ครูต๋อย เชียงราย สร้างอาชีพเสริม โดยเลี้ยงด้วงงวงจำหน่าย

ปัจจุบัน คนในโลกมี 7,300 ล้านคน คาดว่า ปี ค.ศ. 2050 โลกจะมีประชากร  9,000 ล้านคน สถานการณ์อาหารสำหรับบริโภคอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤต องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า แมลงและหนอนจะถูกนำมาเป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญ ในโลกมีแมลงเป็นล้านชนิด แต่มีแมลงที่กินกันอยู่ปัจจุบัน ราว 2,000 ชนิด

พ่อแม่พันธุ์

ปริมาณโปรตีนในแมลงบางชนิดใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ เช่น หมู และไก่ แต่บางชนิดก็มีมากกว่า หนอนบางชนิดให้ไขมันได้ดี เช่น หนอน สรุปได้ว่าคุณค่าทางอาหารที่ร่างกายต้องการมีครบถ้วนเหมือนเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ และการผลิตแมลงเล็กๆ เหล่านี้ยังประหยัดทรัพยากรอาหารสัตว์ได้อีกมาก เพราะวัวน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ใช้อาหารถึง 8 กิโลกรัม ส่วนแมลง เช่น เนื้อจิ้งหรีดในปริมาณเท่ากัน ใช้อาหารแค่ 1.2 กิโลกรัม เท่านั้น

วัฒนธรรมการกินแมลงของเรามีมานานแล้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดดเด่นที่สุดในเรื่องนี้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง แมงกุดจี่ แมงอีนูน จิ้งโกร่ง บึ้ง เป็นอาหารยอดฮิต ในภาคเหนือแมลงก็เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมอาหารเช่นกัน

เปลือกมะพร้าวสับ

ด้วงงวงมะพร้าว ด้วงสาคู หรือ ด้วงลาน จัดว่าเป็นด้วงงวงขนาดกลาง ตัวเต็มวัย ปีกมีสีน้ำตาลดำ อกมีสีน้ำตาล และมีจุดสีดำ มีขนาดลำตัวยาว ประมาณ 25-28 มิลลิเมตร ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีขนาดและลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ตัวผู้งวงสั้น และมีครีบเล็กใกล้ส่วนปลายของงวง ส่วนตัวเมียงวงจะยาว ตัวหนอนมีสีเหลืองปนน้ำตาล ดักแด้เป็นปลอกทำด้วยเศษชิ้นส่วนจากพืชที่กินเป็นอาหาร ด้วงงวงมะพร้าวนี้เป็นชื่อที่ทางภาคเหนือนิยมเรียกกัน เนื่องจากพบมากในต้นมะพร้าว หมาก ปาล์ม ต้นตาล อินทผลัม และต้นสิบสองปันนา ด้วงชนิดนี้คือศัตรูตัวร้ายของต้นมะพร้าว

การทำลายมะพร้าวนั้น ด้วงแรด จะเจาะนำไปก่อน แต่ต้นมะพร้าวไม่ตาย เมื่อใดที่ด้วงงวงเจาะซ้ำ เข้าไปกัดกินเนื้อในต้นมะพร้าว จะทำให้ต้นมะพร้าวตายลง

ชาวสวนมะพร้าวจะกลัวมาก หากเจอด้วงงวง หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ด้วงไฟ

จัดเตรียมกะลามังพร้อมปล่องพ่อแม่พันธุ์

ปัจจุบัน มีการเลี้ยงด้วงงวง เพื่อเอาระยะตัวหนอนมาเป็นอาหาร

ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย คุณครูสมศักดิ์ ศรีวรรณะ หรือ ครูต๋อย ครู คศ.1 สอนนักเรียนชั้น ป.1 -ป.2 ที่โรงเรียนริมวัง ๑ หมู่บ้านงิ้วเฒ่า ตำบลป่าหุ่ง เป็นคนเชียงรายโดยกำเนิด เกิดความสนใจเรื่องการเลี้ยงด้วงงวง  เนื่องจากความชอบรับประทาน จึงได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างเอาใจใส่ ในช่วงปี 2556 ผ่านการเลี้ยงและล้มลุกคลุกคลานประสบความสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างด้วยสูตรอาหารที่เปลี่ยนไป

สิ่งที่ต้องคำนึงในการเลี้ยงคือ จุดที่เลี้ยงต้องขึงด้วยตาข่าย หรือซาแรน 80 เปอร์เซ็นต์ ทุกด้าน ป้องกันด้วงงวงพ่อแม่พันธุ์บินหนี หรือศัตรูของด้วงงวง เข้ามาทำลายไข่

