“แยกขยะ” ทริคดีๆที่ช่วยโลกได้มากกว่าที่คิด

“ขยะ” หนึ่งในปัญหาใหญ่ของคนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยของเราด้วย แม้หลายๆ คนจะเริ่มนำขยะมารีไซเคิลกันบ้างแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง เกิดเป็นมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ และพื้นดิน อย่างที่เห็นข่าวกันบ่อยๆ ในหลายพื้นที่ เช่น เกิดโรคติดต่อในชุมชนที่มีขยะเยอะ สัตว์น้ำเผลอกินขยะเข้าไปจนเสียชีวิต พื้นดินเกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในปริมาณที่สูง เป็นต้น

จากการประชุมโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา) หรือ EEC โครงการภาครัฐที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า สถิติ ปี 2561 ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยมากถึง 27.8 ล้านตัน เฉลี่ยเป็นอัตราการเกิดขยะ 1.15 กิโลกรัม/คน/วัน ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้เพียง ร้อยละ 34 จากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้สถิติของหลายปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่ามีแนวโน้มที่ปัญหาขยะมูลฝอยของไทยจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

“ขยะ” ปัญหาใหญ่ เริ่มแก้ง่ายๆ ที่ “เรา”

จริงอยู่ที่ “ขยะ” เป็นปัญหาใหญ่ แต่วิธีการแก้ไขสามารถเริ่มต้นทำได้ง่ายมาก เพียง ‘คัดแยกขยะ’ ก่อนทิ้งทุกครั้ง เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะที่ออกจากบ้าน ช่วยลดปริมาณขยะตกค้างในพื้นที่ได้ถึง ร้อยละ 95 และช่วยลดงบประมาณในการกำจัดขยะลงได้ด้วย ก่อนคัดแยกต้องมาทำความรู้จักขยะและถังขยะให้ครบถ้วนก่อน บอกเลยว่าไม่ได้มีแค่ขยะเปียกกับขยะทั่วไปเท่านั้น แต่มีด้วยกันทั้งหมด 5 ประเภท ดังนี้

  1. ขยะอินทรีย์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ขยะเปียก เป็นขยะที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เช่น เศษอาหาร เศษใบไม้ พืชผัก ผลไม้ต่างๆ ทิ้งลงถังสีเขียว
  2. ขยะรีไซเคิล เป็นขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนรูปร่างต่างๆ เช่น กระดาษ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก พลาสติก โลหะ อโลหะ ทิ้งลงถังสีฟ้า
  3. ขยะทั่วไป เป็นขยะที่ย่อยสลายยากและไม่คุ้มค่าในการนำไปรีไซเคิล เช่น ถุงพลาสติก ถุงขนม เปลือกลูกอม ทิ้งลงถังสีเหลือง
  4. ขยะอันตราย เป็นขยะที่ต้องเก็บรวบรวมแล้วนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและมลพิษ เช่น ขยะอิเล็กทรอนิกส์ บรรจุภัณฑ์สารเคมีต่างๆ ทิ้งลงถังสีแดง

 

“ขยะ” แยกเสร็จแล้วไปไหน!?

เมื่อเราคัดแยกขยะแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำขยะต่างๆ ไปสู่กระบวนการต่อไป เช่น ขยะรีไซเคิลจะถูกส่งต่อไปสร้างมูลค่าเพิ่ม และขยะที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้แล้วก็จะถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีที่ถูกสุขาภิบาลอย่างการฝังกลบ แต่ในปัจจุบันปริมาณขยะเยอะขึ้น พื้นที่ที่จะใช้ฝังกลบได้มีน้อยลง ขยะเก่าเริ่มส่งกลิ่นเหม็น ก่อให้เกิดมลพิษอื่นๆ ตามมา เรียกได้ว่าเป็นการกำจัดที่ไม่เกิดประโยชน์เท่าไรนัก ตอนนี้หลายๆ ประเทศรวมถึงไทยเอง จึงมีการกำจัดขยะที่ช่วยสร้างประโยชน์เพิ่มขึ้น และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นั่นก็คือ “โรงงาน หรือสถานที่กำจัดขยะ” ที่สามารถกำจัดขยะได้ครั้งละปริมาณมากๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะถูกลง และสามารถนำพลังงานที่เกิดจากการทำลายขยะมาใช้ต่อไปได้อีกด้วย หรือที่เรียกว่าขยะอาร์ดีเอฟ (RDF) หรือขยะเชื้อเพลิงนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร จ.ระยอง ในพื้นที่ EEC ที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงดำเนินการจัดตั้งโรงงานกำจัดขยะเต็มรูปแบบขึ้นมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดขยะให้ชาวระยอง เพิ่มมูลค่าของขยะ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการกำจัดขยะแบบฝังกลบ 

นอกจากนี้ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยคือ 

  1. จัดการบ่อฝังกลบขยะให้ถูกหลักสุขาภิบาล ด้วยการฝังกลบเถ้ามูลฝอยติดเชื้อ
  2. จัดการวางระบบบำบัดน้ำเสียแบบบ่อผึ่ง พื้นที่รวม 30 ไร่
  3. มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ได้มาตรฐาน
  4. มีระบบบำบัดมลพิษทางอากาศที่ได้มาตรฐานทั้งในอาคารคัดแยกขยะเชื้อเพลิง RDF และเตาเผามูลฝอยติดเชื้อ

การคัดแยกขยะ นอกจากจะช่วยลดปัญหาขยะล้นเมืองแล้ว ยังช่วยให้กระบวนการกำจัดขยะทำงานง่ายขึ้นด้วย ทั้งลดระยะเวลา ค่าใช้จ่าย และพลังงาน ทำให้ขยะทุกชิ้นถูกส่งต่อไปยังที่ที่เหมาะสม ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี หรือถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ในระยะยาว

“รู้แบบนี้แล้ว อย่ารอช้า เริ่มคัดแยกขยะกันเลยวันนี้ เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของโลกเรา”