ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
ประเทศไทย ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกล้วยไม้เขตร้อนที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีจำนวน 17 ชนิด ล้วนอยู่ในสกุล Paphiopedilum เพียงสกุลเดียวเท่านั้น ซึ่งได้รับความสนใจนำมาปลูกเลี้ยง ปรับปรุงพันธุ์ และขยายพันธุ์เพื่อการค้ากันอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรปและเอเชีย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งส่งออกกล้วยไม้รองเท้านารีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ทั้งในรูปแบบของไม้กระถางและไม้ตัดดอก
ในอดีต ประเทศไทย ส่งออกกล้วยไม้พันธุ์แท้ในช่วงปี 2535-2540 กว่า 2 ล้านต้น และหยุดไปหลังจากกำหนดให้กล้วยไม้เป็นพันธุ์พืชในกลุ่มพืชอนุรักษ์บัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ (ไซเตส) ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องพืชอนุรักษ์ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 มีชนิดพืชอนุรักษ์หรือพืชในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตสมากกว่า 28,000 ชนิด
กล้วยไม้ เป็นพืชอนุรักษ์กลุ่มใหญ่ที่สุด และมีการทำการค้าระหว่างประเทศเป็นปริมาณสูง อยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์ ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ทั้งการบุกรุกทำลายป่าเพื่อทำการเพาะปลูกพืช การเก็บกล้วยไม้ป่าเพื่อการค้า และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) ที่รุนแรง เช่น เกิดน้ำท่วม อากาศร้อน ฝนแล้ง ฯลฯ ล้วนส่งผลทำให้ประชากรกล้วยไม้ป่าลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์สูง เช่น กล้วยไม้รองเท้านารี เอื้องปากนกแก้ว และฟ้ามุ่ย ที่แทบจะหมดไปจากป่าธรรมชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว คาดว่ากล้วยไม้ทุกชนิดลดจำนวนลงถึงขั้นสูญพันธุ์ในที่สุด โดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่มีการกระจายตัวน้อย มีประชากรขนาดเล็ก และอยู่เฉพาะเจาะจง ต่อพื้นที่ ยิ่งมีโอกาสที่จะลดจำนวนและสูญพันธุ์มากขึ้น
กรมวิชาการเกษตร คืนกล้วยไม้สู่ป่า
เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2543 ครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารี ซึ่งได้รวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีที่พบในภาคใต้ไว้ รวม 6 พันธุ์ ได้แก่ เหลืองกระบี่ เหลืองตรัง เหลืองพังงา ขาวสตูล ม่วงสงขลา และคางกบใต้ ภายหลังทอดพระเนตรได้มีพระราชเสาวนีย์ให้สถานีทดลองข้าวกระบี่ในขณะนั้น ดำเนินการขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี เพื่อเพิ่มจำนวนและปลูกคืนสู่ป่าในพื้นที่ที่เหมาะสม
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนองพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีพระราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ป่าท้องถิ่นภาคใต้ให้อยู่กับธรรมชาติแบบยั่งยืน โดยกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ (ศวพ. กระบี่) ดำเนิน “โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกระบี่” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีในจังหวัดกระบี่มิให้สูญพันธุ์ ปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปเกิดความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรพันธุกรรมพืชของชาติ และเพื่อรวบรวมพันธุ์รองเท้านารีที่มีแหล่งกำเนิดในจังหวัดกระบี่ นำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ให้เพิ่มมากขึ้น
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ นับเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีที่พบในภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า กล้วยไม้รองเท้านารี เป็นพันธุ์กล้วยไม้ป่าท้องถิ่นภาคใต้ที่หายาก โดยเฉพาะพันธุ์เหลืองกระบี่ที่ถือได้ว่าเป็นพันธุ์กล้วยไม้ประจำจังหวัดกระบี่ในปัจจุบันมีจำนวนลดลงไปจากธรรมชาติ จนอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการขยายพันธุ์รองเท้านารี โดยเฉพาะรองเท้านารีเหลืองกระบี่ ปีละ 2,000 กระถาง และปลูกคืนสู่ป่า ปีละ 1,500 กระถาง ส่วนที่เหลือได้มอบให้ส่วนราชการต่างๆ นำไปช่วยขยายพันธุ์ให้แพร่หลายมากขึ้น
