เปิดสูตรเสียบยอด “อะโวกาโด” ขั้นเทพ สวนวังพลากร

ว่าไปแล้ว บ้านเราปลูก อะโวกาโด มานานหลายสิบปีแล้ว แต่ความที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ชมชอบเจ้าผลไม้ชนิดนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่รู้จักด้วย ที่ผ่านมาเกษตรกรจึงไม่นิยมปลูกกันมากนัก อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อะโวกาโด ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะใช่ว่าจะรับประทานได้เพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำมาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์เสริมความงามและอาหารเสริมได้ด้วย จึงถือเป็นผลไม้ที่มีอนาคตสดใส

“คุณวรเชษฐ์ วังพลากร” เจ้าของสวนวังพลากร ในเนื้อที่ 19 ไร่ อยู่ที่ ตำบลรวมไทย อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องอะโวกาโดคนหนึ่งของเมืองไทย และน่าจะเป็นรายใหญ่ด้วย โดยมีต้นอะโวกาโดพันกว่าต้น ประมาณ 98% ส่วนที่เหลือปลูกเงาะและทุเรียนไว้รับประทานเอง จากที่ก่อนหน้านี้เคยปลูกส้มมาก่อน แต่เจอปัญหาโรครุมเร้าจนขาดทุน ต้องปรับมาปลูกอะโวกาโดแทน และยังขยายไปปลูกอะโวกาโดอีกแปลง ในเนื้อที่ 80 กว่าไร่ พร้อมกันนั้นยังชักชวนเกษตรกรมาร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อส่งผลผลิตให้ นอกจากนี้ ยังไปปลูกที่เมืองตองยี ประเทศเมียนมาด้วยจำนวนกว่าหมื่นต้น

ในอดีตปลูกตามหัวไร่ปลายนา

คุณวรเชษฐ์ เล่าที่มาที่ไปของสวนแห่งนี้ว่า สมัยก่อนเห็นเกษตรกรที่อำเภอพบพระ ปลูกอะโวกาโดตามหัวไร่ปลายนาเต็มไปหมด และมักจะนำไปให้หมูกิน กระทั่งได้ไปดูงานที่ประเทศนิวซีแลนด์ และได้ไปสวน อะโวกาโดที่นั่น จึงได้ซื้อยอดพันธุ์แฮสนิวซีแลนด์มาเสียบ 80 กว่ายอด แต่เสียบติดเพียง 14-15 ต้น สุดท้ายเหลือ 10 ต้น เลยนำมาลองปลูกที่ อำเภอพบพระ ช่วงปลายปี 2552 เพราะตอนนั้นทำอาชีพเป็นโบรคเกอร์หามันฝรั่งป้อนให้บริษัทเลย์ฯ อยู่ที่นี่ด้วย พอปีที่ 3 ก็ออกดอก

จากนั้นเลยลองตัดยอดมาเสียบ ลองผิดลองถูกในการขยายพันธุ์ ซึ่งเวลานั้นค่อนข้างยาก ไม่เหมือนในปัจจุบันที่รู้เทคนิคต่างๆ เนื่องจากร่วมมือกับทางนิวซีแลนด์ ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็สนใจ โดย ดร. ฐิติพรรณ ฉิมสุข ทำวิจัยเรื่องสารสกัดน้ำมันจากอะโวกาโด ซึ่งต่อยอดไปถึงผลิตภัณฑ์ ทำเป็นตัวเซรั่ม เพราะมีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวหน้าตึง ชะลอริ้วรอย และได้รางวัลเหรียญทองแดงกลับมาจากการประกวดที่เกาหลีใต้ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

หลังจากเห็นว่าปลูกอะโวกาโดที่นี่ได้ผล เลยเลิกอาชีพโบรคเกอร์มันฝรั่ง และหันมาปลูกอะโวกาโดอย่างจริงจัง เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โดยลงทุนเรื่องระบบน้ำ และนำสายพันธุ์ต่างๆ มาเสียบยอด

คุณวรเชษฐ์ ให้ข้อมูลว่า ในการปลูกนั้นไปได้ดี แต่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ติดปัญหาเรื่องการหาตลาดค่อนข้างยาก เพราะคนไทยไม่ค่อยนิยมกัน ซึ่งช่วงแรกผลผลิตยังน้อย มีแค่ 5-6 ตะกร้า แต่แม่ค้าบอกไม่รู้จักพันธุ์แฮส ที่มีลักษณะผิวขรุขระไม่สวย แข็ง เมื่อไหร่สุกก็ไม่รู้ และคงไม่อร่อยแน่นอน แม่ค้าต้องการลูกใหญ่ๆ สุดท้ายใช้วิธีฝากขาย ซึ่งก็ขายได้โดยคนกรุงเทพฯ มาซื้อ และถามว่ามีอีกไหม ทำให้รู้ว่ามีคนเริ่มรู้จักพันธุ์นี้แล้ว จึงขยายพันธุ์เพิ่มอีก

ในสวนวังพลากรนั้น มีอะโวกาโดหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ บัคคาเนีย แฮส ปีเตอร์สัน และสายพันธุ์พื้นเมือง พบพระ 08 และ พบพระ 14 ซึ่งแต่ละพันธุ์มีจุดเด่นแตกต่างกัน อย่างที่เจ้าของสวนรายนี้ระบุว่า อย่าง พันธุ์แฮส จะมีความหอมลึกๆ มีความเหนียว และไม่ฉ่ำน้ำ ในส่วนรองลงมา เป็นพวกที่ตลาดล่างและตลาดกลางต้องการมากที่สุด คือ บัคคาเนีย รูปทรงจะใหญ่ ผลผลิตสูง ต่อต้นประมาณ 300 กิโลกรัม เมื่อปลูกได้ 5-6 ปี

สำหรับ พิงเคอร์ตัน รูปทรงเหมือนแฮส แต่ใหญ่กว่า คล้ายๆ ลูกแพร ค่อนข้างจะสวยแต่ก้านกับขั้วก้านเล็ก เวลาเชื้อราเข้าทำลายจะร่วงเลย ไม่ค่อยทนทาน

สายพันธุ์พบพระ 08 และ พบพระ14 ทนต่อโรค

คุณวรเชษฐ์ อธิบายถึง สายพันธุ์พบพระ 08 และ พบพระ 14 ว่า เป็นพันธุ์พื้นเมือง ที่คัดแล้วว่า

1. ทนต่อโรค โดยเฉพาะโรคไฟท็อปทอร่า หรือโรคใบไหม้ ซึ่งเป็นเชื้อราที่ทำลายตั้งแต่ยอดลงระบบราก แล้วทำให้รากเน่าโคนเน่า

2. ให้ผลผลิตสูง

3. เนื้อคุณภาพดี เนื้อเหนียวแห้ง ไม่ฉ่ำน้ำเหมือนพันธุ์พื้นเมืองทั่วๆ ไป

ถามถึงการขายผลผลิต เจ้าของสวนวังพลากรบอกว่า ขายในตลาดการท่องเที่ยวเป็นหลัก อย่างตลาดดอยมูเซอ เป็นเกรดรองๆ เพราะขายมาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ถ้าเกรดสูงหน่อยจะส่งเข้ากรุงเทพฯ แต่ยังไม่มีปริมาณมากพอที่จะส่งห้าง ซึ่งที่ผ่านมาทางห้างก็ติดต่อไปคุยเหมือนกัน แต่ผลผลิตยังไม่มากพอส่ง ขณะที่มีเงื่อนไขต่างๆ อีกอย่างผลผลิตทุกวันนี้ก็มีพ่อค้ามาถึงสวนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไปขายที่อื่น

ยามนี้นอกจากสวนพลากรขายผลผลิตแล้ว ยังขายกิ่งพันธุ์ที่ใช้วิธีทาบกิ่งด้วย พร้อมกันนี้ก็ยังชักชวนเกษตรกรในละแวกนั้น และที่จังหวัดกำแพงเพชรมาเป็นเครือข่ายปลูกอะโวกาโด โดยสนับสนุนในเรื่องกล้าพันธุ์ พร้อมรับซื้อผลผลิต ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ประมาณ 700 กว่าไร่ แต่ปีนี้ตั้งเป้าให้ได้ 1,200 ไร่

