มังตาน ไม่ติดยึดถิ่นที่ ไม่มีใครรักสักที เพราะน้ำยามีพิษ แต่…เปลือกสนิทกับธูปหอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ Schima wallichii (DC.) Korth.
ชื่อสามัญ Needle wood , Munq – Tan
ชื่อวงศ์ THEACEAE
ชื่ออื่นๆ พันตัน (ปักษ์ใต้) มังกะตาน (พายับ) ลำโคระ (ละโว้) คายโซ่ กาโซ่ กรรโชก จำปา พระราม พังตาล ทะโล้

ผมไม่ใช่หนุ่มเมียนมานะ อย่าอ่านแต่ชื่อที่ขึ้นต้นด้วย “มัง” แม้ว่าอาจจะพบผมได้ในประเทศพม่าบ้าง แต่ส่วนใหญ่ผมจะชอบอยู่ที่ญี่ปุ่น หรือเขตร้อนอินโดนีเซียมากกว่า ตามที่ผมบอกว่าไม่ยึดติดถิ่นที่ จนถูกหาว่าผมเป็น “ไม้ไร้ถิ่น” เพราะสามารถขึ้นได้ทุกสภาพภูมิประเทศ

เรื่องที่ผมย้ำว่าไม่เป็น “หม่อง” นุ่งโสร่ง เพราะชื่อผมขึ้นต้นด้วยมัง ใครๆ จึงคิดว่าผมมาจากพม่า เนื่องจากอ่านพงศาวดารแล้วพบชื่อแบบนี้มากมาย เช่น มหาอุปราช “มังกะยอชะวา” (พม่า ออกเสียง เมงเยจอสวา) หรือ ชื่อ มังสามเกียด บุตรชายของพระเจ้านันทบุเรง ทายาทแห่งอังวะ “มังกะยินโย” ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอู (2077) “มังกะยอดิน” กษัตริย์แห่งราชวงศ์ตองอูของพม่า (2216-2241) นอกนั้นที่เราได้ยินชื่อ “พระเจ้ามังระ” และ “มังจาปะโร”

ในเมืองไทยคนทั่วไปเรียกผมว่า “ทะโล้” ซึ่งทางภาคเหนือโดยเฉพาะชาวไทยภูเขาให้ความนับถือผมมาก จัดให้ผมอยู่ในพรรณไม้ศักดิ์สิทธิ์ไม่ตัดทำลาย ไม่นำไปใช้เหมือนไม้ทั่วไป แต่ผมรู้ความจริงแล้วคงจะเป็นเพราะเนื้อไม้ของผมมีเสี้ยนคันมาก มีน้ำยางที่เป็นพิษ พวกเขาจึงไม่นิยมตัดไปใช้ประโยชน์ใดๆ ทั้งๆ ที่ประโยชน์เชิงสมุนไพรของผมก็มีมากมาย

โดยธรรมชาติ หุ่นร่างทรงพุ่มผมสูงใหญ่ บางต้นสูงได้มากกว่า 30 เมตร ไม่ผลัดใบ เปลือกลำต้นสีน้ำตาลปนดำ ขรุขระ แตกเป็นร่องลึกยาว ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างเหมือนมีเคลือบขาว แต่ใบอ่อนจะมีสีออกแดงๆ ผมออกดอกสีขาว บานสะพรั่งในฤดูร้อน ออกเป็นดอกเดี่ยว หรืออาจจะเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง แต่กลีบดอกอาจมีสีชมพูหรือแดง มีเกสรเพศผู้สีเหลืองสด บานได้นาน 2-3 วัน เมื่อเป็นผลแห้งจะแตกเป็นพูตามยาว มีเมล็ด 1-2 เมล็ดกลมๆ เพาะพันธุ์ได้ หรือตอนกิ่งก็ได้

คุณค่าเชิงสมุนไพรของผม นอกจากที่ชาวไทยภูเขานับถือในด้านความเชื่อทางจิตวิญญาณ แต่ประโยชน์อื่นผมก็เป็นที่รู้จักมากมายในตำรา ก็ใช้ดอกแห้งแช่หรือชงน้ำให้สตรีที่คลอดบุตรใหม่ๆ ดื่มต่างน้ำแก้โรคขัดเบา โรคชักลมบ้าหมู ต้นและกิ่งอ่อนแก้คลื่นไส้อาเจียน รวมทั้งทำน้ำหยอดหูแก้ปวด ส่วนเปลือกต้นก็ใช้ทำเหยื่อเบื่อปลา แต่ที่ผมรู้สึกว่าดอกสวยขัดแย้งกับบุคลิกผมก็คือ ดอกดก สีสวย กลิ่นหอม และเปลือกต้นหอมนี่แหละที่เขาใช้บดเป็นผง นำไปผสมเป็นธูปหอม เดี๋ยวนี้เขาปลูกผมไว้ตามข้างทางหลวงหลายสายแล้วนะครับ

เพียงชื่อ “มัง” ไม่ใช่ “หม่อง” พอมองดอกแล้วน่ากลัดแซมผมกับสาวพม่านัยน์ตาแขก แต่ถ้าเผลอเอาน้ำยางทาแก้มแทน “ทานาคา” รับรอง…แก้มคันคะเยอผื่นขึ้นคะเย้อแน่นอน