รับมือหนอนกออ้อยระบาดช่วงแห้งแล้ง

หนอนกอลายจุดเล็ก

ในช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วง อาจส่งผลกระทบต่ออ้อยในระยะแตกกอ กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฝ้าระวังการระบาดของหนอนกออ้อย มักพบการเข้าทำลายของหนอนกออ้อย 2 ชนิด คือ หนอนกอลายจุดเล็ก ตัวหนอนจะเจาะเข้าไปตรงส่วนโคนระดับผิวดิน และเข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดอ้อยแห้งตาย ผลผลิตอ้อยลดลง 5-40% และยังพบหนอนเข้าทำลายอ้อยในระยะอ้อยย่างปล้อง โดยหนอนจะเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในลำต้นอ้อย ทำให้อ้อยแตกแขนงใหม่ และแตกยอดพุ่ม

รอยทำลายของหนอนกออ้อย
หนอนกอสีชมพู

ส่วน หนอนกอสีชมพู ตัวหนอนจะเจาะเข้าไปกัดกินตรงส่วนโคนของหน่ออ้อยระดับผิวดิน และเข้าไปกัดกินส่วนที่กำลังเจริญเติบโตภายในหน่ออ้อย ทำให้ยอดอ้อยแห้งตาย และแม้ว่าหน่ออ้อยที่ถูกทำลายจะสามารถแตกหน่อใหม่เพื่อชดเชยหน่ออ้อยที่เสียไปได้ แต่หน่ออ้อยที่แตกใหม่จะมีอายุสั้นลง ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของอ้อยลดลงตามไปด้วย

หนอนกอสีชมพู
อาการยอดเหี่ยว
อาการยอดเหี่ยวจากการทำลายของหนอนกออ้อย

สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาหนอนกออ้อยทั้ง 2 ชนิด ให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในแหล่งชลประทาน ควรให้น้ำเพื่อให้อ้อยแตกหน่อชดเชย และในช่วงที่พบกลุ่มไข่ของหนอนกออ้อย ให้ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมมา อัตรา 30,000 ตัว ต่อไร่ ต่อครั้ง โดยให้ปล่อยติดต่อกัน 2-3 ครั้ง กรณีพบการระบาดหรืออ้อยแสดงอาการยอดเหี่ยวมากกว่า 10% ให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงเดลทาเมทริน 3% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 2-3 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน หรือสารอินดอกซาคาร์บ 15% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นโดยใช้น้ำในอัตราส่วน 60 ลิตร ต่อไร่