สะละอินโดนีเซีย ปลูกได้ผล ที่หนองพอก ร้อยเอ็ด

อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด นอกจากทำไร่ ทำนาแล้ว ยังมีการปลูกสะละพันธุ์จากประเทศอินโดนีเซีย รู้จักกันดีทางภาคใต้ว่า สะละน้ำผึ้ง

แม่เปิ้ล-พ่อเจริญ ศรีหาญ อยู่บ้านเลขที่ 86 หมู่ที่ 1 บ้านโนนมาลี ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด โทร.097-234-8433 เป็นเกษตรกรผู้ปลูกสะละน้ำผึ้งได้ผลดี

ต้นพันธุ์

แม่เปิ้ล เล่าวิธีการปลูกให้ฟังงว่า ขุดหลุมกว้าง ยาว ลึก 50 เซนติเมตร ผสมดินปลูกปุ๋ยอินทรีย์ : ดินร่วน อัตราส่วน 3 : 1 ปลูก 1 ต้น มีการแตกหน่อ ให้ไว้ไม่เกิน 4 ต้น ระยะปลูก 2.50×2.50 เมตร ได้ประมาณ 256 ต้น/ไร่ ระยะเวลา 3 ปี ได้ผลผลิต 40-50 กิโลกรัม/ต้น หน้าสวนราคา 100 บาท/กิโลกรัม สะละ 1 ต้น ทำเงิน 4,000-5,000 บาท มากกว่าทำนาข้าว 1 ไร่ สะละเป็นพืชต้องการความชื้นสูง ห้ามขาดน้ำ

สะละ อำเภอหนองพอก ออกดอกประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม จะสุกแก่ช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ช่วงสะละสุกแก่ เดินทางเข้าในสวนหอมกรุ่นตลอดสวน รสชาติ “สะละ” อำเภอหนองพอก อร่อย หอม หวาน ชุ่มฉ่ำ ปัจจุบัน สวนแม่เปิ้ลเพาะกล้าสะละจำหน่าย ราคามิตรภาพ มั่นใจเชื่อถือได้ ติดต่อได้ ไปท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม วัดป่าผาน้ำทิพย์ นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระมหาเจดีย์ศรีชัยมงคล ผาหมอกมิวาย แวะชิม “สะละ” รสชาติดี แห่งดินแดนภูเขาเขียว เมืองหนองพอก เมืองแห่งอนาคต ยินดีต้อนรับ

ติดผลดี

คุณชาญศักดิ์ หงษ์ทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอหนองพอก กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สะละ เป็นพืชพื้นเมืองของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีมากมายหลายกว่า 30 สายพันธุ์ โดยพันธุ์ที่นิยมรับประทานมากที่สุดคือ สะละพันธุ์อินโดน้ำผึ้ง พันธุ์ปนโดะห์ (Salak pondoh) จากเมืองยอร์ก ยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากมีรสหวาน กลิ่นหอม น่ารับประทาน และสะละพันธุ์บาหลี (Salak Bali) จากเกาะบาหลี ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยว มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว เนื้อเยอะ ลักษณะของผลสะละเป็นรูปทรงรียาว ผลอ่อนเป็นสีน้ำตาล ส่วนผลแก่เป็นสีแดงอมน้ำตาล เปลือกเป็นเกล็ดซ้อนกัน และบนผลมีขนแข็งสั้นคล้ายหนาม

ป่าสะละอินโดนีเซีย

คุณชาญศักดิ์ บอกว่า ต้นสะละ จะมีหนามแข็งแหลมออกจากก้านใบ ดอกแยกเพศสีน้ำตาล โดยสะละออกผลเป็นทะลายเรียกว่า “คาน” ซึ่งในแต่ละคานก็จะมีทะลายย่อย ซึ่งเราจะเรียกว่า “กระปุก”

ประโยชน์ของสะละ แก้อาการกระหายน้ำและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับร่างกาย สะละเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันบำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ (โพแทสเซียมและเพกทิน) บำรุงและรักษาสายตา บำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง (แคลเซียมและฟอสฟอรัส) บำรุงและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด บำรุงเลือด ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันอาการหวัด บรรเทาอาการไอ ใช้เป็นยาขับเสมหะ (เนื้อสะละ)

ป้องกัน รักษา และบรรเทาอาการของโรคท้องร่วง ในการย่อยอาหาร ลดกรดในกระเพาะ ป้องกันอาการท้องผูก ในต่างประเทศมีการนำใบของต้นสะละมาทำเป็นชาผสมกับน้ำผึ้ง เพื่อใช้รักษาและบรรเทาอาการของโรคริดสีดวง ใช้รับประทานเป็นผลไม้ ทำน้ำผลไม้ สะละเป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนัก ปกติแล้วนิยมรับประทานเป็นผลไม้สด สะละลอยแก้ว ใช้ทำน้ำผลไม้ หรือนำไปสกัดกลิ่นเพื่อใช้แต่งกลิ่นอาหาร เป็นต้น

ผลผลิต

สำหรับสายพันธุ์สะละที่นิยมปลูกในประเทศไทยก็มีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น สะละเนินวง (ผลหัวท้ายเรียว สีส้มอมน้ำตาล มีหนามยาว ผลดิบรสฝาด ส่วนผลสุกมีรสหวาน หอม), สะละหม้อ (ผลยาว ปลายแหลมเป็นจะงอย และเปลือกมีสีแดงเข้ม), สะละสุมาลี (ผลป้อมสั้น เนื้อสีส้มคล้ายระกำ แถมทรงต้นยังคล้ายระกำอีกด้วย)

สะละ กับ ระกํา ต่างกันอย่างไร … ผลระกำ จะออกเป็นทะลาย ลูกจะป้อมๆ กลมๆ อ้วนๆ เปลือกหุ้มผลเป็นเกล็ดสีน้ำตาลหรือดำ ถ้าแก่ผลจะเป็นสีแดง 1 ผล จะมีกลีบ 2-3 กลีบ เนื้อน้อย มีสีเหลืองอมส้ม มีรสเปรี้ยว เมล็ดใหญ่ มีหนามเยอะและยาวกว่าหนามสะละ

แม่เปิ้ล ศรีหาญ

ส่วน สะละ ผลจะมีสีคล้ำออกน้ำตาล หนามที่เปลือกไม่แข็งเท่าระกำ มีผลยาวกว่า เนื้อเยอะกว่า เนื้อเป็นสีเหลืองอ่อน ผลมี 1-2 กลีบ เมล็ดเล็กกว่าระกำ มีรสชาติหวานกว่า การแกะรับประทานก็ง่ายกว่าระกำ และลักษณะของต้นสะละทางใบจะสั้นกว่าต้นระกำ ลำต้นก็เตี้ยกว่าด้วย (ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ด้วย)

วิธีปอกเปลือกสะละ เทคนิคง่ายๆ ก็คือ ต้องปอกเปลือกจากปลายหางแล้วบิดเฉียง จะทำให้ผลสะละที่อยู่ด้านในไม่สกปรกด้วยหนามของเปลือกสะละ และวิธีนี้ก็ทำให้ไม่โดนหนามของเปลือกสะละทิ่มหรือตำมือด้วย ง่ายๆ