จิ้งหรีด โปรตีนสูง บ้านแสนตอ แหล่งผลิตใหญ่ ส่งขายทั่วประเทศ

แมลงทอด ได้รับความนิยมบริโภคในตลาดบ้านเรามาก่อนหน้านี้พักใหญ่ แต่กระแสความนิยมดูเหมือนจะลดลง เมื่อเดินตามตลาดพบได้น้อยกว่าเมื่อก่อน ทั้งที่จริง เราไม่เคยรู้เลยว่า ปัจจุบัน แมลงทอด ยังคงได้รับความนิยมบริโภคอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มสูงมากขึ้น แต่เพราะความนิยมบริโภคกระจายออกไปตามจังหวัดต่างๆ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงหัวเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น

คุณไพบูรณ์ คำมูลมาตย์ กับกลุ่มนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาข้อมูลเรื่องการเลี้ยงจิ้งหรีด

แมลงทอด โดยเฉพาะ จิ้งหรีด ได้รับความนิยมบริโภค เนื่องจากเป็นอาหารที่ให้โปรตีนและไขมันสูง และได้รับการการันตีจากหลายหน่วยงานภาครัฐว่า เป็นแมลงที่ปลอดสารเคมี ยกเว้นเมื่อนำไปทอดแล้วใส่สารกันบูดหรือสารเพื่อรักษาสภาพอาหารเข้าไปก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ที่บ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันจัดว่าเป็นแหล่งผลิตแมลง โดยเฉพาะจิ้งหรีด ที่ใหญ่เป็นอันดับต้นของประเทศ ที่ต้องเอ่ยเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดแรกที่เริ่มเลี้ยงและขยายพันธุ์แมลง จนเป็นที่รู้จักระดับประเทศ แต่วันนี้แหล่งผลิตที่เริ่มขึ้นก่อนแหล่งอื่นกลับลดจำนวนการผลิตลง และบ้านแสนตอแห่งนี้กลับมีพื้นที่การผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นอีก โดยตั้งเป้าผลิตส่งออก และทำเป็นฟาร์มจิ้งหรีดมาตรฐาน GAP เพื่อการส่งออก

คุณไพบูรณ์ คำมูลมาตย์ ให้อาหารจิ้งหรีดในรอบวัน

คุณไพบูรณ์ คำมูลมาตย์ หนึ่งในผู้ทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างเป็นระบบ เปิดฟาร์มให้เข้าดูการเลี้ยงจิ้งหรีดอย่างใกล้ชิด ที่ต้องเอ่ยเช่นนี้ เพราะโดยปกติ จิ้งหรีด เป็นสัตว์ที่มีความอ่อนไหวต่อสารทุกชนิด แม้กระทั่งควันไฟจากการเผา กลิ่นบุหรี่ ควันบุหรี่ กลิ่นน้ำหอม หากอยู่ในระยะที่จิ้งหรีดรับกลิ่นได้ จิ้งหรีดมีโอกาสตายสูง ดังนั้น การเปิดฟาร์มจึงเป็นการเสี่ยงอีกชนิดหนึ่ง

12 ปีแล้ว ที่คุณไพบูรณ์ เริ่มทำฟาร์มจิ้งหรีด โดยเริ่มต่อจากน้องเขย ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนำจิ้งหรีดระบบฟาร์มมาเลี้ยงในหมู่บ้านแสนตอ เนื่องจากมีผู้ว่าจ้างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ให้น้องเขยเลี้ยงจิ้งหรีด โดยลงทุนเองทั้งหมด แต่รับซื้อคืนทั้งหมดเช่นกัน น้องเขยจึงลงทุนเริ่มแรกด้วยการทำโรงเรือน และซื้อไข่จิ้งหรีด 6,000 ขัน ราคาขันละ 100 บาท เท่ากับลงทุนเฉพาะพันธุ์จิ้งหรีดไป 60,000 บาท ไม่รวมค่าโรงเรือนและอื่นๆ เมื่อได้ผลผลิตผู้ว่าจ้างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ก็มารับซื้อคืนตามตกลง ส่วนคุณไพบูรณ์ก็อาศัยคราวนั้นเข้าไปศึกษาดูงานการเลี้ยงจิ้งหรีด และตัดสินใจลงทุนทำฟาร์มเองหลังการช่วยงานน้องเขย 25 ปี เพราะเห็นตลาดไปได้ดี

