ปลูกมะปรางหวานอย่างไร ให้อร่อยขึ้นชื่อ ดั่งของดี จังหวัดนครนายก

ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนเมษายนของทุกปี  ตรงกับช่วงฤดูมะยงชิด มะปรางหวาน ของดีจังหวัดนครนายก  สำหรับปีนี้ ชมรมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายก  ร่วมกับจังหวัดนครนายก   สำนักงานเกษตรจังหวัด  และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  สำนักงานนครนายก  เตรียมจัดงาน “ มะยงชิด  มะปรางหวานนครนายก ” ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์  2560   ณ บริเวณข้างศาลากลางจังหวัดนครนายก

ปัจจุบัน “ มะปรางหวานนครนายก ” ได้รับการขึ้นทะเบียน  สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามวันที่ยื่นคำขอ 29 กรกฎาคม 2557 โดยระบุคำนิยามสินค้ามะปรางหวานนครนายก หมายถึง มะปรางหวานสีเหลืองทอง สดใส ผลใหญ่ยาวรี รสชาติหวานกรอบ มีกลิ่นหอม ซึ่งปลูกในเขตพื้นที่ อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองครักษ์ ของจังหวัดนครนายก

“พันธุ์ทองนพรัตน์ ” คือ หนึ่งในลักษณะเด่นของพันธุ์มะปรางหวาน ที่มีคุณภาพในพื้นที่จังหวัดนครนายก เป็นพันธุ์ยอดนิยมที่ขายดีในท้องตลาดทั่วไป เพราะมีลักษณะผลค่อนข้างใหญ่ รูปร่างยาวรี ปลายเรียวแหลม เปลือกบาง ผลสุกสีเหลืองอมส้ม เนื้อหนา แน่น ละเอียด เม็ดลีบเล็ก รสชาติ รสหวาน หอมกรอบ ไม่ระคายคอ ค่าความหวาน 16 – 19 องศาบริกซ์  คุณลักษณะดังกล่าวทำให้ มะปราง พันธุ์ทองนพรัตน์ ได้รับการยอมรับจากเกษตรกรว่า เป็นสายพันธุ์มะปรางผลใหญ่ที่เหมาะสมที่จะปลูกในทางการค้ามากที่สุด

ผู้บริโภคจำนวนมากติดใจรสชาติความอร่อยของมะปรางหวานนครนายกโดยเฉพาะมะปราง พันธุ์ทองนพรัตน์ เพราะมีรสชาติอร่อย เนื้อแน่น ออกดอกติดผลง่าย ผลใหญ่ใกล้เคียงกับมะยงชิด  เคล็ดลับความอร่อยของมะปรางหวานพันธุ์นี้ นอกจากคุณลักษณะเด่นทางสายพันธุ์แล้ว ยังสัมพันธ์ระหว่างสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์อีกด้วย เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ ของจังหวัดนครนายกมีสภาพพื้นที่เป็นดินปนทรายที่เกิดการสะสมตัวของตะกอนที่ถูกน้ำพัดพามาซึ่งเหมาะกับ การทำการเกษตร เนื่องจากเป็นดินที่อุ้มน้ำได้ดีและมีช่องว่างของเม็ดดินจึงทำให้มีการระบายน้าและการ ถ่ายเทของอากาศในดินได้ดี ต้นมะปรางจึงเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับสภาพภูมิอากาศของ จังหวัดนครนายกมีลักษณะหนาวสลับร้อน จึงส่งผลทำให้มะปรางหวานนครนายกมีรสชาติดี และมีลักษณะที่ โดดเด่น ผลโต เม็ดลีบเล็ก รสชาติหวาน หอมกรอบ และมีสีเหลืองชวนรับประทาน

การปลูกมะปรางหวาน ของจังหวัดนครนายก เกษตรกรนิยมปลูกต้นมะปรางทั้งแบบยกร่องและพื้นราบ การปลูกแบบยกร่อง ปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 6 x 6 เมตร  ส่วนพื้นที่ราบหรือที่ดอน นิยมปลูก ในระยะห่างระหว่างต้น 8 x 8 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่  การปลูก เกษตรกรนิยมขุดหลุมขนาดกว้าง 75 เซนติเมตร ลึก 50 – 100 เซนติเมตร ตากดิน 9 วันจากนั้นนำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกมาใส่ในหลุม แล้วผสมให้เข้ากัน

เกษตรกรเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝน  ประมาณเดือนพฤษภาคม หรือเดือนมิถุนายน หลังลงปลูกปีที่ 3-4 ต้นมะปรางก็จะเริ่มให้ผลผลิต  นับจากวันที่เริ่มแทงช่อ ประมาณ 70– 80 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตออกบริโภคหรือจำหน่ายได้  วิธีการเก็บเกี่ยว ควรใช้กรรไกรตัดหรือใช้ตะกร้อสอยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้ผลช้ำ

หากใครมีเวลาว่าง  สนใจสัมผัสชีวิตชาวสวนมะปรางของจังหวัดนครนายก ขอแนะนำให้ติดต่อขอเยี่ยมชม สวนนพรัตน์ ของ ร.ต.ต.อำนวย หงษ์ทอง ที่รู้จักกันดีในชื่อ ” ดาบนวย ”   ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 99  หมู่ 10 ชุมชนบ้านดงละคร ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก  โทร. (081) 762-4082

ดาบนวย สะสมประสบการณ์ในการปลูกมะปรางหวาน-มะยงชิดมายาวนานกว่า 30 ปี เล่าให้ฟังว่า   ธุรกิจสวนมะปรางหวาน-มะยงชิดถือเป็นอาชีพที่น่าสนใจมาก ใช้เงินลงทุนปลูกเพียง ไร่ละ 2 หมื่นบาท หากปลูก 5 ไร่ ก็ใช้เงินแค่แสนบาท จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายใน 4 ปี เมื่อนำผลผลิตออกขาย หักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้วเหลือผลกำไรก้อนโตถึง 70%

ปัจจุบันเมืองไทยไม่มีผลไม้ชนิดไหนที่ขายได้ในราคาแพงขนาดนี้ แม้บางปีจะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดมาก แต่เกษตรกรยังขายมะปรางหวานได้ในราคากิโลกรัมละ100 กว่าบาท แถมไม่ต้องยุ่งยากในการคัดขนาด มีแม่ค้าจากตลาด อ.ต.ก. มารับซื้อผลผลิตถึงสวน มะปรางผลเล็ก-ผลใหญ่ขายในราคาเดียวกันหมด กิโลกรัมละ 200-220 บาท แม่ค้านำไปขายปลีกในราคากิโลกรัมละ 300-500 บาท ปัจจุบันมะปรางหวานยังเป็นที่ต้องการของตลาดส่งออกอีกด้วย