เกษตรแบบแปลงใหญ่ลำไยนอกฤดู ที่จอมทอง เกิดผลสำเร็จเชิงประจักษ์ ด้วยความร่วมมือหลายฝ่าย

“ลำไย” เป็นไม้ผลที่สำคัญทางเศรษฐกิจของอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อเกิดรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนลำไย เพียงเปลี่ยนวิธีคิด วิธีปฏิบัติ จากเกษตรกรรายคนที่ต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างขาย และพื้นที่ปลูกลำไยมากน้อยรวมเป็นกลุ่มและร่วมกันทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ ประสบผลสำเร็จได้อย่างไร ต้องตามไปดู

ผู้เขียนได้เดินทางพร้อมกับ คุณวิลาศ กล่อมสุนทร อดีตประมงอำเภอจอมทอง ไปดูเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อนำเนื้อหาสาระดีๆ ของเกษตรกรแบบแปลงใหญ่ลำไยนอกฤดูมาให้ผู้อ่านได้รู้เรื่องราวการผลิตลำไยของเกษตรกรคนหนึ่ง ที่มีความเพียรและพัฒนาตนเองจนมีความเข้มแข็ง ประสบผลสำเร็จในอาชีพเกษตรกรรม ได้ในระดับหนึ่ง เมื่อเข้มแข็งแล้วก็ถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ สู่เกษตรกรคนอื่นๆ ได้เกี่ยวก้อยร้อยพวงไปด้วยกันเป็นกลุ่ม และทำเกษตรแบบแปลงใหญ่ น่าศึกษาว่ากลุ่มมีกระบวนการในการขับเคลื่อนงานกันอย่างไร

สมุดบัญชีฟาร์ม

ความเข้มแข็งของเกษตรกรแบบแปลงใหญ่ ดูที่ความรู้ ความสามารถของสมาชิกรายคน : กรณีตัวอย่าง คุณสุธรรม อ๊อดต่อกัน

คุณสุธรรม เป็นเกษตรกรผู้ผลิตลำไยมาตั้งแต่เริ่มแรกของอาชีพเกษตรกรรม แต่ด้วยเป็นเกษตรกรที่ขยัน อดทน มีความเพียร ผ่านการอบรมมาหลายหลักสูตร ทั้งก่อนและเข้าร่วมเป็นสมาชิกเกษตรแบบแปลงใหญ่ ได้นำข้อมูล-ความรู้ มาพัฒนา เปลี่ยนแปลงระบบเกษตรของตนอย่างจริงจัง และประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ทั้งได้นำประสบการณ์ ความรู้ ถ่ายทอดสู่เพื่อนเกษตรกรในวงกว้าง จนหลายหน่วยงานทางภาคเกษตรทั้งภาครัฐ และเอกชน ยอมรับในความรู้ ความสามารถของคุณสุธรรม

คุณสุธรรม อ๊อดต่อกัน กับลำไยทรงพุ่มเตี้ย

ขอถ่ายทอดข้อมูลการผลิตลำไยนอกฤดูของคุณสุธรรมในเบื้องต้นว่า ถ้ามีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะผลิตแล้วผลที่ได้จะส่งผลต่อระบบกลุ่มอย่างไร