โรงเรือน ควรมีสภาพโปร่ง อากาศถ่ายเทได้

แม้ว่าจิ้งหรีดจะเป็นแมลงขนาดเล็ก แต่การทำโรงเรือนสำหรับจิ้งหรีดก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องมีที่สำหรับกันแดดและฝนให้กับจิ้งหรีด เพราะจิ้งหรีดเป็นสัตว์บอบบาง อ่อนไหวง่าย เมื่อถูกแดดหรืออยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงเป็นเวลานานจะตาย หรืออยู่ในที่ที่มีความชื้นสูงมาก โดนฝนก็ตายเหมือนกัน ดังนั้น โรงเรือนที่ทำควรมีความโปร่ง อากาศสามารถถ่ายเทได้

อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงจิ้งหรีด คือ อุณหภูมิไม่เกิน 35 องศาเซลเซียส หากร้อนกว่านั้น ซึ่งควบคุมสภาพอากาศได้ยาก ต้องช่วยระบายความร้อนให้ โดยการเปิดพัดลมให้อากาศถ่ายเท หรือติดสปริงเกลอร์บนหลังคาโรงเรือน เป็นการลดและระบายความร้อนออกจากโรงเรือน

ขนาดบ่อเลี้ยง ขึ้นกับพื้นที่ที่มีของผู้เลี้ยง

จิ้งหรีด เริ่มจากการเพาะไข่ ซึ่งโดยปกติวงจรของจิ้งหรีด เมื่อโตเต็มวัยก่อนจับขาย จิ้งหรีดเพศเมียจะวางไข่ในขัน ที่นำไปวางในบ่อเลี้ยง ในขันขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เซนติเมตร ให้ใส่แกลบเผา ขุยมะพร้าว ดิน น้ำ คลุกให้เข้ากันนำไปวาง จิ้งหรีดจะรู้เองว่าเป็นที่ที่เหมาะสำหรับการวางไข่

หลังได้ไข่จากการวางไข่ของจิ้งหรีดในขันแล้ว เมื่อจำหน่ายตัวจิ้งหรีดออกไป ให้เก็บขันทั้งหมดไปวางไว้รวมกัน แล้วนำผ้าคลุมไว้ ไม่นานจิ้งหรีดจะฟักจากไข่ออกมาเป็นตัวเล็กๆ เป็นจุดเริ่มต้นของพันธุ์จิ้งหรีดที่จะใช้เลี้ยงในรุ่นต่อไป

ถาดให้อาหาร กับจิ้งหรีดพันธุ์ทองแดงลาย

พันธุ์ที่นิยมเลี้ยงเพื่อการบริโภค คือ พันธุ์ทองแดงลาย และพันธุ์ทองดำ

พันธุ์ทองแดงลาย มีขนาดเล็กกว่า แต่เลี้ยงง่ายกว่า สามารถเลี้ยงในโรงเรือนเปิดได้

พันธุ์ทองดำ มีขนาดใหญ่กว่า เลี้ยงยากกว่า และต้องเลี้ยงในโรงเรือนหรือบ่อเลี้ยงที่มีวัสดุปิดไม่ให้จิ้งหรีดพันธุ์ทองดำบินออกจากบ่อเลี้ยงได้ เนื่องจากจิ้งหรีดพันธุ์ทองดำ เป็นพันธุ์ที่มีปีกและบินได้ เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย จะบินออกจากบ่อเลี้ยง หากไม่มีที่ปิดอย่างดี จิ้งหรีดจะบินหายไปหมด

การให้น้ำ ใช้ที่ให้น้ำสัตว์ปีก นำผ้าวางรอบรางน้ำ ป้องกันจิ้งหรีดตกน้ำตาย

อุปกรณ์สำหรับเลี้ยงจิ้งหรีดที่ต้องลงทุนในระยะแรกคือ การสร้างโรงเรือน บ่อเลี้ยง แผงไข่ อุปกรณ์ให้น้ำ เป็นการลงทุนถาวร ส่วนอุปกรณ์การเลี้ยงที่เป็นต้นทุนทุกครั้งเมื่อถึงรอบจับทุก 45 วัน คือ อาหารสำเร็จรูป ซึ่งหากไม่ใช้อาหารสำเร็จรูป ก็สามารถใช้พืชตระกูลหัวในการเลี้ยงจิ้งหรีดได้เช่นกัน แต่ต้องเป็นพืชที่ปลอดสารเคมี เช่น หัวมันสำปะหลัง ลำต้นมันสำปะหลัง ใบมันสำปะหลัง ฟักทอง ใบฟักทอง เป็นต้น ส่วนแผงไข่ ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของจิ้งหรีด ควรปราศจากความชื้น หากชื้นหรือผุพัง ก็ต้องเปลี่ยนแผงไข่ใหม่ อาจจะเปลี่ยนเฉพาะแผงที่ชำรุด เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้

