ผู้เขียน | พัฒนา นรมาศ |
---|---|
เผยแพร่ |
กล้วย เป็นพืชอาหารที่มีวิตามิน เกลือแร่ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภค กล้วยที่เรารู้จักมักคุ้นกันดี เช่น กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนาง หรือกล้วยน้ำว้า กล้วยปลูกได้ทั้งหัวไร่ปลายนา หรือปลูกเป็นสวนในเชิงธุรกิจ แต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแปรปรวน กล้วยน้ำว้ายักษ์ เป็นพืชที่มาแรงและน่าสนใจ เพื่อการยกระดับรายได้สู่การดำรงชีพที่มั่นคง วันนี้จึงนำเรื่อง กล้วยน้ำว้ายักษ์ มหัศจรรย์พืชเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ สู่วิถีมั่นคง มาบอกเล่าสู่กัน

คุณพี่พัชนี ตุษยะเดช เกษตรกรตัวอย่างผู้ปลูกกล้วยน้ำว้ายักษ์ประสบความสำเร็จ เล่าให้ฟังว่า พันธุ์กล้วยน้ำว้ายักษ์นี้ มีที่มาจากได้พันธุ์กล้วยน้ำว้ามะลิอ่องจาก ครูลออ จังหวัดนนทบุรี แล้วนำไปปลูกที่จังหวัดกาญจนบุรี หลังการปลูกราว 1 ปี ต้นกล้วยเจริญเติบโตสมบูรณ์แตกปลี ติดเครือติดผลดี แต่แปลกใจในสิ่งที่ได้คือ ต้นพันธุ์กล้วยเปลี่ยนไปในลักษณะพิเศษคือ ต้น เครือและผลขนาดใหญ่กว่ากล้วยน้ำว้าทั่วไป ผลกล้วยที่สุกพอดีได้เนื้อเหนียวนุ่มหวานมีกลิ่นหอมอ่อนๆ อร่อยมาก สันนิษฐานว่าที่ได้กล้วยน้ำว้าลักษณะเด่นนี้อาจจะเกิดจากการกลายพันธุ์ที่มีสาเหตุจากสภาพดินฟ้าอากาศเป็นตัวแปร

จากนั้นจึงนำกล้วยน้ำว้ายักษ์นี้มาปลูกที่จังหวัดราชบุรี และปลูกต่อเนื่องกัน 3 ปี ซึ่งผลปรากฏว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ต้น เครือ หรือหวี ก็ยังมีขนาดใหญ่เหมือนเดิม ฝ่ายวิชาการได้แนะนำให้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์กล้วยนี้ไปสู่เพื่อนเกษตรกร หรือผู้ที่สนใจได้มีพันธุ์กล้วยน้ำว้ายักษ์ไปปลูกให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น
การปลูก ให้ขุดหลุมปลูกกว้าง ยาว และลึก ด้านละ 50 หรือ 70 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกแห้ง วางต้นพันธุ์กล้วยน้ำว้ายักษ์ลงปลูกเกลี่ยดินกลบ ระยะปลูกระหว่างต้นและแถวห่างกัน 4×4 เมตร หรือ 5×5 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกกล้วยได้ราว 100 ต้น หลังการปลูกให้น้ำแต่พอชุ่ม ถ้าปลูกต้นฝนก็ปล่อยให้ได้รับน้ำจากน้ำฝน
การปฏิบัติดูแลบำรุงรักษา ทั้งการใส่ปุ๋ย ให้น้ำ หรือการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช
การใส่ปุ๋ย ให้เลือกใส่ปุ๋ยที่สะดวกหาซื้อได้ง่าย เช่น ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยชีวภาพ โดยปุ๋ยเคมีให้ใส่ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี แบ่งใส่ 3 ครั้ง เว้นระยะห่าง 3 เดือน ต่อครั้ง แล้วให้น้ำแต่พอชุ่ม
การให้น้ำ กล้วย เป็นพืชที่ปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในเขตภูมิประเทศบ้านเรา หลังการปลูกต้องให้ต้นกล้วยได้รับน้ำพอเพียง ในทุก 2-3 วัน ควรให้น้ำต่อครั้ง หรือถ้าดินแห้งจัดควรเพิ่มการให้น้ำได้อีก ถ้ามีฝนตกก็งดการให้น้ำ ด้วยความตั้งใจขยันอดทนและเมื่อปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาที่ดีก็จะช่วยให้ได้ผลผลิตกล้วยดีมีคุณภาพ
โรคและแมลงศัตรูกล้วย กล้วยน้ำว้ายักษ์ หรือกล้วยน้ำว้าทั่วไปมักจะมีโรคและแมลงศัตรูเข้ามารบกวนทำลายไม่มาก และที่สำคัญ ได้แก่ โรคไฟทอปทอร่า มันจะทำให้รากเน่า โคนเน่า ใบเหลืองแห้งหรือที่เรียกว่าตายพราย การป้องกันที่ดีคือเลือกหน่อกล้วยพันธุ์ดีมีคุณภาพและปลอดโรคมาปลูก และอีกชนิดคือ หนอนม้วนใบ มักจะกัดกินที่ริมใบให้แหว่งเข้าไปเป็นทางยาว การป้องกันและกำจัด ถ้าพบไม่มาก ให้จับไปทำลายทิ้ง หรือพบว่ามีจำนวนมากให้กำจัดด้วยสารเคมี วิธีใช้สารเคมีควรปฏิบัติตามคำแนะนำในฉลาก