ศูนย์รวมวาล์วแจกจ่ายน้ำในระบบสปริงเกลอร์

คุณสุธรรม ให้ข้อมูลว่า ตนเองเป็นเกษตรกรปลูกลำไย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 พื้นที่ 30 ไร่ อายุต้นราวๆ 11-15 ปี เป็นลำไยพันธุ์อีดอทั้งหมด ผลผลิตปีละประมาณ 30-40 ตัน และได้เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่าการผลิตลำไยเมื่อหลายปีก่อน ก่อนเข้าร่วมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ก็ได้ปฏิบัติเหมือนๆ กันกับเพื่อนๆ เกษตรกรทั่วไป ที่ผลผลิตลำไยตามฤดูกาล แต่ทำไปแล้วรู้เลยว่าต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง จากการใช้ปัจจัยการผลิต ผลผลิตออกมาก็ไม่ได้คุณภาพ เวลาขายก็ไม่ค่อยได้ราคา ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางอยู่ตลอด บางปีก็หาแรงงานเก็บผลลำไยยาก ซ้ำบางปีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ยิ่งมีความเสี่ยง เพราะได้ลงทุนไปแล้ว ผลผลิตจะได้หรือไม่ หรือได้แล้วจะมีคุณภาพหรือไม่ ล้วนสร้างความปริวิตกให้แก่เกษตรกรรวมทั้งตนเองด้วย
เมื่อพบเจอกับปัญหา-อุปสรรค ก็กลับมานึกทบทวนตรึกตรองดูว่า เราจะทำอย่างนี้ต่อไปหรือ… ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่… ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติเสียใหม่…แล้วจะเริ่มอย่างไร? หาความรู้ เข้าหาแหล่งข้อมูล ขอไปเข้าอบรมนำความรู้มาปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตลำไยเสียใหม่ ผลิตลำไยนอกฤดู คือทางออกเริ่มผลิตเมื่อปี พ.ศ. 2535 ตัดแต่งกิ่งเสียใหม่ ตัดแต่งเพื่อให้ได้ทรงพุ่มที่ดี เป็นทรงพุ่มเตี้ย โดยนำหลักการตัดแต่งทรงพุ่มที่ตนเองผ่านการอบรมมาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาดัดแปลง เพราะต้นลำไยมีอายุหลายปี ต้นสูง ทำให้ลดแรงงานและต้นทุนค่าจ้างในการเก็บผล ทั้งยังลดการซื้อไม้ไผ่มาค้ำยันกิ่งอีกด้วย
คุณสุธรรม ได้ใช้สมุดบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ หรือบัญชีฟาร์ม บันทึกข้อมูลตัวเลข ทำให้รับรู้รายได้-ค่าใช้จ่าย และกำไรของแต่ละปี ที่สำคัญได้นำข้อมูลที่ได้บันทึกไว้ในสมุดบันทึกนั้น มาทำเป็นปฏิทินการปฏิบัติงานในสวนลำไยได้อีกด้วย ว่าหลังการเก็บเกี่ยวผลลำไยไปแล้ว จะต้องทำอะไร 1…2…3…

คุณวิลาศ กล่อมสุนทร อดีตประมงอำเภอจอมทอง

คุณสุธรรม ได้เล่าให้ฟังดังนี้ หลังการตัดแต่งกิ่ง ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ให้ใบชุดแรกแตกออกมา ซึ่งใบชุดแรกสำคัญที่สุด และรอให้ต้นลำไยแตกใบใหม่ได้ 3 ชุดใบ จะราดสาร แต่ก่อนหน้านั้น… ดูระบบรากก่อน… ระบบรากต้องมีการฟื้นฟู เพราะการผลิตลำไยนอกฤดูมีการราดสารโพแทสเซียมคลอเรต หากราดสารดังกล่าวไป 1 ครั้ง ก็จะเสียรากไปประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ถ้าไม่ฟื้นฟูรากต้นก็จะตาย วิธีการฟื้นฟูราก ก็ทำโดยการพรวนดิน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์รอบทรงพุ่ม ต้องคอยดูแลการพัฒนาของระบบรากด้วย ถ้าไม่ดูแลหรือดูแลไม่ทั่วถึง ลำไยก็จะไม่ออกดอกติดผล การให้น้ำก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่สวนนี้จัดวางระบบน้ำไว้อย่างดี มีทั้งใช้สปริงเกลอร์ และเปิดวาล์วท่อน้ำ กรณีต้องอัดน้ำเข้าโคนต้นในปริมาณมาก แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝน การผลิตลำไยนอกฤดูก็จะมีต้นทุนต่ำ เพราะเป็นการประหยัดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แต่ถ้าไปผลิตนอกฤดูในเดือนสิงหาคม กันยายน หรือตุลาคม เมื่อผลลำไยออกมาแล้วไม่มีฝนก็ต้องให้น้ำ ทำให้เพิ่มต้นทุนเข้าไปอีก
คุณสุธรรม บอกว่า ตนเริ่มผลิตลำไยนอกฤดู ในเดือนเมษายน โดยดูจากปฏิทินการผลิตลำไยนอกฤดู จากที่ได้บันทึกข้อมูลไว้ในบัญชีฟาร์ม ก่อนจะราดสาร 1 เดือน จะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 ต้นละ 1 กิโลกรัม แต่ถ้าต้นลำไยที่มีอายุ 15 ปี ก็จะใส่เพิ่มอีกต้นละครึ่งกิโลกรัม และก่อนจะราดสาร 15 วัน ต้องตรวจดูสภาพดินว่ามีความชุ่มชื้นพอหรือไม่ ทั้งหลายทั้งปวงก่อนเริ่มต้นต้องประเมินความพร้อมของสภาพลม ฟ้า อากาศ จากเครื่องวัดอากาศที่ติดตั้งไว้ที่หน้าที่ทำการแปลงใหญ่ ส่วนทางใบก็จะมีการพ่นปุ๋ย สูตร 0-52-34 กับน้ำตาลทางด่วน พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน จากนั้นก็จะราดสาร การราดสารจะส่งเสริมให้ลำไยเกิดการออกดอกมีเปอร์เซ็นต์สูงขึ้น เมื่อราดสารแล้วก็ต้องคอยดูแลไม่ให้มีโรคและแมลงมารบกวน โดยใช้สารชีวภัณฑ์และน้ำหมักชีวภาพเป็นตัวช่วย จากนั้น 30-45 วัน ลำไยก็จะแตกช่อดอก ดอกจะมีความสมบูรณ์มาก ช่วงที่ลำไยดอกบานถึงติดผลจะหยุดการให้ปุ๋ย ต้องรอดูว่าติดผลแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ จะใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี สูตร 15-0-0 เมื่อผลมีเมล็ดเริ่มมีสีดำก็จะใส่ปุ๋ยเคมีต่อเนื่อง แต่เป็นปุ๋ยสั่งตัดตามค่าการวิเคราะห์ กล่าวถึงเรื่องปุ๋ย คุณสุธรรม บอกว่า แต่ก่อนที่จะเข้าร่วมเกษตรแบบแปลงใหญ่นั้น ค่าใช้จ่ายค่าปุ๋ยเป็นเงินมากทีเดียว แต่เมื่อผ่านการอบรมเริ่มผสมปุ๋ยใช้เอง ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ก็ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงไปมาก แต่… ปุ๋ยเคมีนั้น คุณสุธรรม บอกว่า ขาดไม่ได้ เพราะหากใช้แต่ปุ๋ยอินทรีย์จะทำให้สีของลำไยไม่สวย ผลจะไม่เป็นสีทอง คุณภาพไม่ดี ลำพังจะผลิตแต่ลำไยอินทรีย์นั้นต้องเป็นลำไยในฤดูจะดีกว่า

ลำไยที่ยังไม่ได้ตัดแต่งทรงพุ่ม

เมื่อเมล็ดในผลลำไยเป็นสีดำก็จะดูแลเป็นพิเศษ ก็คือ เรื่องเชื้อรา เพราะมีผลต่อการส่งไปขาย หรือหากนำส่งต่างประเทศ ราคาก็จะแตกต่างกัน อย่างถ้าลำไยไม่สวยส่งไปขายที่ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้ ราคาจะประมาณกิโลกรัมละ 30 บาท แต่ถ้าเป็นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ผิวต้องสวย ราคาจะเป็น 40 บาท ต่อกิโลกรัม การใช้ฮอร์โมนหรือสาร NAA ก็มีผลต่อผลผลิต หากใช้ปริมาณมากไป เนื้อในขยาย แต่เปลือกไม่ขยาย หรือขยายไม่ทันก็จะทำให้ผลแตก แล้วก็ได้รับความเสียหาย จึงต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้เปลือกมันขยาย แล้วใส่ปุ๋ยเคมีตามเพื่อเพิ่มเนื้อ เปลือกจะไม่แตก
การปฏิบัติการต่อไปก็คือ การตัดแต่งช่อผล เก็บผลไว้ไม่ให้เกิน 60 ผล ต่อช่อ มิฉะนั้นแล้วผลจะไม่โต ไม่ได้น้ำหนัก

