คนรุ่นใหม่ บางกระทุ่ม พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ผลิตข้าวอินทรีย์ขายออนไลน์ ลูกค้าจองคิวซื้อ

ยุคที่เกษตรกรคนรุ่นใหม่ กำลังเติบโตในวงการเกษตรกรรม เกือบทั้งหมดประสบความเร็จ ได้รับการยอมรับในระดับต้นๆ และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว วิธีที่ผลักดันตนเองไปสู่ความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน สำหรับ คุณสิริมณี มณีท่าโพธิ์ เกษตรกรสาว วัย 33 ปี ชาวบ้านทุ่งน้อย ตำบลบ้านตาล อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก เริ่มต้นจากสิ่งที่ไม่รู้ จนประสบความสำเร็จในวันนี้ เพราะแรงกดดันและวิกฤตที่พบ จนพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างไม่ยาก

คุณสิริมณี มณีท่าโพธิ์

คุณสิริมณี มณีท่าโพธิ์ เริ่มต้นทำงานที่กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นงานที่ตรงกับสายที่เรียน แต่ก็เป็นพนักงานประจำ กระทั่งแม่ป่วย จึงตัดสินใจกลับมาหางานทำที่บ้าน เพื่อดูแลแม่ที่ป่วยไปด้วย หน้าที่ทุกวันคือ ครูพี่เลี้ยงโรงเรียนใกล้บ้าน และทำนาเสริมในช่วงเวลาที่ว่างเว้นจากอาชีพครูพี่เลี้ยง

การทำนา เป็นอาชีพหลักของครอบครัว เมื่อแม่ป่วย คุณสิริมณีจำเป็นต้องทำเอง ก็ทำได้ตามที่ได้เรียนรู้จากครอบครัว แต่สิ่งที่พบคือ การทำนาแบบเดิม เมื่อได้ผลผลิต หักค่าใช้จ่ายและต้นทุน ก็ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ทำให้ต้องกู้ยืมเมื่อต้องลงทุนใหม่ และเป็นหนี้สะสมไปเรื่อยๆ ทุกปี

ในความโชคร้าย ก็มีความโชคดี เมื่อมีคนให้คำแนะนำ ให้ปลูกข้าวพันธุ์หอมนิล และจะรับซื้อคืนในราคาที่สูงกว่าเท่าตัวของราคาข้าวที่ปลูกอยู่ แต่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาไปพร้อมกัน เมื่อเห็นช่องทาง คุณสิริมณีพร้อมกับเพื่อนบ้านอีกหลายราย จึงตัดสินใจซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยา เพื่อลงปลูก หวังจะขายผลผลิตในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ได้เม็ดเงินเป็นที่น่าพอใจ แต่กลับพลิกผัน เมื่อผลผลิตพร้อมเก็บเกี่ยว คนขายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยา หาตัวไม่เจอ สิ่งที่คุณสิริมณีทำได้คือ การพยายามขายผลผลิตข้าวที่ได้ออกให้หมด แม้จะไม่ได้ราคา แต่ขอให้ได้ต้นทุนกลับมาบ้างก็ยังดี

(จากซ้าย) คุณวิธีสรรธ์ ปราสาททรัพย์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรอำเภอบางกระทุ่ม คุณสิริมณี มณีท่าโพธิ์ คุณทัศนีย์วรรณ มณีท่าโพธิ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรอำเภอบางกระทุ่ม คุณฉัตรแก้ว วิรบุตร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก

“ตอนนั้นลงทุนไป 30,000-40,000 บาท จากคนที่เข้ามาแนะนำ บอกจะรับซื้อข้าวหอมนิลจากเรา พอถึงเวลาติดต่อไม่ได้ เงินก็ลงทุนไปแล้ว เลยคิดว่า อย่างไรก็ต้องขายเพื่อเอาทุนคืน จึงเอาข้าวเปลือกมาสี แล้วโพสต์ขายบนเฟซบุ๊กของตัวเอง ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท”

