มะพลับเจ้าคุณ แห่งแรกในสยาม กับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ชื่อสามัญ มะพลับเจ้าคุณ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros winitii
ชื่อวงศ์ EBENACEAE

ณ เวลานี้ จะเขียนเรื่องต้นไม้ต้นไหน คงไม่น่าภาคภูมิใจไปกว่าเรื่องของ “มะพลับเจ้าคุณ” เพราะต้นไม้ต้นนี้ผู้เขียนได้ทำวิจัยด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นงานที่ผู้เขียนถนัด และมีโอกาสได้มานำเสนอ ใน “งานประชุมการป่าไม้ประจำปี 2562” ซึ่งจัดที่สถาบันคชบาล หรือศูนย์ฝึกช้างไทย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ระหว่าง วันที่ 19-21 สิงหาคม 2562

รับรางวัลนำเสนอผลงานวิจัย

ช่างโชคดีจริงๆ ที่…นอกจาก เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ มะพลับเจ้าคุณ จนสำเร็จ…(อาจจะเป็นคนแรกด้วยกระมัง) ยังได้รับรางวัลการนำเสนอผลงานวิจัยภาคโปสเตอร์อีกด้วย จะหาว่าโม้ก็ยอมนะ…มารู้จัก มะพลับเจ้าคุณ กันก่อนดีกว่า

มะพลับเจ้าคุณ (Diospyros winitii) อยู่ในวงศ์ EBENACEAE สกุลเดียวกับ มะพลับ (ไม้สกุลมะพลับ ได้แก่ มะพลับ มะเกลือ ตะโก สาวดำ มะริด ฯลฯ) เป็นไม้ชั้นกลาง สูงได้ 10-15 เมตร เลยทีเดียว มะพลับเจ้าคุณ เป็นพืชถิ่นเดียว และมีสถานะเป็นพืชหายาก พบครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2465 โดย หมอคาร์ ชาวไอริช ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ชื่อสปีชีส์จึงตั้งตามชื่อของ พระยาวินิจวนันดร

ต้นกล้ามะพลับเจ้าคุณ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงหนาแน่น เนื้อไม้มีสีดำเหมือนไม้สกุลมะพลับทั่วๆ ไป รูปทรงของต้นก็เป็นพุ่มสวยงามเหมาะที่จะนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ คนสมัยก่อนนิยมนำมาทำเป็นไม้ก่อสร้าง หรือเฟอร์นิเจอร์

ใบ

ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปรี หรือรูปขอบขนาน ยาว 5-15 เซนติเมตร แผ่นใบด้านล่างมีขนหนาแน่น ก้านใบ ยาว 0.3-1 เซนติเมตร

ต้นพร้อมราก

ดอก แยกเพศ ต่างต้น (Dioecious) กลีบเลี้ยง และกลีบดอก มีจำนวนอย่างละ 4 กลีบ
ดอกเพศผู้ ออกเป็นช่อกระจุกสั้นๆ ตามซอกใบ ก้านดอก ยาว 0.1-0.3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงรูประฆัง ยาว 0.3-0.4 เซนติเมตร กลีบแยกถึงโคน มีขนทั้ง 2 ด้าน กลีบดอกรูปคนโท ยาว 0.4-0.6 เซนติเมตร กลีบแยก ประมาณ 1/3 มีขน เกสรเพศผู้ 14-18 อัน ก้านเกสรมีขนคล้ายไหม อับเรณูเกลี้ยง

ดอกเพศเมีย เป็นดอกเดี่ยวๆ ลักษณะคล้ายดอกเพศผู้ แต่มีขนาดใหญ่กว่า รังไข่ที่ไม่เจริญมีขนสั้นนุ่ม มีกลีบเลี้ยงติดทน ขยายในผล

ผลมะพลับเจ้าคุณ

ผล เนื้อ มีหลายเมล็ดทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร ในอดีตมีการนำผลและเปลือกไม้สกุลมะพลับมาใช้ย้อมแห ย้อมอวน และใช้เป็นยาขับพยาธิ

นิเวศวิทยาทั่วไป ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ระดับความสูง 200-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

การออกดอกและติดผล ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ผลแก่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม

ยอดที่นำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา มีการศึกษาสารสกัดมะพลับเจ้าคุณ พบว่า มีสารองค์ประกอบอยู่ในกลุ่มแทนนิน มีฟลาโวนอยด์ และมีสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus mutans ที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก และเชื้อ Vibrio cholerae สาเหตุของโรคอหิวาตกโรค มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสโรคเริม Herpes simplex virus type 1 มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมะเร็งได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ทั้งในภาวะที่มีและไม่มีเอนไซม์

คุณประโยชน์ของมะพลับเจ้าคุณมีอเนกอนันต์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบัน มะพลับเจ้าคุณ แทบจะหมดไปจากพื้นที่ป่าธรรมชาติ ไม่ว่าจากการบุกรุกทำลาย หรือจากภัยธรรมชาติ ซ้ำยังเป็นต้นแยกเพศอีกด้วย การติดเมล็ดจึงค่อนข้างยาก ทำให้โอกาสในการขยายพันธุ์ต่ำ ปัจจุบัน อาจมีให้เห็นเพียงไม่กี่ต้นเท่านั้นในสวนพฤกษศาสตร์ และที่ปลูกเป็นไม้ประดับ สมควรต้องมีการเร่งขยายพันธุ์เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมนี้ไว้