ในการปลูก คุณวรเชษฐ์ แนะนำว่า ต้องขุดหลุมลึกประมาณ 50 เซนติเมตร กว้าง 1 เมตรครึ่ง ไม่ให้ปลูกในหลุมลึก จะได้ดูแลในเรื่องของระบบรากได้ดีขึ้น ใส่มูลสัตว์ ขี้วัว ขี้ไก่ ลงไปในหลุม แต่ถ้าเป็น ขี้ไก่ต้องหมักก่อน หากช่วงปลูกไม่มีฝนก็ให้รอฝน ส่วนการปลูกด้วยเมล็ดนั้น กลายพันธุ์ 100%

 

วิธีดูแลบำรุงแต่ละช่วง

สาเหตุที่มีเกษตรกรหันมาปลูกอะโวคาโดกันมากขึ้นนั้น คุณวรเชษฐ์ มองว่า เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์สุขภาพมาแรง และสื่อต่างๆ ที่โฆษณาเผยแพร่ช่วยให้อะโวกาโดเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น รวมทั้งการที่ตนเองลงยูทูบให้เป็นวิทยาทานในเรื่องของการเสียบยอด ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ๆ โดยเสียบตั้งแต่อายุประมาณเดือนครึ่ง ต่างจากสมัยก่อนที่เสียบกันตั้งแต่เพาะต้นสต๊อคให้ได้ 6-7 เดือน ถึงจะใช้ได้ ซึ่งเหมาะกับพวกมะม่วง ทุเรียน แต่ไม่ใช่กับอะโวกาโด เพราะเมื่อไปดูที่นิวซีแลนด์ เพาะมาได้แค่เดือนครึ่ง ยอดแดงๆ ยอดแค่นี้เองก็เสียบได้แล้ว และจะสมานแผลได้ดี

คุณวรเชษฐ์ กล่าวถึงเกี่ยวกับเทคนิคการเสียบยอดของอะโวกาโดว่า ต้องใช้ตั้งแต่เพาะเมล็ดจนจะเสียบได้ ถ้าจะให้ดีเลยไม่เกิน 2 เดือน ดีที่สุด ก็กำลังโผล่มาแดงๆ และอุปกรณ์การเสียบต้องสะอาด เพราะว่าต้นยังเล็กๆ อยู่ เหมือนผ่าตัดตอนผ่าลงไปไม่ได้ ต้องสะอาด ติดเชื้อไม่ได้ ถ้าติดเชื้อจะไม่ค่อยติด สักระยะหนึ่งจะตาย และเมล็ดที่นำมาเพาะ ต้องทำความสะอาด ต้องแช่ EM อะไรต่างๆ แล้วถึงจะเอามาลงดิน อีกทั้งดินก็ต้องหมักเป็นปีๆ ราดเป็นชั้นๆ

เจ้าของสวนรายนี้ให้รายละเอียดอีกว่า อะโวกาโดมีดอกแล้วติดลูกจนครบการเก็บเกี่ยว จากนั้นจะออกดอกมาซ้อนกัน โดยเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม ตรงนี้จะเก็บผลผลิตได้ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคมของอีกปี ตกประมาณ 11 เดือน ซึ่งใช้เวลานานมาก ด้วยเหตุนี้ถ้าเป็นพันธุ์ไม่ดีจะแขวนอยู่บนต้นได้ไม่นาน และมีโอกาสจะขาดทุน ประกอบกับปัจจุบันนี้คนรับประทานอะโวกาโดเป็นยังมีจำนวนน้อย อีกทั้งยังมีเสียงสะท้อนในด้านลบเยอะ เช่น ซื้อไปแล้วไม่ได้กิน ไม่รู้จะกินอย่างไร

ฉะนั้น เมื่อมีการออกดอก การบำรุงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ปุ๋ยคอกต้องใส่อย่างน้อย 2 ครั้ง ต่อปี

โดยใส่ในช่วงต้นฝนกับปลายฝน ต้นฝนประมาณเดือนพฤษภาคม หลังเดือนเมษายนก็เตรียมใส่เลย ถ้าอายุต้น 4-5 ปี ใส่ 30 กิโลกรัม เป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก พอใกล้ๆ ปลายฝน ประมาณเดือนกันยายน ตุลาคม ก็ใส่อีก จะได้มีอาหารเพียงพอ เพื่อไม่ให้ต้นโทรมเพราะออกลูกตลอดปี

