ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | พัฒนา นรมาศ |
เผยแพร่ |
ทุเรียนหมอนทอง จากแหล่งปลูกในเขตพื้นที่ภูเขาไฟเก่าทำให้ได้เนื้อภายในผลกรอบนอกนุ่มใน หอม หวานมัน กลมกล่อม เป็นทุเรียนคุณภาพเฉพาะถิ่นที่ถูกอกถูกใจผู้บริโภคยิ่งนัก ทุเรียนจะมีวางขายในตลาดท้องถิ่น แต่มีเกษตรกรก้าวหน้านักพัฒนาสวนไม้ผลรุ่นใหม่ได้ก้าวเปิดตลาดทุเรียนด้วยการทำ MOU ซึ่งเป็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่างผู้ปลูกกับตลาดผู้ซื้อ ทำให้เกษตรกรสามารถยกระดับรายได้นำไปสู่การยังชีพที่มั่นคง ยั่งยืน
คุณรัตดา คงสีไพร เกษตรอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เล่าให้ฟังว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมในโครงการส่งเสริมการเกษตรระบบแปลงใหญ่ทุเรียน พื้นที่ 1,983 ไร่ รวม 208 ราย เพื่อพัฒนาการผลิตที่ยั่งยืน จึงส่งเสริมให้ปลูกในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้ทุเรียนคุณภาพ และได้รับการรับรองให้เป็นทุเรียน GI : สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย หรือเป็นพืชคุณภาพเฉพาะถิ่น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตมั่นคง
คุณสุขุมาภรณ์ ตองอบ เกษตรกรก้าวหน้านักพัฒนาสวนไม้ผลรุ่นใหม่ เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่วัยเด็กกระทั่งเติบใหญ่ วิถีชีวิตมีความผูกพันกับการทำสวนไม้ผลมาตลอด นอกจากวิ่งเล่นตามประสาเด็กหรือกลับมาจากเรียนหนังสือก็ได้ช่วยคุณแม่-คุณพ่อ ขุดดิน ใช้อุปกรณ์เครื่องมือทำการเกษตร ลากสายยางให้น้ำพืชหรือไม้ผล เก็บเกี่ยวผลผลิต หรือเปิดตลาดจำหน่าย ทำให้ได้เรียนรู้เสริมสร้างประสบการณ์ไว้ได้มากพอควร
ย่างเข้าสู่วัยรุ่น ได้ออกจากบ้านไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช ปี 2552 จบการศึกษารับปริญญาตรี เป็นธรรมชาติวัยรุ่นไฟแรงมันท้าทายจึงตัดสินใจเลือกไปทำงานบริษัทเคมีการเกษตร 5 ปี ทำให้ได้เสริมสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากห้องเรียนหรือสวนไม้ผล
การทำงานภาคเอกชนกำลังก้าวสู่ความสำเร็จ แต่หัวใจที่มีความผูกพันกับครอบครัวที่อบอุ่น ได้สัมผัสกับธรรมชาติของกลิ่นอายดิน ได้ถูกมดแดงกัด ได้กินผลไม้อร่อยๆ หรือได้เป็นแรงงานการพัฒนาสวนไม้ผล ทำให้ตัดสินใจกลับมาสู่ดินเพื่อร่วมกับคุณแม่-คุณพ่อ พัฒนาสวนไม้ผลด้วยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม หรือปลูกในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม GAP และที่สำคัญคือ การเปิดตลาดจำหน่ายทุเรียนหมอนทอง ด้วยการทำ MOU ซึ่งเป็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเกษตรกรสวนไม้ผลกับตลาดผู้ซื้อสู่การมีรายได้มั่นคง
ได้จัดการทำงาน 2 ด้าน คือ การจัดการพัฒนาสวนไม้ผลด้วยการผลิตทุเรียนคุณภาพ และการจัดการงานด้านการตลาดด้วยการทำ MOU เป็นงานที่ต้องทำแบบผสมผสานกันเพื่อให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ
การผลิตทุเรียนคุณภาพ ด้วยสภาพพื้นที่ปลูกอยู่ในเขตภูเขาไฟเก่าที่มอดดับ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในจังหวัดศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอขุนหาญ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ให้ปลูกทุเรียนหมอนทองด้วยการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ปลูกในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้ผลทุเรียนคุณภาพ และได้รับการส่งเสริมพัฒนาการผลิตให้เป็นทุเรียน GI : สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย หรือเป็นพืชคุณภาพเฉพาะถิ่น เป็นการผลิตทุเรียนคุณภาพยุคใหม่ เพิ่มศักยภาพพืชเศรษฐกิจ เพื่อลดต้นทุนและพัฒนาการผลิตที่ยั่งยืน