การเพิ่มจำนวนในขวด

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ น่าจะนำมาใช้ในการเพิ่มจำนวน ต้นมะพลับเจ้าคุณ ในธรรมชาติให้มีมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีพันธุกรรมคงเดิม ยังรวดเร็วกว่าสภาพธรรมชาติ ถึงแม้ว่าการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม้ป่าในปัจจุบันยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรก็ตาม แต่ก็ได้มีความพยายามที่จะศึกษา และพัฒนาวิธีการอย่างต่อเนื่องที่จะชักนำให้เนื้อเยื่อพืชมีการเจริญและพัฒนาไปเป็นต้นและราก

การที่พืชจะเจริญและพัฒนาไปเป็นต้นและรากนั้น ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ สารควบคุมการเจริญเติบโต 2 กลุ่ม คือไซโตไคนิน (cytokinin) และออกซิน (auxin) การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจึงเป็นงานที่น่าสนใจ และส่งผลดีในพืชป่าหลายชนิด

ผลงานวิจัยที่ผู้เขียนได้นำมาเสนอครั้งนี้ เป็นการศึกษาผลของสารควบคุมการเจริญเติบโต NAA ร่วมกับ BAP ต่อการชักนำยอดและรากของมะพลับเจ้าคุณ และพบว่า มะพลับเจ้าคุณ สามารถเติบโตได้ดีบนอาหาร สูตร Murashige and Skoog (MS) ที่เติม NAA ความเข้มข้น 1 mg/l ร่วมกับ BAP ความเข้มข้น 2 mg/l และสามารถเกิดรากได้ดีบนอาหารสูตร MS ที่เติม NAA 0.5 mg/l

การมอบเกียรติคุณผลงานวิจัย
การเสนอผลงานวิจัย

ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ สามารถใช้เป็นแนวทางในการศึกษาไม้วงศ์มะพลับ หรือไม้ป่าชนิดอื่นๆ ผู้เขียนเองก็มีความคิดที่จะต่อยอดงานวิจัยอีก 2 เรื่อง คือ กลไกการเกิดโซมาติกเอมบริโอเจเนซีส (somatic embryogenesis) และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อด้วยระบบไบโอรีแอคเตอร์แบบท่วมชั่วคราว (Tempolary Immersion Bioreactor) หรือ ระบบ TIB มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะไม่อยากอ่านต่อ เพราะชักจะวิชาการเข้าไปเรื่อยๆ (ฮา…)

โซมาติกเอมบริโอเจเนซีส เป็นกลไกการเกิดต้นของเซลล์ร่างกายนี่แหละ ที่ผ่านขั้นตอนการพัฒนาเหมือนการเกิดต้นอ่อนจากเมล็ด โดยมีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระยะ globular shape ไปเป็น heart shape, torpedo shape แล้วก็เป็น embryo หรือต้นอ่อนนั่นเอง

ไม้ต้นหลายชนิดที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหลังจากการย้ายออกปลูกแล้ว จะมีความอ่อนแอต่อภัยธรรมชาติ เนื่องจากไม่มีรากแก้ว โซมาติกเอมบริโอเจเนซีส หรือเอ็มบริโอจากเซลล์ร่างกายจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้โอกาสที่ดีกว่าสำหรับการปลูกป่า หรือฟื้นฟูป่า

ส่วนระบบไบโอรีแอคเตอร์แบบท่วมชั่วคราว ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถเพิ่มจำนวนต้นได้มากกว่าการเลี้ยงในอาหารแข็ง หรืออาหารเหลวทั่วไป เนื่องจากพืชเกิดความเครียดจากการขาดอาหารจึงพยายามที่จะมีชีวิตรอด…

ถ้าหากงานทดลองนี้สำเร็จ ก็คงไม่ต้องวิตกกังวลว่าพืชใดที่กำลังจะสูญหาย เพราะจะสามารถกู้กลับคืนมาได้อย่างง่ายดาย ขอให้ฝันเป็นจริงทีเถอะ ผู้เขียนจะได้เอาผลงานวิจัยไปนำเสนอให้ถึงต่างประเทศเลย ให้ต่างชาติได้รู้จักไม้จากสยามประเทศ ในนาม มะพลับเจ้าคุณ…

ผู้เขียนได้ไปตามหา ต้นมะพลับเจ้าคุณ ต้นในตำนาน ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ก่อนมานำเสนอผลงานวิจัยที่จังหวัดลำปาง แต่กลับไปเจอต้นไม้ใหญ่ 2 ต้น คือ ต้นยางนา ที่มีอายุหลักพันปี และต้นจำปาขาว อายุ 700 ปี (ว่ากันว่า…พ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ทรงปลูก และอธิษฐานไว้…) นับว่าผู้เขียนมีวาสนาที่ได้เห็นเป็นบุญตา ไว้ฉบับต่อไปจะมานำเสนอ…ติดตามกันนะคะ

หากท่านใดอยากเห็น ต้นมะพลับเจ้าคุณ ก็ไปหาดูได้ ที่อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก หรือไปที่ทุ่งแสลงหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่อุทยานตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเพชรบูรณ์ หรือที่เขื่อนห้วยกุ่ม ตำบลหนองโพนงาม อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

แต่ถ้าไม่อยากเดินทางไกล ก็ไปที่ แก่นจันทร์พรรณไม้ จังหวัดราชบุรี ร้านพันธุ์ไม้ของท่านบุญฤทธิ์ ภูริยากร ผู้ซึ่งเอื้อเฟื้อมอบต้นกล้ามะพลับเจ้าคุณให้ผู้เขียนทำการทดลอง จนทำให้งานวิจัยนี้สำเร็จไปได้ด้วยดี จึงขอขอบพระคุณท่านมา ณ ที่นี้ หากท่านใดต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ส่ง email มาได้ค่ะ ที่ [email protected] สวัสดีค่ะ