ปลูกพริกทำได้ไม่ยาก…แต่ต้องเรียนรู้

เมื่อพูดถึงพริก ต้องนึกถึงความเผ็ดและสีสันที่สวยงาม ทั้งยังเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของอาหารไทยรสแซบนานาชนิด ไม่ว่าแกง ผัด หรือต้มยำกุ้งที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนไปทั่วโลก

คนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักกันดีว่า พริกเป็นพืชในเขตร้อนหรือกึ่งร้อนที่ทนความแห้งแล้งได้ดีพอควร และสามารถปลูกในดินได้แทบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมที่สุดคือ ดินร่วนปนทราย เพราะมีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขังหรือชื้นแฉะซึ่งจะทำให้รากเน่าและตายได้ รูปแบบการปลูกพริกในประเทศไทยมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของดิน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกแบบใด เกษตรกรจะให้ความสำคัญกับขั้นตอนการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การให้น้ำ รวมถึงการดูแลและป้องกันโรคและแมลง

การปลูกพริก

ต้นกล้าพริก

การปลูกพริกในปัจจุบันสามารถทำได้ 2 วิธีด้วยกัน เกษตรกรจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ดังนี้

  1. การเพาะเมล็ดพันธุ์ในแปลง นำเมล็ดพันธุ์หว่านกระจายให้ทั่วทั้งแปลงเพาะ หรือโรยเมล็ดเป็นแถวลงไปในร่องลึก 0.6–1 เซนติเมตร ห่างกันแถวละประมาณ 10 เซนติเมตร กลบด้วยปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วหรือดินผสมละเอียด รดน้ำให้ชุ่มเสมอ คลุมด้วยฟางแห้งหรือหญ้าแห้งบางๆ เมื่อกล้าเริ่มงอกมีใบจริงอายุประมาณ 12–15 วัน ให้ถอนแยกต้นที่เป็นโรค ไม่สมบูรณ์ หรือต้นที่ขึ้นเบียดกันแน่นเกินไปทิ้ง ให้มีระยะห่างกันพอสมควร และควรให้ปุ๋ยเสริมทางใบเพื่อให้ต้นกล้าเจริญเติบโตและแข็งแรง เมื่อต้นกล้าอายุ 30–40 วัน จึงย้ายลงปลูกในแปลงใหญ่ได้
  2. การเพาะเมล็ดพันธุ์ในกระบะเพาะที่มีวัสดุเพาะเมล็ดเป็นส่วนผสมสำเร็จรูปที่อุ้มน้ำได้พอเหมาะ แต่ละถาดมี 104 หลุม วัสดุเพาะ 1 ถุงสามารถใส่ถาดเพาะได้ 14-16 ถาด เป็นเทคนิคการเพาะที่ทำให้ต้นกล้าแข็งแรงสมบูรณ์ก่อนย้ายปลูก โดยจะต้องเพาะเมล็ดให้งอกก่อนในวัสดุเพาะอย่างอื่น เช่น ทรายผสมแกลบดำและขุยมะพร้าว ใช้เวลาประมาณ 10-12 วันเมล็ดจะงอก หลังจากนั้นจึงย้ายไปปลูกในวัสดุเพาะสำเร็จรูปที่อยู่ในถาดเพาะโดยจะใช้เวลาอีก 14-18 วันจึงจะสามารถนำต้นกล้าย้ายปลูกในแปลงได้

ในประเทศไทยสามารถปลูกพริกได้ตลอดปี แต่จะปลูกได้ผลดีที่สุดระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่เก็บผลผลิต การเก็บผลผลิตในฤดูแล้งทำให้สะดวกในการตากแห้ง อีกทั้งเป็นช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู (24-29 องศาเซลเซียล)

เตรียมแปลงปลูก

แต่หากต้องการปลูกให้ได้ราคาสูงจะต้องปลูกในเดือนเมษายน-พฤษภาคม และสิงหาคม-กันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่ปลูกพริกยากที่สุด

การเตรียมดินปลูกพริก ควรพิจารณาความแตกต่างตามสภาพของดินและระดับน้ำ แปลงปลูกควรขุดหรือไถดินให้ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ตากดิน 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่สลายตัวแล้วประมาณ 20 กิโลกรัม ต่อเนื้อที่ 5 ตารางเมตร พรวนย่อยผิวหน้าดินให้ละเอียด ส่วนการเตรียมดินปลูกในเขตอาศัยน้ำฝน ต้องพิจารณาเลือกที่ซึ่งระบายน้ำได้ดี การกำหนดแถวปลูกให้กำหนดแถวคู่ห่างกัน 1.20 เมตร และให้ระยะระหว่างแถว 0.50 เมตร ระยะระหว่างต้น 0.50 X 0.50 เมตร และเมื่อเตรียมแปลงปลูกแล้วให้ใส่ปุ๋ยคอกในอัตราไร่ละ 1,200–3,000 กิโลกรัม ทำการคลุกปุ๋ยคอกให้เข้ากับดิน แล้วใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ ในสภาพดินที่เป็นกรดจัดควรใช้ปูนขาวในอัตรา 200–400 กิโลกรัม/ไร่

ถาดเพาะ

สำหรับระยะปลูกพริกที่เหมาะสม พริกขี้หนูและพริกชี้ฟ้าเป็นพริกที่มีทรงพุ่มใหญ่ ควรใช้ระยะระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมตร พริกหยวกใช้ระยะระหว่างต้น 40 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ส่วนระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับพริกยักษ์ซึ่งเป็นพริกที่มีทรงพุ่มเล็ก ควรใช้ระยะห่างระหว่างต้น 40 เซนติเมตร ระหว่างแถว 60 เซนติเมตร 

การปฏิบัติและการดูแลรักษา

ปักหลัก ป้องกันลม

หลังจากปลูกพริกลงแปลงแล้ว เกษตรกรผู้ปลูกต้องให้ความสำคัญในเรื่องการให้น้ำพริก เนื่องจากเป็นพืชที่ต้องการน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอในช่วงแรกของการเจริญเติบโต ดังนั้น ดินควรมีความชุ่มชื้นพอดี อย่าให้เปียกแฉะเกินไป จะทำให้ต้นพริกเหี่ยวตายได้ ในช่วงเก็บผลผลิตควรลดการให้น้ำเพื่อจะทำให้คุณภาพผลผลิตดี สีของเม็ดสวย

นอกจากนี้ ภายในแปลงต้องกำจัดวัชพืชและพรวนดิน หากเป็นช่วงระยะที่ต้นพริกยังเล็กควรมีการกำจัดวัชพืชให้บ่อยครั้ง หากวัชพืชคลุมต้นพริกช่วงระยะการเจริญเติบโต จะทำให้แคระแกร็น คุณภาพผลผลิตไม่ดี

ส่วนการใส่ปุ๋ย เนื่องจากพริกเป็นพืชที่มีอายุการเก็บผลค่อนข้างยาวนาน ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารครบ

ผลที่ถูกโรคและแมลงเข้าทำลาย

เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 13-13-21 ในอัตราส่วน 25-50 กิโลกรัม/ไร่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อช่วยเสริมการเจริญเติบโต นอกจากนี้ ควรใส่ปุ๋ยน้ำทางใบบ้างโดยทำการฉีดพ่นทุกครั้งหลังการเก็บเกี่ยว การใช้ปุ๋ยเคมีจะได้ผลต่อพืชสูงสุดขึ้นอยู่กับสภาพและคุณสมบัติของดิน โดยเฉพาะค่า pH ความชื้น และระยะการเจริญเติบโตของพืช อีกทั้งปริมาณอินทรียวัตถุที่อยู่ในดินต้องมีอย่างเหมาะสม

การใส่ปุ๋ยเคมีลงในดิน จำเป็นต้องมีความชื้นอย่างเพียงพอ ถ้าไม่เช่นนั้น ปุ๋ยเคมีจะไม่ละลายและไม่เป็นประโยชน์ต่อพืช ดังนั้น บางครั้งอาจใช้วิธีละลายปุ๋ยเคมีด้วยน้ำให้มีความเข้มข้นพอดี

