ปลูกแก่นตะวัน พืชทางเลือก ประโยชน์สูง อนาคตสดใส ตลาดทั่วโลกต้องการ

แก่นตะวัน สุดยอดพืชมหัศจรรย์สารพัดประโยชน์ คุณบาล บุญก้ำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านบัว หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา ได้นำผู้เขียนไปเยี่ยมชมการทดลองปลูกพืชชนิดนี้ ที่ครอบครัวของ คุณปรีชา ใจบาล เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ได้ทดลองปลูกพืชชนิดใหม่ “แก่นตะวัน” และวันนี้ก็รู้สึกประทับใจ ที่พืชผลชนิดนี้ให้ผลผลิตที่น่าทึ่งมาก จึงน่าจะเป็นพืชทางเลือกของเกษตรกรของชุมชนแห่งนี้อีกทางหนึ่งในอนาคตที่ดีและแจ่มใสแน่นอน

คงไม่ใช่แค่คนที่ชอบปลูกต้นไม้ หรือสนใจสมุนไพรเพียงเท่านั้นที่รู้จัก “ต้นแก่นตะวัน” เพราะปัจจุบันนี้ “แก่นตะวัน” กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วโลก เนื่องจากได้ชื่อว่าเป็นพืชสารพัดประโยชน์ เราไปดูกันซิว่า “แก่นตะวัน” เป็นพืชประเภทไหน และความมหัศจรรย์ของ “แก่นตะวัน” มีอะไรบ้าง

“แก่นตะวัน” นั้น เรียกได้หลายชื่อ ทั้ง “ทานตะวันหัว” และ “แห้วบัวตอง” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า เยรูซาเล็ม อาร์ติโชก บางทีก็เรียกว่า ซันโชก ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์คือ Helianthus tuberosus L. เป็นพืชดอกในตระกูลทานตะวัน ซึ่งมีต้นกำเนิดในตอนใต้ของประเทศแคนาดา และตอนเหนือของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็น แต่มีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศทั่วไป จึงสามารถปลูกได้ดีในเขตร้อนและเขตกึ่งหนาวอย่างทวีปยุโรป ทำให้ต้น “แก่นตะวัน” เป็นที่รู้จักในหลายๆ ภูมิภาค

โดยลักษณะต้นของ “แก่นตะวัน” จะสูงประมาณ 1.5 ถึง 2 เมตร มีขนตามกิ่งและใบ ส่วนดอกของ “แก่นตะวัน” มีสีเหลืองสดใสคล้ายกับดอกบัวตอง และทานตะวัน แต่ขนาดจะเล็กกว่ามาก นอกจากนี้ “แก่นตะวัน” ยังมีหัวใต้ดินคล้ายมันฝรั่งไว้สำหรับเก็บสะสมอาหาร ซึ่งที่หัวของแก่นตะวันนี่เอง ที่จัดว่ามีสรรพคุณดีเยี่ยมนั่นก็เพราะที่ส่วนหัวของ “แก่นตะวัน” จะมีสารอินนูลิน ที่เต็มไปด้วยน้ำตาลฟรักโตสโมเลกุลยาว จึงเป็นพืชพรีไบโอติกที่มีเส้นใยสูงมาก หากรับประทานเข้าไป สารดังกล่าวจะไปช่วยดักจับยึดไขมันในเส้นเลือด ไม่ว่าจะเป็นคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ หรือ LDL ที่เรารับประทานเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป ทิ้งออกทางอุจจาระ จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี และถ้าใครที่ไม่ค่อยแข็งแรง เพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำ “แก่นตะวัน” ก็ถือเป็นสมุนไพรที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้ดีขึ้น เพราะอินนูลินจะไปช่วยลดปริมาณแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น โคลิฟอร์ม และ อี.โคไล ในขณะเดียวกัน “แก่นตะวัน” ก็จะไปเพิ่มการทำงานของแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย คือบิฟิโดแบคทีเรีย และแล็กโตบาซิลลัส ให้เจริญเติบโตได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ใครที่อยากลดความอ้วน “แก่นตะวัน” ก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้เป็นอย่างดี โดยก่อนหน้านี้มีผู้ทดลองวิจัยให้หนูกินอาหารผสมอินนูลินนาน 3 สัปดาห์ และพบว่า น้ำหนักตัวของหนูลดลงจากเดิมถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว ซึ่งหากคนรับประทานแก่นตะวัน ซึ่งมีอินนูลินสูงเข้าไป ก็จะช่วยเรื่องการลดน้ำหนักตัวได้เช่นกัน เพราะร่างกายเราไม่สามารถย่อยสารเส้นใยอินนูลินได้ ทำให้สารดังกล่าวตกค้างอยู่ในระบบทางเดินอาหารหลายชั่วโมง จึงทำให้ผู้รับประทาน “แก่นตะวัน” เข้าไป ไม่รู้สึกหิว และรับประทานอาหารได้น้อยลงนั่นเอง