เครื่องตรวจสภาพอากาศ

เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามปฏิทินที่จะต้องเก็บผลผลิต คุณสุธรรมจะเก็บผลส่งให้กับแปลงใหญ่ และส่งต่อให้ล้งในพื้นที่ แต่เขาก็จะคัดแต่ผลดีๆ ส่วนที่มีปัญหาก็ต้องขายเอง แต่ปัจจุบันวิธีการรวบรวมผลผลิตลำไย ได้มีตลาดเข้ามารองรับ เมื่อมีเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

ลำไยคุณภาพ เกรด AA

ผลผลิตลำไยนอกฤดูของคุณสุธรรม และสมาชิกแปลงใหญ่จะมีผลผลิตที่ดี มีคุณภาพพอๆ กัน อันเป็นผลานิสงส์จากการเข้าร่วมแปลงใหญ่ ที่ว่าลำไยคุณภาพนั้น คุณสุธรรม ได้ขยายความไว้ว่า ต้องเป็นลำไยที่มีผลใหญ่เกรด AA หรือ A ซึ่งผลผลิตของตนในน้ำหนัก 100 กิโลกรัม จะเป็นเกรด AA 40 เปอร์เซ็นต์ เกรด A 30 เปอร์เซ็นต์ สีผิวเหลืองหรือสีเหลืองทอง สีนี้ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นที่นิยมมาก กับต้องมีรสชาติหวาน มีกลิ่นหอมของลำไย เนื้อหนา เมล็ดในเล็ก ไม่แฉะหรือไม่ฉ่ำน้ำ ถ้านำไปแปรรูป หรือทำลำไยอบแห้งเนื้อจะแห้งเร็ว คุณสุธรรม ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ลำไยคุณภาพนั้นมีปัจจัยที่ช่วยเกื้อหนุนอย่างมาก ก็คือ สภาพลมฟ้าอากาศ ที่เอื้ออำนวยให้มีความเหมาะสมกับธรรมชาติของลำไย
กรณีตัวอย่างของคุณสุธรรม ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์มามากมาย ทั้งจากการปฏิบัติจริง และจากการเข้ารับการอบรม แล้วนำมาใช้กับสวนลำไย โดยมีการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูการผลิต แล้วแก้ไขปรับปรุง พัฒนา ผลของความสำเร็จจึงได้ผลผลิตลำไยที่มีคุณภาพ “การได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเกษตรแบบแปลงใหญ่ ก็ดีมีประโยชน์นะครับ อย่างผมนี่ได้มีโอกาสไปเข้าอบรมหลายเรื่อง จากหลายหน่วยงาน ได้นำความรู้มาใช้หลายเรื่องเลยครับ” คุณสุธรรม กล่าว

คุณสุธรรม กับลำไยคุณภาพ

ผลผลิตและต้นทุนการผลิตลำไยนอกฤดู
คุณสุธรรม บอกว่า หลังการเข้าร่วมกลุ่มเกษตรแบบแปลงใหญ่ ก็ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำ และตามที่ผ่านการอบรมมา ผลก็คือ ผลผลิตลำไยต่อไร่เพิ่มขึ้นและต้นทุนก็ลดลงไปมาก ต้นทุนที่ลดลงไปก็ได้จากการทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง การใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าการวิเคราะห์ดิน การผลิตสารชีวภัณฑ์ น้ำหมักชีวภาพ และน้ำส้มควันไม้ การปรับปรุงดิน การตัดแต่งกิ่งทรงพุ่ม และการตัดแต่งช่อผล

คุณสุธรรม ให้ข้อมูลต้นทุนการผลิต เฉลี่ย 3 ปี ช่วงปี พ.ศ. 2559-2561 เป็นดังนี้
-ผลผลิตต่อไร่ 1,700 กิโลกรัม
-ราคาขายเฉลี่ยต่อกิโลกรัม 30 บาท
-รวมรายได้ต่อไร่ 51,000 บาท
-รวมค่าใช้จ่ายต่อไร่ 14,440 บาท หรือคิดเป็นต้นทุน กิโลกรัมละ 5-8 บาท
-กำไรสุทธิต่อไร่ 36,560 บาท