พร้อมกันนี้ได้จัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้รองเท้านารี สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ผู้สนใจทั่วไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญในด้านการสนับสนุน ฟื้นฟู และอนุรักษ์ เกิดจิตสำนึก มีความรักและหวงแหนทรัพยากรพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ให้ยังคงอยู่คู่กับผืนป่าจังหวัดกระบี่และประเทศไทยต่อไป
ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ จังหวัดกระบี่ ได้จัดพิธี “ปล่อยรองเท้านารีเหลืองกระบี่คืนสู่ป่า” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ภายใต้โครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารี อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อสนองแนวทางพระราชเสาวนีย์ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ดำเนินการขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีเพื่อเพิ่มจำนวนและปลูกคืนสู่ป่าอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำโครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาพืชสกุลรองเท้านารีต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2547-2553 ครอบคลุมงานวิจัยหลายสาขา ทั้งการพัฒนาพันธุ์เพื่อสร้างลูกผสมใหม่ การขยายพันธุ์ วัสดุปลูกการพัฒนาเทคโนโลยีโรงเรือน การอารักขาพืช (โครงการวิจัย กรมวิชาการเกษตร 2549-2552) ซึ่งผลงานวิจัยสามารถเผยแพร่เทคโนโลยีให้ภาคเอกชน และเกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้การส่งออกและการตลาดขยายตัวมากขึ้น
“รองเท้านารีเหลืองกระบี่” เป็นกล้วยไม้ป่าสายพันธุ์ท้องถิ่น ที่พบในหลายจังหวัดที่ติดกับชายฝั่งอันดามัน เช่น ภูเก็ต พังงา ตรัง แต่พบมากในจังหวัดกระบี่ จึงเป็นที่มาของชื่อ “รองเท้านารีเหลืองกระบี่” ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่หายากและมีปริมาณลดลง กรมวิชาการเกษตร จึงได้เร่งขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณโดยการนำไปปล่อยในป่าอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์
จังหวัดกระบี่ ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี เพื่อเป็นการป้องกันการบุกรุกทำลายป่า และเป็นการอนุรักษ์กล้วยไม้พันธุ์รองเท้านารีให้อยู่คู่จังหวัดกระบี่ต่อไป พร้อมจัดงาน “วันเหลืองกระบี่บาน” เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฐานะทรงเป็นผู้ริเริ่มในการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่
ขณะเดียวกันกิจกรรมดังกล่าวช่วยกระตุ้นจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ไปพร้อมๆ กัน งานวันเหลืองกระบี่บาน จัดเป็นประจำทุกปี ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ภายในงานจัดแสดงนิทรรศการสายพันธุ์กล้วยไม้ป่า การประกวดกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่และกล้วยไม้ตระกูลต่างๆ การประกวดการจัดสวนหย่อมกล้วยไม้ การออกร้านจำหน่ายกล้วยไม้พันธุ์ต่างๆ การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น
สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่
ส่งเสริมอาชีพเพาะพันธุ์กล้วยไม้ป่า
สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ กรมส่งเสริมการเกษตร เล็งเห็นว่า ปัจจุบัน กล้วยไม้ป่าในจังหวัดกระบี่สูญพันธุ์ไปจากป่าแล้ว แต่ยังมีชุมชนที่ปลูกเลี้ยงขยายพันธุ์และจำหน่ายกล้วยไม้ให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อร่วมกิจกรรมปลูกป่า แต่การขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ ทำได้ปริมาณน้อย ต้นกล้าไม่เพียงพอแก่ความต้องการของตลาด
ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่จึงได้ถ่ายทอดความรู้เรื่องการขยายพันธุ์กล้วยไม้ป่าด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างง่าย ให้แก่วิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์เลี้ยงกล้วยไม้พื้นถิ่น อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เลขที่ 2/1 หมู่ที่ 2 ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
คุณนพรัตน์ ถวิลเวทิน นักวิชาการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ โทร. 091-826-7373 กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการดำเนินโครงการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชุมในจังหวัดกระบี่ อนุรักษ์กล้วยไม้ท้องถิ่นด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชอย่างง่าย ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์เลี้ยงกล้วยไม้พื้นถิ่นภายใต้การนำของประธานกลุ่มฯ คุณสมศักดิ์ ปานบุญ (บังหมาด)
วิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์เลี้ยงกล้วยไม้พื้นถิ่น ได้เรียนรู้วิธีการขยายพันธุ์กล้วยไม้ป่าเชิงการค้า โดยใช้เทคนิคการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยหม้อนึ่งไอน้ำทดแทนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์หม้อนึ่งแรงดันไอน้ำ และเรียนรู้เรื่องสูตรอาหารสังเคราะห์ ร่วมกับการใช้สารเพิ่มผลผลิตชีวภาพสำหรับกล้วยไม้ O-80 เพื่อเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดและร่นระยะเวลาจากการเพาะเมล็ดเป็นต้นกล้า
“การดำเนินโครงการ ในช่วงปีแรก เกษตรกรยังไม่สามารถจำหน่ายต้นกล้ากล้วยไม้ได้ จะต้องรอให้กล้วยไม้มีอายุอย่างน้อย 2 ปี จึงสามารถจำหน่ายได้ ราคาขายต่อต้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 100-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับฟอร์มดอกและต้น สำหรับต้นที่มีลักษณะสวยงาม เกษตรกรจะเก็บไว้ขายเป็นไม้ประดับให้แก่ผู้สนใจทั่วไป เมื่อขยายพันธุ์ได้มาก ก็จะไปปลูกคืนสู่ป่า เป็นการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนท้องถิ่นไปพร้อมๆ กัน” คุณนพรัตน์ กล่าว
ทุกวันนี้ วิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์เลี้ยงกล้วยไม้พื้นถิ่น ได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดไปใช้เพิ่มปริมาณต้นกล้ากล้วยไม้ป่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น กล้วยไม้เหลืองกระบี่ กล้วยไม้รองเท้านารีคางกบ กล้วยไม้รองเท้านารีขาวสตูล กล้วยไม้สิงโตใบพัด ฯลฯ โดยให้นักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมการปลูกกล้วยไม้ในพื้นที่หรือป่าชุมชน เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน และเป็นการอนุรักษ์กล้วยไม้ป่าอย่างยั่งยืน
โครงการดังกล่าว ช่วยให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการผลิตต้นกล้ากล้วยไม้ เป็นการส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนร่วมกันอนุรักษ์กล้วยไม้ป่าอย่างยั่งยืนแล้ว เกษตรกรสามารถผลิตและจำหน่ายกล้วยไม้ได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่ต้องลักลอบหาของป่า คาดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า เมื่อต้นกล้ากล้วยไม้โตขึ้น สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 10-20%
โครงการถ่ายทอดความรู้เรื่องการขยายพันธุ์กล้วยไม้สู่ชุมชนของสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ในครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ สร้างอาชีพและรายได้ยั่งยืนสู่ชุมชน ขณะเดียวกันยังช่วยอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี ไม่ให้สูญพันธุ์ และมีส่วนร่วมปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวทั่วไป ที่เข้าร่วมกิจกรรมเกิดความรู้สึกหวงแหนกล้วยไม้รองเท้านารีของจังหวัดกระบี่ได้อีกทางหนึ่ง