คุณพี่พัชนี เกษตรกรตัวอย่างผู้ปลูกกล้วยน้ำว้ายักษ์ประสบความสำเร็จ เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า การปลูกในพื้นแปลงที่เป็นดินเหนียวจะทำให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ
ลักษณะต้น กล้วยน้ำว้ายักษ์ที่ปลูกจะมีขนาดของลำต้นและมีใบใหญ่มาก ทรงต้นสูงราว 5 เมตร รอบโคนต้น 1.3-1.5 เมตร
ใบ มีขนาดใหญ่สีเขียวไม่เข้ม ใบมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายใบกล้วยตานี เหมาะที่จะตัดใบขายเพื่อใช้ทำงานประดิษฐ์ ห่อขนม หรือกระทงต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ลักษณะผลหรือลูก กล้วยน้ำว้ายักษ์ ผลมีความยาว 6 นิ้ว รอบผลกว้าง 8 นิ้ว และมีน้ำหนักราว 3 ขีด 1 หวี มี 12-14 ผล น้ำหนักต่อหวี 3-4 กิโลกรัม 1 เครือ มีมากกว่า 10 หวี ขึ้นไป น้ำหนักทั้งเครือ 45-50 กิโลกรัม การติดเครือขนาดใหญ่จำเป็นต้องใช้ไม้ค้ำยันเพื่อป้องกันต้นกล้วยโค่นล้มทำให้ผลกล้วยเสียหาย
ลักษณะเนื้อ ผลกล้วยน้ำว้ายักษ์สุก เนื้อเหนียว นุ่ม หวาน มีกลิ่นหอมอ่อนๆ รสชาติอร่อยมาก มีวิตามิน เกลือแร่ ที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ เสริมสร้างให้ผู้บริโภคมีสุขภาพแข็งแรง
ตลาด ผลผลิตกล้วยน้ำว้ายักษ์เมื่อหักต้นทุนแล้ว จะมีรายได้ 45,000-55,000 บาท ต่อไร่ มีตลาดรองรับ เป็นกล้วยน้ำว้ายักษ์มหัศจรรย์พืชเศรษฐกิจที่ผู้ปลูกได้สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อนำไปสู่การสร้างสุขตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคงที่ยั่งยืนต่อไป

จากเรื่องราว กล้วยน้ำว้ายักษ์ มหัศจรรย์พืชเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ สู่วิถีมั่นคง อาชีพทางเลือกการปลูกกล้วยน้ำว้ายักษ์ในยามวิกฤตเศรษฐกิจแปรปรวน เป็นวิถีดำรงชีพเพื่อการสร้างสุขตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณพี่พัชนี ตุษยะเดช โทร. 086-128-8000 หรือ โทร. 084-527-8000 ก็ได้ครับ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560