ต้นกล้าพริก

สำหรับการใส่ปุ๋ย ควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรก ใส่ก่อนปลูกเป็นปุ๋ยรองพื้น พรวนกลบลงในดินและโรยปุ๋ย  ไนโตรเจนใส่ด้านข้าง ห่างจากโคนต้นประมาณ 2 นิ้ว และเมื่ออายุประมาณ 10-14 วัน หลังจากย้ายกล้า ให้ใส่ครั้งที่สอง โดยโรยด้านข้างแล้วแต่งหน้าด้วยปุ๋ยไนโตรเจนและพรวนกลบลงในดิน

การป้องกันกำจัดศัตรูพริก

นอกจากการให้น้ำ การใส่ปุ๋ย หรือการกำจัดวัชพืชแล้ว ยังมีศัตรูพริกต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการ

ปลูกพริกเป็นอย่างมาก ศัตรูพริกที่สำคัญที่พบได้โดยทั่วไปมีดังนี้

แปลงปักหลัก
  1. เพลี้ยไฟ เป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวแคบยาว มีความยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง ขอบปีกมีขนเป็นแผง มักพบอยู่บนใบและยอดอ่อน อีกทั้งพบบริเวณฐานดอกและขั้วผลอ่อน ขณะหากินไม่ชอบเคลื่อนย้ายตัว เมื่อมีการกระทบกระเทือนจะเคลื่อนไหวรวดเร็ว มีการขยายพันธุ์ทั้งแบบผสมพันธุ์และไม่ต้องผสมพันธุ์ ตัวเมียมีอายุประมาณ 15 วัน และเมื่อได้รับการผสมจะออกไข่ได้ประมาณ 40 ฟอง ตัวเมียที่ไม่ผสมพันธุ์ออกไข่ได้ประมาณ 30 ฟอง วงจรชีวิตจากไข่ถึงตัวเต็มวัยประมาณ 15 วัน ระยะไข่ 4-7 วัน ตัวอ่อนวัยที่ 1 มีชีวิต 2 วัน วัยที่ 2 มีชีวิต 4 วัน วัยที่ 3 ใช้เวลาฟักตัว 3 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัยสมบูรณ์

เพลี้ยไฟจะระบาดมากในฤดูแล้ง หรือเมื่อมีฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน โดยจะทำลายใบอ่อนและตาดอก ลักษณะการทำลาย ใบจะห่อปิด ขอบใบม้วนขึ้นข้างบน ทำให้ลำต้นแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต ทำลายผลพริกให้หงิกงอ ไม่ได้คุณภาพ

สำหรับการป้องกันกำจัด เพลี้ยไฟชอบหลบอยู่ตามใต้ใบ ตามซอกยอดอ่อนในดอก เวลาพ่นยาควรใช้เครื่องมือที่สามารถพ่นได้อย่างทั่วถึง การเลือกยาที่เหมาะสมควรทำดังนี้ คือ ถ้าปลูกพริกในแหล่งที่มีการระบาดมานาน ควรเลือกใช้ยาที่ทำลายได้เฉพาะ เช่น อิมิดาคลอพริดแลนเนท เป็นต้น หรือใช้ระบบให้น้ำแบบสปริงเกลอร์

  1. แมลงวันพริก เป็นแมลงศัตรูพริกที่มีความสำคัญมากถ้ามีการระบาดสามารถ ทำลายผลผลิตให้เกิดความเสียหายได้มากถึง 60–100 เปอร์เซ็นต์ เพศเมียวางไข่ที่ผลพริกเมื่อไข่ฟักออกมาจะทำให้ผลพริกเน่าเสียและร่วงหล่น

การป้องกันกำจัด เก็บผลพริกที่ร่วงหล่นทำลายโดยการแช่น้ำไว้ 1-2 คืน แล้วนำไปทำปุ๋ยหมัก ใช้เชื้อรา เมทาไรเซียม พ่นเป็นประจำ แต่ถ้าจำเป็นจึงควรใช้สารเคมี เช่น อิมิดาโคลพริด (imidacloprid) ผสมน้ำพ่นในแปลงพริกช่วงพริกติดผล

