ชาวบ้านทุ่งต้อม ศรีดอนไชย เชียงราย ผสานธรรมชาติกับเทคโนโลยีผลิตข้าวอินทรีย์ ต้นทุนต่ำ คุณภาพสูง

ชาวบ้านทุ่งต้อม ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ปรับวิธีและเทคนิคการปลูกข้าวที่เคยปฏิบัติกันมาแบบใช้เคมี มาเป็นแนวทางอินทรีย์ อย่างเช่น หยุดเผาตอซัง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักไส้เดือนมาใช้แทนเคมี ฯลฯ พร้อมดึงเทคโนโลยีมาใช้ ช่วยลดต้นทุน ได้ข้าวคุณภาพสูง มีตลาดรับซื้อแน่นอน จนต้องสั่งล่วงหน้าแล้วขายได้ราคาสูงเป็นที่พอใจ

คุณสุภาพรรณ วงศ์มูล บ้านเลขที่ 210 หมู่ที่ 5 ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย หนึ่งในสมาชิกกลุ่มนาข้าวอินทรีย์บ้านทุ่งต้อม บอกว่า ชาวบ้านในชุมชนมีแนวคิดที่ต้องการปลูกข้าวแบบอินทรีย์แทนการใช้เคมีเพราะตระหนักถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพ รวมถึงต้องการรักษาสิ่งแวดล้อม

การสร้างปุ๋ยหมักไม่กลับกองในแปลงนา

หยุดเผาตอซัง หันมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์

เพิ่มคุณภาพดินในนา

การปลูกข้าวอินทรีย์ของกลุ่มฯ เริ่มจากสมาชิกปรับวิธีและกระบวนการปลูกข้าวด้วยการเลิกเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยวแล้วนำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง โดยใช้ตอซังในนาพร้อมกับเศษวัชพืชต่างๆ มาเป็นวัตถุดิบ โดยจะใช้เวลาบ่มหมัก ประมาณ 2 เดือน ใช้วิธีเพียงฉีดพ่นน้ำเป็นระยะเท่านั้น พอเข้าสู่ช่วงเริ่มทำนาชาวบ้านก็จะทลายกองปุ๋ยหมักที่ทำไว้ในแต่ละแปลงแล้วไถบำรุงดินในแปลงนาให้มีความสมบูรณ์ ทั้งนี้บางรายถ้าผลิตปุ๋ยไว้มากก็ยังแบ่งไว้ขาย กระสอบขนาด 25 กิโลกรัม ราคา 80 บาท ด้วย

พันธุ์ข้าวที่ปลูก มี ข้าวเหนียว กับข้าวหอมมะลิ 105 แหล่งเมล็ดพันธุ์ข้าว ถ้าเป็นข้าวหอมมะลิ 105 จะนำมาจากทางกรมการข้าว เนื่องจากมีปัญหากลายพันธุ์ทุกปี ส่วนข้าวเหนียวจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทุกรุ่น ทั้งนี้สมาชิกจะมาตกลงสัดส่วนว่ารายใดจะปลูกข้าวชนิดใด จำนวนเท่าไร เพราะต้องการให้ผลผลิตสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อรักษาระดับราคาที่เหมาะสม

ข้าวอินทรีย์คุณภาพสมบูรณ์เตรียมเก็บเกี่ยว

ปลูกนาดำ

ข้าวสมบูรณ์มาก ไม่มีวัชพืช

ฤดูปลูกข้าวนาปีจะเริ่มประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ปลูกแบบนาดำ เพราะต้องการจัดระยะห่างของต้นข้าวไม่ให้เบียด ช่วยให้การเจริญเติบโตมีความสมบูรณ์ ลดต้นทุนการใช้เมล็ดพันธุ์ สะดวกต่อการจัดแปลงนา ช่วยลดการเกิดวัชพืช สำหรับน้ำที่ใช้ในนาจะไม่นำน้ำจากแหล่งโดยตรงมาใช้ทันที เพราะอาจมีการปนเปื้อนของสารเคมี แต่จะนำมาพักไว้ในบ่อที่ขุดไว้ก่อนแล้วจึงปล่อยเข้าแปลงนา

คุณสุภาพรรณ วงศ์มูล

ปุ๋ยน้ำไส้เดือน ตัวช่วยสร้างคุณภาพข้าว

ลดต้นทุนได้มาก

การให้ปุ๋ย นับเป็นกระบวนสำคัญของการปลูกข้าว สำหรับกลุ่มนาข้าวอินทรีย์บ้านทุ่งต้อม เลือกการนำน้ำไส้เดือนหมักมาใส่ต้นข้าว คุณสุภาพรรณ เผยว่า การเลี้ยงไส้เดือน พันธุ์ AF เพื่อนำมาผลิตเป็นปุ๋ยและน้ำฉีดพ่นต้นข้าวในแปลง ช่วงแรกทดลองเริ่มจากพื้นที่ จำนวน 5 ไร่, 15 ไร่ ไปจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนกว่า 100 แปลง

กิจกรรมเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ย

“นำน้ำไส้เดือนที่หมักไว้เป็นเวลา 1 เดือน มาฉีดพ่นต้นข้าว จำนวน 3 ครั้ง โดยครั้งแรกระยะหว่านกล้า ระยะต่อมาหลังปลูกกล้า ประมาณ 1 สัปดาห์ และระยะสุดท้าย คือ ช่วงข้าวตั้งท้อง นอกจากนั้น ยังนำไปใส่ตามร่องน้ำที่ปล่อยเข้าแปลงนาอีก 2 ระยะ”

ใช้โดรนฉีดพ่นปุ๋ยในนาข้าวจำนวน 5 ไร่ ใช้เวลาฉีดพ่นเพียง 5 นาที

ใช้โดรนฉีดพ่น ลดต้นทุน

รวดเร็ว คุ้มค่า

การฉีดพ่นต้นข้าวในนาอินทรีย์ จะใช้โดรนทั้ง 3 ระยะ โดรนเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว แล้วลดต้นทุนได้อย่างมาก คุณสุภาพรรณ บอกว่า อัตราส่วนที่ใช้น้ำไส้เดือนใส่ในเครื่องพ่นหรือโดรน ในอัตรา น้ำไส้เดือน 1 ลิตร ผสมน้ำ 15 ลิตร จะฉีดพ่นทางโดรนได้ จำนวน 5 ไร่ ใช้เวลาฉีดพ่นเพียง 5 นาที ซึ่งในเวลา 1 วันสามารถฉีดพ่นพื้นที่นาได้ประมาณ 100 ไร่

ทลายกองปุ๋ยหมักเพื่อเตรียมปลูกข้าวรอบต่อไป กับอีกส่วนบรรจุใส่ถุงเพื่อจำหน่าย

“แนวทางนี้จะช่วยลดต้นทุนเรื่องเวลา ค่าใช้จ่าย โดยค่าเช่าโดรน ราคา 100-120 บาท ต่อไร่ ขึ้นอยู่กับความยาก-ง่าย ของพื้นที่ ต่างจากการใช้แรงงาน ถ้าใส่ถังสะพาย ต้องใช้อัตราส่วน 1 ลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร จะพ่นได้เพียง 3 ไร่ แล้วมีค่าแรงฉีดพ่นสูงด้วย”

นำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน

ผลดีของการนำน้ำไส้เดือนหมักเข้มข้นมาใส่ในนาข้าว จะช่วยเสริมสร้างคุณภาพต้นข้าวให้มีความแข็งแรง มีความต้านทานต่อโรคได้ดี ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตสมบูรณ์ เมล็ดข้าวเต็ม อวบอ้วน ได้น้ำหนัก ตลอดจนได้จำนวนรวงข้าวเพิ่มมากขึ้น ได้ผลผลิตเพิ่มเป็น 80-100 ถัง ต่อไร่ จากเมื่อก่อนได้เพียง 60-70 ถัง ต่อไร่ เท่านั้น

นอกจากนั้น เมื่อนำไปหุงจะได้เมล็ดข้าวที่นุ่ม หอม และมีความปลอดภัยเพราะปลูกแบบอินทรีย์ ทำให้ซาวน้ำเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น จึงช่วยรักษาคุณค่าทางโภชนาการที่สูงให้อยู่ได้

นำน้ำไส้เดือน 1 ลิตร ผสมน้ำ 15 ลิตรใส่โดรนเตรียมพ่นในนาข้าว

 จำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์หลายแบบ ราคาไม่แพง                    

ปัจจุบัน สมาชิกกลุ่มฯ ทำนาจากน้ำไส้เดือนทั้งสิ้น 61 แปลง จำนวนพื้นที่ 631 ไร่ ข้าวทั้งสองชนิดปลูกพร้อมกัน แล้วเก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤศจิกายน แต่ข้าวหอมมะลิสามารถเก็บผลผลิตได้ก่อนข้าวเหนียว ประมาณ 7 วัน โดยผลผลิตข้าวจะถูกนำมาแปรรูปเป็นข้าวอินทรีย์เพื่อสุขภาพ ชื่อแบรนด์ว่า “ข้าว ณ เชียงราย” ในรูปแบบข้าวธรรมดากับการแปรรูปเป็นกล้องงอก

