ตรวจวิเคราะห์ดินก่อนปลูก ลดรายจ่าย ผลผลิตคุ้มทุน

ปลูกปอเทือง เป็นพืชหมุนเวียนเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน

พืช เป็นอาหารที่มีวิตามินเกลือแร่ที่เสริมให้ผู้บริโภคมีสุขภาพแข็งแรง และปุ๋ยก็มีธาตุอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ต้นพืชเจริญเติบโตสมบูรณ์ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่จะใส่ปุ๋ยโดยไม่คำนึงว่าดินในพื้นที่แปลงปลูกมีแร่ธาตุอะไรบ้าง ใช้มากไปก็เปลืองต้นทุน ใช้น้อยไปต้นพืชก็ไม่เจริญเติบโต การเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่แปลงปลูกส่งไปตรวจวิเคราะห์เพื่อให้รู้ว่ามีแร่ธาตุอะไรบ้าง ก็จะช่วยให้เกษตรกรจัดการใช้ปุ๋ยได้ถูกต้อง ต้นพืชเจริญเติบโตได้ผลผลิตคุณภาพ การตรวจวิเคราะห์ดินก่อนปลูก ลดรายจ่าย ผลผลิตคุ้มทุน จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่น่าสนใจจึงได้นำมาบอกเล่าสู่กัน

นายชรินทร์ ทองสุข นายอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ส่งเสริมการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนปลูกพืช

คุณชรินทร์ ทองสุข นายอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เล่าให้ฟังว่า ในงานภาคการเกษตรนั้น เกษตรกรต้องมีการจัดการที่ดี ทั้งการใช้ที่ดิน เงินทุน แรงงาน และใช้ปุ๋ยที่เป็นปัจจัยการผลิตอย่างเหมาะสม การจัดการใช้ที่ดินต้องรู้ว่าสภาพดินในพื้นที่ปลูกมีธาตุอาหารอะไรบ้าง? ควรปลูกพืชชนิดใดจึงเหมาะสมได้ผลดี จะใช้เงินทุนอย่างไรจึงไม่สูญเปล่า จัดการใช้แรงงานอย่างไรเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนหรือพอดีกับเนื้องาน ส่วนปุ๋ยที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตนั้นต้องใช้ผสมผสานที่เกื้อกูลกัน ใช้ให้ถูกสูตร ถูกอัตราส่วน และใช้ปุ๋ยในระยะเวลาที่พอดีพอเหมาะก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิต และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือน้ำ เกษตรกรเรายังต้องพึ่งพาอาศัยเทวดาช่วยคือ ต้องการน้ำจากน้ำฝนมาใช้ในการเพาะปลูก ต้องมีการวางแผนการปลูกให้ถูกต้องกับช่วงเวลาที่ฝนตกเพื่อให้ต้นพืชได้รับน้ำพอเพียง

คุณสิฐธิชัย อินทร์สุข ส่งเสริมการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนปลูกพืชได้ผลผลิตดี

คุณสิฐธิชัย อินทร์สุข ผู้จัดการอาวุโสแผนกกิจกรรมเพื่อสังคม เครือเบทาโกร เล่าให้ฟังว่า การปลูกพืชในพื้นที่จังหวัดลพบุรี เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และทำนา ในกระบวนการผลิตเกษตรกรจะใส่ปุ๋ยโดยไม่คำนึงว่าดินในพื้นที่ปลูกนั้นมีแร่ธาตุอะไรบ้าง เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม (NPK) หรือดินมีค่าความเป็นกรด ด่าง ในระดับใดบ้าง การใช้ปุ๋ยมากเกินไปเพื่อเร่งการเจริญเติบโตเพิ่มผลผลิตก็เป็นการเพิ่มต้นทุนสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ถ้าใช้ปุ๋ยน้อยไปต้นพืชก็ไม่เจริญเติบโต ผลตอบแทนที่ได้รับก็ไม่คุ้มต้นทุน

การขุดจัดเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่แปลงปลูกส่งไปให้กรมพัฒนาที่ดินตรวจวิเคราะห์หาค่าไนโตรเจน ฟอสฟอรัส หรือโพแทสเซียม (NPK) หรือค่าความเป็นกรด ด่าง เพื่อนำผลที่ได้จากการตรวจวิเคราะห์ดินมากำหนดสูตรปุ๋ย และผสมปุ๋ยใช้เองก็จะเป็นวิธีการที่ทำให้การใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และได้ผลดี

และจากการที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับเกษตรกรที่มีการใช้ปุ๋ยโดยไม่คำนึงว่าดินในพื้นที่แปลงปลูกมีแร่ธาตุอะไรบ้าง ทำให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการเกษตรด้วยกันโดยเฉพาะเรื่องการใช้ปุ๋ยให้ถูกต้อง กระทั่งเกษตรกรยอมรับในหลักการตรวจวิเคราะห์ดิน พร้อมกับได้เปลี่ยนวิธีการมาใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินในการปลูกมันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และทำนา ส่งผลให้เกษตรกรประสบผลสำเร็จในการลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตที่ได้เพิ่มขึ้น สามารถยกระดับรายได้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดำรงชีพได้อย่างพอเพียงที่มั่นคง

