พื้นที่ 1 ตารางวา ก็ปลูกกล้วย ให้ดีได้

กล้วย ถูกนำมาใช้แทนคำเปรียบเปรยในประโยคบ่อยครั้ง เช่น เรื่องกล้วยๆ ของกล้วยๆ หรือแม้กระทั่ง คำว่า ง่ายกว่ากล้วย ก็แสดงให้เห็นว่า กล้วย เป็นไม้ผลชนิดหนึ่งที่พบเห็นได้ง่าย นำมาใช้ประโยชน์ได้ง่าย รวมถึง ปลูกง่าย

หน่อกล้วยน้ำว้า

การันตีการปลูกว่า “ง่าย” ได้ไม่ยาก ลองพิจารณาจากตรงนี้

พื้นที่เพียง 1 ตารางวา ก็สามารถปลูกกล้วย ให้ได้ผลผลิตดี งอกงาม ใช้ประโยชน์ในทุกส่วนจากต้นกล้วยได้ ไม่ยากจริงๆ

วิธีปลูก

-หลุมปลูก ควรขุดหลุมขนาดประมาณ 50 คูณ 50 เซนติเมตร (กว้าง xยาว x สูง) ใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม 3-4 กำมือ หากมีปุ๋ยคอก ให้ใช้ปุ๋ยคอก แต่ถ้าไม่มีให้ซื้อปุ๋ยชีวภาพมาใส่แทน

โรครากเน่า โคนเน่า

-พันธุ์ สายพันธุ์กล้วยจัดว่าเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีสายพันธุ์ที่ดีก็วางใจไปเกินครึ่งว่า การปลูกกล้วยครั้งนี้จะประสบความสำเร็จ ได้เครือใหญ่ ผลสวย รสชาติดี แต่ถ้าสายพันธุ์ไม่แน่ชัด ก็ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะกล้วย อย่างไรก็คือ กล้วย ถ้าไม่ใช่กล้วยป่าก็ไม่ต้องกังวล เพราะอย่างไรเสียก็ไม่มีเมล็ดในผลกล้วยให้รำคาญยามกิน

หน่อกล้วย หาซื้อได้ตามชอบใจตามร้านจำหน่ายพันธ์ไม้ หากพื้นที่เพียง 1 ตารางวา จำนวน 1 หน่อ จัดว่ากำลังดี

เมื่อได้หน่อกล้วยมาแล้ว วางหน่อกล้วยลงในหลุมปลูก ควรกลบหลุมปลูกให้ดินพอกขึ้นคลุมโคนกล้วยพอสวยงาม

อาจนำกาบกล้วยมาสุมโคนต้นกล้วยหลังปลูก เพิ่มความชื้นและเป็นปุ๋ย

-การดูแลบำรุงรักษา หลังการปลูกเพียง 1 สัปดาห์ จะเริ่มเห็นใบอ่อนกล้วยแตกขึ้นใหม่ ควรเอาใจใส่ ดังนี้

1.การรดน้ำ ให้รดน้ำทุก 2 – 3 วัน ถ้าฝนตกก็งดรดน้ำ แต่ถ้าไม่ได้อยู่บ้าน ขาดการรดน้ำ 1-2 สัปดาห์ ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับกล้วย

2.การใส่ปุ๋ย ขอให้คำนึงถึงความสะดวก ใช้ปุ๋ยที่มีหรือหาซื้อง่าย ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ อัตราการใส่ปุ๋ย คำนวณจาก 1 กิโลกรัม ต้น/ปี แบ่งใส่ 3 เดือนครั้ง ครั้งละ 250 กรัม หรือมากกว่าก็ได้ ไม่มีผลกระทบอะไร

ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 หลังปลูก 1 สัปดาห์ สูตร 15-15-15

ใส่ปุ๋ยหลังครั้งที่  1 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 15-15-15

ใส่ปุ๋ยหลังครั้งที่ 2 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 15-15-15

ใส่ปุ๋ยหลังครั้งที่ 3 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 13-13-21

กล้วยแคระ ปลูกในกระถาง การดูแลเหมือนกัน

ปุ๋ยพืชสด เมื่อกล้วยออกจากเครือจนเราสามารถตัดได้ ให้นำต้นเก่ามาสับเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำกลับมาใส่ จะช่วยป้องกันความชื้น และเป็นปุ๋ยรอให้กับหน่อใหม่ที่จะเกิดขึ้นด้วย