เมื่อตนเองเข้มแข็งอย่างพอเพียงแล้ว
เกี่ยวก้อยร้อยพวงไปด้วยกันกับเพื่อนเกษตรกร
ผลผลิตลำไยนอกฤดูของคุณสุธรรม นับว่าเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพ สามารถผลิตลำไยได้ตลอดปี ได้รับการยกย่องให้เป็นเกษตรกร GAP ดีเด่น ปี พ.ศ. 2562 จากกรมวิชาการเกษตร ทั้งยังเป็นเกษตรกรที่มีองค์ความรู้ นำไปแบ่งปันให้แก่เพื่อนสมาชิกแปลงใหญ่ เสียสละเป็นวิทยากรเชี่ยวชาญในด้านการตัดแต่งกิ่งลำไย ทรงพุ่มแบบต่างๆ ให้แก่หลายหน่วยงาน เป็นวิทยากรประจำของศูนย์ปราชญ์สวนออมโชค อำเภอจอมทอง สวนลำไยของคุณสุธรรมยังได้รับการออกแบบให้เป็นแปลงสาธิตถ่ายทอดความรู้ เป็นแหล่งเรียนรู้แก่สถาบันการศึกษา และเป็นจุดแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร-เทคโนโลยี-นวัตกรรม ในการผลิตลำไย การชักนำลำไยให้ออกดอก การตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มลำไยรูปทรงต่างๆ โดยจัดแบ่งพื้นที่ภายในแปลงเป็นแปลงย่อยเพื่อวางแผนการผลิตลำไยออกสู่ตลาดตลอดทั้งปี
นอกจากแปลงสาธิตแล้ว ที่สวนลำไยแห่งนี้ก็ยังเป็นแปลงเรียนรู้ของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่ได้รับการส่งเสริมจากหลายหน่วยงาน ทั้งเกษตรอำเภอ ประมงอำเภอ สถานีพัฒนาที่ดิน สหกรณ์ จึงมีแปลงสาธิตผสมผสานทั้งพืชและสัตว์ คือประมงเลี้ยงปลา กุ้งก้ามกราม เป็นการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
คุณสุธรรม ได้ให้ข้อคิดว่า “คนเข้มแข็ง แบ่งปัน/ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเพื่อนสมาชิกที่อ่อนแอ และเสียสละบางอย่างเพื่อกลุ่ม… คนอ่อนแอ ปรับปรุง พัฒนาตนเอง ยอมรับเทคโนโลยี-นวัตกรรมใหม่ๆ แทนประสบการณ์เดิมๆ”

กำลังบรรจุลำไยส่งขาย

ปฏิทินการผลิตลำไยนอกฤดู ในรอบ 1 ปี

การใส่สาร ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค.
รุ่นที่ 1 √
ใส่สาร √
เก็บผลผลิต √
เก็บผลผลิต
รุ่นที่ 2 √
เก็บผลผลิต √
ใส่สาร √
เก็บผลผลิต
รุ่นที่ 3 √
เก็บผลผลิต √
เก็บผลผลิต √
ใส่สาร
รุ่นที่ 4 √
เก็บผลผลิต √
ใส่สาร

จากหนึ่งเกษตรกรที่เข้มแข็ง
สู่เกษตรแบบแปลงใหญ่ที่เข้มแข็ง
ระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร และระดับพื้นที่ คือ สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ เป็นหน่วยงานส่งเสริม ด้วยความร่วมมือหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ คือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกร และภาคเอกชน วัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการสนับสนุนให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการร่วมกัน นำไปสู่การลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต มีภาคเอกชนเข้ามาส่งเสริมด้านการตลาด การวิจัย พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการเกษตร ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรมีเสถียรภาพมากขึ้น
คุณสุธรรม เป็นเกษตรกรต้นแบบผู้ปลูกลำไยนอกฤดู ที่อำเภอจอมทอง ได้ให้ข้อมูลว่า การเกษตรแบบแปลงใหญ่ลำไยนอกฤดู ได้เริ่มดำเนินการจริง เมื่อปี พ.ศ. 2559 ปัจจุบันมีพื้นที่รวมกันเป็นแปลงใหญ่ 2,200 ไร่ จำนวนสมาชิก 250 คน คาบเกี่ยวพื้นที่ 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลแม่สอย และตำบลบ้านแปะ รวม 6 หมู่บ้าน เมื่อทางราชการได้เข้ามาชี้แจง ทำความเข้าใจกับเกษตรกร ในเรื่องการรวมกลุ่ม และรวมพื้นที่เป็นเกษตรแบบแปลงใหญ่ลำไยนอกฤดู ตนและเพื่อนๆ เกษตรกรก็ได้เข้าร่วม เพื่อจะได้บรรลุวัตถุประสงค์ 5 ประการ คือ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ร่วมกันบริหารกลุ่ม การตลาดและคุณภาพผลผลิตลำไย คุณสุธรรมเป็นเกษตรกรต้นแบบการผลิตลำไยนอกฤดู และใช้สวนลำไยเป็นแปลงตัวอย่าง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานแปลงใหญ่ ทั้งยังเป็นประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ด้วย

ศูนย์รวมผลผลิตลำไย

การบริหารจัดการเกษตรแบบแปลงใหญ่ คุณสุธรรมให้รายละเอียดว่า คณะกรรมการแปลงใหญ่ ประกอบด้วยกรรมการ จำนวน 9 คน แบ่งหน้าที่กัน กรรมการ 1 คน รับผิดชอบดูแล 1 กลุ่ม หรือ 1 หมู่บ้าน ถ้ากลุ่มใดมีสมาชิกจำนวนมาก ก็จะมีกรรมการรับผิดชอบ 2 คน และแบ่งหน้าที่กันตามความรู้ ความสามารถ ความถนัดของกรรมการแต่ละคน ในการเข้าไปแนะนำส่งเสริมสมาชิก หน้าที่ของคณะกรรมการแปลงใหญ่
1. ประชุม ปกติจะประชุมกัน 2 เดือน ต่อครั้ง แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นเร่งด่วน หรือมีประเด็นที่ต้องนำไปชี้แจงแก่สมาชิก กรรมการต้องมาประชุมกันก่อน
2. ออกพื้นที่ดูแล แนะนำสมาชิกแปลงใหญ่ เช่น เก็บข้อมูลการราดสารว่าจะมีสมาชิกกี่ราย ผลผลิตคาดว่าจะได้เท่าไร ผลผลิตลำไยจะออกมาต่อเนื่องถึงเดือนใด
3. การจัดอบรมและการสาธิตด้านต่างๆ ฯลฯ ผู้จัดการแปลงใหญ่ ได้รับความอนุเคราะห์จากผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรจอมทอง จำกัด รับหน้าที่เป็นผู้จัดการแปลงใหญ่ ทุน มีการรวมทุนในรูปของหุ้น จากสมาชิกแปลงใหญ่ หุ้นละ 10 บาท แต่ละคนลงเงินค่าหุ้นได้แต่ไม่ต่ำกว่า 10 หุ้น ปัจจุบันมีเงินทุนดำเนินงาน 40,000 บาท

การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม
มาบริการให้กับสมาชิกแปลงใหญ่
ด้านเทคโนโลยี เกษตรแบบแปลงใหญ่ ได้รับเครื่องวัดสภาพอากาศ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้มา 1 เครื่อง เมื่อปีที่แล้ว ติดตั้งไว้ที่ หน้าที่ทำการเกษตรแปลงใหญ่ ใช้ประโยชน์ในการประเมินสภาพอากาศว่ามีปริมาณน้ำฝนกี่มากน้อย มีความชื้นในอากาศเท่าไร อุณหภูมิในอากาศเท่าไร รู้ทิศทางลม ก่อนที่สมาชิกจะราดสาร สมาชิกจะได้รับข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือ สมาชิกต้องประเมินความพร้อมว่า จะราดสารช่วงนั้นหรือไม่ คุณสุธรรม บอกว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่ามีผลดีมาก เพราะทำให้สมาชิกได้รับรู้สภาพอากาศ มีอุณหภูมิร้อน เย็น ชื้น ถ้าร้อนก็จะราดสารไม่ได้ผล เพราะสมาชิกจะผลิตลำไยนอกฤดูเพียงอย่างเดียว
ด้านนวัตกรรม ต้นลำไยของสมาชิกแปลงใหญ่เป็นต้นที่สูง ใช้นวัตกรรมการตัดแต่งทรงเปิดกลาง และทรงพุ่มเตี้ย ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี แสงแดดส่องทะลุผ่านทรงพุ่มถึงโคนต้น สามารถลดการระบาดของโรคและแมลงได้ ลดต้นทุนค่าแรง ค่าไม้ค้ำยันกิ่ง ลดค่าปุ๋ย และฮอร์โมนต่างๆ ง่ายต่อการเก็บผลผลิต สะดวกต่อการดูแล ปฏิบัติงานก็สะดวก พ่นปุ๋ยทางใบหรือพ่นสารชีวภัณฑ์ก็ง่าย ช่วยทำให้ลำต้นตอบสนองต่อสารโพแทสเซียมคลอเรตที่จะราดได้ดี ออกดอกติดผลดก ช่วยลดพื้นที่ออกดอก จะทำให้ผลใหญ่ น้ำหนักดี
การรวบรวมผลผลิต คุณสุธรรม ยอมรับว่าการรวบรวมผลผลิตลำไยเมื่อแรกเริ่มก็พบปัญหาบ้าง ผลผลิตของสมาชิกแต่ละคนมีคุณภาพที่แตกต่างกัน จึงได้นำข้อมูลนี้มาถกกันในที่ประชุมคณะกรรมการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา แต่ปัจจุบันการรวบรวมผลผลิตได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย เมื่อมีระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ก็มีบทบาทหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิก ไม่ต้องต่างคนต่างขนกันไปขาย อาจได้ราคาที่แตกต่างกันสูงต่ำตามปริมาณและคุณภาพ เกษตรแบบแปลงใหญ่จึงเป็นจุดรวมผลผลิต ผู้รับซื้อทั้งจากภายในหรือนอกประเทศก็จะมารับ ณ จุดๆ เดียว ณ ที่ทำการแปลงใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 2 จุด คือแปลงใหญ่หลัก และแปลงใหญ่เครือข่าย

ผลดกมากจากการราดสาร

เมื่อปี พ.ศ. 2561 สหกรณ์การเกษตรจอมทอง จำกัด ได้เข้ามาช่วยหนุนเสริมด้านการตลาด โดยมอบหมายให้เกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นทั้งผู้ผลิตและรวบรวมผลผลิตลำไยจากสมาชิกแปลงใหญ่ แล้วส่งมอบให้แก่สหกรณ์ ซึ่งรวบรวมได้ 150 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 12,000 ตัน ส่งไปขายทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งกระทำในนามของสหกรณ์ทั้งหมด
และจากการดำเนินงานอย่างจริงจัง ของคณะกรรมการแปลงใหญ่ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สมาชิกสามารถขายลำไยนอกฤดูได้ในราคาที่เป็นธรรม ก็ด้วยการสนับสนุนและการให้ความร่วมมือ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในด้านการตลาดมากยิ่งขึ้น โดยได้มีการตั้งศูนย์รวบรวมผลผลิตลำไย สำนักงานอยู่ริมทางหลวงสายจอมทอง-ฮอด ชื่อว่า ศูนย์รวบรวมผลผลิตลำไย จังหวัดเชียงใหม่ สหกรณ์การเกษตรจอมทอง จำกัด ร่วมกับ เจษฎากร

