โปร่งฟ้า แหวกใบส่องฟ้าโปร่ง ลอดฟ้าโล่งใจ แต่ไฉน…ถูกเด็ดใบกินแกล้มลาบ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Clausenaharmandiana (Pierre) Pierre ex Guillaumin

ชื่อวงศ์ RUTACEAE

ชื่ออื่นๆ ส่องฟ้า (อีสาน) ส่องฟ้าดง (เลย) เหม็น (จันทบุรี) สมุยหอม (นครศรีธรรมราช) หวดหม่อนต้น (ลำปาง) ลอดฟ้า (หล่มสัก) หัสคุณดง (โคราช)

หนูเกิดมากับความโปร่งบาง ร่างหนูเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงราวๆ ไม่เกิน 1 เมตร ใบสีเขียวสดเรียงสลับเป็นระเบียบแบบขนนก ออกดอกเป็นช่อสีขาวแกมเหลืองในช่วงเชื่อมต่อหน้าร้อน ที่หนูต้องบรรยายตัวเองถึงรูปร่างทรงพุ่มนี้ ก็เพราะว่ามีญาติชื่อเหมือนหนูอีกชนิดพันธุ์ที่เป็นไม้เถาเลื้อย มีใบเป็นแผงสีเขียวเข้ม คล้ายพวกเฟิร์น ใช้เพื่อประดับตกแต่งช่อดอกไม้หรือพวงหรีด เขาอยู่ในกลุ่มวงศ์ ASPARAGACEAE มีกิ่งเป็นเส้นเล็กๆ โปร่งๆ ออกเป็นแผงคล้ายใบ ปลูกเป็นไม้ประดับ

ส่วนตัวของหนูที่เขาเรียก “โปร่งฟ้า” ก็เนื่องจากใบเขียวสด มีจุดต่อมน้ำมันเล็กๆ ขนาดเท่าปลายเข็มหมุดกระจายอยู่ทั่วใบ ถ้าใครยกขึ้นส่องแดด จะเห็นจุดนี้ชัดเจนแล้วมองเห็นเป็นรูๆ หนูเรียกเองว่า “รูโปร่งแสง” ก็ได้ จึงเรียกกันว่า  “ส่องฟ้า” หรือ “ช่องฟ้า” หรืออย่างที่อำเภอหล่มสัก เรียกหนูว่า “ลอดฟ้า” นั่นแหละ หนูไม่แปลกใจเลย เพราะเรียกชื่อตามลักษณะพิเศษ แต่สิ่งที่หนูแปลกใจมากก็คือ ชื่อที่ถูกเรียกไม่ตรงความหมายด้วยกันแล้วยังขัดแย้งกันอีก ชนิดไม่มองหน้ากัน ก็คือ ทำไมคนที่จันทบุรี เรียกหนูว่า “เหม็น” แต่คนนครศรีธรรมราช เรียกหนูว่า “สมุยหอม” อันนี้ทำให้หนูอึดอัดใจเหลือเกินว่าจะเห็นด้วยกับคนจังหวัดไหนดี แต่ใครๆ ก็ว่าหนูมีกลิ่นใบหอมอ่อนๆ นะคะ หนูจึงขอกราบชาวโคราชที่เรียกหนูดูดีมาก ว่า “หัสคุณดง” อย่างนี้มองฟ้าแล้ว “โปร่งใจ” จริงๆ

เรื่องชื่อหนูอย่าไปสนใจที่ถูกเรียกแปลกๆ กันเลย แต่หนูภูมิใจที่มีคนสนใจหนูมากกว่า เพราะหนูมีชื่ออยู่ในเรื่อง “พืชกินได้ในป่าสะแกราช” เขียนโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หนูมีชื่ออยู่ใน “สารานุกรมสมุนไพร” เขียนโดย อาจารย์วุฒิ วุฒิธรรมเวช แล้วยังมีชื่อในหนังสือ “ช่วยสอบวิชาเภสัชกรรมแผนโบราณ” โดย อาจารย์มัธยัสถ์ ดาโรจน์ พร้อมระบุสรรพคุณ ราก ใบโปร่งฟ้าอีกด้วย แต่ทั้งหมดนี้สิ่งที่หนูต้องกราบขอบพระคุณอย่างสูงก็คือ ท่านอาจารย์ไพบูลย์ แพงเงิน ซึ่งนำเรื่องราวของหนูเผยแพร่ไว้เป็นสิบๆ ปีมาแล้ว ทั้งในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน และ ในหนังสือ “สมุนไพรคู่บ้าน” ซึ่งท่านได้กล่าวถึง “โปร่งฟ้า” ในตำรับยาอีสาน ตำรับยาเวชศาสตร์โบราณ พิกัดยาในพระคัมภีร์ต่างๆ ทั้งยังประกาศตามหาเมล็ดพันธุ์เพื่อส่งเสริมการปลูกอีกด้วย

สรรพคุณสมุนไพรหนูใช้ได้ทั้ง ราก ใบ ใช้แก้ท้องอืด ขับลม แก้พิษงู ฝีในปอด เป็นยาแก้กรรมเย็น เพิ่มน้ำนมหญิงอยู่ไฟ แก้ฝีหัวลม แก้ตามัวฝ้าฟาง เป็นทั้งสมุนไพรและพืชผักเคียงผักแกล้มลาบ ใบอ่อนจิ้มน้ำพริกอย่าบอกใครนะ

โปร่งฟ้า “คว้า” เด็ดเป็นพืชผักสมุนไพรกินดีเหมือน “ฟ้าโปรด” โดยใส่พริกลูกโดดเมื่อยำ หรือทำลาบ ต้องขอกราบว่า…“เคี้ยว” หนูแกล้มลาบเบาๆ หน่อย นะเจ้าข้าเอ๊ย?