กาแฟป่าอินทรีย์ เวียงป่าเป้า เชียงราย ใช้เทคนิคปลูกในป่า รสชาติดี ผลดก

เป็นที่รู้กันว่า พื้นที่ป่าเขาที่ห่างไกลความเจริญ โดยเฉพาะพื้นที่สูง จะเป็นพื้นที่ที่เกือบทั้งหมดไม่มีเอกสารสิทธิ อยู่ในความดูแลโดยหน่วยงานภาครัฐ ออกกฎหมายมาคุ้มครองพื้นที่ให้อยู่ในรูปของป่าหรือพื้นที่สงวน อนุญาตให้ใช้เฉพาะกรณี ซึ่งการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวบ้านและป่า ก็เป็นกรณีที่ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนมาโดยตลอด

คุณเสฐียรพงษ์ แก้วสด ประธานเครือข่ายวิสาหกิจวนเกษตรกาแฟอินทรีย์เชียงราย

เพราะชาวบ้านในอดีตที่อาศัยอยู่ห่างไกลมีอาชีพที่เกิดมาก็ทำตามบรรพบุรุษ คือ เกษตรกรรม แม้ไม่ได้ถือเอกสารสิทธิบนแปลงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ก็สามารถทำการเกษตรบนพื้นที่นั้นๆ ตามถิ่นที่พำนักในภูมิลำเนาของตน โดยไม่ใช่เรื่องผิด

ที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ก็เช่นกัน

เกษตรกรที่อาศัยอยู่บนที่สูง การเกษตรจำเป็นสำหรับพวกเขา เพราะนั่นคือ อาชีพสำหรับเลี้ยงครอบครัว การทำการเกษตรในพื้นที่ป่าเขา แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองพื้นที่ป่า แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ในป่าได้ โดยไม่ทำลายป่า เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างป่ากับคน

เครือข่ายวิสาหกิจวนเกษตรกาแฟอินทรีย์เชียงราย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน โดย คุณเสฐียรพงษ์ แก้วสด มองเห็นว่า พื้นที่ป่าที่ชาวบ้านใช้เป็นที่ทำกิน ไม่ได้ทำลายธรรมชาติของป่า ด้วยการปลูกเมี่ยง (ชา ชาอัสสัม ชาโบราณ) เรียกได้หลายชื่อ ปลูกแทรกไว้ในพื้นที่ป่า ก่อนจะรู้จักการปลูกกาแฟ และเก็บใบเมี่ยงขายเป็นอาชีพเกือบทุกครัวเรือน แต่เมื่อ “กาแฟ” คือ สินค้าที่ได้ชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงราย จึงเริ่มมีการส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกกาแฟคุณภาพ และให้เป็นเมืองแห่งเมล็ดกาแฟที่ขึ้นชื่อ เกษตรกรส่วนหนึ่งจึงปรับพื้นที่เปลี่ยนเป็นปลูกกาแฟ

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนวนเกษตรกาแฟอินทรีย์เชียงราย จึงก่อตั้งขึ้น เพราะเห็นว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกตามความเข้าใจที่มี หากจะเน้นให้ได้กาแฟคุณภาพ จึงจำเป็นต้องรวมกลุ่ม เพื่อคุณภาพของผลผลิตและการแปรรูปเมล็ดกาแฟก่อนจำหน่าย

พื้นที่ปลูกกาแฟของตำบลปางงิ้วและตำบลแม่เจดีย์ ทั้งหมดราว 10,000 ไร่ เป็นเกษตรกร 8 หมู่บ้าน ของตำบลปางงิ้ว และตำบลแม่เจดีย์ ที่เข้าร่วมเครือข่ายเพียง 520 ครัวเรือน ในจำนวนนี้มีพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมด 3,600 ไร่ ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา หรือ (United States Department of Agriculture – USDA) ไปแล้วประมาณ 1,200 ไร่ จึงเรียกได้เต็มปากว่า กาแฟอินทรีย์

คุณเสฐียรพงษ์ เล่าว่า เมื่อการทำการเกษตรของชาวบ้านในอดีตคือ การปลูกเมี่ยง เมื่อปรับมาปลูกกาแฟ การปลูกก็ยังคงใช้พื้นที่เดิม คือปลูกในป่า ดังนั้น รูปแบบการปลูกจึงไม่มีข้อกำหนดที่ชัดเจนในเรื่องของระยะในการลงปลูก พื้นที่ส่วนไหนว่างก็ปลูกต้นกาแฟแซมเข้าไป อาศัยร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ในป่าแทนซาแรน เพราะธรรมชาติของกาแฟไม่ต้องการแดดจัด เมื่อถึงเวลาให้ปุ๋ยก็นำปุ๋ยอินทรีย์ไปใส่ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วก็เข้าไปตัดแต่งทรงพุ่มให้เรียบร้อย ปัญหาโรคและแมลงก็ไม่มี

ความพิเศษของกาแฟป่าคือ พื้นที่ปลูกอุดมสมบูรณ์ ไม่ผ่านการใช้สารเคมีใดๆ และไม่นำสารเคมีไปเติม ดินปลูกมีใบไม้ตามธรรมชาติทับถม เกิดอินทรียวัตถุที่ดีสำหรับพืช

สิ่งที่ต้องทำลำดับแรกคือ การคัดเลือกสายพันธุ์กาแฟ สำหรับเครือข่ายที่นี่ ใช้เมล็ดกาแฟอาราบิก้า 3 สายพันธุ์ ได้แก่