สนับสนุนโดย -กรมส่งเสริมสหกรณ์ สนง.สหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่
-ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรภาคเหนือ จำกัด
-สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส เชียงใหม่ จำกัด
คุณสุธรรม คาดการณ์ว่าผลผลิตลำไยนอกฤดูของเกษตรกรแปลงใหญ่ ปี 2563 จะมีปริมาณมากช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ เนื่องจากสมาชิกกำหนดปฏิทินการราดสารในเดือนมิถุนายน 2562 เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาอากาศร้อนและแล้งมาก ถึงราดสารไปลำไยก็ไม่ออกช่อดอก ต้องปรับเปลี่ยนปฏิทินการราดสาร และเมื่อสภาพอากาศเข้าที่เข้าทาง จึงราดสารในเวลาใกล้เคียงกัน ผลผลิตก็จะออกมาพร้อมกัน ก็ต้องอาศัยความร่วมมือในด้านการตลาด เพื่อการระบายผลผลิตลำไยของสมาชิกเป็นไปด้วยดี

ผลสำเร็จจากการดำเนินงาน
การเกษตรแบบแปลงใหญ่ลำไยนอกฤดู
เกษตรแบบแปลงใหญ่ลำไยนอกฤดู อำเภอจอมทอง เริ่มดำเนินงานเมื่อปี พ.ศ. 2559 ผลสำเร็จที่วัดได้ในด้านการลดต้นทุนการผลิต ของสมาชิกโดยรวมได้ 25 เปอร์เซ็นต์ ลดลงได้มากกว่าเป้าหมายที่ทางราชการกำหนดไว้ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนที่ลดลงได้มากก็เรื่องปุ๋ยเคมี มีการทำปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภัณฑ์ใช้เอง ทั้งของแปลงใหญ่และของสมาชิกรายคน เมื่อมีเกษตรแบบแปลงใหญ่ ส่วนราชการต่างๆ เข้ามาให้ความรู้ สมาชิกก็ไม่ต้องเดินทางไปนอกพื้นที่หรือไปอบรมไกลๆ แต่ที่นี่ใกล้บ้านเรือนของสมาชิก เดินทางไปมาก็สะดวก ลดปัญหาด้านการตลาด เพราะมีภาคเอกชนเข้ามาหนุนเสริมในการรวบรวมผลผลิตลำไย ทำให้สมาชิกได้ระบายผลผลิต และได้รับราคาที่เป็นธรรม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะเกษตรแบบแปลงใหญ่ไม่ส่งเสริมให้มีการเผาในพื้นที่เกษตร แต่ให้นำเศษวัสดุทางการเกษตรมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์

เนื่องจากเกษตรกรแต่ละคนมีความคิด ประสบการณ์ การปฏิบัติทางการเกษตรที่แตกต่างกัน การใช้ปัจจัยการผลิตที่หลากหลายที่ใส่ลงไปในสวนลำไย ทั้งพื้นที่การเกษตรก็มีมากน้อยต่างกันไป ผลผลิตที่ได้ย่อมแตกต่างกันทั้งปริมาณและคุณภาพ บวกกับปัจจัยด้านลมฟ้าอากาศ และเป็นปัญหาต่อรายได้ของเกษตรกร ระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่… ถ้าเกษตรกรทุกคนที่เข้าร่วม และทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ดังเช่นเกษตรแบบแปลงใหญ่ลำไยนอกฤดูของอำเภอจอมทอง ซึ่งคุณสุธรรมเป็นประธานแปลงใหญ่ ที่ได้รับการบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
“เกษตรแบบแปลงใหญ่ลำไยนอกฤดูอำเภอจอมทอง เป็นผลสำเร็จในการบริหารจัดการภาคการเกษตร สามารถช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องการตลาด การเรียนรู้การบริหารงานกลุ่มของเกษตรกร และสุดท้ายเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น” เกษตรกรดีเด่น GAP กล่าว
คุณสุธรรม อ๊อดต่อกัน บ้านเลขที่ 135 หมู่ที่ 4 บ้านใหม่สารภี ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 095-234-5444 ท่านผู้อ่านสามารถติดต่อพูดคุยกันได้นะครับ คุณสุธรรมจะให้รายละเอียดนอกเหนือจากบทความนี้ครับ