รอบรู้ “เรื่องทุเรียน”

“จักร่ำพันธุ์ทุเรียน             ชื่อเพี้ยนเปลี่ยนมากสาธารณ์

ทองสุกทองย้อยยาน      อีกทองหยิบยังทองทา

ทองคำก้านต่อต้น           นางทองย่นใหญ่สาขา

กระปุกสุวรรณา             กระปุกนากหลากผิวพรรณฯ”

นอกจากบันทึกของนักเดินทางต่างชาติหลายชิ้นเมื่อศตวรรษก่อน ที่พรรณนาถึงผลไม้มีหนามอันมีรสชาติและกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ชวนประทับใจแล้ว บทประพันธ์ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อ พ.ศ. 2427 บทนี้ ที่นำเอาชื่อพันธุ์ทุเรียนร่วม 70 พันธุ์ มาร้อยเรียงเป็นกาพย์ยานี ก็ยืนยันความหลากหลายของผลไม้พันธุ์ที่อยู่ในสถานะอันสูงและเป็นที่นิยมในเมืองสยามเมื่อร้อยกว่าปีก่อนได้ชัดเจน

1467886492

Durian เป็นคำภาษามลายูท้องถิ่น แปลว่า “ผลไม้มีหนาม” มีพื้นเพเดิมอยู่แถบหมู่เกาะอินโดนีเซียและคาบสมุทรมลายู แต่ด้วยรสและกลิ่นอันเย้ายวนใจ ปัจจุบันจึงนิยมปลูกกันทั่วไปในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังที่เราท่านย่อมจะจดจำรำลึกได้ถึงชื่อเสียงทุเรียนเมืองนนท์ บางขุนศรี เมืองจันท์ นครนายก และที่อื่นๆ อีกหลายแห่งในปัจจุบันที่โด่งดังขึ้นมา เพราะมีทุเรียนรสดีปลูกขาย เช่น เมืองลับแล อุตรดิตถ์ ที่มีพันธุ์ขึ้นชื่อ คือ หลงลับแล เป็นต้น

ชาวสวนเมืองนนท์มักเล่าว่า ทุเรียนเป็นพืชที่ดูแลยาก ต้องปลูกต้นทองหลางขนาบไว้คอย “บังไพร” คือเป็นพี่เลี้ยงให้ทุเรียน ปีไหนน้ำน้อยก็รอดยาก ถ้าน้ำมากก็รากเน่าตาย ดังนั้น ภาวะน้ำท่วมใหญ่แต่ละครั้งในทุกรอบทศวรรษจึงพรากเอาสวนทุเรียนในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางไปเสียมากจนแทบไม่เหลือแล้ว ส่งผลให้ต้นที่เหลือรอดนั้นมีราคาค่างวดต่อผลถีบตัวสูงขึ้นเหยียบหลักหมื่นเอาเลยทีเดียว

1467886468

การประกวดอวดทุเรียน ตลอดจนการทำบุญประจำปีถวายสลากภัตทุเรียนของคนกรุงเทพฯ สมัยก่อน พ.ศ. 2500 ที่มีต่อเนื่องมานาน ทำให้ทุเรียนถูกคัดสรรเลือกพันธุ์ และกลายเป็นผลไม้ที่มีความหลากหลายสูงที่สุดก็ว่าได้ สังเกตจากชื่อพันธุ์เท่าที่ค้นพบแล้วมีถึงกว่า 300 ชื่อ แยกย่อยลงไปมากมาย เช่น แดงช่างเขียน การะเกดตาเหมือน อีหนัก แดงสาวน้อย เป็นต้น ความแตกต่างของกลิ่น รส และเนื้อสัมผัสในแต่ละพันธุ์มีอยู่จริง และย่อมแยกแยะได้โดยการอธิบายของเอตทัคคะผู้รู้ในรสชาตินั้น

ประการหลังนี้ผมประสบมาด้วยตนเอง ที่สวนของพี่ชาตรี โสวรรณตระกูล บริเวณเขาทุเรียน ตำบลเขาพระ อำเภอเมือง นครนายก สวนทุเรียนเพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมทุเรียนแห่งสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีการศึกษาอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง โดยคณะของ อาจารย์ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. และแผนงานความมั่นคงทางอาหาร มูลนิธิชีววิถี

ความรู้ชุดนี้ อาจารย์ปิยะศักดิ์ได้ประมวลเขียนเป็นหนังสือทุเรียนสวนเรา ตีพิมพ์ให้อ่านกันสนุกๆ ไปเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 แล้ว

1467886485

“…พันธุ์ทองแดงนี่กลิ่นอ่อนๆ รสหวาน ส่วนนมสด รสเขาจะมัน กลิ่นไม่จัดมาก สีเนื้อออกเหลืองอ่อน พวกวัยรุ่นชอบกิน ที่หวานรองลงไปก็มีพวกหมอนทอง ก้านยาว…” วันนั้นพี่ชาตรีอธิบายความแตกต่าง และนิยามความหมายของทุเรียนแต่ละพันธุ์ อย่างเช่น กบแม่เฒ่า กระดุมสีนาก กุญแจ กำปั่นสีทอง หมอนละอองฟ้า ฯลฯ ที่เก็บใหม่ๆ จากสวนมาให้คณะของพวกเราลองชิมอย่างละเอียดลออทีเดียว

สวนทุเรียนของพี่ชาตรีและพี่ขนิษฐา หญิงสาวข้างกาย สืบต่อลมหายใจมาจากสวนเดิมของคุณพ่อที่บางขุนนนท์ ธนบุรี คุณพ่อชม โสวรรณตระกูล คัดเมล็ดพันธุ์ทุเรียนโยกย้ายมาปลูกที่นครนายก ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 โดยวิธีที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากเห็นว่าทำให้ต้นทุเรียนทรุดโทรม ไม่แข็งแรง โรคแมลงรบกวนได้ง่าย

ต้นทุเรียนสูงใหญ่ถูกปลูกไว้ห่างกันในระยะไม่สม่ำเสมอ ในอาณาบริเวณมีกอสับปะรดแซมเป็นหย่อมๆ ผมเคยได้ยินว่า เกษตรกรสวนอินทรีย์รายหนึ่งทดลองปลูกสับปะรดแซมไว้ในสวนทุเรียนรวมกับพืชผลอื่นๆ เขาพบว่า รสชาติเนื้อสับปะรดที่ปลูกด้วยวิธีนี้จะดีกว่าปลูกแบบแปลงเดี่ยวมาก แล้วก็เป็นเรื่องจริงเสียด้วยครับ เพราะสับปะรดสวนพี่ชาตรีอร่อยมากๆ ลูกใหญ่ ฉ่ำ กลิ่นหอม ชนิดที่ถ้าได้กินบ่อยๆ น่าจะเคยตัวไปเลยทีเดียว

แต่ปีนี้ ล่วงเข้ามาเดือนมิถุนายนแล้ว ผมก็ยังไม่ได้ไปเที่ยวสวนพี่ชาตรี เพราะพี่ขนิษฐาเธอแจ้งว่า ทุเรียนยังไม่ค่อยได้ที่ “พออากาศมันเปลี่ยนบ่อยๆ มันส่งผลถึงระยะออกดอก ติดลูก อะไรต่างๆ ไปหมดเลย ปีนี้ถือว่าล่าไปมากเลยนะ”

นอกจากเรื่องสภาพอากาศแปรปรวนที่ทำเอาพืชพันธุ์หลายอย่างผิดรูปผิดรสไปมาก ปีนี้ผมยังได้ยินเรื่องทุเรียนเมืองจันทบุรีขาดตลาด เนื่องจากมีบริษัทในจีนหลายแห่งมาเหมาซื้อผูกขาดแบบยกสวนไปเลยก็มี นับว่าเป็นเรื่องที่คิดไม่ถึงเลยจริงๆ

ว่าที่จริง ผมเลิกกินทุเรียนไปแล้วยี่สิบกว่าปี มาพลาดท่ากับไอศกรีมทุเรียนของพี่ชาตรีเมื่อสองปีก่อนแค่ถ้วยเดียวจริงๆ ครับ ยิ่งไปได้กินทุเรียนถึงที่สวนเมื่อปีที่แล้ว ได้ชิมทีละพันธุ์ พันธุ์ละเม็ด แถมไม่ใช่ทุเรียนแข็งๆ ที่เก็บอย่างลวกๆ ยังไม่ทันถึงเวลา แบบที่วางแบขายกันตามท้องตลาดทั่วไป ทว่าคัดเลือกเอาที่สุกคาต้น หอมนุ่ม โดยเจ้าของสวนเอง ผู้ที่รู้ดีว่าควรจะกินทุเรียนพันธุ์ไหนแบบไหน เมื่อไหร่ อย่างไร การที่เราได้กินทุเรียนที่เก็บในเวลาอันเหมาะสม รอจนกลิ่นและรสชาติ “ได้ที่” แบบนี้ มันช่างกระตุ้นต่อมรับรสทุกต่อมให้ฟื้นตื่นขึ้นมาทำงานอย่างแข็งขันรื่นรมย์จริงๆ ครับ

และที่สำคัญ พี่ชาตรียังคงดูแลทุเรียนที่สวนด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ตามแบบคุณพ่ออย่างเคร่งครัด มันเลยทำให้ผมนึกต่อไปถึงสำรับกับข้าวเนื่องด้วยทุเรียนอีกหลายสำรับ เช่น แกงมัสมั่นทุเรียน แกงจืดดอกทุเรียนยัดไส้หมูสับ และเกสรดอกทุเรียนผัดไข่ ฯลฯ ที่ถ้าเป็นสวนทุเรียนซึ่งฉีดยาเคมี ผมคงไม่กล้าเก็บดอกเก็บเกสรมาทำกินแน่ๆ ถึงจะรู้ว่ามันอร่อยมากก็เถอะ

การกินอาหารนั้นเป็นความรู้อย่างหนึ่ง ความอร่อยในแต่ละครั้งจึงสามารถเพิ่มขึ้นได้แน่ๆ หากมีผู้รู้เรื่องนั้นๆ มาแนะนำให้เห็น ชี้ช่องให้ลองกิน

 

“ความรู้” ดูจะถูกเปลี่ยนเป็น “ความรู้สึก (อร่อย)” ได้ง่ายๆ บนโต๊ะอาหารจริงๆ นะครับ…