ถามว่า ขายได้ไหม

คุณสิริมณี ตอบว่า ขายได้ ได้เฉพาะเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กด้วยกัน รวมปริมาณที่ขายได้ เดือนละ 5 กิโลกรัม เท่านั้น จึงขยับช่องทางการขายออกไปที่กลุ่มขายของในจังหวัดพิษณุโลก มีผู้คนจากหลายจังหวัด ไม่เฉพาะพิษณุโลกเท่านั้นที่เข้ามารวมกลุ่มในเฟซบุ๊กนี้ แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าของจังหวัดพิษณุโลก ในการโพสต์ขาย คุณสิริมณี บอกเล่าเรื่องราวที่ต้องนำข้าวสารมาสีและแบ่งขาย ทำให้ได้รับความเห็นใจ และขายข้าว จำนวน 5 ตัน หมดในระยะเวลาไม่นาน จากนั้นคุณสิริมณีจึงช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ร่วมชะตากรรมถูกหลอกเหมือนกัน ด้วยการโพสต์ขายข้าวของเพื่อนบ้านในกลุ่มเฟซบุ๊กต่อ และสามารถขายได้หมด 30 ตัน ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

บรรจุถุงสุญญากาศขนาดต่างๆ

เมื่อข้าวของตนเองและเพื่อนบ้านขายหมด ความต้องการของลูกค้ายังไม่หมด ทำให้คุณสิริมณีเกิดไอเดียปลูกข้าวตามความต้องการของลูกค้า เพื่อขายผ่านโซเชียลแบบที่ทำอยู่

เริ่มศึกษาจริงจัง ว่าข้าวสายพันธุ์ใดเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค นอกเหนือจาก ข้าวหอมนิล และทราบว่า ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวอีกสายพันธุ์ที่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง

แปรรูป เพิ่มมูลค่า

จึงเริ่มหาซื้อเมล็ดพันธุ์นำมาปลูก และเริ่มปลูกโดยงดใช้สารเคมี จึงเรียกผลผลิตข้าวที่ได้ว่า ข้าวอินทรีย์

คุณสิริมณีเอง มีนา จำนวน 8 ไร่ และเริ่มชักชวนเพื่อนบ้านที่ถูกหลอกในคราวเดียวกันมารวมกลุ่ม จากกลุ่มเล็กๆ ค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากกว่า 10 คน กระทั่งปัจจุบัน มีสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 30 คน และจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตและแปรรูปข้าวปลอดสารพิษบ้านทุ่งน้อย เมื่อปี 2557 ปัจจุบัน มีที่นาของสมาชิกรวม 574 ไร่ ปลูกข้าว 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าว กข 43 ข้าวหอมมะลิแดง และข้าวทับทิมชุมแพ

เริ่มสร้างเพจขายข้าวเอง และมีลูกค้าติดตามมารอซื้อข้าวจำนวนมาก

ผลิตเป็นของชำร่วยก็ได้

เริ่มต้นการขาย ด้วยการตักข้าวใส่ถุง ปิดปากถุงด้วยแม็กซ์เย็บกระดาษ เริ่มพัฒนาเมื่อมีระยะเวลาขนส่ง ซึ่งข้าวกล้องจะมีมอดขึ้นเมื่อต้องเก็บไว้นาน จึงเริ่มผลิตใส่ถุงสุญญากาศ เพื่อยืดระยะเวลาการเก็บ มีต้นทุนเพิ่มเรื่องถุงสุญญากาศ 5 บาท แต่ราคาขายยังคงเดิม เพื่อต้องการรักษากลุ่มลูกค้าไว้

จากเดิมใช้เครื่องสีข้าวในครัวเรือน สามารถสีข้าวได้ วันละ 200 กิโลกรัม ลูกค้ารอคิวซื้อข้าวจำนวนมาก เครื่องมีขนาดเล็ก สีไม่ทันขาย เมื่อรวมกลุ่มจึงลงทุนตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน มีแผนการผลิต และเริ่มมีงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ เปลี่ยนจากเครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เป็นเครื่องสีขนาดใหญ่ขึ้น และปัจจุบันเป็นเครื่องสีข้าวขนาดใหญ่ ความสามารถในการสี วันละ 2 ตัน

ออกแบบให้ด้วย ถ้าต้องการ

ราคาขายจากเดิมลดลงต่อกิโลกรัมลงมา เพราะทราบดีว่า ตลาดการขายออนไลน์แข่งขันกันสูงมาก การขายข้าวอินทรีย์ ไม่ได้มีเพียงรายเดียว

