“มะพร้าว” พืชเศรษฐกิจพารวย @ บ้านริมคลองโฮมสเตย์ สมุทรสงคราม

“มะพร้าว” เป็นพืชพื้นถิ่นที่มีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตชาวบ้านจังหวัดสมุทรสงครามมาอย่างยาวนาน ในฐานะพืชอาหาร พืชสมุนไพรคู่ครัว อีกทั้งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างอาชีพและรายได้ก้อนโตให้แก่เกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม หากใครอยากเรียนรู้ บทบาท “มะพร้าว” ในวิถีชีวิตชาวบ้านตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ขอแนะนำให้แวะไปที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ ซอยบ้านปรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ที่นี่ผู้มาเยือนทุกท่านจะได้เรียนรู้เรื่องมะพร้าวอย่างครบวงจร ตั้งแต่การปลูกดูแล การใช้ประโยชน์มะพร้าวแบบเจาะลึกครบทุกมิติกันเลยทีเดียว

มะพร้าวเพื่อชีวิต

บ้านริมคลองโฮมสเตย์ ภาคภูมิใจในวิถีชีวิตชาวสวนมะพร้าว จึงก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์มะพร้าว” เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของมะพร้าว พืชมหัศจรรย์คู่วิถีไทยและคู่ครัวไทยให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักธรรมชาติมะพร้าวในทุกแง่มุม ตั้งแต่การปลูก การแปรรูป การใช้ประโยชน์ ในฐานะพืชอาหารและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่เกิดจากมะพร้าว

ภายในพิพิธภัณฑ์มะพร้าว จัดแสดงนิทรรศการพันธุ์มะพร้าวไทย ทำให้รู้ว่า มะพร้าว ที่ปลูกในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มต้นสูง ออกผลช้า มีสะโพกที่โคนต้น ผสมข้ามกลุ่มนี้ ดอกตัวผู้จะบานหมดก่อนที่ดอกตัวเมียจะเริ่มบาน
  2. กลุ่มต้นเตี้ย ออกผลเร็ว ไม่มีสะโพกที่โคนต้น ผสมตัวเอง ไม่กลายพันธุ์ มีผลดก
  3. กลุ่มพันธุ์ลูกผสม เกิดจากการปรับปรุงพันธุ์ด้วยการผสมต้นพ่อและต้นแม่ต่างสายพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ลูกผสมที่มีผลผลิตสูง
  4. กลุ่มพันธุ์เบ็ดเตล็ด ไม่ทราบลักษณะประจำพันธุ์ที่แน่นอน เช่น มะพร้าวพวง มะพร้าวตะโหนด มะพร้าวกะทิ มะพร้าวตาล

มะพร้าวกะทิมะพร้าว สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่เปลือก น้ำมะพร้าว ดอก ราก น้ำมัน เนื้อมะพร้าว ใบมะพร้าว กะลา จนถึงลำต้น มะพร้าวสามารถนำไปใช้สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมากมาย หลายคนคงไม่รู้ว่า “ดอกมะพร้าว” มีรสฝาด หวานหอม “จั่นมะพร้าวหรือทะลายดอกมะพร้าว ที่ยังคงมีกาบหุ้มอยู่” เป็นสมุนไพรกลางบ้านตั้งแต่สมัยโบราณ โดยชาวบ้านจะนำมาต้มน้ำดื่ม เช้า กลางวัน เย็น เพื่อบรรเทาอาการไข้ทับระดู

ส่วน “รากมะพร้าว” มีรสฝาด หวานหอม เป็นพืชสมุนไพรกลางบ้านสำหรับบรรเทาอาการท้องเสีย ช่วยขับปัสสาวะและใช้อมบ้วนปากบรรเทาอาการเจ็บคอ ส่วนเนื้อมะพร้าว นิยมใช้แปรรูปเป็นอาหารคาวหวานแล้ว ในอดีตชาวบ้านยังนิยมรับประทานเนื้อมะพร้าวเพื่อบำรุงกำลัง ขับพยาธิ ขับปัสสาวะ อีกด้วย “น้ำมะพร้าว” รสหวานเย็น มีสรรพคุณทางยา บรรเทาอาการท้องเดิน ขับปัสสาวะ “มะพร้าวกะทิหรือน้ำมันมะพร้าว” เป็นสมุนไพรพื้นบ้านสำหรับปิดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก บำรุงผิวแห้ง เล็บขบ ได้ผลดีทีเดียว

สำหรับ “น้ำมะพร้าวอ่อน” หากดื่มสัปดาห์ละ 4-5 ผล จะช่วยบำรุงผิวพรรณ บรรเทาอาการผดผื่นคัน บำรุงร่างกายให้สดชื่น ในตำราแพทย์ไทย นิยมใช้ “วุ้นเนื้อมะพร้าวอ่อนกับน้ำมะพร้าวอ่อน” เป็นยาเย็น บรรเทาอาการไข้ตัวร้อนให้ทุเลาลงได้ ส่วน “ใบมะพร้าว” ใช้ทำหลังคา ห่อขนม ทำจักสาน ทำฝาชี กระจาด หมวก ปลาตะเพียน ตะกร้า ฯลฯ “ก้านมะพร้าว” ใช้ทำไม้กวาดทางมะพร้าว ไม้กลัดขนมได้

