ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ภายหลังจากที่สำนักงานชลประทานที่ 8 และจังหวัดนครราชสีมา ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดปลูกข้าวนาปรังทุกพื้นที่ เนื่องจากในปีนี้เขื่อนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา คือ เขื่อนลำตะคอง, ลำพระเพลิง, มูลบน, ลำแชะ และลำปลายมาศ มีระดับน้ำกักเก็บเหลืออยู่น้อย เฉลี่ยรวมแค่ 42% จึงต้องเก็บไว้เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ทำให้เกษตรกรต่างพากันหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าวนาปรังกันอย่างคึกคัก
เช่นนายบัญญัติ กิสันเทียะ อายุ 63 ปี เกษตรกรในพื้นที่ บ้านบุระไหว ต.บึงอ้อ อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีที่นาอยู่ในเขตชลประทาน ปีนี้ได้ปรับที่นาเป็นแปลงปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนข้าวนาปรัง อาทิ ถั่วฝักยาว แตงกวา และผักชี โดยนายบัญญัติ กล่าวว่า ปีก่อนๆ ตนจะปลูกข้าวนาปรังบนที่นา 5 ไร่ แต่ปีนี้ทางชลประทานขอความร่วมมือให้งดปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากน้ำมีน้อย ดังนั้นจึงได้หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ซึ่งปลูกไว้บนเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ และหาวิธีประหยัดน้ำ โดยเฉพาะแปลงปลูกถั่วฝักยาว ได้ทำเป็นร่องกลางรางปลูกถั่ว ก่อนที่จะสูบน้ำมาปล่อยไว้ให้มีความชุ่มชื้น ทำให้ไม่ต้องรดน้ำต้นถั่วฝักยาว 2-3 วัน เพื่อเป็นการประหยัดน้ำได้อีกทางหนึ่ง ส่วนต้นแตงกวา และต้นผักชี ก็จะรดน้ำวันละ 1 ครั้ง คาดว่าอีกประมาณ 2 เดือนก็สามารถเก็บถั่วฝักยาวไปขายได้แล้ว ส่วนแตงกวาก็เริ่มออกผลแล้ว อีกประมาณ 1 สัปดาห์ก็เริ่มเก็บไปขายได้ ขณะที่ผักชีปลูกไว้แต่พอเก็บไว้กินเองในบ้าน ซึ่งทั้งหมดก็สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง