พลิกผืนนาดอน ทำเกษตรผสมผสาน ปรับแปลงปลูกพืชทุกชนิด ปลดหนี้หลักแสน

หลายคนประสบความสำเร็จกับคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง”

คุณชาญ มั่นฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านหาดใหญ่ ตำบลหนองหอม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ก็เช่นกัน

คุณชาญ มั่นฤทธิ์ และ คุณแตงทัย มั่นฤทธิ์ สองสามีภรรยา

คุณชาญ ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตร จากการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่คุณชาญก็ให้ข้อคิดว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ประสบความสำเร็จจากการทำเกษตร ด้วยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะนั่นอาจจะเป็นเพียงแนวทาง แต่ไม่ใช่การดำเนินตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงจริง เช่น การลงทุนสูง การไม่มีใจรักเมื่อเริ่มต้นทำเกษตร แต่ทำเพราะกระแส เป็นต้น สิ่งเหล่านี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้สร้างความพอเพียงตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

เก็บตะไคร้ขาย

การทำการเกษตรของคุณชาญ ก็เริ่มต้นจากเกษตรกรทำนาเช่นเดียวกับเพื่อนบ้านรายอื่นๆ ที่มีผืนนาเป็นของตนเอง และทำนาตามฤดูกาล ในอดีตทำนาปีละครั้ง โดยอาศัยน้ำฝนในฤดูกาล ไม่มีระบบชลประทานมาเกื้อหนุน การปลูกข้าวที่ทำอยู่ก็ทำเหมือนเกษตรกรรายอื่น ระบบการปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว ขาย ไม่แตกต่าง เมื่อไม่เกิดความแตกต่าง ผลที่ได้ก็เหมือนกันคือ ประสบภาวะขาดทุน

มะพร้าวน้ำหอมก็มี

คุณชาญ เป็นผู้ที่สนใจใฝ่รู้ จึงเริ่มศึกษาระบบการทำการเกษตรด้วยวิธีต่างๆ และเคยเข้ารับการอบรมการทำเกษตรโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง แต่ไม่ได้สนใจและให้ความสำคัญ เพราะคิดเองว่า เมื่อเราเป็นหนี้ การจะเริ่มทำเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่คำตอบที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ กระทั่งการทำนาแบบเดิมดำเนินต่อไป และในทุกปีเกิดภาวะขาดทุน เป็นหนี้หลายแสนบาท

“ผมเคยไปอบรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงหลายครั้ง แต่ไม่เชื่อว่าทำแล้วจะอยู่ได้ แล้วเราเองเริ่มต้นจากติดหนี้หลายแสน คำว่าพอเพียง จะทำให้เราปลดหนี้แล้วมีกินได้ยังไง”

ผักตบชวานำมาใช้เป็นคลุมดิน

เพราะทุกวันเหมือนเดิม หนี้สินก็พอกพูนขึ้น ทำให้คุณชาญ ตัดสินใจลองเสี่ยงกับคำว่า “พอเพียง”

ที่นาทั้งหมด 15 ไร่ เริ่มต้นจากที่นาเพียง 1 ไร่ ลงปลูกชะอม 1,000 กิ่ง ลงทุน 5,000 บาท ไม่ต้องปรับที่นา เพราะเป็นนาดอน

หลังจากนั้นเพียง 1 เดือน ชะอมแตกกิ่งติดยอด ตัดขายได้ ก็เริ่มเก็บยอดชะอมมัดกำ นำไปขายให้กับพ่อค้าที่ตลาดสดพรหมพิราม ได้เงินครั้งแรกวันละ 50 บาท ต่อมาเมื่อชะอมเริ่มแตกกิ่งติดยอดมากขึ้น ก็เริ่มตัดยอดชะอมขายได้มากขึ้น รายได้จากวันละ 50 บาท เพิ่มเป็นวันละ 300 บาท

นาข้าวก็ยังทำอยู่

จำนวนชะอมที่เก็บไปขาย 1 ไร่ เริ่มไม่พอต่อความต้องการของตลาด มีพ่อค้าแม่ค้าจากหลายแหล่งมาถามขอซื้อ จึงตัดสินใจเพิ่มพื้นที่ปลูกชะอมอีก 1 ไร่ รวม 2 ไร่ และตัดขาย มีรายได้ทุกวันคูณ 2

เมื่อมองเห็นช่องทางการตลาด ว่าการขายพืชผักเช่นนี้ สามารถทำเงินได้ทุกวัน จึงเริ่มขุดบ่อ เลี้ยงปลา 3 บ่อ พื้นที่รวม ประมาณ 1 ไร่ และตัดสินใจปลูกพืชผักชนิดอื่นเพิ่ม ได้แก่ พริก ตะไคร้ ถั่วพลู มะเขือ กะเพรา โหระพา มะพร้าวน้ำหอม ขนุน กล้วยหอมทอง มะละกอ ไผ่ เป็นต้น