ด้านการตลาด ได้ทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU (Memorandum of Understanding) ในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสวนไม้ผลกับ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ (Siam Makro Public Limited) ซึ่งเป็นธุรกิจค้าส่ง เป็นการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน เพื่อร่วมมือในการส่ง-รับทุเรียนที่เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย
การดำเนินงานครั้งแรก ได้ทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างเกษตรกรสวนไม้ผลกับ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขาจังหวัดศรีสะเกษ
การขยายตลาด จากจังหวัดศรีสะเกษ ได้ดำเนินการทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสวนไม้ผล กับ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขาจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์ สาขาละ 1 แห่ง และขยายตลาดไปที่จังหวัดอุบลราชธานี 2 สาขา
และได้ขยายตลาดไปต่างประเทศ ที่สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ สาขากรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่เป็นซัพพลายเออร์ (Suppliers) ใหญ่ แล้วจัดการส่งทุเรียนไปยังสาขาต่างๆ ในประเทศกัมพูชา
คุณสุขุมาภรณ์ ตองอบ เกษตรกรก้าวหน้านักพัฒนาสวนไม้ผลรุ่นใหม่ เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า แนวทางข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสวนไม้ผลกับบริษัทผู้ซื้อ คือ สวนคัดทุเรียนคุณภาพ จัดบรรจุภัณฑ์ตามจำนวน จัดส่งไปที่สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สาขาที่ได้บันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ไว้ ดังนี้
– จัดส่งทุเรียนคุณภาพให้สาขาจังหวัดศรีสะเกษ 15 ตัน ต่อฤดู หรือต่อปี ราคา 125 บาท ต่อกิโลกรัม
– จัดส่งทุเรียนคุณภาพให้สาขาจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุรินทร์ และสาขาจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดละ 3-5 ตัน ต่อฤดู หรือต่อปี ราคา 140 บาท ต่อกิโลกรัม
– จัดส่งทุเรียนคุณภาพให้สาขาจังหวัดอุบลราชธานี 5-10 ตัน ต่อฤดู หรือต่อปี ราคา 130 บาท ต่อกิโลกรัม
– จัดส่งทุเรียนคุณภาพให้สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ สาขากรุงพนมเปญ 3 ตัน ราคา 130 บาท ต่อกิโลกรัม ต่อฤดู หรือต่อปี และมีข้อมูลว่า สยามแม็คโคร กรุงพนมเปญ นำไปขาย 220-250 บาท ต่อกิโลกรัม
ราคาซื้อ-ขาย จะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้หรือไกล หรือกลไกตลาด และนี่คือสิ่งที่ได้ดำเนินการตามข้อตกลงร่วมกัน ที่ทำให้เกษตรกรนำไปสู่การยกระดับรายได้เพื่อก้าวสู่ความมั่นคงในด้านการยังชีพ
ขอบคุณ คุณธนดล วงษ์ขันธ์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ที่นำเยี่ยมชมสวน พร้อมกับได้นำเรื่องราว พลิกผืนดิน พัฒนาคุณภาพทุเรียนหมอนทอง ทำ MOU กับคู่ค้า สู่การมีรายได้มั่นคง เป็นความสำเร็จของเกษตรกรนักพัฒนาสวนไม้ผล และเปิดตลาด MOU เพื่อทำให้มีรายได้และยังชีพมั่นคง
สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ คุณสุขุมาภรณ์ ตองอบ เลขที่ 122 หมู่ที่ 16 ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โทร. (085) 417-7178 หรือ คุณสุริยา บุญเย็น สำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ โทร. (062) 196-1377 ก็ได้ครับ