  1. เพลี้ยอ่อนพริก เป็นแมลงปากดูดชนิดหนึ่งที่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ป้องกันกำจัดโดยพ่นด้วยปิโตรเลียมออย หรือสารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าที่ทุบแตกแล้ว 40 กรัม/น้ำ 1 ลิตร
  2. แมลงหวี่ขาวพริก เป็นแมลงปากแทงดูด เป็นพาหะนำโรคไวรัสมาสู่ต้นพืช ควรรีบป้องกันกำจัดเช่นเดียวกับเพลี้ยอ่อน คือ พ่นด้วยปิโตรเลียมออย หรือสารสกัดจากต้นยาสูบ, หางไหล
  3. ไรขาว พบว่ามีการระบาดในช่วงฤดูที่มีการปลูกพริกกันมาก ไรขาวจะเข้าทำลายที่ยอดก่อน เมื่อเป็นหลายๆ ยอด จะดูเป็นพุ่มใบ พริกจะหงิกงอ ใบอ่อนหยาบย่น หรือเป็นคลื่นขอบใบม้วนลงทางด้านล่าง ใบจะค่อยๆ ร่วง และยอดจะตายไปในที่สุด

การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูแปลงพริกเสมอๆ เมื่อพบไรขาวในปริมาณมากให้รีบกำจัดด้วยสารเคมี เคลเทน หรือไดโฟคอล และเลบโตฟอส หรือฟอสเวล เป็นต้น แต่ถ้าตรวจพบว่ามีการระบาดของเพลี้ยไฟและไรขาวพร้อมกัน ควรใช้สารเคมีกำจัดของทั้งสองชนิด ฉีดพ่นพร้อมกันเลย จะได้ผลสมบูรณ์ขึ้น หรือใช้กำมะถันที่อยู่ในรูปผงผสมน้ำ พ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน ถ้ายอดอ่อนเป็นปกติจึงหยุดพ่น

แปลงพริก

นอกจากศัตรูพริกที่กล่าวมาแล้ว พริกยังมีโรคระบาดซึ่งเกิดจากเชื้อรา มีผลเสียหายต่อการปลูกพริก ซึ่งที่พบเห็นในขณะนี้ ได้แก่

  1. โรคกุ้งแห้ง มีสาเหตุมาจากเชื้อรา พบระบาดมากในระยะที่ผลผลิตพริกกำลังเจริญเติบโต การเข้าทำลายจะเห็นได้ชัดเจนบนผลพริกที่แก่จัดหรือสุก อาการเริ่มแรกจะเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลช้ำ เนื้อเยื่อบุ๋มไปจากเดิมเล็กน้อย และจุดสีน้ำตาลจะค่อยๆ ขยายวงกว้างออกเป็นแผลวงกลมหรือวงรี โดยมีขนาดแผลไม่จำกัด จะทำให้ผลพริกเน่า และจะระบาดติดต่อกันอย่างรวดเร็ว

การป้องกันกำจัดทำได้ดังนี้

1.1 ก่อนปลูกนำเมล็ดพันธุ์มาล้างน้ำให้สะอาด แล้วแช่ในน้ำอุ่นประมาณ 30 นาที

1.2 ใช้สารเคมีคลุกเมล็ดพันธุ์เพื่อทำลายโรคที่ติดมากับเมล็ด

1.3 ฉีดพ่นสารเคมี เช่น ไซเนบ มาเนบ หรือเบนโนมิล แมนโคเซบ เพื่อป้องกันกำจัดเชื้อราทุกๆ 7–15 วัน/ครั้ง

