ผู้เขียน | องอาจ ตัณฑวณิช |
---|---|
เผยแพร่ |
ไผ่เป็นพืชตระกูลเดียวกับหญ้า โดยไผ่ได้ชื่อว่าเป็นหญ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ไผ่เป็นพืชสารพัดประโยชน์สำหรับเกษตรกร เนื่องจากทุกส่วนของไผ่เราสามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ ส่วนของหน่อใช้เป็นอาหาร บริโภคได้ทั้งหน่อสดและเอาไปดองเพื่อถนอมอาหาร ส่วนลำต้นสามารถใช้เป็นไม้ใช้สอยได้ต่างๆ นานา ทำค้างสำหรับพืชไม้เลื้อย ทำรั้วบ้าน ทำด้ามจอบด้ามพร้า สานตะกร้ากระบุง ทำเครื่องเรือน หรือสร้างบ้านได้แทบทั้งหลัง แม้แต่ใบก็เอามาทำปุ๋ยได้
ในสมัยก่อนเราพึ่งพาไม้ไผ่ในชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก ปัจจุบันแม้ไผ่ธรรมชาติจะลดน้อยลงไป แต่สำหรับเกษตรกรการปลูกไผ่ไว้ในสวนของตัวเองเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อหาได้มากทีเดียว เพราะในปัจจุบันไม้ไผ่ที่ตัดขายตามร้านค้ามีราคาแพงมาก ดังนั้น การปลูกใช้เองเป็นการดีที่สุดสำหรับเกษตรกรในยุคนี้
ยางพารา ถือเป็นพืชเศรษฐกิจในภาคใต้ จากสภาวะเศรษฐกิจส่งผลให้ราคายางเคลื่อนไหวแพงบ้างถูกบ้าง และในช่วง 2-3 ปีมานี้ ยางมีราคาถูกมาก ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งโค่นยางทิ้งเมื่อถึงอายุ และมักจะมองหาพืชชนิดอื่นปลูกทดแทนยาง เช่น ปาล์มน้ำมัน สะละ ทุเรียน มังคุด กล้วย แล้วแต่ความถนัด บางสวนก็โค่นยางออกบางส่วนเพื่อปลูกพืชอย่างอื่นแซม เกษตรกรชาวสวนยางทางภาคใต้ต่างพากันปรับตัว หาวิธีต่างๆ เสริมรายได้ เพื่อความอยู่รอด
สวนไผ่อาบู ตั้งอยู่ที่ ตำบลลำภี อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดย คุณบุญชู สิริมุสิกะ ชายหนุ่มที่ทิ้งอาชีพวิศวกรในเมืองหลวงกลับคืนสู่บ้านเกิด ที่มีรากฐานอาชีพทำสวนยางและสวนปาล์ม แน่นอนว่าเป้าหมายการลาออกมาทำเกษตรของเขาไม่ได้อยู่ที่เงินเพียงอย่างเดียว แต่เขาแสวงหาความสุขและความมั่นคงที่แท้จริง
จากวิศวกร มาเป็นเกษตรกร
คุณบุญชู เล่าให้ฟังว่า เขาเรียนจบปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยวและแปรสภาพ คณะวิศวกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เรียนจบก็มีโอกาสมาทำงานเป็นวิศวกรออกแบบระบบการผลิต ให้กับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่น
ในเวลานั้นเขามองอาชีพด้านการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวว่าเป็นอาชีพที่ลำบาก มันเหนื่อย เกษตรเท่ากับจน เนื่องจากในวัยเด็กช่วงที่ปิดเทอมและช่วงวันหยุด เขากับพี่จะต้องช่วยที่บ้านทำงานในสวนอยู่ตลอด แทนที่จะได้มีโอกาสนอนดูการ์ตูนสบายๆ เหมือนเด็กคนอื่นๆ พอมีโอกาสได้เรียนและจบออกมาทำงานเป็นวิศวกร เขาบอกกับตัวเองว่า นี่แหละคือตัวตน นี่แหละคืองานที่เขาชอบ
