เคล็ดไม่ลับ! วิธีตอน ‘มะนาว’ ด้วย ‘กะปิ’ สูตรเร่งราก ได้กิ่งพันธุ์ดี

การขยายพันธุ์มะนาว เพื่อวัตถุประสงค์ทั้งการเก็บใช้เพื่อปลูกทดแทนในสวนของตนเอง หรือขยายพันธุ์เพื่อจําหน่าย การขยายพันธุ์ด้วยการตอนยังนับเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมกันมาอย่างยาวนาน แม้ว่าจะมีการนําเทคนิคการขยายพันธุ์ใหม่เข้ามาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเสียบยอดบนต้นตอชนิดต่างๆ การปักชํากิ่ง เป็นต้น

แต่ที่ สวนวโรชา อําเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เจ้าของสายพันธุ์มะนาวแป้นวิเศษ มะนาวพันธุ์ดีที่มีคุณสมบัติโดดเด่น ทั้งการให้ผลดกมาก ผลโต ผลอายุ 2 เดือน ก็มีน้ำมะนาวเต็มลูก ยิ่งผลโต เต็มที่ อายุ 4 เดือน ให้น้ำเยอะมาก ที่สําคัญมีกลิ่นหอม อีกทั้งยังมีขั้วที่แข็งแรง ไม่ร่วงง่าย คุณวโรชา จันทโชติ ก็ยังยืนยันว่า “การขยายพันธุ์ด้วยกิ่งตอน” นั้นเป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับมะนาวในสวนของตนเอง สามารถขยายพันธุ์ได้จํานวนมาก อีกทั้งยังได้ต้นที่แข็งแรง สามารถนําไปปลูกแล้วให้ผลผลิตออกมาดี

สําหรับการขยายพันธุ์ด้วยการตอนในสวนแห่งนี้ ยังมีเทคนิคที่เรียกว่าอาจแตกต่างไปจากที่อื่น นั่นคือ “การใช้กะปิมาเร่งราก” แทนการใช้ฮอร์โมนเร่งราก ซึ่งนิยมใช้กันโดยทั่วไป

สําหรับการตอนกิ่งมะนาวโดยใช้กะปิเป็นตัวเร่งรากนั้น เจ้าของสวนแป้นวิเศษบอกว่า เป็นเทคนิคที่ทํากันมาตั้งแต่สมัยรุ่นบรรพบุรุษ และสามารถให้ผลออกเป็นที่น่าพอใจ ดังนั้น การขยายพันธุ์กิ่งมะนาวแป้นวิเศษเพื่อจําหน่ายให้เกษตรกรที่สนใจ จึงเน้นการใช้วิธีการดังกล่าวเพียงอย่างเดียว

“แต่การปลูกมะนาวให้ประสบความสําเร็จนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะซื้อมะนาวที่มาจากการขยายพันธุ์ในรูปแบบหรือวิธีการใด แต่ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อปลูกแล้ว มีการดูแลเอาใจใส่ดีหรือไม่”

สําหรับการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่งของสวนวโรชานั้น จะต้องมีการเตรียม อุปกรณ์ในการตอน ซึ่งประกอบด้วย

– มีดตอน ควรใช้มีดตอนกิ่ง ซึ่งมีจําหน่ายตามร้านจําหน่ายอุปกรณ์การเกษตร โดยทั่วไป คุณวโรชาฝากข้อแนะนําที่จําเป็นไว้คือ ต้องเน้นเรื่องความคมและความสะอาดของมีด เพื่อป้องกันการเกิดแผลอักเสบในระหว่างการตอน

– กะปิ ช่วยเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการออกรากได้ไวขึ้น ในกะปิมีสารอาหารที่ มีประโยชน์ เช่น ไคโตซาน ซึ่งนํามาใช้แทนฮอร์โมนเร่งราก นับเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญา ชาวบ้านที่มีการใช้กันมาอย่างยาวนาน

– ตอกไม้ไผ่ สาเหตุที่คุณวโรชาใช้ตอกไม้ไผ่ เพราะสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ไม่ต้องซื้อหา และมีความแข็ง สามารถขมวดได้ง่าย ซึ่งการนําตอกมาใช้นั้นจะ ต้องมีการแช่น้ำไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้ตอกมีความอ่อนนุ่ม ง่ายต่อการใช้งาน

