เทคนิคการพัฒนาคุณภาพดินเพื่อปลูกส้มโอ ให้ลูกโตๆ รสชาติหวานฉ่ำ ไม่ขมติดลิ้น

ทุกครั้งที่มีวิกฤตน้ำท่วม จังหวัดนนทบุรีจะเป็นพื้นที่รองรับน้ำและเกิดน้ำท่วมขังอยู่นานนับเป็นเดือน ๆ ทำให้ต้นไม้ในสวนยืนต้นตาย ขณะเดียวกันตะกอนที่พัดพามากับน้ำใช่ว่าจะมีแต่แร่ธาตุชั้นดีเท่านั้น ยังพัดพากลุ่มสารเคมีต่าง ๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม มาสุมกองทำให้ดินเมืองนนท์ที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่ดินดีกลับแปรสภาพไป

ศรียงค์ วิมลสรกิจ

คุณป้าศรียงค์ วิมลสรกิจ เจ้าของ “สวนส้มโอแม่ศรียงค์” เผยให้ฟังถึงการทำสวนในจังหวัดนนทบุรีว่า เริ่มมาซื้อสวนที่นี่เมื่อประมาณปี 2531 ซึ่งเป็นสวนทุเรียนเก่าที่ปลูกมาแล้วประมาณ 30 ปีขึ้นไป เป็นทุเรียนพันธุ์เดิม ๆ ที่เมืองนนท์มีอยู่ ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2538 ทำให้ต้นทุเรียนตายยกสวน

พอปี 2539 ก็มากู้สวนใหม่ คราวนี้ก็มานั่งคิดว่าจะปลูกอะไรดี ตอนแรกก็คิดว่าจะลงทุเรียนเป็นพืชหลักเหมือนเดิม แต่เพื่อนบ้านหลายคนก็ให้คำแนะนำมาว่า ทุเรียนปลูกและดูแลยาก อีกทั้งใช้เวลานานถึง 6 ปีกว่าจะให้ผลผลิต หากเกิดน้ำท่วมอีกครั้งในช่วงที่ทุเรียนกำลังเริ่มให้ผลผลิตก็เท่ากับว่า 6 ปีที่ผ่านมานั้นศูนย์เปล่า

ในตอนนั้นเองก็ยังไม่มีประสบการณ์ในการทำสวนเลย เพราะทำงานออฟฟิศอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อคนที่มีประสบการณ์แนะนำอย่างนั้นก็ต้องเชื่อไว้ก่อนเพราะเขาอยู่ตรงนี้มานาน เลยถามต่อไปว่า มะม่วงละน่าสนใจไหม เขาก็แนะนำอีกว่ามะม่วงปลูกโตเร็ว ให้ผลผลิตดี แต่จะไปตันเรื่องการตลาด พอสุกแล้วก็ต้องรีบขาย เก็บไว้นานไม่ได้ ราคาเท่าไหร่ก็ต้องขาย เขาก็เลยแนะนำมาว่าให้ปลูกส้มโอหรือไม่ก็ส้มเขียวหวานดีกว่า เก็บไว้ได้นาน

ด้วยเหตุนี้เลยเริ่มปลูกส้มโอขึ้นมาและปลูกไม้ผลอื่น ๆ เช่น มะม่วง มะยงชิด ทุเรียน มังคุด แซมในร่องสวนด้วย ผ่านไปประมาณ 2 ปี เริ่มสังเกตว่าทำไมหลังน้ำท่วมปลูกต้นไม้ไม่โตเลย เกิดปัญหาต้นโทรม ใบเหลือง ใบส้มโอจากที่เคยใบใหญ่ ๆ ก็ลีบเล็กลงเหมือนใบส้มเขียวหวาน ครั้งนั้นก็แก้ปัญหาด้วยการไปซื้อมูลสุกรมาจากจังหวัดสุพรรณบุรีมาใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี พอใส่ก็เขียวขึ้นมาพักหนึ่ง หลังจากนั้นก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม

Advertisement

เมื่อประสบปัญหาดังกล่าวก็นำปัญหาไปปรึกษากับเพื่อนบ้านอีก เพื่อนบ้านก็แนะนำว่าทำไมไม่ทำ “เกษตรธรรมชาติคิวเซ” ละ จากนั้นเริ่มเข้าไปศึกษาการทำปุ๋ยหมักโดยใช้ EM และการผลิตน้ำหมักขับไล่แมลง สุโตจู ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี หลังจากการไปฝึกอบรมก็ได้นำความรู้ที่ได้มาผลิตปุ๋ยหมัก และสารขับไล่แมลงใช้เองในสวน

คราวนี้ต้นไม้ในสวนก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ และในขณะที่ส้มโอกำลังจะให้ผลผลิตนั้นก็เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งเมื่อปี 2545 น้ำท่วมขังอยู่ในสวนประมาณครึ่งเดือน ตอนนั้นก็พยายามทุกวิถีทางที่จะกู้สวนไว้ด้วยการเร่งสูบน้ำออกจากสวน ปรากฏว่าส้มโอที่ปลูกไว้สองร้อยกว่าต้น ตายไปครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งที่เหลืออยู่ ก็มีอาการ ต้นโทรม ใบเหี่ยว โคนเน่า

Advertisement

ภายหลังจากน้ำท่วมก็เก็บเศษใบไม้จากต้นที่ตายมากอง ๆ ไว้ที่โคนต้นที่ยังเหลืออยู่ จากนั้นเพื่อนบ้านคนเดิมเขามาเที่ยวสวน มาเห็นต้นไม้ ใบไม้ ที่กองไว้ก็บอกให้ไปขอสารเร่ง พด.1 จากกรมพัฒนาที่ดินมาใช้เพื่อหมักเศษใบไม้ต่าง ๆ ให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น

ที่นี้ เริ่มมีประสบการณ์แล้วว่า หากเกิดเหตุน้ำท่วมมาเมื่อไหร่ ดินจะต้องเสียแน่นอน เพราะน้ำที่มันไหลมานอนอยู่ในจังหวัดนนทบุรี มันไม่ได้พัดพาเฉพาะแค่แร่ธาตุดี ๆ มาเท่านั้น พวกสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมก็ถูกพัดพามาด้วย

พอน้ำท่วมมารอบนี้ก็เลยเก็บตัวอย่างส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งผลวิเคราะห์ทำให้ทราบว่าสภาพพื้นที่เป็นกรดจัด จึงต้องปรับสภาพดินโดยใช้หินฟอสเฟตในปริมาณ 500 กิโลกรัม/ไร่

ต่อมามีเจ้าหน้าที่จากสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดนนทบุรีมาเก็บตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์อีกครั้ง และได้แนะนำให้มีการใช้ปูนขาวโดโลไมท์ ในการปรับปรุงสภาพดิน รวมถึงการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 สารควบคุมเชื้อสาเหตุของโรคส้มโอ โดยใช้สารเร่ง พด.3 การผลิตสารป้องกันกำจัดแมลงโดยใช้สารเร่ง พด.7 และการผลิตฮอร์โมนพืชจาก พด.12 คุณภาพสูง เป็นต้น

ปี 2552 ทางสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดนนทบุรีได้เข้ามาจัดตั้งกลุ่มเกษตร “ใช้สารอินทรีย์ลดสารเคมีทางการเกษตร” โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกลุ่ม มีสมาชิกในกลุ่ม 50 ราย โดยกิจกรรมหลักของกลุ่มก็คือ การให้ความรู้เรื่องการพัฒนาที่ดิน การเก็บตัวอย่างดิน การใช้ปุ๋ยพืชสด และผลิตปุ๋ยหมักโดยใช้สารเร่ง พด. ต่าง ๆ

คุณป้าศรียงค์ ยังบอกอีกว่า “การทำปุ๋ยหมักและสารกำจัดโรค กำจัดแมลงใช้เอง สามารถลดต้นทุนทางการเกษตรได้ ทั้งยังปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้รับประทาน โดยมีเทคนิคการเตรียมดินก่อนปลูก คือ นำปุ๋ยน้ำที่เกิดจากหมักเศษพืชสดร่วมกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ไปคลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูกให้ทั่ว หมักทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน จากนั้นอีก 7 วัน ให้นำปุ๋ยหมักที่ได้จากการหมักจากสารเร่ง พด.1 ไปคลุกเคล้ากับ พด.3 แล้วนำมาคลุกกับดินในหลุมปลูกอีกครั้ง และหมักทิ้งไว้อีก 7 วัน จากนั้นจึงนำกล้าพันธุ์ไม้ผลที่เราต้องการมาลงปลูก”

