คนบางคนที สมุทรสงคราม ทำสวนแบบเศรษฐกิจพอเพียง 1 ไร่ ได้ 2 แสน

ชื่อนี้ “สุชล สุขเกษม” ใครๆ ก็น่าจะคุ้น ถ้าก้าวเข้ามาในพื้นที่อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เพราะคุณสุชลเป็นคนรุ่นเก่าที่เกิดและเติบโตในพื้นที่ เรียนจบเพียงประถมศึกษาปีที่ 6 เรียนต่อการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ช่วยพ่อแม่ทำการเกษตรในพื้นที่ที่มีอยู่ กระทั่งปี 2532 เดินทางไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย

คุณสุชล สุขเกษม

ตลอด 8 ปีที่ทำงาน คุณสุชลคิดเก็บเงินเพื่อนำมาสร้างบ้านและทำเกษตรแบบพอเพียง ในพื้นที่ที่พ่อและแม่ให้ไว้ เมื่อกลับมาก็ลงทุนทำการเกษตร ตามที่เห็นว่าชาวบ้านใกล้เคียงทำแล้วประสบความสำเร็จ แต่โชคไม่ได้เข้าข้าง เมื่อทำแล้วต้องเป็นหนี้ เพราะไม่เคยได้จับงานเกษตรมาก่อน ความฝันของการปลูกบ้านและทำเกษตรบนที่ดินที่แม่ให้ไว้ต้องเริ่มใหม่

ไม่นาน ด้วยความตั้งใจใฝ่รู้ คุณสุชลสมัครเข้าอบรมการทำการเกษตรทุกอย่างที่ขวางหน้า ทำให้ได้เรียนรู้หลายสิ่ง นำมาประกอบกันและประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตนเอง

สวนเดิมที่พ่อและแม่ยกให้เป็นร่องสวน และปลูกมะพร้าว อาชีพเดิมที่ชาวบางคนทีส่วนใหญ่ทำกัน การต่อยอดที่ทำได้ตอนนั้นคือ การทำน้ำตาลมะพร้าว แต่สิ่งที่คุณสุชลเรียนรู้มาสอนให้ทำเกษตรผสมผสานในพื้นที่เดียวกัน คุณสุชลจึงหันกลับมามองพื้นที่ อะไรที่สามารถทำได้ก็เริ่มลงมือทำอย่างตั้งใจ

แปลงมะลิเล็กๆ เก็บขายได้เงินทุกวัน

หลักในการทำแปลงเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นศูนย์ศึกษาการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ (ตำบลจอมปลวก) บ้านสารภี หมู่ที่ 7 ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพราะที่นี่ไม่เหมือนศูนย์แห่งอื่น อาทิ การเลี้ยงไก่หลุม การเลี้ยงไก่ตะกร้า การเลี้ยงไก่ชิงช้า การทำมูลไส้เดือน การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม การปลูกมะลิ การปลูกมะพร้าว การทำปุ๋ยหรือน้ำหมักชีวภาพ การนำมูลไก่มาผลิตเป็นก๊าวชีวภาพใช้ในครัวเรือน การใช้จักรยานสูบน้ำ ตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ การปลูกผักปลอดสาร การใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ การกรองน้ำมันเก่าเป็นไบโอดีเซล การแปรรูปอาหารไว้จำหน่าย และการปลูกมะลิ