ดังนั้น ช่วงที่ยังเก็บลูกไม่หมด ขณะที่ยังออกดอกด้วย ถ้าดูแลตรงช่วงนี้ไม่ดี ผลผลิตอาจจะตกต่ำหรืออาจจะไม่ออก แต่ถ้าดูแลดีๆ บำรุงให้ถึงๆ จะออกผลผลิตเท่าเดิม

สำหรับการดูแลต้นอะโวกาโดนั้น จะใช้เคมีพ่นในช่วงฝน เพื่อป้องกันพวกเชื้อราไม่ให้ทำลายขั้ว เพราะที่อำเภอพบพระฝนตกชุกมาก ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน นอกจากนี้ ก็มีปัญหาหนอนเจาะลำต้นบ้าง แต่ไม่เป็นไรแค่ใช้ไซริงจ์ฟอสฟอรัสโอเอซิสไปจิ้มๆ ขูดๆ แต่สิ่งที่ทำลายมากที่สุดก็คือ     ไฟท็อปทอร่า เชื้อราตัวนี้ถ้าเกิดแล้วจะลามง่าย ซึ่งหลังจากพ่นสารเคมีแล้วก็ปลอดภัย เพราะหลังจากนั้นไม่ได้พ่นแล้ว จะเป็นช่วงฤดูใกล้เก็บเกี่ยว และพอเก็บเกี่ยวจะบำรุงดอก ใช้ยาฆ่าแมลงไม่ได้

จากประสบการณ์ที่ปลูกอะโวกาโดมา คุณวรเชษฐ์ ระบุว่า อะโวกาโด เป็นพืชที่ชอบดินร่วนซุย ไม่ชอบดินเหนียวเลย ไม่ชอบน้ำแฉะ และต้องระบายน้ำได้ดี อีกทั้งจากการเปรียบเทียบระหว่างใส่ปุ๋ยเคมีกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อะโวกาโดค่อนข้างจะตอบโจทย์กับปุ๋ยอินทรีย์มากกว่า โดยเฉพาะขี้แพะ

ที่ผ่านมา ผลผลิตของสวนเป็นที่น่าพอใจ อย่างที่คุณวรเชษฐ์บอก ถ้าเป็นพันธุ์แฮส ต้นอายุประมาณ 6 ปี ให้ผลผลิตอยู่ที่ 150 กิโลกรัม ต่อต้น ต่ำสุด 30-40 กิโลกรัม ซึ่งในจำนวน 3,000-4,000 ต้น หรือ 25 ต้น ต่อไร่ ก็เป็นตัวเลขที่เกษตรกรอยู่ได้แบบสบายๆ และมีเวลาด้วย ไม่ต้องไปดูแลเยอะ ถ้าเทียบกับการปลูกลำไย

ขายกิ่งพันธุ์ พร้อมแปรรูป

คุณวรเชษฐ์ เล่าด้วยว่า ปีนี้อะโวกาโดติดลูกเป็นบางต้น เนื่องจากต้องการจะขยายพันธุ์ให้ได้มากที่สุด โดยตัดยอด ตัดไปเสียบ เนื่องจากตอนนี้ให้ลูกไร่นำไปปลูก อีก 3 ปีข้างหน้า ค่อยเก็บเงิน เพราะทางสวนไม่ได้ต้องการจะขายกล้าพันธุ์แต่ต้องการให้แต่ละสวนมีผลผลิตให้ ซึ่งช่วง 5 ปีแรกนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องส่งผลผลิตมาให้ โดยแต่ละหมู่บ้านก็มีหัวหน้ากลุ่มที่มีการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน การขายจะมีการกำหนดราคาแต่ละเกรดไว้

กรณีช่วงปลูก 3 ปี อะโวกาโดยังไม่ออกผลผลิต เขาแนะนำเกษตรกรว่า ปัจจุบัน ปลูกผัก ปลูกข้าวโพด ปลูกพริก อยู่ก็ปลูกได้ตามปกติ แต่ถ้าใช้สารเคมีประเภทยาฆ่าหญ้าจะมีผลต่ออะโวกาโด โดยเฉพาะตอนที่ต้นยังเล็กอยู่ ดังนั้น ต้องล้อมด้วยซาแรน 1 เมตร

