สร้าง “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ฝากน้ำกับดิน แก้ปัญหา น้ำท่วม-ภัยแล้ง ในแปลงไร่นา

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ทำให้ทั่วโลกเจอสภาวะอากาศแปรปรวนอย่างต่อเนื่อง ทั้งพายุฤดูร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วมฉับพลัน ปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอสำหรับการใช้ในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยใช้นวัตกรรม “ธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank)” เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ผู้นำป่าชุมชนอีสาน ร่วมดูงาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน

ผู้นำป่าชุมชนเรียนรู้ศาสตร์พระราชา

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้นำป่าชุมชน จาก 10 จังหวัด ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าร่วมกิจกรรม “สัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนกล้ายิ้ม” รุ่นที่ 21 ภายใต้โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ที่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้ จัดขึ้นตั้งแต่ปี 2551 กิจกรรมปีนี้ได้มุ่งเน้นประเด็นการบริหารจัดการน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความแปรปรวนของอากาศที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ ซึ่งพื้นที่ที่เคยชุ่มชื้นจะต้องเผชิญกับภาวะแล้ง ส่วนพื้นที่ที่แห้งแล้งจะเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วม อีกทั้งยังเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลกอีกด้วย

นางบุญทิวา ด่านศมสถิต

นางบุญทิวา ด่านศมสถิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากข้อมูลพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในภาคอีสานปีนี้จะลดน้อยลง เพราะผลกระทบจากปรากฏเอลนีโญ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และเกษตรกรรมสูง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ระดับครัวเรือนจนถึงเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศด้วย บริษัทจึงได้หยิบยกประเด็นการบริหารจัดการน้ำมาเป็นสาระหลักของการสัมมนาผู้นำป่าชุมชนในปีนี้ และได้น้อมเกล้าฯ นำพระราชดำรัส “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักคิดในการกำหนดเนื้อหาและรูปแบบการสัมมนา โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการจัดการน้ำของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาจุดประกายความคิดแก่ผู้นำป่าชุมชนเพื่อสืบสานและต่อยอดไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน
แปลงทดลองการปลูกผักหวานป่า

“ผู้นำป่าชุมชนจะได้ศึกษาเรียนรู้วิธีการจัดการน้ำในรูปแบบต่างๆ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จังหวัดสกลนคร เพื่อสืบสานแนวทางการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ณ ศูนย์แห่งนี้ได้จำลองสภาพปัญหาของภาคอีสานและแสดงวิธีการจัดการปัญหาด้วยวิธีการหลากหลาย ตั้งแต่การชลประทาน การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ การจัดระบบส่งน้ำ การจัดการน้ำที่อ่างเก็บน้ำห้วยตาดไฮใหญ่ การพัฒนาเกษตรกรรมด้วยวิธีการปลูกป่า 5 ชั้น การปลูกสมุนไพร รูปแบบวนเกษตร รวมถึงเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อชีวิตที่พอเพียง บริษัทเชื่อมั่นว่าความรู้ที่ผู้นำป่าชุมชนได้รับจากกิจกรรมครั้งนี้ เมื่อนำไปบูรณาการกับภูมิปัญญาท้องถิ่นบวกกับความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกท่านแล้ว จะนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับการบริหารจัดการป่าและน้ำในชุมชนให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนยิ่งขึ้น อีกทั้งยังรอดพ้นจากปัญหาภัยแล้งด้วย” นางบุญทิวา กล่าว

ดูงาน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน
ผู้นำป่าชุมชนแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ ผู้นำป่าชุมชนยังจะได้เรียนรู้แนวคิด “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ของ หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ ประธานสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ ซึ่งได้ริเริ่มขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน ด้วยหลักการเติมน้ำไปเก็บในชั้นใต้ดิน โดยขุดบ่อในบริเวณพื้นที่น้ำท่วม น้ำขัง น้ำหลาก หรือจุดรวมของน้ำเพื่อกักน้ำให้ซึมลงไปชั้นหินเป็นการพักน้ำรวมไว้เหมือนธนาคาร อีกวิธีคือ การใช้เศษไม้ ขวดแก้ว เศษอิฐ กรวด หิน หรือวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาถมในบ่อเพื่อแทนที่น้ำ ให้น้ำล้นออกมาใช้ได้เร็วขึ้นเมื่อน้ำใต้ดินมีปริมาณมากพอ แนวคิดนี้เป็นเสมือนการออมหรือกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในหน้าแล้ง หรืออุ้มน้ำในยามน้ำหลาก นับเป็นตัวอย่างของการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน

ผู้นำป่าชุมชนทดลองทำธนาคารน้ำใต้ดิน

หลักการของธนาคารน้ำใต้ดิน

ดร. เร่งรัด สุทธิสน ผู้อำนวยการสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ บรรยายหลักการธนาคารน้ำใต้ดินว่า มี 2 รูปแบบ คือ

  1. ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด สำหรับใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภค บริโภค และภาคอุตสาหกรรมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
  2. ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ใช้แก้ไขปัญหาการระบายน้ำ น้ำเน่าเสีย ทั้งในครัวเรือนและพื้นที่การเกษตร
ดร. เร่งรัด สุทธิสน บรรยายการทำธนาคารน้ำใต้ดิน