ไก่หลุม ขี้ไก่ขายเป็นปุ๋ยได้

ตัวอย่างหนึ่งในหลายๆ กิจกรรมที่ดำเนินภายในสวนคือ การเลี้ยงไก่ตะกร้า คุณสุชล เล่าว่า เริ่มต้นจากการแนวคิดการเลี้ยงไก่โดยไม่เปลืองพื้นที่ ดินและฟ้า ถือเป็นพื้นที่เดียวกัน จึงลองนำไก่ใส่ตะกร้าแล้วผูกไว้กับต้นมะพร้าว เมื่อไก่ขี้ ขี้ไก่จะหล่นลงโคนต้นไม้ เป็นการให้ปุ๋ยไปเอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องนำปุ๋ยไปให้กับต้นไม้อีก ด้วยเหตุนี้ จึงนำตะกร้ามาครอบผูกติดกัน นำไก่ไว้ในตะกร้า เรียกว่า ไก่ตะกร้า นำอาหารและน้ำ ผูกไว้ในตะกร้า ให้อาหารและน้ำทุกวัน มีตะกร้าด้านบนและร่มเงาของต้นไม้บังแดดและฝน ทุกวันสามารถเก็บไข่จากไก่ตะกร้าได้ ไม่เปลืองพื้นที่ และยังได้ปุ๋ยให้กับต้นไม้ต้นนั้นไปโดยปริยาย

ไก่ตะกร้า ผูกไว้โคนต้นไม้ ให้ปุ๋ยต้นไม้ด้วยขี้ไก่ไปในตัว

อีกตัวอย่างคือ การเลี้ยงไก่หลุม เป็นกิจกรรมที่คุณสุชล คิดและเริ่มทำมาตั้งแต่แรก เนื่องจากไปศึกษายังศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งอื่นมา มีการเลี้ยงหมูหลุม มูลหมูสามารถนำมาเป็นปุ๋ยได้ จึงมีแนวคิดว่า สัตว์อื่นก็น่าจะเลี้ยงได้เช่นกัน เมื่อกลับมาจึงนำไก่มาทดลองเลี้ยงแบบหมูหลุม แต่เนื่องจากพื้นที่เป็นร่องสวน จึงก่ออิฐบล็อกขึ้นมาเสมือนคอก ล้อมรั้ว ทำหลังคาและประตู พื้นด้านในใช้แกลบ ขี้เถ้า ไว้ให้ไก่คุ้ยเขี่ย เมื่อปล่อยไก่ลงเลี้ยง ไก่ถ่ายมูลออกมา มูลไก่จะผสมคลุกเคล้าไปกับแกลบและขี้เถ้า ปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลา 3 เดือน สามารถเก็บมูลไก่ขายเป็นปุ๋ยขี้ไก่ครั้งละหลายกระสอบ

กุ้งก้ามกราม เป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงเพิ่มเข้ามาในร่องสวน ด้วยพื้นที่เดิมเป็นร่องสวนมะพร้าวอยู่แล้ว มีน้ำในร่องสวน คุณสุชลก็เลี้ยงปลาตามธรรมชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ มีกุ้งขนาดใหญ่เข้ามาตามร่องสวน เมื่อสังเกตดูพบว่า กุ้งเจริญเติบโตดี แต่พบปัญหากุ้งกัดกินกันเองในช่วงเวลาที่กุ้งลอกคราบ ทำให้ไม่เหลือกุ้งขนาดใหญ่ไว้กินหรือจำหน่าย เมื่อเห็นพื้นที่ว่างในร่องสวน จึงจับลูกกุ้งลงตะกร้า โดยใช้ตะกร้า 2 ใบคว่ำเข้าหากัน ใช้น้ำเปล่าขนาด 1 ลิตร ทำเป็นทุ่นลอย ให้ตะกร้าจุ่มลงน้ำเพียง 1 ใบ อีก 1 ใบที่คว่ำด้านบนลอยเหนือน้ำ เจาะรูตะกร้าบน ขนาด 3×3 นิ้ว ปล่อยกุ้งลงไปชุดละ 1 ตัว ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ผลที่ได้ ทำให้กุ้งเจริญเติบโตดี ไม่กินกันเองเมื่อกุ้งลอกคราบ

ไก่ชิงช้า ทุกวันล้างขี้ไก่ เข้าบ่อหมักใช้เป็นก๊าซชีวภาพในครัวเรือน

1 ร่องสวน มีความยาวที่สามารถเลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้ 20-50 ตะกร้า ใช้ระยะเวลาเลี้ยง 6-7 เดือน สามารถจับขายได้ราคากิโลกรัมละ 500-800 บาท สร้างรายได้เพิ่มให้กับครอบครัวอีกมาก

เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช ทำโดยรอบบ้าน ทุกพื้นที่สามารถหยิบจับทำให้เกิดรายได้ในครัวเรือนได้ทั้งหมด คุณสุชล บอกว่า ผลผลิตที่ได้จากสวนทุกชนิดมีไว้กินในบ้าน เมื่อเหลือจึงนำไปขาย ระยะแรกนำออกไปฝากขาย ตั้งขายเองบ้าง ต่อมาเมื่อมีคนรู้จักไม่จำเป็นต้องนำออกไปฝากขายแล้ว เพราะคนเข้ามาซื้อถึงสวน

ผลงานล่าสุดที่คุณสุชลทำคือ การทดลองปลูกกาแฟ และเริ่มให้ผลผลิตแล้ว เป็นการทดลองปลูกเพื่อให้ได้รู้ว่า กาแฟก็สามารถเจริญเติบโตในภาคกลางได้ แม้จะทราบว่ารสชาติอาจจะไม่ดีเท่าการปลูกในพื้นที่สูงก็ตาม และหากไม่ได้จำหน่ายเป็นเมล็ดกาแฟคั่วบด ก็อาจนำมาทำประโยชน์อย่างอื่นได้ โดยมองว่า จะนำไปปรุงรสกับไข่เค็มที่ทำจากไข่เป็ดภายในสวน

เดิมไข่เป็ดที่เก็บได้ในแต่ละวัน มีลูกค้ามาจองไว้เกือบครบ เมื่อมีเหลือจึงนำไปแปรรูปเป็นไข่เค็ม โดยผสมกลิ่นและรสชาติลงไปเป็นไข่เค็มรสต้มยำ รสชาติอร่อยถูกใจผู้บริโภค จึงแบ่งปันวิธีทำไข่เค็มรสต้มยำมาให้

น้ำหมักสูตรต่างๆ ใช้ในสวน

เตรียมไข่เป็ด 20 ฟอง ล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง จากนั้นเรียงใส่ภาชนะสำหรับดองที่มีฝาปิด

ทำน้ำดอง โดยใช้น้ำสะอาด 4 ถ้วย เทลงในหม้อ ตามด้วยเกลือเม็ด 1 ถ้วย ซอสปรุงรส 1 ขวดใหญ่ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว กระเทียม หั่นพอแหลก เทลงไปต้มในหม้อเดียวกัน

ต้มน้ำให้เดือด หลังเดือด 5 นาที ยกลง (ไม่ควรต้มนาน เพราะน้ำจะหนืด และซึมเข้าไปในไข่ยาก)

รอให้น้ำดองเย็น จากนั้นเทลงภาชนะดองให้ท่วมไข่เป็ด ปิดฝา

ใช้เวลาดอง 12 วัน เมื่อครบกำหนดนำไข่ออกมาล้าง

บ่อกลางสวน เลี้ยงปลา ในตะกร้าเลี้ยงกุ้ง

หากต้องการรับประทานเป็นไข่เค็มรสต้มยำ นำไปต้มได้เลย แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้อีก 8 วัน แล้วนำไปทอด จะได้ไข่ดาวทอดรสต้มยำ ไข่เค็มรสต้มยำนี้หลังจากทำเสร็จ หากเก็บในตู้เย็น สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานถึง 3 เดือน หากเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติ สามารถเก็บไว้รับประทานได้นาน 1 เดือน

กิจกรรมภายในศูนย์ศึกษาการเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ (ตำบลจอมปลวก) บ้านสารภี หมู่ที่ 7 ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม แห่งนี้ได้ทุกวัน โดยสามารถติดต่อมาที่ คุณสุชล สุขเกษม โทรศัพท์ (086) 178-4157 คุณสุชลยินดีต้อนรับและให้คำแนะนำด้วยความประทับใจ

บ่อเลี้ยงไส้เดือน ทำปุ๋ยไส้เดือนไว้ใช้และขาย
กุ้งก้ามแดง เลี้ยงในบ่อ โตก็จับขายได้
นำไข่เป็ดมาทำไข่เค็มสมุนไพรรสต่างๆ

 

วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2562

…………………………………………………

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354