ในการขายกิ่งพันธุ์นั้น คุณวรเชษฐ์ ขายกิ่งละ 200 บาท ทุกพันธุ์ และในการปลูกแต่ละต้น ควรมีระยะห่าง 7-8 เมตร เพื่อไม่ให้ต้นติดกันจนเกินไป

ส่วนกรณีที่เกษตรกรบางคนคิดว่า อะโวกาโด ต้องปลูกในที่สูงและในเมืองหนาวนั้น ประเด็นนี้คุณ  วรเชษฐ์ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่า ที่ปลูกตั้งแต่ 400-1,200 เมตร จะเห็นความแตกต่าง คือตั้งแต่ 600-800 เมตร ช่วงนี้จะเป็นช่วงดีที่สุด ผลผลิตสูง คุณภาพเนื้อค่อนข้างดี

แต่ช่วงที่ความสูงสัก 1,000 เมตรขึ้นไป เปลือกเริ่มเปลี่ยน เริ่มจะแข็งๆ และเก็บได้ช้าขึ้น จากเดิมต้องเก็บ 10 เดือน จะเลื่อนเป็น 11-12 เดือน ส่วนคุณภาพถ้าปลูกในพื้นที่ 1,200 เมตร คุณภาพจะด้อยลงมา แต่ถ้าปลูกในพื้นที่ต่ำกว่า 400-500 เมตร ผลผลิตจะสุกเร็วขึ้น และจะมีความฉ่ำเรื่องน้ำเพิ่มขึ้นมา

คุณวรเชษฐ์ เปรียบเทียบผลผลิตอะโวกาโดบ้านเรากับทางนิวซีแลนด์ว่า เรื่องคุณภาพผลของไทยค่อนข้างดี เพราะเก็บที่ความแก่ประมาณ 80% ขึ้น แต่ถ้าเป็นอะโวกาโดจากนิวซีแลนด์ เก็บแค่ 70% เท่านั้น เพราะถ้าเก็บที่ความแก่ 80%โอกาสที่จะขายในตลาดจะสั้น จะสุกเร็ว เพราะฉะนั้นของไทยได้เปรียบ แต่ของบ้านเรายังขาดความรู้ เทคนิค เทคโนโลยีต่างๆ และอย่าไปคิดว่าเมืองนอกไม่ใส่สารเคมี เท่าที่เห็นมาใช้หนักว่าเมืองไทยเสียด้วยซ้ำ

เจ้าของสวนวังพลากร ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากปลูกอะโวกาโดว่า ในเบื้องต้นต้องดูว่ามีความรู้แค่ไหน มีตลาดรองรับไหม และก่อนที่จะมีผลผลิต จะมีพืชตัวไหนทำรายได้ให้บ้าง กรณีสนใจอยากรู้เรื่องอะโว กาโด หรืออยากจะเข้าไปดูสวน ซื้อกิ่งพันธุ์ ติดตามได้ที่ เพจ Avocado in Thailand สอบถามได้ที่ 081-950-5574

นอกจากสวนวังพลากรจะขายกิ่งพันธุ์และผลผลิตแล้ว คุณวรเชษฐ์ ยังนำผลอะโวกาโดตกเกรดไปสกัดแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ไม่ว่าจะเป็น แชมพู ครีมนวด และสบู่ก้อนที่มีส่วนผสม  จากอะโวกาโด ชื่อแบรนด์ “เมอตี้” (Merty) ทำให้ตลอดทั้งปีมีรายได้จากการขายผลอะโวกาโดสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอะโวกาโด ราว 1.2 ล้านบาท ต่อปี

นับเป็นเกษตรกรอีกรายที่ทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งทำให้ คุณวรเชษฐ์ วังพลากร มีรายได้เป็น กอบเป็นกำ และยังได้นำประสบการณ์และองค์ความรู้ต่างๆ มาถ่ายทอดให้ผู้สนใจโดยไม่หวงวิชาแต่อย่างใด

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2562