– ดินเหนียว หรือถ้าเป็นดินจอมปลวกยิ่งดี คุณวโรชา บอกว่า จะเป็นส่วนที่ช่วยดึงรากให้ออกมามากๆ

– วัสดุที่ใช้หุ้มกิ่งตอน ซึ่งทางสวนจะใช้ขุยมะพร้าวแช่น้ำบีบพอหมาดๆ บรรจุใส่ถุงพลาสติก รัดให้แน่นด้วยหนังยาง

เมื่อเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว ขั้นต่อมาคือ การตอนกิ่ง

คุณวโรชา ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการตอนกิ่งที่สวนแห่งนี้ โดยเริ่มจากการเลือกกิ่งที่ไม่อ่อนหรือไม่แก่จนเกินไป

ในส่วนของการควั่นกิ่งนั้น คุณวโรชามีข้อปฏิบัติที่แตกต่างออกไปจากการตอน กิ่งของเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวอื่นๆ คือ การไม่ขูดเนื้อเยื่อเพื่อตัดท่อน้ำท่ออาหาร

“ปกตินั้นส่วนมากจะต้องขูดเนื้อเยื่อ แต่ที่ผมเลือกไม่ขูด เพราะต้องการป้องกันการเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อต้นมะนาว เราไม่รู้ว่ามีดที่ใช้ตอนสะอาดพอหรือไม่ ซึ่งหากมีดไม่สะอาดพอจะมีปัญหารากไม่ออกและโรคเน่าบริเวณแผลที่ตอนเข้ามาแทรก แต่พอ 4 วัน หากควั่นแล้วไม่ทําอะไร เนื้อเยื่อจะกลับมาเชื่อมกันใหม่ ดังนั้น หากต้องการทําให้เสร็จก่อนไปธุระที่ไหนใน 4 วัน ให้ใช้วิธีการขูดเนื้อเยื่อได้เลย แต่ ต้องระวังเรื่องความสะอาดของมีดที่ใช้ตอน”

“แต่วิธีปฏิบัติของผม ซึ่งอาศัยเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง ผมจะทิ้งไว้ 2 วัน หลังจากที่ควั่นเปลือกเป็นช่วงที่ดีที่สุด แต่เพื่อป้องกันการหลงลืมว่ายังไม่ได้หุ้ม ด้วยการใช้เชือกสีแดงผูกเป็นตําหนิให้รู้ว่า ต้องมาทําการหุ้มกิ่ง”

“การที่ผมทิ้งไว้ ข้อดีอันแรกคือ ไม่มีการอักเสบของแผล ถ้าเกิดแผลอักเสบจะออกรากช้ามาก ผมจึงเน้นการปล่อยให้สลายไปโดยธรรมชาติ เพราะเนื้อเยื่อแห้งโดยธรรมชาติของต้นไม้ทุกอย่างจะเกิดการดิ้นรน ความต้องการที่จะสร้างมาหุ้มใหม่ พอเราเอาเครื่องตอนไปหุ้มอย่างกะปิ ดิน อันนี้สังเกตได้ว่า บริเวณรอยแผลที่ควั่นด้านบนจะมีตุ่มเล็กออกมา

คุณวโรชา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการใช้กะปินั้น ให้ใช้วิธีการป้าย โดยใช้ปริมาณนิดเดียว ที่ไม่ทาให้ทั่วเพราะความชื้นจากวัสดุที่หุ้มจะช่วยทําให้กะปิกระจายออกไปจนทั่ว จากนั้นให้ใช้ดินหุ้ม นิดเดียวเหมือนกัน เพื่อเป็นตัวกระตุ้นราก

“หลังจากวันที่ควั่น ประมาณ 22 วัน จะเห็นรากออกมา จากนั้นอีก 8 วัน รวมเป็น 30 วัน ในการตัดกิ่งให้นําไปชําในถุงดําก่อนจําหน่ายเป็นเวลา 2 อาทิตย์

“เพียงเท่านี้ก็จะมีกิ่งพันธุ์มะนาวจําหน่ายสร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยที่สวนวโรชาแห่งนี้จะจําหน่ายกิ่งตอนแบบตุ้ม กิ่งละ 150 บาท และกิ่งที่ชํา ในถุงดํา กิ่งละ 200 บาท”

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564