ส่วนผู้ที่ไม่อยากเป็นโรคเบาหวาน การรับประทาน “แก่นตะวัน” ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานได้ เพราะ “แก่นตะวัน” มีแคลอรีต่ำ และไม่ไปเพิ่มน้ำตาลในเลือด โดยมีงานวิจัยระบุว่า คนที่รับประทานอินนูลินจะมีโอกาสเป็นเบาหวานน้อยกว่าคนที่รับประทานน้ำตาลถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว สำหรับสรรพคุณอื่นๆ ของ “แก่นตะวัน” ก็มี อย่างเช่น ช่วยการทำงานของระบบขับถ่าย ลดอาการจุกเสียดแน่นท้อง แก้อาการท้องเสีย ท้องผูก ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ ลดกลิ่นปากจากเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันพิษของโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ป้องกันอาการภูมิแพ้ และการแพ้อาหาร โดยเฉพาะในเด็กกระตุ้นการดูดซึมแร่ธาตุหลายชนิด โดยเฉพาะแคลเซียม และธาตุเหล็ก ฯลฯ

เห็นสรรพคุณของ “แก่นตะวัน” มากมายขนาดนี้แล้ว ก็คงอยากจะลองรับประทานกันบ้างแล้วใช่ไหมล่ะ โดยเราสามารถรับประทาน “แก่นตะวัน” ได้ทั้งแบบสดๆ เหมือนกับผักสลัดทั่วๆ ไป รสชาติจะออกคล้ายๆ แห้วและมันแกว หรือจะนำไปปรุงสุกเป็นอาหารหลากหลายเมนูก็ย่อมได้ หรือหากใครจะลองนำหัวแก่นตะวันไปตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดให้แห้งแล้วนำไปอบ ป่นเป็นผงเล็กๆ ไปผสมกับแป้งทำขนม คุ้กกี้ ก็จะได้ขนมรสอร่อย แถมยังมีกลิ่นหอม และมีปริมาณอินนูลินจำนวนมาก ซึ่งดีต่อสุขภาพด้วย และนอกจาก “แก่นตะวัน” จะเป็นพืชที่ให้คุณค่าทางอาหารสูงแล้ว ยังเป็นพืชที่มีประโยชน์ในด้านพลังงานทางเลือกอีก โดยหากนำหัวสดแก่นตะวัน 1 ตัน ไปหมักด้วยเชื้อยีสต์ จะได้แอลกอฮอล์ไปกลั่นเป็นเอทานอลที่บริสุทธิ์ 99.5 เปอร์เซ็นต์ ได้ถึง 100 ลิตร ซึ่งมากกว่าอ้อย 1 ตัน ที่จะให้ปริมาณเอทานอลเพียง 75 ลิตร ดังนั้นแล้ว หากมีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพการหมัก และกรรมวิธีต่างๆ ให้ดีขึ้น เชื่อได้เลยว่า “แก่นตะวัน” จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งในไม่ช้า

แหม! ประโยชน์ครบเซ็ตอย่างนี้ ไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมคนทั่วโลกถึงยกให้ “แก่นตะวัน” เป็นสมุนไพรมหัศจรรย์จริงๆ ขอขอบคุณ ท่านผู้ใหญ่บาล บุญก้ำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านบัว ที่นำเยี่ยมชม ขอขอบคุณ คุณปรีชา ใจบาล เกษตรกรแนวใหม่ ที่ให้ข้อมูลการปลูก “แก่นตะวัน”