สำหรับการปลูกส้มโอนั้น ภายหลังจากปลูกเรียบร้อยแล้วจะต้องกลบโคนโดยใช้มูลสุกรมาหมักร่วมกับสารเร่ง พด.1 บรรจุไว้ในกระสอบปุ๋ยเป็นเวลา 15-30 วัน

เมื่อปุ๋ยมูลสุกรกลายเป็นปุ๋ยหมักแล้วจึงนำมาใส่รอบโคนต้น เพื่อเร่งให้ส้มโอเจริญเติบโต ทั้งนี้ส้มโอจะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 และจะเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่เมื่อส้มโออายุ 5 ปีขึ้นไป โดยจะให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อปีประมาณต้นละ 300 ลูก

อย่างไรก็ตามในขณะที่ “สวนสมโอแม่ศรียงค์” แห่งนี้ กำลังให้ผลผลิตเต็มที่ และมีออร์เดอร์จากลูกค้าประจำเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ในปี 2554 โชคร้ายก็มาบังเกิดกับชาวสวนเมืองนนท์อีกครั้ง โดยเกิดน้ำท่วมใหญ่ และแน่นอนว่าสวนส้มโอแห่งนี้ก็โดนน้ำท่วมเช่นกัน และท่วมขังนานถึง 2 เดือน ทำให้ต้นส้มโอและไม้ผลปลูกแซมในร่องสวนยืนต้นตายทั้งสวน

“ถ้าถามว่าท้อไหม ก็ต้องบอกว่าท้อไม่ได้ เพราะบ้านอยู่ตรงนี้ สวนอยู่ตรงนี้ ต่อให้น้ำท่วมอีกกี่ครั้ง เมื่อน้ำแห้งก็ต้องปรับพื้นที่แล้วลงไม้ผลใหม่อีกครั้ง ต่อให้มันเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทุก ๆ ครั้งที่มีน้ำท่วม ก็ต้องทำ”

ปัจจุบันส้มโอที่ปลูกใหม่ของคุณป้าศรียงค์มีอายุ 3 ปี โดยเป็นส้มโอไร้เมล็ดพันธุ์ทองดีและขาวน้ำผึ้ง ซึ่งบางต้นเริ่มให้ผลผลิตให้ผู้ที่ชื่นชอบความหวานฉ่ำของส้มโอเมืองนนท์ได้ลิ้มลองรสชาติบ้างแล้ว โดยจะมีผลผลิตให้รับประทานทั้งปี และจะมีมากที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน

“หลังจากน้ำท่วมรอบนี้ เริ่มรู้จักการเป็นระบบมากขึ้น เพราะเริ่มมีประสบการณ์ ซึ่งการปรับสวนในรอบใหม่นี้ เราเริ่มจากปรับสภาพดินโดยการใช้ปูนขาวโดโลไมท์ มีการจัดระบบแปลงปลูกใหม่โดยปลูกกล้วยน้ำว้าและกล้วยหอมเป็นพืชพี่เลี้ยง ซึ่งภาษาชาวสวนเรียกว่า “การสวมหมวกให้กับต้นไม้” ซึ่งหมวกใบนี้ให้ทั้งร่มเงาและรายได้ เพราะตัดขายได้เร็วกว่าไม้ผลชนิดอื่น และปลูกต้นทองหลางไว้ในร่องสวนด้วย