ไส้เดือนพันธุ์AF

สำหรับข้าวธรรมดา กำหนดราคาขายต่อกิโลกรัมคือ ข้าวเหนียว และหอมมะลิ ราคา 50 บาท หากเป็นข้าวกล้องเหนียวและหอมมะลิ ราคาต่อกิโลกรัม 60 บาท ส่วนในแบบเป็นข้าวกล้องงอกที่มีทั้งข้าวหอมมะลิ 105, ทับทิมชุมแพ และไรซ์เบอร์รี่ กับข้าวเหนียว กข 6, ข้าวเหนียวก่ำ มีราคาจำหน่ายแบบครึ่งกิโล 40 บาท และ แบบ 1 กิโล 80บาท โดยล่าสุดมีการผลิตเป็นสบู่ข้าวกล้อง รวมถึงข้าวพองไร้น้ำมันออกวางขาย

ปุ๋ยน้ำไส้เดือนมีส่วนช่วยให้ได้จำนวนรวงข้าวเพิ่มมากขึ้น

ได้รับความสนใจมาก

ต้องจองล่วงหน้าข้ามปี

ผลผลิตข้าวอินทรีย์ แบรนด์ “ข้าว ณ เชียงราย” ของกลุ่มได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มรักสุขภาพที่สั่งซื้อเป็นประจำทุกปีในจำนวนสูงมาก แล้วติดต่อสั่งจองล่วงหน้าข้ามปี เนื่องจากผลิตเพียงปีละครั้งตามฤดูทำนา ดังนั้น ผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ทุกชนิดจึงถูกจับจองไว้ล่วงหน้าแบบข้ามปี ในกรณีที่เป็นลูกค้ารายใหม่ คงต้องคุยรายละเอียดก่อน นอกจากการเปิดขายแบบทั่วไปและทางออนไลน์ ก็ยังมียอดออเดอร์ส่งให้กับภาคเอกชนรายใหญ่ ดังนั้น จึงหมดห่วงเรื่องการตลาด เพราะมียอดขายและรายได้ที่แน่นอน แล้วยังมีราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป

ปุ๋ยน้ำไส้เดือนส่วนสำคัญที่ใช้ปลูกข้าวอินทรีย์คุณภาพ

ภายหลังจากประสบความสำเร็จจากแนวทางนี้ ทางกลุ่มฯ จึงได้ขอความร่วมมือไปยัง ท่านอาจารย์ ดร. ประกิต โก๊ะสูงเนิน มหาวิทยาลัยแม่โจ้เฉลิมพระเกียรติ เพื่อเข้ามาเก็บข้อมูลทำวิจัยเรื่องการทำนาข้าวในน้ำไส้เดือน พร้อมได้รับการสนับสนุนและอนุเคราะห์จาก มหาวิทยาลัยแม่โจ้เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดแพร่ ร่วมกับ สวทช. ภาคเหนือ มอบองค์ความรู้ให้แก่ชาวบ้าน ในพื้นที่ หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งต้อม ตำบลศรีดอนไชย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความสมบูรณ์ มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาดผู้บริโภคต่อไป พร้อมยังเป็นกลุ่มตัวอย่างนำร่องการผลิตข้าวกล้องงอกเพื่องานวิจัยระดับประเทศอีกด้วย

ผลิตภัณฑ์ข้าวกล้องงอก

“การปลูกข้าวแบบนาอินทรีย์ อาจมีความยุ่งยากและขั้นตอนมากมาย แต่หากผู้ปฏิบัติเกิดความชำนาญแล้ว ปัญหาเหล่านั้นจะหมดไป กลายเป็นความคล่องตัวและรวดเร็ว ที่สำคัญแนวทางนี้ช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก แล้วยังทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงตามมาด้วย” คุณสุภาพรรณ กล่าว

สมาชิกร่วมกิจกรรมแปรรูปข้าวกล้องงอกโดยใช้โรงตากแบบประหยัด

บทสรุป ความพยายามของชาวบ้านทุ่งต้อมที่ผสมผสานธรรมชาติกับเทคโนโลยีนำไปสู่การผลิตข้าวอินทรีย์ต้นทุนต่ำ ที่มีคุณภาพสูง นับเป็นบรรทัดฐานของผลสำเร็จด้วยความรักสามัคคีร่วมแรงกายใจกัน

สอบถามรายละเอียดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ได้ที่ โทรศัพท์ 063-772-0565 Facebook : เกษตรอินทรีย์วิถีมะเก่า