ครั้งหนึ่งเขามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหาร มีประธานบริษัทและกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น ท่านได้ถามเขาว่า “คุณจะทำงานกับบริษัทเรากี่ปี เขาก็ตอบว่าผมจะทำไปเรื่อยๆ จนเกษียณอายุ แต่นายญี่ปุ่นกลับบอกเขาว่า คุณทำงานที่นี่ 5 ปีก็พอแล้ว ภายใน 5 ปี ทุกคนควรมีความก้าวหน้าในอาชีพ หากใครคนใดทำงานเดิมนานๆ ก็เสมือนองค์กรกำลังปิดกั้นโอกาสที่เขาจะได้แสดงความสามารถในด้านอื่นที่เขามี” ณ เวลานั้นเขาก็ยังงงๆ อยู่ว่าทำไมนายญี่ปุ่นจึงสอนเขาอย่างนั้น
หลังจากทำงานได้ประมาณ 6 ปี วันหนึ่งเขามีโอกาสได้ดูรายการทีวีเกี่ยวกับการเกษตร รายการปราชญ์เดินดิน ตอน “ลุงนิล คนของความสุข” ของทีวีบูรพา ลุงนิล เป็นปราชญ์เกษตรที่จังหวัดชุมพร เขาเห็นลุงนิลมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีความสุขกับการทำเกษตรบนพื้นที่แปลงเกษตรเล็กๆ เป็นการทำเกษตรแบบสวนสมรม ลุงนิลได้อยู่กับครอบครัว ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันทุกวัน เขาบอกกับตัวเองว่านี่แหละชีวิตที่มีความสุข มันควรจะเป็นแบบนี้
ตั้งแต่นั้นมา ความสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่างๆ ในงานวิศวกรรมที่เขาเคยชอบก็ค่อยๆ ลดน้อยลง ช่วงเวลาว่างเขามักมองหาความรู้ใหม่ๆ ด้านการเกษตรอยู่เรื่อยๆ เหมือนความสนใจในชีวิตมันเปลี่ยน
เขาเริ่มรู้สึกว่าแม้รายได้จากการทำงานเป็นวิศวกรจะมีรายได้มากก็จริง แต่ความมั่นคงของการเป็นวิศวกรในยามบั้นปลายชีวิตมันกลับมีน้อยมาก
แต่ทว่ารายได้จากการทำการเกษตร แม้จะดูว่าน้อยในช่วงเริ่มต้น แต่มันกลับเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงในยามบั้นปลายชีวิต
เขาเริ่มค้นพบว่า เงินไม่ได้ตอบโจทย์ความสุขความสบายของชีวิต การทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน เราต่างพากันทำงานหาเงิน เมื่อได้เงินมาแล้วก็นำเงินที่ได้ไปแลกมาซึ่งความสุข
ในขณะที่งานด้านการเกษตรแค่ได้ลงมือทำความสุขก็เกิดแล้ว ความสุขมันเกิดขึ้นได้ทุกขณะ มันเกิดทันที ที่สำคัญทำแล้วยังมีผลพลอยได้ตามมา ซึ่งก็คือเงิน และถ้าทำดีๆ มันไม่ลำบากไม่จนแน่ๆ
หลังจากตัดสินใจลาออกมาทำเกษตรในช่วงแรกๆ เขาเริ่มต้นด้วยการปลูกพืชระยะสั้น เช่น ถั่วฝักยาว บวบ แตงกวา โดยทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีเหมือนเกษตรทั่วไป เขาทำอยู่อย่างนั้นสองสามรอบ ก็พบว่าเงินที่ได้มาเมื่อนำมาลงทุนแล้วในระหว่างรอจะเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบใหม่ เงินที่มีก็ใช้หมดพอดี พอได้เงินงวดใหม่มาก็เอามาลงทุน พอรอผลผลิตอีกรอบก็หมดอีก หยุดทำเมื่อไรก็หมดเงินเมื่อนั้น