สายพันธุ์คาติมอร์ (Catimor) เป็นสายพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคราสนิม และได้ลักษณะทรงเตี้ย ผลผลิตสูง

สายพันธุ์ทิปปิก้า (Typica) มีลักษณะเด่นยอดเป็นสีทองแดง ติดลูกห่างระหว่างข้อ มีใบเล็กเรียบ เจริญเติบโตเร็ว เป็นพันธุ์ดั้งเดิมต้นกำเนิดของกาแฟอาราบิก้า

สายพันธุ์เบอร์บอน (Bourbon) เป็นกาแฟที่กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์ทิปปิก้า ลักษณะต้นไม่สูงมาก มีข้อถี่ ใบกว้าง ยอดอ่อนมีสีเขียว ให้ผลสุกที่ช้า แต่ให้ผลผลิตกาแฟที่ดีกว่าและมีคุณภาพกว่าด้านรสชาติ และกลิ่นหอมกว่าสายพันธุ์ทิปปิก้า

ที่ปลูก เลือกแซมระหว่างต้นไม้ใหญ่ อาศัยร่มเงา กาแฟต้องการแสงไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และไม่จำเป็นต้องให้น้ำ เพราะลงปลูกในช่วงฤดูฝน อีกทั้งปลูกที่สูง อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส

ปุ๋ย ให้ช่วงต้นฝนและปลายฝน เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีมูลค้างคาวผสม เนื่องจากมูลค้างคาวมีส่วนผสมของสารฮิวมิค และสารฟูลวิค ซึ่งมีธาตุอาหารสูง โดยมูลค้างคาวที่ได้สั่งซื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

ในแต่ละปีตัดแต่งทรงพุ่ม 1 ครั้ง หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยควรให้ต้นกาแฟมีความสูงเหมาะสม ประมาณ 1.50 เมตร และกาแฟมีทรงพุ่มที่เหมาะสม จะช่วยลดปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวน ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่พบโรคและแมลงศัตรูพืชรบกวนให้เกิดปัญหา

กาแฟจะเริ่มออกดอกในเดือนเมษายน ติดผลในเดือนพฤษภาคม และเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป

การเก็บเมล็ดกาแฟ จะปล่อยให้เมล็ดกาแฟสุกจัดเป็นสีแดงเข้ม การเก็บเมล็ดกาแฟเมื่อสุกจัด เพื่อให้น้ำหวานหรือน้ำตาลซึมเข้าไปในเมล็ดกาแฟให้มากที่สุด เมื่อนำไปหมักหรือคั่วจะได้กลิ่นความหอมของคาราเมลออกจากเมล็ดกาแฟ

การปลูกกาแฟเชิงเดี่ยว จะปลูกได้จำนวน 400 ต้น ต่อไร่ แต่เมื่อปลูกในพื้นที่ป่าในลักษณะของการปลูกแซมต้นไม้ใหญ่ ทำให้จำนวนปลูกต่อไร่เหลือเพียง 200-300 ต้น และไม่เป็นแถว แต่ได้ผลผลิตต่อต้นที่มากกว่า ผลใหญ่กว่า รสชาติดีกว่า และมีคุณภาพมากกว่า

หลังการรวมกลุ่มเครือข่าย ก็ก่อเกิดมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์เชียงรายขึ้น โดยมี คุณสุภาชัย เตชะนันท์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการมูลนิธิวนเกษตรอินทรีย์เชียงราย ช่วยดูแลระบบ ขั้นตอน กรรมวิธี การปลูก การดูแลกาแฟ และการจำหน่าย เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรที่ต้องการเข้าสู่ระบบการปลูกกาแฟอินทรีย์

 

ผลผลิตปีแรก สามารถขายภายใต้การรับรองเกษตรอินทรีย์ เป็นกาแฟอินทรีย์ ประมาณ 20 ตัน ปีต่อมาสามารถผลิตเมล็ดกาแฟจำหน่ายได้ประมาณ 50 ตัน และคาดว่าปีต่อไปจะสามารถเพิ่มปริมาณเมล็ดกาแฟอินทรีย์จำหน่ายได้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

โดยปกติเมล็ดกาแฟจะจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 160 บาท แต่เมื่ออยู่ในรูปแบบของกาแฟอินทรีย์ จะสามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 250 บาททีเดียว

ปัจจุบัน เครือข่ายมีพื้นที่รวบรวมผลผลิต ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 7 ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย และจำหน่ายกาแฟอินทรีย์ในรูปของกาแฟสาน หรือ กรีนบีน และกาแฟคั่วเท่านั้น

เมื่อผลิตกาแฟอินทรีย์ได้ แน่นอนว่า ความสนใจของต่างประเทศก็เข้ามา มีออเดอร์จากต่างประเทศรอให้เครือข่ายมีผลผลิตที่พอเพียง เพื่อส่งไปจำหน่ายหลายประเทศ ส่วนภายในประเทศ ปัจจุบันจำหน่ายผ่านหน้าเฟซบุ๊กเท่านั้น เพราะผลผลิตที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ท่านใดสนใจเข้าไปชมผลิตภัณฑ์กาแฟอินทรีย์ ได้ที่เฟซบุ๊ก กาแฟป่า : Forest Coffee หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณเสฐียรพงษ์ แก้วสด ประธานเครือข่ายวิสาหกิจวนเกษตรกาแฟอินทรีย์เชียงราย โทรศัพท์ 086-911-1379

 

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2563

…………………………………………………………

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354