  1. โรคเหี่ยวของพริกจากเชื้อราหรือโรคหัวโกร๋น การเข้าทำลายจะแตกต่างจากอาการเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อาการเหี่ยวจากเชื้อราจะเริ่มจากใบล่างก่อน แล้วจึงค่อยแสดงอาการที่ใบบน ต่อมาใบที่เหลืองจะเหี่ยวลู่ลงดินและร่วง ต้นพริกจะแสดงอาการในระยะผลิดอกออกผล ฉะนั้น อาจทำความเสียหายต่อดอกและลูกอ่อนด้วย เมื่อตัดดูลำต้น จะพบว่าเนื้อเยื่อท่อลำเลียงอาหารเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลไหม้ แสดงว่าต้นจะเหี่ยวตายในที่สุด

การป้องกันกำจัดทำได้ดังนี้

2.1. เมื่อปรับดินปลูกแล้วควรโรยด้วยปูนขาว จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อรา

2.2. ถอนหรือขุดต้นที่เป็นโรคเผาทิ้ง แล้วใช้สารเคมีเทอราคลอร์ (terraclor) ผสมน้ำตามอัตราส่วนที่แนะนำไว้ในฉลาก แล้วเทราดลงในหลุมที่เป็นโรค

2.3. ควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับพริก ไม่ควรปลูกพริกซ้ำที่บ่อยๆ

2.4. ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากกว่าปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เพื่อป้องกันดินเป็นกรด และเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน

2.5. ปรับปรุงดินให้ร่วนซุย มีการระบายน้ำดี

  1. โรคโคนเน่าหรือต้นเน่าโดยการทำลาย จะแสดงออกทางใบ ใบจะเหลืองและร่วง โคนต้นและรากจะเน่าเปื่อยเป็นสีน้ำตาล ต้นพริกจะเหี่ยวตาย แต่จะระบาดมากในระหว่างที่มีการผลิดอกออกผล อาการของโรคเน่าหรือต้นเน่านี้จะแตกต่างกับโรคพริกหัวโกร๋น คือ ยอดจะไม่หลุดร่วงไป

การป้องกันกำจัดทำได้ดังนี้

3.1. หมั่นตรวจต้นพริกดูว่าเป็นโรคหรือไม่

3.2. ขุดหรือถอนต้นพริกที่เป็นโรคเผาทิ้ง แล้วใช้สารเคมีเทอราคลอร์ ผสมน้ำตามอัตราส่วนคำแนะนำในฉลาก เทราดลงในหลุมที่เป็นโรค หรือใช้ฟอร์มาลินผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 50 ราดลงบริเวณโคนต้นที่เป็นโรค ระวังอย่าให้ไหลไปสู่ต้นอื่น เพราะจะเป็นการแพร่เชื้อโรค

3.3. การเตรียมดินปลูก ควรเพิ่มปูนขาวเพื่อให้ดินเป็นด่าง เพราะถ้าดินเป็นกรดจะเกิดโรคนี้ได้ง่าย

3.4. ควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับการปลูกพริก

3.5 ใช้เชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์รวม

  1. โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ต้นพริกที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการเหี่ยวทั่วต้นในวันที่มีอากาศร้อนจัด และอาจจะฟื้นคืนดีใหม่ในเวลากลางคืน ต้นพริกจะมีอาการเช่นนี้ 2-3 วัน ก็จะเหี่ยวตายโดยไม่ฟื้นอีก การเหี่ยวของต้นพริกที่เป็นโรคนี้ จะแสดงอาการใบเหลืองที่อยู่ตอนล่างๆ ก่อน เมื่อถอนต้นมาดูจะเห็นว่ารากเน่า และเมื่อเฉือนผิวของลำต้นตรงใกล้ระดับคอดินจะพบว่า เนื้อเยื่อที่เป็นท่อลำเลียงอาหารช้ำ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งแตกต่างจากสีของเนื้อเยื่อที่ดีของพริก
แมลงศัตรูพริก

สำหรับการป้องกันกำจัด เมื่อพบต้นพริกที่แสดงอาการเหี่ยวให้ถอนหรือขุดแล้วนำไปเผา และถ้าหากพบควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดหนอนเจาะรากและโคนต้น และควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับ

การปลูกพริก เช่น ปลูกข้าวโพด แตงกวา ถั่วต่างๆ