เขาทำอยู่แบบนั้นได้ประมาณ 6 เดือน ก็เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นมันไม่ใช่แล้ว มันน่าจะมีอะไรผิดพลาด เขาจึงหยุดปลูกพืชต่างๆ ประมาณ 3 เดือน โดยในระหว่างนั้นก็ยังมียางพาราและปาล์มที่ยังเป็นรายได้
เขาคิดทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาเพื่อหาหนทางใหม่ที่ควรจะดีกว่าเดิม เขาจึงพบว่าสิ่งที่เราเห็นคนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จกับการทำการเกษตรทางยูทูปหรือตามทีวีเป็นเรื่องที่เขาอยากให้เราดู แต่ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด เรื่องราวที่เราไม่รู้คือ ช่วงจังหวะที่เขาเหล่านั้นล้มเหลวซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำมาเป็นบทเรียน แต่ที่เราเห็นคือช่วงที่เขาเหล่านั้นประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งความสำเร็จมันเป็นของใครของมัน มันลอกเลียนแบบกันไม่ได้
เขาจึงนำวิธีคิดและวิธีการทำงานแบบวิศวกรมาปรับใช้กับการเริ่มต้นการทำเกษตรใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้เขาทำบนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยึดมั่นในปรัชญา นำพาด้วยการทำงานอย่างวิศวกร
คุณบุญชูคิดวางแผนว่า จะสร้างสวนของตัวเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรที่เป็นวิถีเกษตรแบบบ้านๆ จริงๆ เขาเริ่มวางแผนงานใหม่และกำหนดรูปแบบในการทำแปลงเกษตรของตัวเองใหม่ โดยยึดหลักที่ว่า ทุกกิจกรรมต้องง่ายและทำแล้วต้องเกิดรายได้จริง
เขาบอกกับเราว่าที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการทำเกษตร ขอเพียงมีพื้นที่ ถึงแม้ดินนั้นจะไม่ดี หรือน้ำไม่มี ก็สามารถที่จะทำเกษตรได้ ไม่ต้องพยายามแก้ไขปรับปรุงดินหรือลงทุนสร้างแหล่งน้ำ แต่ควรเริ่มต้นด้วยการเลือกปลูกพืชที่เหมาะกับดินและเหมาะกับปริมาณน้ำฝนในพื้นที่นั้นๆ ถ้าเราปลูกพืชที่เหมาะสมตั้งแต่ต้น อะไรๆ มันก็จะง่าย เขากำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกพืชมาปลูกลงแปลง 10 ข้อ เพื่อใช้เป็นตัวคัดกรองคร่าวๆ ก่อนจะปลูกพืช
เกณฑ์ประเมิน 10 ข้อ สำหรับพืชที่จะปลูก มีดังนี้
- ต้องเป็นพืชที่คนทั่วไปมองข้าม
- ต้องเป็นพืชที่ปลูกแล้วสร้างรายได้จริงๆ
- ต้องเป็นพืชที่มีโรคและแมลงรบกวนน้อย อาศัยการพึ่งพิงธรรมชาติเป็นหลัก
- ต้องเป็นพืชที่ทนแล้ง ทนน้ำท่วมได้ดี
- ต้องให้ผลผลิตสม่ำเสมอต่อเนื่อง ไม่อิงฤดูกาล
- ต้องเป็นพืชที่มีความต้องการสูง เน้นหนักไปทางด้านสุขภาพ
- ต้องเป็นพืชที่ทนทาน ไม่ต้องดูแลมาก
- ต้องเป็นพืชที่สามารถแปรรูปได้
- ต้องเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน
- ต้องเป็นพืชที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ เช่น การทำกิ่งพันธุ์จำหน่าย
ซึ่งเกณฑ์ประเมินทั้ง 10 ข้อ ถ้าพืชตัวใดผ่านสัก 8 ข้อ ก็สามารถนำมาปลูกได้เลย
ไผ่ในสวนยาง เริ่มจากแนวคิดนี้
หลายท่านอาจจะคิดว่าไผ่กับยางพาราไม่น่าจะปลูกร่วมกันได้ แต่จริงแล้วสามารถปลูกร่วมกันได้ แต่เราต้องมีวิธีการจัดการอย่างเหมาะสม การเลือกพันธุ์ไผ่ที่เหมาะสมจะนำมาปลูกแซมในสวนยางคือ ไผ่ในตระกูลตงทั้งหมด เช่น ตงลืมแล้ง (ไผ่กิมซุ่ง เขียวเขาสมิง) ตงศรีปราจีน ซางหม่น หม่าจู ปักกิ่ง และอื่นๆ เนื่องจากไผ่เหล่านี้มีลำต้นสูง เวลาที่ต้นยางมีอายุมากแล้ว ไผ่จะสามารถพุ่งขึ้นไปรับแสงสู้กับต้นยางได้ แต่สวนยางของคุณบุญชูเลือกปลูก ไผ่ตงลืมแล้ง (ไผ่กิมซุ่ง เขียวเขาสมิง) เพราะดูแลง่ายและสามารถต่อยอดอาชีพสร้างรายได้ได้หลายทาง
ขนาดต้นพันธุ์ต้องเหมาะกับอายุของต้นยางในสวน
การเตรียมต้นพันธุ์ที่ดี เป็นที่รู้กันว่าการปลูกไผ่เป็นพืชแซมเรื่องการรับแสงจะด้อยกว่าปกติ เนื่องจากมีต้นยางปลูกอยู่ก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น เพื่อให้ไผ่เติบโตได้เร็ว ควรเตรียมต้นพันธุ์ให้สมบูรณ์เต็มที่ ควรเป็นต้นพันธุ์ที่อนุบาลไว้อย่างน้อย 60 วัน ให้ต้นไผ่แข็งแรงที่สุด ไผ่ที่แตกหน่อในถุงหลังจากปลูกต้นไผ่จะตั้งลำได้เร็วมากกว่า
การดูความเหมาะสมของอายุและขนาดต้นยาง โดยเราจะสามารถปลูกไผ่แซมในช่วงยางอายุกี่ปีก็ได้ แต่หัวใจสำคัญคือ การจัดการแสง โดยการจัดการขนาดและความสูงของกอไผ่ให้เหมาะกับขนาดของต้นยาง ถ้าปลูกตอนต้นยางเล็กให้คุมความสูงของลำไผ่ไม่เกิน 3 เมตร เว้นลำไม่เกิน 3 ลำ ถ้ายางโตแล้ว 8 ปีขึ้นไป ให้คุมความสูงลำไผ่ 4-5 เมตร เว้นลำกอละ 4-5 ลำ ที่สวนไผ่อาบูปลูกไผ่เป็นพืชแซมตอนที่ยางมีอายุ 8 ปี ซึ่งเป็นยางที่เพิ่งเริ่มกรีดน้ำยาง
ระยะห่างระหว่างกอไผ่ การเว้นระยะกอไผ่ให้คำนึงถึงระยะต้นยางเป็นหลัก หากยางปลูก 9×9 เมตร สามารถปลูกไผ่ระยะห่าง 3-4 เมตร ถ้าผู้ปลูกวางแผนจะปลูกพืชอื่นแซมเพิ่มอีก เช่น ตะเคียน พะยูง มะฮอกกานี ให้ปลูกไผ่ระยะ 6 เมตร เพื่อต่อไปจะได้ปลูกพืชแซมระหว่างไผ่เพิ่มเติมได้อีก
หลุมที่ขุดสำหรับปลูกต้นไผ่ใช้กว้างยาวลึก 30 เซนติเมตรเท่ากัน รองก้นหลุมด้วยมูลสัตว์พอประมาณ โดยให้ปลูกหันทรงพุ่งของต้นพันธุ์ไปทางทิศตะวันออกเพื่อรับแสงช่วงเช้า ฤดูกาลที่เหมาะสมปลูกไผ่คือ ปลายฝนและหน้าหนาว เพราะไผ่จะพักตัวในช่วงแรกเพื่อสะสมอาหาร เมื่อเข้าต้นฤดูฝนปีถัดไป ไผ่จะตั้งกอได้เร็ว ไม่ต้องกลัวเรื่องติดแล้ง เพราะการปลูกไผ่เป็นพืชแซม ไผ่จะไม่ได้รับแดดโดยตรงคือแสงค่อนข้างรำไร ต้นพันธุ์จึงผ่านแล้งได้ หากผู้ปลูกไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแลจริงๆ ให้ปลูกช่วงต้นฤดูฝน เพราะไผ่จะได้แข็งแรงก่อนเข้าแล้ง การดูแล ช่วงที่ต้นไผ่ยังเล็กอยู่ ให้ดูแลเรื่องวัชพืชรอบโคนต้นและควรใส่ปุ๋ยบำรุงบ้างตามสมควร ช่วงแรกเน้นสูตรเสมอ 15-15-15 มีมูลไก่หรือมูลสัตว์อื่นสามารถใส่ได้บ่อยครั้ง