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด 

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด มีหลักการสำคัญคือ พยายามเก็บน้ำไว้ใต้ดิน ทะลุชั้นดินเหนียวถึงชั้นหินอุ้มน้ำที่ต่อเชื่อมกับชั้นน้ำบาดาล วิธีนี้จะเก็บน้ำได้ปริมาณมาก เพราะสามารถกระจายน้ำไปได้ทั่ว โดยไม่มีขีดจำกัด ระบบนี้สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้จากบ่อกักเก็บและส่งน้ำหรือจากบ่อน้ำบาดาล วิธีนี้เหมาะสมกับพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากสามารถสูบน้ำจากบ่อมาใช้ได้โดยไม่หมด เมื่อปริมาณน้ำลดลง น้ำจากใต้ดินก็จะซึมซับกลับเข้ามาเติมเต็มปริมาณน้ำในบ่อให้มีน้ำอย่างสม่ำเสมอ ที่ผ่านมามักเลือกทำบ่อระบบเปิดโดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเค็ม

วิธีการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด คือการขุดบ่อน้ำหรือสระน้ำให้ได้ความลึกทะลุผ่านชั้นดินเหนียวถึงชั้นหินอุ้มน้ำ  เพื่อให้หินอุ้มน้ำสามารถดูดซับน้ำลงสู่ชั้นใต้ดิน ขนาดของบ่อจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และลักษณะการใช้ประโยชน์ของน้ำจากบ่อ ระดับความลึกของการขุดบ่อในแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน จะขึ้นอยู่กับสภาพดินและชั้นหิน ซึ่งโดยหลักการให้เป็นไปตามหลักอุทกธรณีวิทยา แต่ต้องขุดลึกให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ

จากต้นแบบระบบบ่อเปิดของสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณได้ขุดบ่อให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ โดยประมาณความลึก 7-15 เมตร เช่น การขุดบ่อเปิดในลักษณะสี่เหลี่ยมพื้นผ้าให้มีขนาดความกว้าง 25 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 7-12 เมตร หรือการขุดบ่อเปิดในลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส ให้มีขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 7-12 เมตร

หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ของสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ

แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ลักษณะการขุดสระต้องให้มีความลาดชัน 45 องศา ปากบ่อกว้างกว่าก้นบ่อ การขุดบ่อในลักษณะลาดชันเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้น้ำในบ่อไหลลงสู่ก้นบ่อโดยมีแรงกดของมวลน้ำลงไปยังชั้นหินอุ้มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้น้ำไหลซึมลงสู่หินอุ้มน้ำได้อย่างรวดเร็ว โดยการขุดบ่อระบบเปิดนี้ไม่ควรปั้นดินรอบๆ บ่อ เพราะจะส่งผลกีดขวางทางน้ำที่จะไหลลงสู่บ่อ ทั้งนี้รูปแบบและขนาดของบ่อต้องออกแบบตามบริบทด้านภูมิศาสตร์ของพื้นที่ คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่และการใช้ประโยชน์

การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบบ่อเปิดที่เป็นการขุดบ่อใหม่ ไม่ใช่การปรับสระน้ำเก่าที่มีอยู่เดิม การวางตำแหน่งของบ่อใหม่ควรจะต้องให้ตั้งฉากหรือขนานกับทิศตามแนวทิศเหนือ-ใต้ และทิศตะวันออก-ตะวันตก เพราะจะช่วยให้การเติมน้ำลงชั้นใต้ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด ที่จังหวัดชัยภูมิ

การขุดบ่อระบบเปิด

ตามหลักการธนาคารน้ำใต้ดิน

การขุดบ่อกักเก็บน้ำตามระบบบ่อเปิดของธนาคารน้ำใต้ดินที่จะได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการน้ำนั้น ควรออกแบบทำระบบบ่อเปิดใหม่ที่มีความเหมาะสมตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ทั้งเชิงพื้นที่และทิศ แต่อาจต้องใช้งบประมาณสูง เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางการปรับสภาพบ่อเดิมหรือสระน้ำเดิม ให้สามารถใช้งานได้ตามระบบธนาคารน้ำใต้ดิน

ลักษณะของชั้นดินตามธรรมชาติ
หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด

โดยหลักการแล้ว การขุดบ่อระบบเปิดที่จะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต้องทำเป็นกลุ่มบ่ออย่างน้อย 3 บ่อ โดยแต่ละบ่อห่างกันประมาณ 1,000 ถึง 1,500 เมตร บ่อเปิดของธนาคารน้ำใต้ดินจะมีหน้าที่เติมน้ำลงดินในระดับชั้นหินอุ้มน้ำเพื่อให้น้ำที่เติมลงไปสามารถเชื่อมประสานเสริมกันในระหว่างบ่อที่ขุดไว้ทั้ง 3 บ่อ เป็นการกระจายน้ำลงใต้ดินให้ทั่วถึงกันในระดับชั้นหินอุ้มน้ำ

ในขณะเดียวกัน น้ำจากใต้ดินก็จะซึมผ่านขึ้นมาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อหรือสระให้มีน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ให้แห้ง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้โดยตรง ทั้งนี้หากมีการออกแบบบ่อเปิดอย่างเหมาะสมตามระบบบริหารจัดการน้ำของธนาคารน้ำใต้ดิน จะช่วยเสริมให้น้ำในบ่อหรือสระเพียงพอตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง จะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน ขอแนะนำอีกประการหนึ่งของการขุดบ่อเปิด คือรอบปากบ่อควรปลูกหญ้ารอบๆ บ่อ เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดินและเป็นการกรองน้ำที่ไหลลงบ่อหรือสระด้วย

บ่อสังเกตการณ์ ตรวจวัดระดับน้ำใต้ดินและคุณภาพน้ำ

อ่านตอนจบ คลิก!