คุณไพบูรณ์ บอกว่า อาหารสำหรับจิ้งหรีด หากสามารถใช้พืชตระกูลหัวนำมาให้จิ้งหรีดกินได้ จะเป็นการประหยัดต้นทุนการผลิตมาก แต่เนื่องจากจิ้งหรีดกินเยอะ กินตลอดเวลา จึงไม่มีแหล่งวัตถุดิบที่จะนำมาเป็นอาหารมากเพียงพอ จำเป็นต้องให้อาหารสำเร็จรูป ขนาดน้ำหนัก 30 กิโลกรัม ต่อกระสอบ ราคากระสอบละ 460 บาท

รังไข่ นำมาทำเป็นที่อยู่ของจิ้งหรีด แผงละ 1.50 บาท

ภายในบ่อเลี้ยง เมื่อวางแผงไข่ชิดกันให้เหมาะสม เพื่อให้จิ้งหรีดเข้าไปหลบได้แล้ว ต้องมีถาดให้อาหาร ซึ่งจิ้งหรีดกินอาหารเยอะมาก ต้องให้อาหารเช้าและเย็น วันละ 2 ครั้ง แต่ถ้าอาหารที่ให้ไว้ในตอนเช้ายังไม่หมด ก็ไม่จำเป็นต้องเติมให้อีก เพราะจิ้งหรีดจะถ่ายมูลออกมาปนกับอาหาร ทำให้อาหารชื้นและเสียได้ นอกจากนี้ ต้องมีที่ให้น้ำ โดยนำที่ให้น้ำสัตว์ปีกมาวางไว้ พื้นที่ที่เป็นน้ำ นำผ้ามาวางไว้ให้น้ำชุ่มที่ผ้า จิ้งหรีดจะมาดูดน้ำจากผ้าที่ชุ่มน้ำ หากไม่นำผ้ามาวางไว้ จิ้งหรีดอาจตกน้ำลงไปตายได้

เนื่องจากจิ้งหรีดเป็นแมลงที่เคลื่อนย้ายได้ บริเวณขอบบ่อ จึงจำเป็นต้องนำวัสดุที่มีความลื่นมาติดไว้โดยรอบขอบบ่อ เมื่อจิ้งหรีดไต่ขึ้นมาที่ขอบบ่อจะลื่นตกลงในบ่อเลี้ยงตามเดิม ไม่สามารถออกจากบ่อเลี้ยงได้

ที่วางไข่ของจิ้งหรีด

ในแต่ละวันนอกเหนือจากการให้อาหารเช้าและเย็นแล้ว จำเป็นต้องทำความสะอาดที่ให้น้ำ เพราะเมื่อจิ้งหรีดไปกินน้ำ จะถ่ายมูลไว้ที่ผ้า เป็นที่หมักหมมของเชื้อโรคและเกิดความชื้น ก็อาจทำให้จิ้งหรีดในบ่อเลี้ยงตายได้ ถ้าพบว่ามีจิ้งหรีดตายต้องนำออกจากบ่อเลี้ยง แม้จะยังไม่เคยเกิดโรคในจิ้งหรีด แต่การทำบ่อเลี้ยงให้สะอาด ก็เป็นการป้องกันที่ดีทางหนึ่ง

รอบการจับจิ้งหรีดขายอยู่ที่ 45 วัน ต่อรอบ

จิ้งหรีด จะมีขนาดตัวที่โตเต็มวัยในระยะเวลา 45 วัน เหมาะสำหรับจับขาย เมื่อถึงเวลาจับขาย จะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับถึงฟาร์ม การจับจิ้งหรีดทำโดยการนำแผงไข่ออกจากบ่อเลี้ยง ก่อนนำออกจากบ่อเลี้ยงให้สลัดตัวจิ้งหรีดออกให้หมด จากนั้นนำแผงไข่บางส่วนพิงไว้รอบบ่อ จิ้งหรีดจะเข้าไปแอบในแผงไข่นั้นๆ แล้วจึงนำแผงไข่นั้นออกมาสลัดจิ้งหรีดใส่เครื่องกรอง เพื่อกรองเอาเศษที่ไม่ต้องการออก จากนั้นพ่อค้าแม่ค้าจะนำเฉพาะตัวจิ้งหรีดใส่ถุง แล้วน็อกด้วยน้ำแข็งส่งไปยังปลายทางเพื่อจำหน่าย หรืออีกกรณีคือ เมื่อนำแผงไข่ที่มีตัวจิ้งหรีดจากบ่อเลี้ยงออกมาแล้ว นำไปสลัดใส่กรงหรือบ่อเลี้ยงขนาดเล็กที่มีแผงไข่ เพื่อเปลี่ยนที่อยู่ให้กับจิ้งหรีด แล้วขนย้ายไปปลายทางเพื่อจำหน่าย

จิ้งหรีดที่ฟักเป็นตัวแล้ว

ในการจับจิ้งหรีดขายแต่ละครั้ง ในบ่อเลี้ยงจะเหลือมูลจิ้งหรีด ซึ่งสามารถนำไปจำหน่ายเป็นปุ๋ยได้ เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า มูลจิ้งหรีดมีธาตุไนโตรเจนมากกว่ามูลไก่ สามารถนำไปใส่ในต้นไม้ได้ทุกชนิด ราคาซื้อขายอยู่ที่กระสอบละ 40 บาท แต่ละบ่อสามารถเก็บมูลจิ้งหรีดขายได้มาก 6-7 กระสอบ ต่อรอบการจับขาย

ในการขายแต่ละครั้ง คุณไพบูรณ์ บอกว่า ปริมาณจิ้งหรีดที่จับขายได้ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยง เลี้ยงมากน้อยก็ได้ปริมาณจิ้งหรีดไม่เท่ากันในแต่ละครัวเรือน สำหรับบ้านแสนตอสามารถจับขายได้เกือบทุกวัน ปริมาณจิ้งหรีดออกจากบ้านแสนตอไปแต่ละรอบการผลิตเกือบ 30 ตัน ราคารับซื้อ กิโลกรัมละ 80 บาท

บ่อเลี้ยงจิ้งหรีดพันธุ์ทองดำ ต้องมีมุ้งปิดมิดชิด ป้องกันจิ้งหรีดบินหนี

“เท่าที่ทราบ พอออกจากบ้านแสนตอเราไป ก็ไปยังจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะภาคอีสาน แถบจังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย กาฬสินธุ์ สระแก้ว โดยเฉพาะปอยเปตของกัมพูชา ซื้อไปครั้งละ 4-5 ตัน ซึ่งตลาดยังต้องการมากกว่าที่เราผลิตได้ จึงวางแผนผลิตเพิ่มขึ้น และผลิตแบบ GAP เพื่อตั้งเป้าส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย”

เมื่อถามถึงรายได้จากการเลี้ยงจิ้งหรีด คุณไพบูรณ์ บอกเลยว่า เป็นอาชีพที่ไม่ต้องออกแรงมาก และใช้เวลากับการดูแลน้อย เมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้ว มีรายได้เกือบ 50% ของการลงทุน อย่างน้อยต่อรอบการผลิต เกษตรกรจะมีรายได้หลักหมื่นบาทแน่นอน

สำหรับบ้านแสนตอ เกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีดรวมกลุ่มกันเลี้ยงจิ้งหรีด ปัจจุบันมี 43 ครัวเรือน รอบการผลิต 45 วัน ที่จับจิ้งหรีดขายได้ จะได้ปริมาณจิ้งหรีดที่ 28-30 ตัน และมีแนวโน้มตลาดต้องการเพิ่มมากขึ้น จึงจะขยายฐานการผลิตออกไปอีก

จิ้งหรีดพันธุ์ทองดำ ตัวใหญ่กว่าจิ้งหรีดพันธุ์ทองแดงลาย

ท่านใดสนใจเยี่ยมชม ศึกษาการเลี้ยงจิ้งหรีด บ้านแสนตอยินดีให้ข้อมูล ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณไพบูรณ์ คำมูลมาตย์ หรือ ไพบูรณ์ฟาร์ม เลขที่ 110 หมู่ที่ 85 บ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์ 081-741-2387

 

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่