วิธีการเลี้ยงด้วงมะพร้าว

โตเต็มวัย

ครูต๋อย เล่าถึงวิธีการเลี้ยงด้วงงวง ว่า เมื่อตัวด้วงงวงพ้นสภาพจากการเป็นหนอนก็จะเริ่มผสมพันธุ์ได้เลย ครูต๋อยใช้ด้วงงวงมะพร้าวที่โตเต็มวัยตัวผู้และตัวเมีย จำนวน 5 คู่ ลงในกะละมังที่ใส่อาหารเตรียมไว้ อาหารด้วงสูตรครูต๋อยคือ ใช้มันสำปะหลังทุบ โดยมีสูตรและวิธีทำง่ายๆ คือ นำมันสำปะหลังสับมา 4 กิโลกรัม ใส่กระสอบอาหาร เช่น ถุงใส่กระเทียม หรือหอมใหญ่ ที่ค่อนข้างโปร่ง ใช้ไม้หน้าสามที่ทำด้ามจับไว้ทุบ ประมาณ 10 ครั้ง แล้วนำไปแช่น้ำสะอาด 1 คืน โดยให้น้ำท่วมมันสำปะหลัง จึงนำมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำ นำอาหารลูกหมูชนิดสูตรโปรตีนไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 3-4 ขีด ผสมลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากันพร้อมกับน้ำจำนวนครึ่งลิตร นำมาใส่กะละมังที่เลี้ยงซึ่งมีขนาดความกว้าง ประมาณ 50 เซนติเมตร นำเปลือกมะพร้าวสดหรือแห้งก็ได้ขนาดชิ้นเล็ก ใหญ่ วางบนอาหารเพื่อแม่พันธุ์สามารถเจาะเปลือกด้านนิ่มเข้าไปวางไข่ได้ เพราะเปลือกมะพร้าวในการเลี้ยงแบบนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของด้วงเท่านั้น ไม่ได้เป็นอาหาร นอกจากนี้จะวางกล้วยน้ำว้าสุกไว้ 1 ลูก บนอาหารอีกด้วย

ครูต๋อย

ใช้ตะแกรงตาถี่วางปิดกะละมังไว้ กันแมลงพ่อแม่พันธุ์ออก หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์แล้ว เมื่อมีการผสมพันธุ์กัน แม่พันธุ์จะไข่ไว้ในเปลือกมะพร้าวมีสีขาวเหมือนเม็ดข้าวสาร ในช่วงวางไข่ศัตรูอันดับหนึ่งของไข่คือแมลงวันลายเสือ ซึ่งจะมาวางไข่ที่ไข่ด้วงอีกที เมื่อไข่แมลงวันเจริญเติบโตเป็นหนอนก็จะกินหนอนด้วงมะพร้าวเป็นอาหาร…ใช้เวลา 3 วัน ไข่ด้วงมะพร้าวจะถูกฟักเป็นตัว และใช้เวลาต่ออีก 15 วัน หนอนด้วงจะเจริญเติบโตขึ้น ในวันที่ 14 เราจะต้องจับพ่อแม่พันธุ์ออกมาทั้งหมดแล้วนำมาใส่กะละมังใหม่พร้อมอาหารและเปลือกมะพร้าวแบบเดิม พ่อแม่พันธุ์นี้เราสามารถย้ายได้ 3 ครั้ง เมื่อย้ายครั้งที่ 3 พ่อแม่พันธุ์จะหมดอายุ หลังจาก 14 วัน ที่นำพ่อแม่พันธุ์ด้วงออกจากกะละมัง จะเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 30-35 วัน ตัวด้วงจะโตเต็มที่สามารถนำมาจำหน่ายได้

สาธิตให้ผู้มาเยี่ยมชม

การเก็บตัวด้วงจะใช้วิธีการคว่ำกะละมัง คัดแยกขนาดที่ใช้ไม่ได้ออกมาใส่กะละมังใหม่ ซึ่งจะใช้เฉพาะมันสำปะหลังเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวไม่ต้องผสมอาหารหมูอีก เพราะอาหารหมูจำเป็นสำหรับด้วงในวัยตัวอ่อน ใส่กะละมังละประมาณ 230 ตัว แม่ค้ามักจะชอบยกกะละมังไปเพื่อวางให้ลูกค้าเห็น ตอนตัวด้วงกำลังกระดึ๊บๆ  นัยว่าเป็นที่ยั่วน้ำลายดีนักแล และเป็นอันรู้กันว่าของสด ลูกค้าที่เป็นนักดื่มจะชอบซื้อที่ล้างเสร็จแล้วซึ่งสามารถนำไปทำอาหารได้เลยไม่ต้องรอ ก่อนที่จะคว่ำกะละมังเพื่อล้างจะต้องให้หนอนด้วงกินกล้วยสุกหรือมะละกอสุกก่อน อย่างน้อยครึ่งวันก่อนนำมาล้าง มิฉะนั้นด้วงจะติดกลิ่นเหมือนอาหารหมูเน่าเข้าไปด้วย ถือว่าเป็นเคล็ดลับที่จะทำให้เมนูด้วงมีความอร่อย