ลุงสุดใจ คชประดิษฐ์ เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง ที่ปรับเปลี่ยนมาใส่ปุ๋ยตามผลการตรวจวิเคราะห์ดิน

ลุงสุดใจ คชประดิษฐ์ เกษตรกรปลูกมันสำปะหลัง เล่าว่า แต่เดิมพวกเราและเพื่อนเกษตรกรที่ปลูกข้าว อ้อยส่งโรงงาน หรือปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้ใส่ปุ๋ยโดยไม่คำนึงว่าดินในพื้นที่แปลงปลูกมีแร่ธาตุอะไรบ้าง คิดอย่างเดียวว่าต้องการผลผลิตมากๆ บางครั้งใส่ปุ๋ยมากไปก็สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ใส่ปุ๋ยน้อยไปต้นพืชก็ไม่เจริญเติบโต ใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำจากร้านค้าปุ๋ย หรือใส่ตามเพื่อนเกษตรกร ผลผลิตที่ได้จึงไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ทำให้มีรายได้ไม่ค่อยพอเพียงในการดำรงชีพ

ตรวจวิเคราะห์ดินก่อนทำนา ช่วยให้ต้นข้าวติดรวงได้ผลผลิตดี

จากปัญหาที่พบ เมื่อได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร บริษัท เบทาโกร หรือนักวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน ให้ขุดเก็บตัวอย่างดินเพื่อส่งไปตรวจวิเคราะห์เพื่อให้รู้ว่าสภาพดินในพื้นที่แปลงปลูกมีธาตุอาหารอะไรบ้าง เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม (NPK) และมีความเป็นกรด ด่าง ในระดับใด

ปลูกปอเทือง เป็นพืชหมุนเวียนเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน

เมื่อทราบผลการตรวจวิเคราะห์ดิน ก็ได้มากำหนดสูตรปุ๋ยและผสมปุ๋ยใช้ มาจัดการใช้ปุ๋ยให้ตรงสูตร ถูกอัตราส่วนและใช้ตามระยะเวลา ซึ่งจากการปฏิบัติจริงปรากฏว่า ผลที่ได้ช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลงมาก ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อบวก ลบ คูณ หาร แล้วทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

ลุงสุดใจ เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า ได้เปรียบเทียบระหว่างการปลูกมันสำปะหลัง ด้วยวิธีการไม่ตรวจวิเคราะห์ดิน กับวิธีการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนปลูกมันสำปะหลังได้ผลแตกต่างกัน ดังนี้

ในปี 2556 ไม่ได้เก็บตัวอย่างดินส่งไปตรวจวิเคราะห์ ผลคือการปลูกมันสำปะหลังได้ผลผลิต 5,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ใช้ต้นทุนการผลิต 4,300 บาท ต่อไร่ ได้กำไร 6,950 บาท ต่อไร่

การเปลี่ยนแปลง ในปี 2558 ได้เก็บตัวอย่างดินในแปลงปลูกส่งไปตรวจสอบวิเคราะห์ เมื่อได้ผลการวิเคราะห์แล้วจึงได้ปลูกมันสำปะหลัง จัดการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ผลก็คือ ได้ผลผลิต 12,520 กิโลกรัม ต่อไร่ ใช้ต้นทุนการผลิต 9,010 บาท ต่อไร่ ได้กำไร 14,055 บาท ต่อไร่ สรุปแล้วได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่าเดิม วิถีครอบครัวก็มั่นคง

การตรวจวิเคราะห์ดินก่อนปลูก ลดรายจ่าย ผลผลิตคุ้มทุน เป็นการจัดการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน จัดการใส่ปุ๋ยถูกสูตร ถูกอัตราส่วน ใส่ตามระยะเวลา หรือปลูกพืชอายุสั้นเป็นพืชหมุนเวียน เช่น ปลูกปอเทือง หรือพืชตระกูลถั่วให้เป็นปุ๋ยพืชสดสลับเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน เป็นวิธีการจัดการใช้ที่ดิน เงินทุน แรงงาน หรือใช้ปุ๋ยปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต ต้นพืชเจริญเติบโต ได้ผลตอบแทนคุ้มทุนวิถีก็พอเพียงมั่นคง

สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรในพื้นที่ หรือที่ คุณสิฐธิชัย อินทร์สุข ผู้จัดการอาวุโสแผนกกิจกรรมเพื่อสังคม เครือเบทาโกร โทร. (081) 665-9289 ก็ได้ครับ