ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | ธาวิดา ศิริสัมพันธ์ |
เผยแพร่ |
มะละกอแขกนวลดำเนิน เป็นมะละกอที่ตลาดมีความต้องการสูง เนื่องด้วยเป็นมะละกอที่มีเนื้อสีขาว กรอบ เหมาะกับการนำไปตำส้มตำมากกว่าทุกสายพันธุ์ จึงเป็นมะละกอสายพันธุ์กินดิบที่เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกเพื่อสร้างรายได้
คุณธงชัย ศิริโภคารัตนา หรือ คุณแบงค์ อยู่บ้านเลขที่ 172/1 หมู่ที่ 8 บ้านเกาะ ตำบลจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เกษตรกรรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่องานเกษตรของครอบครัว คุณแบงค์ เล่าว่า ตนเองเป็นลูกหลานเกษตรกรอยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่ทำสวนมะละกอมาก่อน แต่เลิกทำไปเพราะตนเองและพี่ชายให้เลิกทำ เพราะอยากให้พ่อกับแม่ได้พักแล้วตนเองจะมาสานต่อ โดยขอวิชาความรู้การปลูกมะละกอจากพ่อ คือ คุณนพพันธ์ ศิริโภคารัตนา หรือในวงการมะละกอรู้จักกันในชื่อ เฮียไล้ เซียนมะละกอ เนื่องจากสมัยก่อนพ่อเป็นผู้คิดค้นวิธีการตอนมะละกอส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นประจำจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีใครที่คิดวิธีการตอนแบบพ่อได้ พ่อเป็นคนแรกๆ ที่เริ่มทำเริ่มมีชื่อเสียงก็มีหนังสือมาขอสัมภาษณ์จึงกลายเป็นที่รู้จักและพูดต่อๆ กันไปว่าพ่อผมเป็นเซียนมะละกอ
พลิกที่ดิน 40 ไร่ ปลูกมะละกอเป็นอาชีพสร้างตัว
โชคดีมีพ่อเป็นที่ปรึกษา
คุณแบงค์ บอกว่า ผมโชคดีที่มีพ่อเป็นเซียนปลูกมะละกอ ถือว่าได้เปรียบกว่าเกษตรกรมือใหม่หลายๆ ท่าน แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องใช้ความพยายาม ความขยัน ความอดทนของตัวเราเองด้วย
“ทักษะการปลูกมะละกอของผมเริ่มต้นจากศูนย์ ผมเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ไม่มีความรู้เรื่องการทำเกษตรเลย จะมีแค่ตอนเด็กได้ช่วยพ่อทำสวนมะละกออยู่บ้าง ทำงานตามที่พ่อสั่ง แต่ตอนนั้นยังไม่ได้มีความรู้ว่าพ่อให้ทำแบบนั้นเพราะอะไร แต่พอจะเริ่มเข้ามาทำสวนอย่างจริงจังจึงต้องเริ่มเรียนรู้ขอวิชาการปลูกมะละกอจากพ่ออีกครั้ง…ผมเริ่มปลูกมะละกอบนพื้นที่มรดกของพ่อ เดิมทีตรงนี้เป็นที่นามาก่อน แต่ผมเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้สวยอยู่ติดแหล่งน้ำ จึงคิดว่าจะปลูกมะละกอพันธุ์แขกนวลก่อนเพราะมีพ่อเป็นผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาได้ น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีในสายงานเกษตรของผม” คุณแบงค์ เล่า
คุณแบงค์ บอกต่อว่า ที่ดินทั้งหมดมี 47 ไร่ ถ้าคิดเฉพาะดินไม่รวมร่องน้ำจะมีพื้นที่ปลูกจริงๆ ประมาณเกือบ 30 ไร่ ปลูกเป็นอาชีพได้ 2 ปีกว่า ใช้วิธีปลูกไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย ซึ่งพันธุ์ที่เลือกปลูกเป็นมะละกอพันธุ์แขกนวลดำเนิน เป็นเมล็ดพันธุ์เก่าที่พ่อเก็บไว้ ตอนนี้ต้นมะละกอเริ่มโทรม ใบเริ่มหงิก แต่ยังให้ผลผลิตดกอยู่ กำลังแซมรุ่นใหม่ไม่ให้ขาดคอ การที่จะทำให้มะละกอมีผลผลิตดก ไม่ควรปล่อยต้นนานเกิน 2 ปี ระยะ 2 ปี มะละกอยังเป็นมะละกอสาวให้ผลผลิตดก แต่ถ้าหลังจากนี้ไปแล้วต้นจะเริ่มโทรม ทางที่ดีคือไม่ควรปล่อยต้นไว้เกิน 2 ปี ครบ 2 ปีให้โค่นทิ้งแล้วปลูกแซมเลยจะดีกว่า