ขนมต้ม ที่ทำจากมะพร้าว
หมวกเก๋ไก๋จากใบมะพร้าว

“ยอดมะพร้าวอ่อน” ใช้ทำอาหารได้หลากหลาย ทั้งแกงส้ม แกงคั่ว ส้มตำ ทำได้อร่อยทุกเมนู “ใยจากเปลือกมะพร้าว” ใช้ทำเชือก กระสอบ ใยมะพร้าวใช้ทำฟูกที่นอนได้ “ลำต้น” ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ รั้ว ปลูกบ้าน “กะลามะพร้าว” ใช้ทำซออู้ โคมไฟ เม็ดกระดุมเสื้อ ช้อน ส้อม “จาวมะพร้าว” ใช้ทำอาหาร หรือคั้นน้ำรดต้นไม้เร่งดอก “หัวตะโหงก หรือทางมะพร้าว” ใช้ทำฟืน ทำกับดักหนูได้

 

วิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์

วิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์

ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ ตั้งอยู่บริเวณกลุ่มหมู่บ้านริมคลองผีหลอก เชื่อมต่อไปถึงตลาดน้ำอัมพวา วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นจากแนวคิดของกลุ่มชาวบ้าน ที่เห็นคุณค่าของธรรมชาติ วิถีชีวิตความเป็นบ้านริมน้ำ กลุ่มชาวบ้านได้รวบรวมศิลปะหัตถกรรม วัฒนธรรมพื้นบ้าน บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับมะพร้าวและการใช้ประโยชน์ของมะพร้าวตามภูมิปัญญาท้องถิ่น

“ป้าเล็ก” หรือ คุณถิรดา เอกแก้วนำชัย และ ลุงสวน หัตถีนาโค เป็นแกนนำชุมชน ปรับปรุงที่อยู่อาศัยเป็นโฮมสเตย์สำหรับรองรับนักเที่ยว สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวจำนวนมาก นำไปสู่การรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์” ในปี 2549

“ป้าเล็ก” หรือ คุณถิรดา เอกแก้วนำชัย

วิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตร ผ่านฐานการเรียนรู้จากภูมิปัญญาชุมชน ได้แก่ กลุ่มอนุรักษ์น้ำตาลมะพร้าว กลุ่มอนุรักษ์เรือพาย กลุ่มผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดสารแบบพอเพียง กลุ่มอนุรักษ์ดนตรีไทย กลุ่มลอยอังคาร กลุ่มนวดแผนไทย กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ฯลฯ จนได้รับรางวัลมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย (ปี 2553) รางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยววิถีชุมชนดีเด่น (รางวัลกินรี) ปี 2556 รางวัลสุดยอดชุมชน Creative Tourism ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 20 ชุมชนสร้างสรรค์ของประเทศไทย และยกย่องว่าเป็นโฮมสเตย์แห่งแรกของไทยที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิตไฟฟ้า แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า และร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน

ที่นี่เป็นโฮมสเตย์แห่งแรกของไทยที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า

ทุกวันนี้ บ้านริมคลองโฮมสเตย์ ได้รับการยกย่องให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม สัมผัสธรรมชาติ วิถีชีวิตชาวสวนมะพร้าว บรรยากาศริมคลอง ล่องเรือชมหิ่งห้อย การตักบาตรทางน้ำ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกทำกิจกรรมตามความสนใจ เช่น เรียนรู้การขึ้นน้ำตาลมะพร้าว สาธิตการปีนต้นมะพร้าว สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจ สามารถปีนมะพร้าวได้ไม่ยาก เพราะเกษตรกรได้ใช้มีดบั้งต้นมะพร้าวเหมือนขั้นบันไดอยู่ก่อนแล้ว เพื่อให้ง่ายต่อการปีนยิ่งขึ้น

ฐานเรียนรู้เกี่ยวกับการนวดสปาเท้าแบบย่ำเกลือ

น้ำตาลมะพร้าว

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังได้เรียนรู้วิธีทำน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิม น้ำหวานดอกมะพร้าว น้ำตาลไซรัป การปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์จักสานจากใบมะพร้าว เช่น หมวก กระเช้า ฯลฯ การทำขนมไทยจากมะพร้าว และการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น พร้อมทดลองทำเอง

