ชาวหินตั้ง เมืองหมอแคน ผนึกกำลัง ปลูกหัวไชเท้าคุณภาพเชิงพาณิชย์ ส่งขายโมเดิร์นเทรดใหญ่

หัวไชเท้าเป็นพืชผักอายุเก็บเกี่ยวสั้น มีรายได้เร็วจึงเกิดกลุ่มเกษตรกรปลูกหัวไชเท้าขนาดใหญ่คือกลุ่มเกษตรกรบ้านสว่าง หมู่ที่ 8 ตำบลหินตั้ง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น มีจำนวนสมาชิก 40 ราย ปลูกแบบมีคุณภาพได้มาตรฐาน GAP ได้ผลผลิต 7-9 ตัน ต่อไร่ ส่งขายให้กับห้างค้าปลีกรายใหญ่ เทสโก้ โลตัส รวมถึงพ่อค้าทั่วไป ทำให้ทุกครัวเรือนมีรายได้ที่แน่นอน มั่นคง แทนการรอขายผลผลิตตามฤดูกาล

สมาชิกกลุ่มกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการและเทสโก้โลตัส

คุณคำสอน เชิดโกทา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ตำบลหินตั้ง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์ (061) 945-2066 บอกว่า ในพื้นที่ประสบปัญหาปริมาณน้ำสำหรับใช้ทางเกษตรกรรม อาชีพหลักของชาวบ้านคือทำนาและปลูกพืชไร่ใช้น้ำน้อยอย่างมันสำปะหลังและอ้อย แต่เดิมหัวไชเท้าเป็นพืชผักที่ชาวบ้านในหมู่บ้านปลูกกันไว้อยู่แล้ว ไม่ได้เน้นปลูกขายจึงไม่ได้ใส่ใจเรื่องคุณภาพ ปลูกไว้รับประทานในครอบครัวแล้วที่เหลือนำไปขาย พอมีรายได้เสริมเข้ามา ปลูกจำนวนมาก-น้อยต่างกัน ตามความเหมาะสมของครัวเรือน

แต่หลังจากมีการรวมกลุ่มกัน พร้อมกับได้รับการสนับสนุนทั้งความรู้ เทคโนโลยี อุปกรณ์จากภาคราชการหลายหน่วยงาน ทำให้ชาวบ้านได้พัฒนาการปลูกหัวไชเท้าให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยในระยะแรกนำไปขายให้พ่อค้าในพื้นที่ก่อน แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในเรื่องราคาไม่คุ้มค่าเท่าที่คาดหวัง ทำให้ชาวบ้านเกิดความท้อแท้ กระทั่งเมื่อทางเทสโก้ โลตัส ได้ติดต่อทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นเพื่อหาแหล่งผลิตหัวไชเท้าที่มีคุณภาพ ทางชุมชนจึงถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมทดลอง แล้วประสบความสำเร็จสามารถปลูกหัวไชเท้าได้ตามมาตรฐานที่กำหนด

สมาชิกท่านนี้ปลื้มใจกับผลผลิตรอบนี้ได้คุณภาพเกินความคาดหมาย

การเข้ามามีบทบาทด้านการตลาดเพื่อรับซื้อหัวไชเท้าจากชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลหินตั้ง ผ่านทางสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางการตลาด มีราคารับซื้อที่ชัดเจนตามการตกลงร่วมกันระหว่างผู้รับซื้อและชาวบ้านในพื้นที่

นับจากนั้นชาวบ้านเริ่มหันมาจริงจังกับการปลูกหัวไชเท้าด้วยการเพิ่มพื้นที่ปลูก ลดพื้นที่ทำไร่ลง สร้างมาตรฐานการปลูก บริหารจัดการผลผลิตให้มีปริมาณเพียงพอ ได้คุณภาพมาตรฐานตามข้อตกลงของผู้รับซื้อ ตลอดจนจัดทำระบบบัญชีควบคุมสต๊อก รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างชัดเจนง่ายต่อการตรวจสอบ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นและเป็นไปอย่างถูกต้องจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีภายใต้ความช่วยเหลือ การแนะนำ และติดตามอย่างใกล้ชิดจากหลายหน่วยงาน ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล รวมถึงภาคเอกชนอย่างเทสโก้ โลตัส ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นในระยะเวลาที่รวดเร็วโดยไม่จำเป็นต้องรอขายผลผลิตตามฤดูกาล