เจ้าของสวนไผ่อาบูเล่าว่า “ตอนที่ยางพาราคาตกก็เลิกใส่ปุ๋ยให้ต้นยาง เพราะไม่คุ้มค่าใช้จ่าย ก็หันมาเอาใจใส่ไผ่มากกว่า และในสวนยังมีผักอีกหลายชนิด เช่น ผักเหมียง ต้นส้มป่อย พลูกินกับหมากซึ่งขายเป็นรายได้เสริมได้ทุกสัปดาห์ จากการปลูกไผ่ในสวนแล้วนำเศษใบไผ่ใบไม้มากองไว้เป็นกองในสวนแล้วใส่จุลินทรีย์ พด.1 หมักเป็นกองปุ๋ยตามธรรมชาติ วิธีนี้ทำให้สภาพดินดี ดินชุมชื้นขึ้น ปริมาณน้ำยางก็อยู่ในเกณฑ์ดี และยังสังเกตเห็นว่าสวนยางแปลงอื่นเมื่อเข้าหน้าแล้งยางจะผลัดใบหมดทั้งสวน แต่ที่นี่ต้นยางจะค่อยๆ ผลัดใบ เพราะในดินมีความชื้นจากกอไผ่ช่วยค่อนข้างมาก”
สำหรับเกษตรรุ่นใหม่
สำหรับข้อแนะนำนี้ คุณบุญชู กล่าวว่า คนที่ทำงานมีเงินเดือนประจำอยู่แล้วที่คิดจะมาทำเกษตร ที่เขาเจอจะมีอยู่ด้วยกันสองกลุ่มด้วยกัน
แบบแรก คือ คนที่มีเงินเป็นทุนเดิม ที่คิดว่าจะเปลี่ยนวิถีชีวิตจากวิถีคนเมืองเป็นแบบสโลว์ไลฟ์ มีวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย คนกลุ่มนี้เขาจะเริ่มต้นทำยังไงก็ได้เพราะเขามีเงิน เมื่อล้มเหลวหรือเกิดความผิดพลาดก็เอาเงินมาลงใหม่ ซึ่งการทำลักษณะนี้ผมไม่แนะนำ เพราะผู้ทำจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยจากความล้มเหลวที่เกิดขึ้น
แบบที่สอง คือ กลุ่มคนที่อยากทำเกษตรจริงๆ แม้จะไม่มีความรู้เรื่องเกษตร แม้จะมีเงินทุนจำกัดก็สามารถทำได้ แต่เขาจะต้องเรียนรู้ให้มาก ควรเริ่มต้นจากการค้นหาคนต้นแบบที่สามารถจะขอคำแนะนำจากเขาได้ ลองทำในเวลาว่างควบคู่กับการทำงานปกติไปสักระยะ ทำไปเรียนรู้ไป จากความรู้ที่มีและจากการลงมือทำบ่อยๆ จะเกิดเป็นประสบการณ์ ทำไปเรื่อยๆ จนมั่นใจว่างานเกษตรเป็นเรื่องที่เราทำได้ ทำแล้วมีรายได้จริง จึงค่อยก้าวออกมาเต็มตัว
ผมไม่แนะนำให้ใครที่กำลังจะผันตัวเองมาทำเกษตร กระโจนเข้ามาทำโดยความอยากเพียงอย่างเดียว เพราะมันอาจล้มเหลวได้ง่ายๆ การจะทำเกษตรให้สำเร็จผู้ทำต้องมีความรู้และความตั้งใจจริงๆ รู้จักตัวเอง รู้จักสิ่งที่กำลังจะทำ เมื่อรู้แล้วก็ลงมือได้เลย”
ผู้เขียนนั่งอ่านเฟซบุ๊ก สวนไผ่อาบู มีคนใฝ่ฝันที่จะทำเกษตรจำนวนมากมาขอความรู้มาขอคำแนะนำ ทุกคนล้วนได้รับคำตอบจากคุณบุญชูด้วยความจริงใจเสมอ จากการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการนำประสบการณ์ด้านวิศวกรรมมาปรับใช้เข้าด้วยกัน ทำให้เขาสามารถถ่ายทอดประสบการณ์การทำเกษตรให้ผู้ที่สนใจได้เข้าใจแนวทางการทำเกษตรในแบบวิถีเกษตรที่ง่ายๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีคนรุ่นใหม่ที่สนใจทำเกษตรเข้ามาศึกษาเรียนรู้ที่สวนไผ่อาบูเป็นจำนวนมาก
ท่านใดสนใจติดต่อสอบถามได้ที่ เฟซบุ๊ก สวนไผ่อาบู หรือ เบอร์โทร. 086-282-2176