นักท่องเที่ยวต่างชาติชมการปาดงวงมะพร้าวเพื่อให้ได้น้ำหวาน

ขั้นตอนการทำน้ำตาลมะพร้าว เริ่มจากการปาดงวงมะพร้าวตั้งแต่กลางคืน แล้วไปเก็บตอนเช้า การปาดงวงมะพร้าวเพื่อให้ได้น้ำหวาน ต้องระวังไม่ให้งวงตาลช้ำ เพราะจะทำให้น้ำหวานออกปริมาณน้อย หลังปาดหน้างวงมะพร้าวแล้ว เอากระบอกไปรองน้ำ ใส่ไม้พะยอมเพื่อเป็นสารกันบูด โดยปกติการปาดงวงครั้งละ 1 เดือน เก็บไว้ตอนเช้า และตอนเย็น แต่ตอนเช้าจะได้ปริมาณน้ำตาลมากกว่า เฉลี่ยได้ต้นละ 2 ลิตร หลังจากเก็บน้ำตาลมะพร้าวจากงวงแล้ว จะนำไปกรองเศษไม้พะยอมออก จากนั้นตั้งกระทะเคี่ยวให้เดือด ช้อนฟองออก ใช้เวลาเคี่ยวราว 1 ชั่วโมง จากนั้นกระทุ้งน้ำตาลที่งวดได้ที่ เพื่อลดอุณหภูมิ ตามด้วยการหยอดลงแม่พิมพ์ให้ได้รูปตามต้องการ

นักท่องเที่ยวต่างชาติชมการทำน้ำตาลมะพร้าว

ปัจจุบัน สินค้าเด่นของชุมชนแห่งนี้ ได้แก่ “น้ำหวานจากดอกมะพร้าวแท้ 100%” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อคนรักสุขภาพและผู้เป็นโรคเบาหวาน มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ใช้ปรุงอาหารทั้งคาวหวาน ขนม และเครื่องดื่ม หวาน หอม กลมกล่อม ปราศจากสารเคมี ปราศจากสารกันเสีย “น้ำตาลมะพร้าวแท้” (ผสมน้ำตาลทราย 5% เพื่อให้สามารถจับตัวเป็นก้อนได้) มีรสหวาน หอม กลมกล่อม สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 1 ปี สีของน้ำตาลมะพร้าวจะเข้มขึ้นตามธรรมชาติ

 

น้ำหวานดอกมะพร้าว

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวของชุมชนบ้านริมคลอง

ธ.ก.ส. สนับสนุนกิจการชุมชน

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานหลักสำคัญที่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินกิจการของชุมชนแห่งนี้ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งใหม่ โดยจัดหาเงินทุนดำเนินงาน จำนวน 300,000 บาท พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อให้กิจการโฮมสเตย์แห่งนี้เติบโตได้อย่างยั่งยืนมาตลอดหลายสิบปี

ที่นี่เป็นชุมชนต้องเที่ยว กับ ธ.ก.ส.
คุณธวัชชัย เศรษฐไพบูลย์

คุณธวัชชัย เศรษฐไพบูลย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ธ.ก.ส. เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้เข้ามาร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์แห่งนี้ ทั้งสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว บรรจุอยู่ในโครงการ “ชุมชนต้องเที่ยว กับ ธ.ก.ส.” พร้อมสนับสนุนเงินทุนให้วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวแห่งนี้ได้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับใช้พัฒนาต่อยอดพัฒนาสานต่อวิถีชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาศึกษาดูงานและท่องเที่ยววิถีชุมชนอย่างต่อเนื่อง

หากใครสนใจไปใช้บริการวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ แค่ใช้เส้นทาง ถนนพระราม 2 ขับไปตามเส้นทางจนถึงหลักกิโลเมตรที่ 62 จะเห็นป้ายบอกทางเข้าตัวเมืองสมุทรสงคราม โดยเบี่ยงซ้ายเข้าตัวเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม แล้ววิ่งมาตามถนนสมุทรสงคราม-บางแพ (ทางไปอัมพวา) เมื่อผ่านวัดช่องลม ให้ชิดขวาเตรียมกลับรถข้างหน้า จากนั้นวิ่งตรง 500 เมตร ชะลอรถ จะเห็นป้ายบอกทางเข้าบ้านริมคลองโฮมสเตย์ เข้าไปเกือบสุดซอย จะเห็นป้ายบ้านริมคลองโฮมสเตย์ด้านขวามือ เลี้ยวขวาผ่านสำนักปฏิบัติธรรมโพธิ์ทะเล เข้ามาด้านในก็จะถึงบ้านริมคลองโฮมสเตย์ได้ไม่ยาก

โฮมสเตย์สำหรับบริการนักท่องเที่ยว

วิสาหกิจชุมชนบ้านริมคลองโฮมสเตย์ ตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 43/1 หมู่ที่ 6 หมู่บ้านแหลมลมทวน ตำบลบ้านปรก อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม สนใจเข้ามาใช้บริการ สามารถติดต่อได้ล่วงหน้ากับป้าเล็ก ที่เบอร์โทร. 034-752-775, 089-170-2904 หรือทาง http://www.baanrimklong.net

……………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2562