ภายในบ่อน้ำ ก็เลี้ยงปลานิล ปลาหมอชุมพร 1 ปลาดุกในกระชัง กบในกระชัง

กระชังเลี้ยงปลาดุก

เริ่มผลิตน้ำหมักชีวภาพ ทำปุ๋ยหมัก น้ำส้มควันไม้ และสารชีวภาพอื่นที่สามารถผลิตได้เอง เพื่อให้แปลงพืชทั้งหมดปลอดสาร เพื่อตัวเองและผู้บริโภคไม่เสี่ยงต่อการรับสารเคมีเข้าร่างกาย

พื้นที่นาแรกเริ่ม 15 ไร่ ปัจจุบัน ถูกปรับเปลี่ยนเป็นแปลงผักสวนครัวและพืชชนิดอื่น 8 ไร่ เหลือเป็นที่นา 7 ไร่ ปลูกข้าวไว้กินเอง

ชะอม ปลูกแซมด้วยตะไคร้

คุณชาญ บอกว่า เดิมส่งพ่อค้าในตลาดสดพรหมพิรามเท่านั้น ต่อมาเมื่อมีคนรู้ว่า สวนเราปลูกผักหลายชนิดและปลอดสาร ก็มีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามาติดต่อขอซื้อถึงสวน ทั้งขายปลีกและส่ง ซึ่งราคาซื้อขายก็คิดตามราคาตลาด ไม่ได้แพงกว่า แม้จะเป็นพืชปลอดสารก็ตาม

นับตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนแปลงถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี เมื่อถามถึงปัญหาที่ประสบ คุณชาญ เล่าว่า มีเพียงดินฟ้าอากาศเท่านั้นที่ไม่เป็นใจ หากร้อนมากหรือหนาวมาก ก็จะทำให้ผลผลิตไม่ได้ตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งขณะนี้ผลผลิตที่ได้ในพื้นที่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การควบคุมให้ดินฟ้าอากาศปกติไม่สามารถทำได้ จึงไม่ถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข สำหรับต้นทุนการผลิต คุณชาญบอกเลยว่า แท้จริงแล้วในแต่ละวันต้นทุนแทบไม่มี มีแต่รายได้เท่านั้น

เผาถ่านขาย

ในทุกเช้าประมาณ 05.00 น. คุณชาญและภรรยา แรงงานหลัก จะเริ่มตัดชะอมและเก็บพืชที่ต้องนำไปส่งให้พ่อค้าในตลาดสด จากนั้นจะเริ่มดูแลแปลง รดน้ำ ให้ปุ๋ย เก็บวัชพืช ซึ่งในทุกวัน คุณชาญและภรรยา จะให้ความสำคัญกับต้นไม้ พยายามเดินดูให้ครบทุกต้น เพื่อแก้ปัญหาหากพบว่าเกิดโรคหรือแมลงเข้าทำลาย

มะนาว เก็บได้ทุกวัน

การบริหารจัดการภายในสวน ไม่ใช่เรื่องยาก คุณชาญ เล่าว่า ต้องปลูกไล่ระยะเวลา เพื่อให้มีเก็บขายได้ทุกวัน ไม่ว่าจะพืชผักชนิดไหน ซึ่งปัจจุบัน ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่ไม่สามารถขยายกำลังผลิตได้แล้ว เพราะแรงงานมีเพียงคุณชาญและภรรยาเท่านั้น

สำหรับรายได้ คุณชาญบอกได้อย่างไม่อายว่า อย่างน้อยวันละ 800 บาททุกวัน

แปลงตะไคร้ ปลูก 1,500 กอ

ด้วยหลักการดำเนินชีวิตเช่นนี้ ทำให้คุณชาญ ได้รับรางวัล เกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ สาขาไร่นาสวนผสม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก พร้อมเปิดบ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่สำหรับผู้สนใจ

“หลายคนที่เริ่มคิดอยากทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง บางคนไปไม่รอด ถ้าอยากรอด ต้องลงมือทำเอง ต้องมีใจรัก แม้จะนำเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาใช้ ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ก็ต้องไม่ลงทุนสูง เพราะรายได้จากการทำเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้มาก แต่ยั่งยืน และต้องสังเกตว่าพืชชนิดใดเหมาะกับพื้นที่ใด เพราะพืชทุกชนิดไม่ได้เหมาะกับทุกพื้นที่” คุณชาญ ฝากทิ้งท้ายถึงเกษตรกรรุ่นใหม่ทุกคน

สนใจเข้าชมแปลงเกษตรผสมผสาน ติดต่อได้ที่ คุณชาญ มั่นฤทธิ์ หมู่ที่ 5 บ้านหาดใหญ่ ตำบลหนองแขม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก โทรศัพท์ 089-708-3633

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ.2562


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354