การปลูกมะละกอหัวใจสำคัญคือ ต้องคัดพันธุ์เอง แล้วคัดต้นที่มีลักษณะต้านทานโรคใบด่างวงแหวน…โรคนี้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการปลูกมะละกอ ถ้าเลี่ยงไม่ให้เกิดได้ถือว่าปีนั้นประสบผลสำเร็จ ทางรอดคือ 1. ต้องคัดพันธุ์เอง 2. หากคัดพันธุ์ปลูกเองแล้วแต่ไวรัสยังหลงอยู่ อาจมีตัวแปรอื่น จากประสบการณ์ที่ปลูกมา 2 ปี คิดว่าพาหะเป็นตัวสำคัญถ้าควบคุมไม่ได้ก็โดนไวรัส พิสูจน์จากที่สวนข้างๆ เขาปลูกมะละกอเหมือนกันแต่เขาปลูกทิ้งขว้าง แล้วพอมะละกอเกิดโรคเราไม่สามารถไปบอกเขาให้โค่นต้นทิ้งได้ ตัวการนี้แหละคือพาหะมาหาสวนเราซึ่งเราควบคุมไม่ได้เลย
วิธีการปลูกและดูแล
การปลูกมะละกอ ปุ๋ยถือเป็นเรื่องสำคัญและขาดไม่ได้ การดูแลเมื่อของเก่าหมดรุ่นให้เริ่มดูแลใส่ปุ๋ยบำรุงต้นใหม่ช่วงแรกต้นอายุ 1-4 เดือน ใส่ปุ๋ยยูเรียก่อน 46-0-0 เร่งให้ต้นโต ต้นน้อยก็ใส่น้อยเป็นกำมือ เมื่อต้นอายุ 4-5 เดือน จะเริ่มใส่ 16-16-16 เพื่อให้สะสมอาหารและฉีดฮอร์โมนทางใบ และแคลเซียมโบรอนก็ขาดไม่ได้ ถ้าขาดแล้วลูกจะปูดบวม ผิวตะปุมตะป่ำ ปัจจัยที่ส่งผลให้ลูกปูดบวมนอกจากแคลเซียมโบรอนยังมีตัวของไวรัสวงแหวนอีกอย่างที่ส่งผลให้ลูกปูดบวมผิวไม่สวย
ปุ๋ย…ที่ใช้อาจจะต้องเลือกปุ๋ยยี่ห้อที่เข้ากับพืชได้ดี เพราะที่สวนเคยมีการทดลองใช้ปุ๋ย 2 ยี่ห้อ ยี่ห้อที่ 1 พืชดูดซึมปุ๋ยได้ดีต้นเจริญเติบโต ส่วนยี่ห้อที่ 2 เป็นสูตรเสมอเหมือนกันแต่พืชไม่กิน อันนี้เป็นเรื่องที่แปลกมากถือว่าต้องใช้ประสบการณ์และการสังเกตของผู้ปลูกโดยเฉพาะ
น้ำ…มะละกอเป็นพืชใช้น้ำเยอะ จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน วันละ 1 รอบ ยิ่งถ้าวันไหนอากาศร้อนต้องให้ ที่สำคัญคือมะละกอต้องห้ามรดน้ำตอนกลางวันเพราะจะเป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดน้ำในบ่อก็จะร้อน ถ้าเราใช้น้ำรดโดนดอก ดอกจะร่วงเยอะมาก แล้วผลจะไม่ติด เพราะฉะนั้น ระยะเวลาที่เหมาะสมในการรดน้ำคือช่วงตี 5-9 โมงเช้า อย่าให้เกินเที่ยง ปริมาณการรดน้ำดูตามความเหมาะสม ถ้าใส่ปุ๋ยไปเมื่อวาน รดน้ำแค่ 2 วันแรก วันที่ 3 ให้งด เพื่อให้ดินแห้ง เทคนิคของผมคือถ้าใส่ปุ๋ยแล้วรดน้ำซ้ำเยอะๆ ปุ๋ยจะไหลหนี
“เทคนิคการให้น้ำสูตรนี้ได้มาจากพ่อ คือที่เรือรดน้ำตรงหัวกะโหลกที่ดูดน้ำขึ้นจะมีรูดูดน้ำน้อยๆ พ่อผมใช้เทคนิคปุ๋ยยูเรียน้ำ 20 ลิตร ปุ๋ยยูเรียเกือบครึ่งกิโลเทลงไปแล้วคนในน้ำ ปุ๋ยยูเรียมันเย็น แล้วเอาสายที่ดีดูดน้ำหย่อนลงไปและพ่นออก ผมใช้เทคนิคนี้เดือนเมษายนที่ผ่านมาผมไม่ขาดคอเลย ต่างจากสวนข้างๆ ที่มะละกอขาดคอ อันนี้ถือเป็นวิธีของพ่อเลยครับ” คุณแบงค์ เล่า
ผลผลิตต่อรอบ 2 ปี ที่ผ่านมาผลผลิตได้ไม่เท่ากัน คำนวณเป็นเดือน 1 คันรถ ผลผลิต 3-3.5 ตัน 30 ไร่ เก็บแบบปูพรมทั้งหมดได้ 4 คันรถ ประมาณ 13 ตัน ใน 1 รอบการเก็บ 20-25 วัน…ที่นี้จะมีช่วงดกมากๆ พายเรือเข้าไปร่องเดียวก็ได้มะละกอมาแล้ว ลำเรือหนึ่งเท่ากับ 1 ตัน ซึ่งมะละกอดกไม่ดกจะเป็นช่วงอยู่ที่การบำรุง ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่มะละกอขาดตลาดเกษตรกรจะได้ราคาดี