บรรดาสมาชิกรวบรวมผลผลิตหัวไชเท้าเพื่อเตรียมส่งไปยังจุดคัดแยกและรับซื้อ

คุณคำสอน ให้รายละเอียดการปลูกหัวไชเท้าว่า ในกลุ่มมีสมาชิกประมาณ 40 คน จากเดิมที่เคยใช้พื้นที่ปลูกหัวไชเท้ากันเพียงบ้านละ 2-3 ไร่ แต่ภายหลังที่ประสบความสำเร็จสามารถสร้างคุณภาพหัวไชเท้าจนเป็นที่พอใจรับซื้อของทางเทสโก้ โลตัสในราคาที่ทุกคนพอใจ จึงทำให้ชาวบ้านจัดระบบการปลูกพืชในครัวเรือนของตนเองเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกหัวไชเท้าให้มากขึ้นรายละ 10 ไร่ เพราะมองเห็นตัวเงินที่ชัดเจนแน่นอนในแต่ละเดือน จึงทำให้ในตอนนี้เฉพาะในชุมชนมีพื้นที่ปลูกหัวไชเท้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 400 ไร่

หัวไชเท้าเกรดAส่งเข้าเทสโก้โลตัส

หัวไชเท้ามีอายุตั้งแต่ปลูกจนเก็บผลผลิตประมาณ 45 วัน ทั้งนี้ การปลูกแต่ละรอบสมาชิกต้องมาวางแผนตกลงเป็นรายเดือนกันว่าในแต่ละรอบสมาชิกรายใดจะปลูกบ้าง แล้วต้องมีความชัดเจนเพราะต้องมีสินค้าส่งให้ลูกค้าอย่างต่อเนื่องตลอด ทั้งนี้ กำหนดส่งให้ทางเทสโก้ โลตัส สัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งมีปริมาณเฉลี่ย 2 ตันเป็นอย่างต่ำ แล้วกำลังเพิ่มเพดานเป็นสัปดาห์ละ 5 ตัน

หัวไชเท้าที่เพิ่งตัดจากแปลง

สำหรับพันธุ์หัวไชเท้าที่เกษตรกรนิยมใช้ชื่อ “เอเวอร์เรสของเจียไต๋” เหตุผลที่เลือกเพราะเชื่อมั่นในคุณภาพเมล็ดพันธุ์ซึ่งเวลาปลูกเพียงหยอดหลุมละ 1 เมล็ดเท่านั้น ต่างกับการเลือกพันธุ์ที่ไม่รู้จัก ราคาถูกแต่เสียหายมากกว่าเพราะต้องหยอดหลายเมล็ดต่อหลุม

ทั้งนี้ ต้องปรับสภาพดินปลูกด้วยการใส่ปุ๋ยคอกทั้งมูลวัว ควาย แล้วไถกลับไป-มา อย่างน้อย 2 รอบ แล้วยกร่องปลูกขนาดกว้าง 1.20 เมตร นำเมล็ดพันธุ์หยอดตามหลุมที่เจาะไว้ห่างกันประมาณ 19-23 เซนติเมตร ให้รดน้ำสัก 15 วัน จึงพรวนดินด้วยอุปกรณ์ชักร่องทางยาว พร้อมใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 หรือ 16-16-8 อย่างใดอย่างหนึ่ง จากนั้นอีก 20 วันให้พรวนดินอีกครั้งโดยใช้อุปกรณ์ชักร่องทางขวางอีกด้านหนึ่ง แล้วใส่ปุ๋ยสูตร 20-8-20 เพื่อเร่งลำต้นและหัว

หัวไชเท้าที่กำลังเจริญเติบโต

ขณะเดียวกัน ในช่วงนี้หากเจอศัตรูพืชอย่างหนอนให้รีบใช้มือกำจัดทิ้งทันที แล้วควรหมั่นสังเกตในแปลงอย่างละเอียดอย่าให้หนอนเข้ามาวางไข่ อย่างไรก็ตาม หากพบเจอจำนวนมากอาจต้องพึ่งพาสารชีวพันธ์อย่างบิวเวอเรียบ้างเพื่อสกัดการเข้าทำลายของหนอนหรือศัตรูชนิดอื่น โดยควรเริ่มฉีดพ่นตอนอายุสัก 10 วัน ฉีดทุก 2-3 วันครั้ง โดยให้หยุดก่อนเก็บผลผลิตสัก 15 วัน แล้วเมื่อครบเวลา 45 วันจึงถอนหัวออก

คุณคำสอน บอกว่า ผลผลิตที่ปลูกช่วงฤดูแล้งในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ได้ผลผลิตเฉลี่ย 3,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ส่วนผลผลิตช่วงฤดูหนาวในเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ จะได้ผลผลิตดีกว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000 กิโลกรัม ต่อไร่ เนื่องจากเป็นพืชที่ชอบอากาศเย็น สำหรับทางเทสโก้ โลตัส ต้องการน้ำหนักต่อหัวเฉลี่ยประมาณ 1.2 กิโลกรัม ขณะที่ผลผลิตที่ตกเกรดจะมีพ่อค้ามารับซื้อ ทั้งนี้ ภายหลังเก็บผลผลิตจะต้องพักแปลงโดยไม่ปลูกซ้ำเป็นเวลา 3 เดือน ดังนั้น สมาชิกจะต้องหมุนเวียนแปลงปลูกไปเรื่อยๆ จนครบ โดยแปลงที่พักจะไม่ปลูกพืชชนิดใดเลย

สำหรับต้นทุนการปลูกหัวไชเท้าต่อไร่ประมาณ 30,000 บาท หรือเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5 บาท ได้แก่ การเตรียมดิน, ค่าอุปกรณ์และยา, แรงงาน ผลผลิตที่ได้ไม่น้อยกว่า 7 ตัน ต่อไร่ ซึ่งเมื่อขายให้เทสโก้ โลตัส ในราคากิโลกรัมละ 10 บาท (13 กุมภาพันธ์ 2562) นอกจากนั้น ผลผลิตหัวไชเท้าบางส่วนที่ไม่ได้คัดเกรดยังมีพ่อค้าทั่วไปมารับซื้อ ถ้าราคาช่วงฤดูหนาวกิโลกรัมละ 4 บาท ส่วนช่วงฤดูแล้งกิโลกรัมละ 12 บาท เพราะหน้าแล้งได้ผลผลิตน้อย แล้วปลูกยากจึงทำให้ราคาขายสูง

แปลงปลูกหัวไชเท้าที่เตรียมเก็บผลผลิต

คุณคำสอน กล่าวเสริมว่า หากนับเวลาย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปีที่ชาวบ้านยังปลูกหัวไชเท้ากันแบบเดิม ไม่เน้นขาย พอถึงเวลานี้พวกเขาได้พัฒนาวิธีปลูกได้อย่างรวดเร็ว ยอมรับในเทคโนโลยีการเกษตรแบบใหม่ จนเป็นเกษตรกรอาชีพที่ปลูกผักได้อย่างมีคุณภาพตามมาตรฐาน ถือว่าเป็นการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากความช่วยเหลือของทุกภาคส่วนตั้งแต่การผลิต การดูแล การเงิน ตลอดจนการตลาด ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมอย่างเป็นระบบมากขึ้น กล้าคิด กล้าแสดงออก

“แรงจูงใจที่ทำให้ชาวบ้านสนใจมาปลูกหัวไชเท้าพร้อมเร่งปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เกิดจากการมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนแล้วยังได้รับรู้ราคาซื้อ-ขายตามการตกลงที่เป็นธรรมล่วงหน้า ทำให้สามารถคำนวณรายรับว่าในรอบการผลิตจะได้เงินจำนวนเท่าไร ต่างกับการขายให้พ่อค้าที่ต้องรอราคาทีหลัง” คุณคำสอน กล่าว

สมาชิกท่านนี้โชว์ความสำเร็จได้ผลผลิตตามเป้า

ต้องยอมรับว่าผลจากการรวมกลุ่มทำกิจกรรมเกษตรนับวันจะมีความสำคัญ เพราะความก้าวหน้าทางวิทยาการ เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลอดจนการติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยรวดเร็วย่อมไม่ส่งผลดีหากคุณยังดื้อทำเองเพียงลำพัง เพราะไม่เพียงแต่จะมีรายได้เพียงน้อยนิดแต่ยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ อยู่เพียงคนเดียว…ถึงเวลาที่ต้องรวมตัวกันได้แล้วครับเพื่อผลประโยชน์ที่ดีกว่า