เหตุที่ปลูกทองหลางเพราะเป็นพืชตระกูลถั่วที่มีส่วนช่วยบำรุงให้ดินดี โดยเฉพาะเมื่อใบทองหลางร่วงหล่นลงมาจะเป็นปุ๋ยธรรมชาติให้แก่ไม้ผลในสวน ทั้งนี้การย่อยสลายอย่างช้าๆ ของใบทองหลางจะทำหน้าที่ในการเพิ่มช่องว่างในดินได้เป็นอย่างดี ส่งผลโดยตรงกับโครงสร้างของดิน ทำให้ดินที่แน่นและเหนียวกลับมาโปร่งและระบายน้ำได้ดีขึ้น อีกทั้งใบทองหลางที่ผ่านการย่อยสลายแล้วจะมีกำมะถันสูง เมื่อปลูกไว้คู่กับต้นทุเรียนจะทำให้ทุเรียนเนื้อสีเหลืองนวลสวยอีกด้วย”

ทั้งนี้ในร่องสวนใหม่ นอกจากจะมีส้มโอและกล้วยซึ่งเป็นรายได้หลักในปัจจุบันแล้ว ยังปลูกไม้ผลชนิดอื่น ๆ แซมอีกหลายอย่างเช่น มะม่วง มะยงชิด มังคุด และทุเรียน เป็นต้น โดยราคาส้มโอปลอดสารพิษ มาตรฐาน GAP ที่สวนแห่งนี้สนนราคาขายหน้าสวนอยู่ที่ ลูกละ 80 บาท

ท้ายที่สุดคุณป้าศรียงค์ ยังบอกอีกว่า “การทำสวนผลไม้ให้ได้เงินล้านไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องยาก และอย่าไปโทษธรรมชาติว่ามีที่ไม่ดี ดินไม่ดี จึงทำให้ไม่ได้ผลผลิต ซึ่งความจริงแล้ว ต้องโทษตัวเองต่างหากที่ไม่ยอมแสวงหาวิธีการที่ทำให้ดินมันดีขึ้น มันก็เลยปลูกอะไรไม่ได้ผล ปลูกต้นไม้อย่าไปมองที่ปลายทางว่าจะต้องเป็นปุ๋ยดีเท่านั้นที่จะทำให้ต้นไม้สวย ลูกดก รสชาติหวาน จะต้องเริ่มแก้ตั้งแต่ต้นทาง และกรมพัฒนาที่ดินเขาก็มีวิทยาการหลายอย่าง ทั้งองค์ความรู้เรื่องดิน สารเร่ง พด. เมล็ดพันธุ์ปุ๋ยพืชสด ซึ่งให้บริการแก่ชาวสวน ชาวไร่ ชาวนาอย่างครบวงจร โดยไม่มีค่าบริการ อีกทั้งตามหมู่บ้านต่าง ๆ ยังมีหมอดินอาสาที่คอยให้คำปรึกษา ให้เกษตรกรเข้าถึงภาครัฐได้ง่ายขึ้น

“ดังนั้นหากมีปัญหาเรื่องพืชผล เรื่องการผลิตอย่าไปคิดถึงแค่ปลายทางว่าไม่มีเงินซื้อปุ๋ยดี ๆ มาใช้ เพราะปุ๋ยดี ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินซื้อเสมอไป และสุดท้ายอยากฝากไปถึงคนรุ่นใหม่ที่สนใจการทำเกษตรว่า ถ้ารักการทำเกษตรอย่าขี้เกียจเข้าสวน เพราะตัวเองเป็นเสมือนผู้จัดการที่จะต้องไปตรวจเยี่ยมดูแลต้นไม้ เมื่อมีการดูแลต้นไม้ดี ให้แร่ธาตุในดินดี ให้ปุ๋ยดี ผลสุดท้ายต้นไม้ก็จะสนองคุณแก่เราด้วยการให้ผลผลิตคุณภาพดี ให้เราได้เก็บกิน เก็บขาย และท้ายที่สุดเมื่อมีการวางแผนจัดการที่ดี ผู้บริโภคก็จะมองเห็นคุณภาพในสิ่งที่ทำ จากนั้น การตลาด การเงินมันก็จะเข้ามาหาเอง”

ปัจจุบัน “สวนส้มโอแม่ศรียงค์” นอกจากจะมีส้มโอลูกโต ๆ รสชาติหวานฉ่ำ ไม่ขมติดลิ้นแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเปลือกส้มโอให้ผู้มาเยี่ยมเยียนเลือกซื้อหาไปรับประทานเพื่อความชุ่มคออีกด้วย และยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาที่ดิน ให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