สถานการณ์ราคามะละกอดิบ ผันผวนตลอดเวลา
เกษตรกรต้องเรียนรู้และใช้ไหวพริบ
“ตลาดมะละกอดิบราคาค่อนข้างผันผวนแบบวันต่อวันหรือชั่วโมงต่อชั่วโมง เกษตรกรที่จะอยู่ให้ได้คือต้องใช้ไหวพริบ หรือพยายามมีตลาดรับซื้อหลายที่ หากตลาดที่ 1 ราคาถูก ตลาดที่ 2 ราคาอาจจะแพงขึ้น ข้อนี้เกษตรกรต้องรู้เพื่อความอยู่รอด ข้อดีของเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างผมคือรู้เรื่องเทคโนโลยีและรู้จักต่อรอง เราสามารถเช็คราคาสินค้าได้ตลอดเวลาว่าตลาดที่นี่เป็นอย่างไรแล้วเทียบกับตลาดที่อื่นเป็นอย่างไร ตรงนี้ต้องเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของเราด้วย” คุณแบงค์ แนะนำ
คุณแบงค์ บอกว่า การขายมะละกอไซซ์ที่ตลาดต้องการจะมีทั้งหมด 4 ไซซ์ คือ 1.ไซซ์ 2 แถว 2.ไซซ์ 3 แถว 3. กลม (ลูกกลมป้อม) 4.ลูกเสียบแหลม ราคาจะแตกต่างกัน ไซซ์ 2 แถว ราคาจะแพงที่สุด ไซซ์ 3 แถว ราคารองลงมา ส่วนลูกกลมลูกเสียบราคาจะไม่แตกต่างกันมากแต่ ณ เวลานี้ลูกกลมตลาดตาย ตลาดตายคือขายไม่ออกเพราะผลผลิตเยอะ ราคาจะเหลือ 2 บาท ซึ่งเวลานี้ที่เก็บ ตกลงราคากับแม่ค้าว่า ไซซ์ 2 แถว กิโลกรัมละ 14 บาท ไซซ์ 3 แถว กิโลกรัมละ 9 บาท ลูกกลมลูกเสียบ กิโลกรัมละ 4-5 บาท ราคามะละกอถือว่ามีความผันผวนมาก เช่น ตอนเช้าราคากิโลกรัมละ 14 บาท ตกเย็นราคาพุ่งมาเป็นกิโลกรัมละ 20 กว่าบาทก็มี
ตลาดมะละกอดิบอนาคตยังสดใส
คุณแบงค์ บอกว่า ณ ปัจจุบันราคามะละกอกินดิบยังผันผวน แต่ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกษตรกรต้องรับมือให้ได้ ถ้ารับได้ถือว่าอนาคตการตลาดของมะละกอดิบยังไปได้อีกไกล เพราะคนในประเทศไทยส่วนใหญ่นิยมรับประทานส้มตำ จึงคิดว่าตลาดไม่มีวันตาย มะละกอดิบเป็นมะละกอที่เก็บง่าย ดูแลง่ายกว่ามะละกอสุก ตอนเก็บไม่ต้องทะนุถนอม ถ้าเป็นมะละกอสุกต้องถนอม ผิวเสียนิดเดียวราคาตก และมองว่าส่วนแบ่งตลาดมะละกอดิบกับสุก มะละกอดิบขายได้ง่ายกว่า เพราะคนไทยชอบกินส้มตำ
การตลาดมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ ตอนนี้มีทั้งหมด 4 ที่ด้วยกัน 1. ตลาดทางภาคอีสาน โคราช 2. ขอนแก่น 3. ตลาดสี่มุมเมือง 4. ตลาดไท ลักษณะการส่งขายจะเก็บผลผลิตมาแพ็กใส่ถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม ราคาส่วนใหญ่อิงจากพ่อค้าแม่ค้าคนกลางเป็นคนกำหนด ถึงเวลาพ่อค้าจะมารับซื้อถึงที่แล้วเอาไปขายที่สี่มุมเมืองแล้วจึงค่อยโทร.ตกลงราคากันทีหลัง แต่สวนผมจะไม่ทำแบบนั้นคือต้องตกลงราคากันก่อน เพราะว่าผมรู้สึกว่าเอาของไปแล้วไม่รู้ราคาเราเสียเปรียบ เกษตรกรต้องรู้จักเจรจาให้เป็น ทำอย่างไรก็ได้ให้เราเสียเปรียบพ่อค้าคนกลางให้น้อยที่สุด คุณแบงค์กล่าวทิ้งท้าย
สนใจสอบถามรายละเอียดหรือปรึกษาการตลาดและเทคนิคการปลูกมะละกอแขกนวลดำเนิน ติดต่อคุณแบงค์ ได้ที่เบอร์โทร. (083) 167-6282
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562