ปัจจุบัน ยอดขายต่อเดือน ลูกค้าขายส่ง 4-5 ราย ประมาณ 20 ตัน ต่อเดือน ส่วนลูกค้าขายปลีก มียอดสั่งซื้อเข้ามา ต้องรอคิวสีข้าวล่วงหน้าแล้ว 1 เดือน

ปริมาณผลผลิตต่อไร่ เฉลี่ย 50-70 ถัง ขณะที่การปลูกข้าวแบบเดิมที่เคยทำ ได้ปริมาณมากกว่าเท่าตัว อย่างไรก็ตาม  สมาชิกที่รวมกลุ่มมองเห็นมูลค่าในผลผลิตข้าวที่ได้ เพราะสามารถขายได้ราคาสูงกว่าเท่าตัวเช่นกัน

กลุ่มวิสาหกิจฯ ที่ก่อตั้งขึ้น คุณสิริมณี บอกว่า เมื่อเราบอกกับลูกค้าว่า เราเป็นกลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์ การตรวจสอบภายในกลุ่มกันเองต้องมี จึงจัดระบบการตรวจสอบ ลงแปลงของสมาชิกทุกคน เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพตามที่โฆษณาไว้กับผู้บริโภค ซึ่งนอกจากจะขายข้าวเป็นกิโลกรัมแล้ว ยังขายในปริมาณ 250 กรัม และ 500 กรัม ทั้งยังรับผลิตข้าวตามออเดอร์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงข้าวบรรจุถุงสำเร็จตามปริมาณที่ต้องการเท่านั้น แต่ยังรับผลิตตามออเดอร์ เพื่อใช้เป็นของชำร่วยในงานหรือเทศกาลต่างๆ อีกด้วย โดยรวมแล้ว ปริมาณข้าวที่ออกสู่ท้องตลาดจากกลุ่มวิสาหกิจฯ แห่งนี้ มากถึง 30 ตัน และความต้องการมากกว่า 30 ตัน เพียงแต่ความสามารถในการผลิตของกลุ่มยังไม่ถึง

แปลงข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์

เมื่อถามถึงปัญหา คุณสิริมณี บอกว่า การทำนาปลูกข้าวปลอดสารให้เป็นอินทรีย์ ไม่ใช่เรื่องยาก อาจพบปัญหาโรคและแมลงบ้าง ใช้น้ำหมักชีวภาพที่ทำขึ้นเอง ก็สามารถควบคุมและกำจัดได้แล้ว แต่ปัญหาที่ประสบและไม่สามารถควบคุมหรือจัดการได้คือ ปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะภัยแล้ง เพราะพื้นที่ปลูกข้าวไม่มีชลประทานผ่าน อาจใช้น้ำบาดาลช่วย แต่หากเกิดภัยแล้งหนัก จำเป็นต้องรอฝนเพียงอย่างเดียว ทำให้ปริมาณผลผลิตที่ควรได้ ไม่ได้ตามเป้า อย่างไรก็ตาม จากการฝ่าฟันอุปสรรคมาด้วยกันของสมาชิกภายในกลุ่ม จึงตั้งใจดำเนินกิจกรรมให้ลุล่วงสำเร็จด้วยดี ดังนั้น เมื่อต้องนำข้าวมาขายให้กับกลุ่ม จึงมีการประกันราคาข้าวภายในกลุ่มให้ด้วย

แปลงข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์อีกแปลง

แม้ว่า คุณสิริมณี เป็นเพียงเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ไม่ได้มีพื้นฐานการทำการเกษตรมาก่อน แต่มีผืนนาที่เป็นมรดกตกทอดจากครอบครัว และจำเป็นต้องอาศัยผืนนาเลี้ยงชีพ การฝึกปรือ สังเกต และความใส่ใจ จึงเป็นสิ่งที่สร้างให้คุณสิริมณีก้าวมาถึงจุดนี้

สนใจพูดคุยเพิ่มเติม คุณสิริมณี มณีท่าโพธิ์ ยินดีตอบคำถาม สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก ขายส่งข้าวไรซ์เบอร์รี่ หอมนิล มะลิอินทรีย์ ราคาชาวนา และเฟซบุ๊ก ขายข้าวไรซ์เบอร์รี่ 60 บาท ส่งทั่วไทย หรือติดต่อทางโทรศัพท์ได้ที่ 062-535-3991 ที่ตั้งแปลงนาอยู่ตำบลท่าตาล อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก