ใช้พื้นที่ 2 ไร่ คนงาน 2 คน ปลูกสตรอเบอรี่ สร้างรายได้งามช่วงเทศกาล

ในบรรดาผลไม้เมืองหนาวทำเงินในบ้านเรา ต้องบอกว่า สตรอเบอรี่ มาแรงทีเดียว และใช่จะปลูกได้บนดอยสูงๆ เท่านั้น เวลานี้สามารถปลูกกันได้ในหลายพื้นที่ในหลายจังหวัด อย่างในภาคอีสาน ที่บุรีรัมย์ ปากช่อง เขาใหญ่ หรือที่กาญจนบุรี ราชบุรี และอุทัยธานี ในภาพรวมตอนนี้บ้านเราปลูกสตรอเบอรี่กันประมาณ 1 หมื่นไร่ สามารถขายได้กิโลกรัม (ก.ก.) ละประมาณ 200-500 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ออกผล สร้างรายได้ให้เกษตรกร เฉลี่ยไร่ละ 300,000-500,000 บาท ทำให้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยรวยกันเป็นแถว

ปลูกพันธุ์พระราชทาน 80

อย่างวันก่อนทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เชิญคณะสื่อจากส่วนกลางไปชมไร่ GB ของ ร้อยตรียุทธนา บำรุงคีรี เกษตรกรอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าม้ง ที่มีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการปลูกสตรอเบอรี่ ในพื้นที่ 2 ไร่ โดยในช่วงต้นฤดูสามารถขายได้กิโลกรัมละ 400-500 บาท ซึ่งเมื่อ ปี 2558 หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว มีรายได้ ประมาณ 350,000-400,000 บาท ใช้เวลาปลูกประมาณ 5 เดือน แต่ในช่วงแรกอาจจะต้องลงทุนมากหน่อยในเรื่องระบบน้ำ และในปี 2559 มีรายได้เท่าๆ กับ ปี 2558

ร้อยตรียุทธนา เจ้าของไร่ GB เล่าว่า เดิมนั้นในพื้นที่เขาค้อไม่ได้มีการปลูกสตรอเบอรี่ พอดีมีญาติๆ อยู่ทางเชียงใหม่ปลูกกันอยู่แล้ว เมื่อมาเห็นนักท่องเที่ยวที่เขาค้อจำนวนมาก เลยนำมาทดลองปลูก เมื่อ ปี 2555 ครั้งแรกปลูก 3 ไร่ พอปีที่ 2 ปลูกเพิ่มขึ้น 30 ไร่ พอปีที่ 3 ปลูกเพิ่มถึง 80 ไร่ ปีนี้เป็นปีที่ 5 บนเขาค้อน่าจะปลูกกันประมาณ 300 ไร่ ในจำนวนเกษตรกร 200 ราย

ทั้งนี้ ชาวเขาเผ่าม้งที่ปลูกสตรอเบอรี่ ส่วนใหญ่มักส่งขายที่ปากคลองตลาดและตลาดไท แต่ที่มาปลูกที่เขาค้อเพื่อต้องการจะขายให้นักท่องเที่ยว ซึ่งกระจายปลูกตามเส้นทางที่ขึ้นลงจากเพชรบูรณ์ หรือจากพิษณุโลกมา โดยสองข้างทางถ้ามีแหล่งน้ำก็จะปลูกกันทั้งหมด เน้นพันธุ์พระราชทาน 80 ทั้งหมด เพราะนักท่องเที่ยวนิยม เนื่องจากสามารถเก็บรับประทานสดได้เลย รสชาติไม่เปรี้ยว ก่อนหน้านี้เคยนำพันธุ์เปรี้ยวมาทดลองปลูกแต่ไม่ได้ผล

สำหรับราคาขายนั้น ถ้าเป็นช่วงต้นฤดู ขายอยู่กิโลกรัมละ 400 บาท ตอนปีใหม่กิโลกรัมละ 500 บาท ราคาจะขึ้น แต่พอหลัง วันที่ 15 มกราคม ไปแล้ว ราคาลดลงมา เหลือกิโลกรัมละ 200-300 บาท ซึ่งเป็นช่วงที่สตรอเบอรี่ออกมากที่สุดคือ ช่วงปลายมกราคมถึงปลายกุมภาพันธ์ บางแห่งขายกิโลกรัมละประมาณ 80-100 บาท เท่านั้น โดยจะมีขายไปถึงปลายเดือนมีนาคม

ร้อยตรียุทธนา ให้ข้อมูลอีกว่า ในเนื้อที่ปลูกสตรอเบอรี่ 2 ไร่นั้น ใช้แรงงาน 2 คน อยู่ประจำ ถ้าเร่งด่วนต้องหาแรงงานเพิ่ม

“ผมว่าปลูกสตรอเบอรี่ดีกว่าบรรดาพืชทั้งหลาย ก่อนหน้านี้เคยปลูกข้าวโพด ขิง และผักต่างๆ สรุปแล้วสตรอเบอรี่เป็นพืชที่ได้ราคาดีที่สุด อย่าง ข้าวโพด ใช้พื้นที่เยอะ อย่างน้อยใช้ 30-50 ไร่ ถึงจะพอแต่ละรอบปี แต่สตรอเบอรี่ใช้เพียง 1-2 ไร่ เท่านั้นเอง ผลไม้อย่างอื่นก็เคยทดลองปลูกเหมือนกัน พวกลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง แต่พื้นที่เขาค้อไม่ได้ผล เลยหันมาปลูกสตรอเบอรี่แทน”

 

ซื้อไหลจากเชียงใหม่

เกษตรกรที่เขาค้อเกือบทั้งหมดจะไปซื้อไหลสตรอเบอรี่มาจากอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถ้าไปรับเอง ตกต้นละ 2.50 บาท ถ้าให้คนขายมาส่ง ต้นละ 4 บาท ไร่หนึ่งใช้ไหลประมาณ 10,000-12,000 ต้น

ร้อยตรียุทธนา แนะนำการเลือกไหลที่มีคุณภาพว่า ต้องเลือกไหลที่ไม่แก่เกินไป ถ้าไหลที่แก่เกินไป เมื่อนำมาปลูกรากจะไม่เดิน จะตาย ทั้งนี้ก่อนที่จะนำไหลมาปลูกต้องมีการเตรียมดินก่อน โดยใช้รถขุดทำเป็นร่อง สูงประมาณ 1 ฟุต ในดินที่เตรียมไว้นั้นใส่มูลไก่หรือมูลหมูก็ได้ จากนั้นใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ ในช่วงที่ไหลฟื้นตัว ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เกษตรกรจะเริ่มปลูกไหลในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และจะเก็บผลได้ประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน พอรุ่นนี้หมดแล้ว รุ่นที่สองจะออกดอก ต้นหนึ่งออกผล 3-4 รุ่น ออกไปจนถึงเดือนมีนาคม หากดูแลดีจะสามารถเก็บผลได้ถึงจนเดือนเมษายน

ร้อยตรียุทธนา แจงว่า เกษตรกรบนเขาค้อที่ปลูกสตรอเบอรี่รายใหญ่ที่สุด ปลูกประมาณ 4 ไร่ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่เกิน 2 ไร่ บางคนทำไร่หนึ่ง ไร่ครึ่ง หรือครึ่งไร่

สำหรับปัญหาที่พบในการปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 ร้อยตรียุทธนา ระบุว่า เป็นเรื่องเชื้อรา พวกเพลี้ยไฟ ไรแดง ช่วงออกดอกออกลูก โดยเฉพาะตอนฝนตกลูกจะเสียหมดเลย เพราะเป็นเชื้อรา แต่จะมีเจ้าหน้าที่เกษตรในพื้นที่มาให้คำแนะนำในการใช้ยากำจัดและควบคุมไม่ให้เกิดโรค

ปัญหาอีกอย่าง คือในปลายฤดูผลผลิตล้นตลาด ไม่สามารถระบายไปได้ เพราะเป็นผลไม้ที่เสียไว ภายใน 1-2 วัน ก็ใช้ไม่ได้แล้ว และพันธุ์พระราชทาน 80 นี้ หากนำไปอบเนื้อจะแห้งหมด ดังนั้น จึงใช้วิธีนำไปแช่แข็งไว้ เพื่อไว้ทำเป็นน้ำสตรอเบอรี่สดขายในช่วงที่ไม่ได้ปลูกสตรอเบอรี่ ซึ่งการแช่แข็งก็ทำให้ได้รสชาติสดเหมือนเดิม

 

เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

เจ้าของไร่ GB ให้รายละเอียดว่า แม้สตรอเบอรี่จะเป็นพืชที่ใช้เวลาปลูกแค่ 5 เดือน และได้ราคาดี แต่ต้องดูแลตลอดเวลา เป็นพืชที่ละเอียดอ่อน และเป็นพืชที่ขาดน้ำไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดวันหนึ่งต้องรดน้ำครั้งหนึ่ง ปัญหาคือ ถ้าไม่มีแหล่งน้ำก็ไม่สามารถปลูกได้ สำคัญที่สุดคือเรื่องน้ำ ระบบน้ำที่ไร่ใช้ 2 อย่าง คือ 1.ใช้สปริงเกลอร์ และ 2.น้ำหยด

ในช่วงเริ่มปลูกครั้งแรก เมื่อ ปี 2552 ร้อยตรียุทธนา บอกว่า ได้ผลผลิตน้อย เพราะไม่มีประสบการณ์ แต่ก็เรียนรู้มาเรื่อย รวมทั้งการไปศึกษาดูงานที่เชียงใหม่พร้อมสอบถามเกษตรกรที่นั่น

ร้อยตรียุทธนา พูดถึงการที่เกษตรกรในหลายจังหวัดหันมาปลูกสตรอเบอรี่กันว่า ควรจะรวมตัวกัน เพื่อขายผลผลิตให้กับทางบริษัท เพราะไม่เช่นนั้นหากมีผลผลิตออกมามาก บริษัทอาจจะไม่รับซื้อ ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ไร่ GB ใช่จะปลูกสตรอเบอรี่ไว้ขายอย่างเดียว ยังปลูกไม้ดอกเมืองหนาวอีกหลายชนิด เพราะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตรเศษๆ และมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปี 18-25 องศาเซลเซียส และยังมีชิงช้าแบบอาข่าให้นั่งเล่น โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม และถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกเด็ดสตรอเบอรี่จากไร่ได้เอง แล้วนำมาชั่งก่อนคิดเงิน ซึ่งในช่วงฤดูหนาวมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวจำนวนมาก เพราะเป็นจุดที่สามารถมองเห็นกังหันลมขนาดใหญ่ที่ตั้งเรียงรายอยู่เบื้องหน้าได้อย่างสวยงาม

ใครไปใครมาที่เขาค้อ ส่วนใหญ่มักขึ้นไปไร่ GB ของร้อยตรียุทธนา เพราะนอกจากจะได้ชมได้ถ่ายรูปไร่สตรอเบอรี่ที่กำลังออกลูกสีแดงสด และดอกไม้สารพัดสีกันแล้ว ยังมีมุมสวยๆ ให้ได้ถ่ายภาพกันอีกหลายจุด อย่างเช่น กังหันลมจำลอง และรูปจำลองชุดเผ่าม้ง เสร็จแล้วสามารถช็อปและชิมสินค้าเกษตรนานาชนิด

สนใจเที่ยวชมไร่ GB ติดต่อสอบถามได้ที่ ร้อยตรียุทธนา บำรุงคีรี โทร. (081) 785-2064 ซึ่งแม้ในพื้นที่ 9 ไร่ ของที่นี่จะไม่มีที่พักไว้บริการ แต่ถ้านักท่องเที่ยวรายใดสนใจ สามารถนำเต็นท์มากางได้ เพราะมีห้องน้ำไว้รับรองเรียบร้อย