมาให้มีคุณภาพได้มาตรฐานการทำเกษตรแบบอินทรีย์ โดยตั้งแต่การเตรียมดินปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวจะไม่มีการใช้สารเคมีทุกขั้นตอน ดังนั้น ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าผลผลิตที่ได้ปลอดภัยจากสารเคมีแน่นอน

“การทำเกษตรอินทรีย์ เรื่องสารเคมีต้องไม่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด ดังนั้น ตั้งแต่การไถเตรียมแปลงปลูก ไปตลอดช่วงการดูแลในเรื่องของการปลูกจนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เราจะไม่มีการนำสารเคมีเข้ามาใช้ อย่างช่วงของการเตรียมแปลง ถ้าพบเห็นหญ้าหรือวัชพืชต่างๆ ขึ้นภายในแปลง จะเน้นใช้แรงงานคนหรือเครื่องตัดหญ้าเข้ามาช่วยเป็นหลัก รวมทั้งมีการจัดการเรื่องของระบบน้ำที่ดี ก็จะช่วยในเรื่องของการป้องกันวัชพืชได้ดีอีกด้วย” ผศ.ดร. สุพัตรา กล่าว

สร้างความร่วมมือทั้งคณาจารย์และนักศึกษา

ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคพืชและแมลงศัตรูพืชอื่นๆ นอกจากการนำสารชีวภัณฑ์ที่เป็นผลจากการวิจัยก่อนหน้านี้มาใช้แล้ว ยังมีการต่อยอดและทำงานวิจัยอยู่ตลอดเวลา โดยทั้งคณาจารย์และนักศึกษาภายในสถาบันฯ เป็นผู้ทำงานวิจัยเพื่อรองรับงานด้านโรคพืชต่างๆ ที่อาจมาทำลายหรือก่อความเสียหายต่อพืช และเพื่อเป็นการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง แบบบูรณาการโดยใช้บุคลากรจากหลายคณะที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยกันทำงานวิจัย

จากองค์ความรู้และเทคโนโลยีทุกด้านที่มีอยู่ ในการทำเกษตรอินทรีย์ต้นแบบนี้ ผศ.ดร. สุพัตรา บอกว่า ที่เหลือก็เป็นระยะเวลาสร้างความเชื่อมั่นของเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจอยากจะปรับเปลี่ยนการทำเกษตร จากเดิมที่มีการใช้สารเคมีมาสู่กระบวนการเกษตรแบบอินทรีย์ ว่าสามารถให้ผลผลิตที่ดีและจำหน่ายได้ราคา

พื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ ตั้งอยู่ที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

“บางครั้งคนมองว่า การทำเกษตรอินทรีย์เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ผลตอบแทนที่ได้อาจจะไม่ได้ดี แต่สิ่งแรกของผู้ที่ทำเกษตรอินทรีย์ได้รับคือ ปัจจัยเรื่องสุขภาพของตัวเขาเอง เพราะจากที่เราเห็นเกษตกรหลายพื้นที่ ได้มองเห็นถึงความสำคัญของเรื่องสุขภาพมากขึ้น จึงได้มีการปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชแบบไม่ใช้สารเคมีหลายราย และมีการผลิตพืชผักแบบอินทรีย์ ทำให้มีบริษัทที่จำหน่ายสินค้าเหล่านี้ เข้ามารับซื้อผลผลิตถึงฟาร์ม พร้อมทั้งให้ราคาดี สามารถจำหน่ายได้ราคาสูงกว่าพืชผักแบบที่ปลูกแบบเดิม รวมทั้งมีการวางแผนการผลิตที่ชัดเจน ทำให้สินค้าที่ผลิตไม่ออกมาล้นตลาด สามารถจำหน่ายได้ราคาอีกด้วย” ผศ.ดร. สุพัตรา กล่าว

ไก่ไข่อารมณ์ดี

การจำหน่ายผลผลิตที่ออกจากฟาร์มต้นแบบ ผศ.ดร. สุพัตรา บอกว่า มีทั้งส่งจำหน่ายไปยังตลาดข้างนอกที่มาติดต่อขอซื้อและอีกส่วนหนึ่งจำหน่ายที่ร้าน KMITL Organic Shop ในสถาบันฯ ทั้งนี้ยังมีผลผลิตบางชนิดที่รับมาจากชุมชนในพื้นที่นำไปจำหน่ายในร้าน เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับชาวบ้าน

ทั้งนี้ สำหรับท่านที่สนใจในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ แต่ยังไม่รู้วิธีการและต้องการศึกษาองค์ความรู้ ผศ.ดร. สุพัตรา บอกว่า สามารถติดต่อเข้าศึกษาดูงานหรือเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรได้ที่แปลง ต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL ตั้งอยู่ที่ ตำบลองค์พระ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี จะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำกับผู้ที่สนใจเข้ามาชมการปลูกพืชในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้กับการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ของตนเอง อย่างน้อยถ้ายังไม่ได้เน้นทำเพื่อจำหน่าย ก็สามารถปลูกรับประทานเองที่บ้าน ช่วยลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนและได้วัตถุดิบที่ปลูกด้วยตนเองมาปรุงอาหาร พร้อมทั้งได้มีกิจกรรมยามว่างทำหลังจากเลิกงานประจำ เมื่อผลผลิตมีมากพอสามารถจำหน่ายเป็นอาชีพเสริมมีรายได้อีกด้วย

หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมทั้งผู้ที่สนใจอยากเข้าศึกษาดูงานที่แปลง ต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ KMITL ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (092) 312-6499