เมนูด้วง

ครูต๋อย บอกว่า เมนูด้วงของภาคเหนือมีหลายเมนู

ด้วงทอด

น้ำพริกด้วง…ใช้ด้วง 20 ตัว เสียบไม้แล้วค่อยจี่ เนื้อจะเหลือแค่ 1 ใน 4 พริกหนุ่ม 5 เม็ด กระเทียม นำมาจี่เช่นกัน แล้วโขลกรวมใส่เกลือเล็กน้อยก็เป็นน้ำพริกได้แล้ว

หมกด้วง…ใช้พริกสด ตะไคร้ กระเทียม ขมิ้นเหลืองมาโขลก แล้วคลุกกับไข่พร้อมตัวด้วง มาห่อด้วยใบขมิ้นเป็นชั้นแรกต่อด้วยใบตอง ใช้เชือกกล้วยมัด วางบนถ่านไฟ รสชาติจะออกหอม กินกับข้าวเหนียวรับรองว่าลำขนาด

ด้วงทอด…ต้องนำมาต้มก่อน ตั้งน้ำให้เดือดเอาด้วงลวก ประมาณ 3 นาที ตัวจะเต่งสวย ตักขึ้นมาทำให้เย็น แล้วใช้กรรไกรตัดหัวออกครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นส่วนเขี้ยว ใช้น้ำมันพืชตั้งไฟให้ร้อนด้วยไฟกลาง ทอดประมาณ 15 นาที สีจะเปลี่ยนจากเหลืองเป็นเหลืองทอง ใส่ใบเตยลงไปเล็กน้อย แล้วตักด้วงออก รอให้เย็น ซับน้ำมันโดยใช้วางบนกระดาษซับน้ำมัน พอน้ำมันสะเด็ดจะโรยเกลือและผงบาร์บีคิว ถ้าใช้ซอสปรุงรสจะกลบกลิ่นของด้วงจนเสียรสชาติ

สอนนักเรียน

ด้วงย่าง…เมื่อต้มด้วงเสร็จไม่ต้องตัดปาก นำมาเสียบไม้ จำนวน 8 ตัว ต่อ 1 ไม้ ย่างไฟอ่อนๆ จนสุก เป็นเมนูยอดฮิต

ความรู้ความชำนาญของครูต๋อยเกิดจากประสบการณ์ที่สะสมจากครูพักลักจำและลองผิดลองถูกมาหลาย ประสบการณ์ในเรื่องนี้ไม่ได้น้อยหน้าใครแน่นอน และได้นำความรู้ไปถ่ายทอดให้นักเรียนในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา จึงเป็นที่เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ด้านนี้ ทำให้ผู้ได้รับการอบรมสามารถนำไปใช้อย่างได้ผล

นอกจากจำหน่ายตัวด้วงสดแล้ว ครูต๋อยยังจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์พร้อมกับอาหารสำเร็จอีกด้วย ในการนำไปเลี้ยง ครูต๋อยก็จะมีการอบรมให้อีกเป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง หลังจากการอบรมแล้วนำไปทำถ้ามีปัญหาก็สามารถโทร.มาปรึกษาได้ตลอดเวลา การส่งพ่อแม่พันธุ์ด้วงมะพร้าวจะบรรจุกล่องไปอย่างดี เพื่อไม่ให้เสียหายก่อนถึงมือผู้รับ สามารถติดต่อได้ทางโทรศัพท์มือถือ (089) 699-6442 และ (088) 254-0667

เตรียมจำหน่าย

คุณทวีพงศ์ สุวรรณโร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวให้ความเห็นว่า ด้วงงวงเป็นศัตรูที่สำคัญของมะพร้าว เข้าทำลายทีหลังด้วงแรด กรมส่งเสริมการเกษตร มีหน่วยงานที่แนะนำวิธีการเลี้ยงแมลงให้ถูกวิธี สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงด้วงงวงหรือด้วงสาคูอยู่ ควรเลี้ยงในที่มิดชิด อย่าให้เล็ดลอดออกมาภายนอกได้ ช่วงนี้ยังไม่มีปัญหา เพราะขายได้ราคาดี แต่หากราคาตกต่ำ อาจจะมีการปล่อยปละละเลยก็เป็นได้

“กำลังดูแหล่งเลี้ยงด้วงงวงกับปริมาณการระบาดในธรรมชาติว่ามีความสัมพันธ์กันมากน้อยแค่ไหน” คุณทวีพงศ์ กล่าว

 

เตรียมทอด
จัดส่งพ่อแม่พันธุ์ทั่วประเทศ

………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2562