3.การตัดแต่งหน่อ และ ใบแก่

การไว้หน่อ และ การตัดแต่งหน่อก็มีความสำคัญในการปลูกกล้วยมาก เพราะจะให้ต้นโต หรือ ต้นสมบูรณ์ดี พร้อมส่งผลไปถึง ลูก หรือ เครือกล้วยด้วย  หากเราไม่ตัดแต่งหน่อกล้วยออกทิ้งบ้าง ก็จะกลายเป็นกล้วยแคระแกรน

การตัดแต่งหน่อ ให้ตัดแต่งหน่อกล้วยที่ขึ้นมาในทุกๆ ช่วงอยู่ตลอด หากยังไม่ถึงช่วงการไว้หน่อ

กล้วยทหารพราน ใช้ปลูกประดับ

การตัดแต่งใบกล้วยที่ เหลืองเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ทิ้งไป พร้อมทั้งตัดใบที่งอหักลงไปด้วย เท่านี้ก็จะทำให้ ต้นกล้วยดูไม่รกรุงรัง และ สวยงาม

การไว้หน่อกล้วย ควรเริ่มไว้หน่อแรก เมื่อกล้วยอายุ 4 เดือนไปแล้ว และ หน่อต่อไปทุก 4 เดือน   แต่ในช่วงการออกปลี ควรงดการไว้หน่อ เพื่อให้ผลกล้วย และ เครือสมบูรณ์ดี

4.การตัดปลีกล้วย เมื่อปลีกล้วยแทงเครือออก มาจนเราเห็นว่าเครือกล้วยสมบูรณ์ หรือ ออกจนหมดปลีแล้ว ให้เราตัดปลี จากหวีสุดท้ายนับไปอีก 1 -2 หวีแล้วตัด แล้วนำปูนแดงหรือยากันราทา ป้องกันเน่า

5.การเก็บเกี่ยว ให้พิจารณาจากการนับจำนวนวัน โดยเฉลี่ยแล้ว ผลกล้วยจะแก่เมื่อมีอายุประมาณ 90 วัน หรือพิจารณาจากเหลี่ยมมุมของผล ผลแก่จะมีลักษณะค่อนข้างกลม เก็บเกี่ยวโดยใช้มือข้างหนึ่งจับปลายเครือ แล้วใช้มีดฟันก้านเครือให้ขาดออก

6.การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

กล้วยยักษ์ กำลังออกเครือ

– โรคใบจุด ป้องกันโดยนำไปเผา หรือใช้สารเคมีคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ หรือสารป้องกันกำจัดเชื้อรา แมนโคเซบ หรือเบนโนมิล

– ด้วงงวง ป้องกันโดยใช้สารเคมีประเภทดูดซึม เช่นโตฟอส

– หนอนม้วนใบกล้วย ป้องกันโดยใช้สารเคมีคลอไพลิฟอส

– แมลงวันผลไม้ ใช้สารล่อแมลง สารเมธิลยูลินอลผสมสารฆ่าแมลงล่อทำลายแมลงวันเพศผู้หรือ ใช้สารฆ่าแมลงมาลาไธออน หรือ ไดเมทโทเอท

แต่โดยรวมแล้ว โรคในกล้วยก็จะมีน้อยมาก ที่โรคหลัก ในที่ปลูกกล้วยมาก ก็จะเจอ โรคไฟทอปโทร่า หรือ ที่เรียกเชื้อไฟทอปโทร่า  อาจทำให้ราก เน่า โคนเน่า ใบเหลืองแห้ง หรือที่เรียกว่าตายพราย และ ก็มีหนอนม้วนใบ อย่างไรก็ตาม หากดูแลรักษากล้วยสมบูรณ์ดีแล้ว ปัญหาเรื่องโรคและแมลงที่อาจเกิดขึ้นได้มีน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกกล้วยที่ไม่มากนักอย่างที่กล่าวมา

เครือกล้วยยักษ์ อย่างน้อย 11 หวี

เพียงเท่านี้ แม้จะมีพื้นที่น้อย แต่กล้วยเพียง 1 หน่อ สามารถแตกหน่อออกได้อีก อาจขุดหน่อนำไปขยายพันธุ์ยังพื้นที่อื่น หรือปล่อยให้แตกหน่อเติบโตในกอเดียวกัน ก็ทำได้

เป็นเรื่องกล้วยๆ จริงๆ !!

 

 

 

 

กล้วยที่ถูกปล่อยทิ้งตามธรรมชาติ ก็ยังออกเครือให้ผล แต่อาจไม่สมบูรณ์ สวยงาม