ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 ราชบุรี แนะปลูกโกโก้แซมพืชหลัก ทางเลือกสร้างรายได้

ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการปลูกโกโก้เป็นอย่างมาก เกษตรกรไทยหันกลับมาให้ความสนใจปลูกโกโก้มากขึ้นในช่วงนี้เนื่องจากผลตอบแทนดีกว่าพืชเศรษฐกิจหลายชนิด โดยพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ อยู่ที่ 5,464.39 ไร่ และพื้นที่เก็บเกี่ยว 4,090.66 ไร่

คุณอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2

ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ คิดเป็นพื้นที่ 3,957.59 ไร่ ซึ่งจังหวัดที่ปลูกมากคือ จังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง และจังหวัดตาก ขณะที่ภาคตะวันออกก็ปลูกมากเช่นกันโดยมีพื้นที่เพาะปลูก 586.48 ไร่ จังหวัดที่ปลูกมากคือ จังหวัดจันทบุรี

ขณะที่ผู้ผลิตช็อกโกแลตในประเทศไทยยืนยันว่า ความต้องการบริโภคช็อกโกแลตของคนไทยอยู่ที่ 120 กรัม ต่อคน ต่อปี เมื่อเทียบกับประเทศเบลเยียมอยู่ที่ 8 กิโลกรัม ต่อคน ต่อปี โกโก้สามารถป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมได้หลายผลิตภัณฑ์ ทั้งบริโภคเป็นอาหารทำเป็นช็อกโกแลตโอวัลติน หรือไมโล และยังใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเครื่องสำอาง

ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนรับซื้อเมล็ดตากแห้งในราคากิโลกรัมละ 50 บาท เพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมนี และประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถือว่าตลาดโกโก้ในไทยยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก

ทั้งนี้ คุณอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า สำนักงานมีพื้นที่รับผิดชอบ 8 จังหวัด คือ จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม

คุณนิตย์ ตั่นอนุพันธ์

“โดยในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็น 1 ใน 8 จังหวัดภายใต้การรับผิดชอบที่มีการปลูกโกโก้แซมพืชหลัก เช่น มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้อำเภอบางสะพาน โดยมี คุณนิตย์ ตั่นอนุพันธ์ เป็นประธานกลุ่ม”

“คุณนิตย์ ตั่นอนุพันธ์ ปลูกโกโก้แซมมะพร้าว จำนวน 2,200 ต้น บนพื้นที่ 126 ไร่ แปลงโกโก้แซมปาล์มน้ำมัน จำนวน 350 ต้น ในพื้นที่ 28 ไร่ และแปลงโกโก้แซมยางพารา จำนวน 200 ต้น ในพื้นที่ 16 ไร่ ทั้ง 3 แปลง อยู่ในพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และแปลงโกโก้อย่างเดียว จำนวน 16,000 ต้น ในพื้นที่ 104 ไร่ อยู่ในอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี รวมมีต้นโกโก้ 23,700 ต้น ในพื้นที่ทั้งหมด 274 ไร่” คุณอาชว์ชัยชาญ กล่าว

โกโก้ในสวนมะพร้าว

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลผลิตโกโก้จะเริ่มออกปีที่ 3 และให้ผลผลิตสูงสุดปีที่ 6 โดยมีผลผลิตสูงสุด 24 กิโลกรัมแบบน้ำหนักสด ต่อต้น ต่อปี มีต้นทุนการปลูกการเก็บเกี่ยวรวมกองควักเมล็ดใส่ถุงหมัก ฯลฯ เป็นเงินประมาณ 15,500 บาท ต่อตัน มีรายได้เฉลี่ยที่ไร่ละ 46,500 บาท

ในอดีตมีการส่งเสริมการปลูกโกโก้ เพื่อส่งผลผลิตสดให้ผู้รับซื้อและรวบรวมส่งโรงงานแปรรูปขนาดใหญ่ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจกรรมการผลิตโกโก้ระดับโลก ทำให้การตลาดเป็นแบบผูกขาดตลาดรับซื้อผลผลิตจึงมีอำนาจในการกำหนดราคาเป็นหลัก หลังจากมีปัญหาด้านราคาจึงส่งผลให้ผู้ปลูกโกโก้ในอดีตเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน ถึงกระนั้นก็ยังมีบางคนที่เห็นโอกาสของอุตสาหกรรมโกโก้ในประเทศไทยเนื่องจากมีความต้องการสูง จึงได้สร้างโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กขึ้นเพื่อผลิตผงโกโก้ป้อนอุตสาหกรรมต่างๆ จึงมีความต้องการโกโก้เป็นจำนวนมาก

ผลโกโก้ผ่าซีก

ในวันนี้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรที่จะปลูกโกโก้ และสามารถกำหนดราคาของผลผลิตเองได้ ด้วยมีการรวมกลุ่มกันทำการผลิตจึงสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกรายใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น

ที่สำคัญในกระบวนการปลูกแทบไม่ต้องมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเลย สามารถปลูกเป็นพืชแซม
ก็ช่วยส่งเสริมพืชหลักได้ สามารถปลูกแซมกับพืชได้หลากหลาย เช่น มะพร้าว ลองกอง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และโกโก้ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะสามารถอยู่กลางแจ้งได้

“ในการผลิตโกโก้เพื่อป้อนอุตสาหกรรม จะยึดราคาตลาดโลก โดยเฉลี่ยราคาที่เกษตรกรควรได้รับคือ ราคาผลสดที่กิโลกรัมละ 5 บาท แต่ในบางพื้นที่ที่ราคาผลสดสูงกว่าราคาเป็นจริงในขณะนี้นั้นเนื่องจากว่ามีผู้ซื้อไปเพื่อเพาะกล้าจำหน่ายเนื่องจากมีเกษตรกรเริ่มหันมาให้ความสนใจในการปลูกมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกแซมพืชหลัก ซึ่งจะเป็นรายได้สำรองหากราคาพืชหลักมีความผันผวน สำหรับราคาโกโก้ในตลาดโลก ณ ราคาปัจจุบันเกษตรกรสามารถดูได้จากเว็บไซต์ https://markets.businessinsider.com เป็นราคาโกโก้ ต่อ 1,000 กิโลกรัม (1 ตัน) ต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นราคาอ้างอิงได้” คุณอาชว์ชัยชาญ กล่าว