กลุ่มเพาะเห็ดบ้านท่าช้าง พรหมพิราม ทำก้อนเชื้อเห็ดคุณภาพ จากขี้เลื่อยยางพารา

ก้าวเข้าเกษตรยุค 4.0 แล้ว เกษตรกรรุ่นเก่าที่ยังคงใช้ภูมิปัญญาในการบริหารจัดการแปลงเกษตรก็ยังคงมีอยู่ แม้จะค่อยๆ จางลงไป แต่ก็มีเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เรียกกันว่า ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ก้าวเข้ามาทดแทน สามารถบริหารจัดการด้วยการนำภูมิปัญญาผนวกกับนวัตกรรมใหม่ๆ ในภาคเกษตร สานต่อ ทำให้แปลงเกษตรได้รับการต่อยอดและมีการพัฒนาไม่ใช่น้อย

คุณวิวัฒน์ ฟักทอง

ที่ ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก มีเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่รวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเพาะเห็ดบ้านท่าช้างขึ้น จดทะเบียนเมื่อปี 2549 เริ่มจากเกษตรกร จำนวน 14 คน ปัจจุบัน เพิ่มจำนวนเป็น 73 คน

ในจำนวนนี้ แท้ที่จริงเริ่มต้นจาก คุณวิวัฒน์ ฟักทอง เกษตรกรหนุ่มที่ทำงานประจำ แต่สนใจการทำการเกษตร โดยเฉพาะการเพาะเห็ด เขาใช้เวลาว่างในการศึกษาการเพาะเห็ด ถึงกับสมัครไปเรียนรู้กับกลุ่มเพาะเห็ดหลายแห่งมาก่อนหน้า ในที่สุดจึงตัดสินใจควักเงินเก็บทำโรงเรือนเพาะเห็ดขึ้น 1 โรง ขนาด 4×4 เมตร ซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเพาะ หมดเงินก้อนแรกไปกว่า 50,000 บาท แล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ

คุณวิมล ฟักทอง

คุณวิวัฒน์ บอกว่า ก้อนเชื้อเห็ดที่ซื้อมาทั้งหมด ไม่เปิดดอกเห็ดให้ เพราะเชื้อไม่เดิน เมื่อรู้สาเหตุของปัญหา จึงคิดเพาะก้อนเชื้อเห็ดเอง พยายามทดลองและศึกษา ลองผิดลองถูกนานเกือบ 2 ปี ในที่สุดก็ได้ก้อนเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพ

เพราะเคยถูกหลอกจากการลงทุนซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาเพาะก่อนหน้านี้ การทำก้อนเชื้อเห็ดเอง จึงเป็นก้อนเชื้อเห็ดที่มีคุณภาพ เปอร์เซ็นต์การให้ดอกครบทุกก้อน

สูตรก้อนเชื้อเห็ดของคุณวิวัฒน์ มีวัตถุดิบที่ไม่แตกต่างจากแหล่งอื่น คือ ปูนขาว ยิปซัม เกลือ รำละเอียด แต่ที่แตกต่างก็คือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ที่ต้องสั่งตรงมาจากโรงเลื่อยไม้ที่ภาคใต้ และคุณวิวัฒน์เชื่อว่า ขี้เลื่อยไม้ยางพารานี่แหละ คือวัตถุดิบที่ทำให้ก้อนเชื้อเห็ดเพาะเห็ดได้อย่างมีคุณภาพ

(จากซ้ายไปขวา) คุณฉัตรแก้ว วิรบุตร์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก คุณนิตยา นุ่มเนื้อ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรอำเภอพรหมพิราม คุณวิวัฒน์ ฟักทอง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านท่าช้าง คุณสุพรรณิกา อยู่ครอบ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรอำเภอพรหมพิราม และ คุณเยาวดี จันทร์สง่า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอพรหมพิราม

เริ่มต้นการเพาะเห็ด จากเห็ดนางฟ้า และเริ่มพัฒนาเพาะเห็ดหูหนู เห็ดกระด้าง เห็ดนางรม เห็ดขอน และเห็ดโคนญี่ปุ่น

จากโรงเรือนเพียงโรงเดียว เมื่อเก็บผลผลิตได้และนำไปขายที่ตลาดชุมชน ก็ทำให้มีรายได้เข้าครัวเรือนเกือบทุกวัน ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนโรงเรือนมากขึ้น โดยคุณวิวัฒน์เพิ่มขนาดของโรงเรือนยาวต่อเนื่องกัน ขนาดความยาว 50 เมตร กว้าง 8 เมตร

เมื่อถามถึงความชื้นภายในโรงเรือน อุณหภูมิภายในโรงเรือนมีความจำเป็นมากเพียงใด คุณวิวัฒน์ ตอบด้วยท่าทีสบายว่า ไม่จำเป็นต้องวัดอุณหภูมิหรือความชื้นภายในโรงเรือนด้วยอุปกรณ์การวัดใดๆ ให้ใช้ตัวเองเป็นหลัก หากคนเดินเข้าไปในโรงเรือนแล้ว ไม่รู้สึกอึดอัด ไม่ร้อน ไม่อบอ้าว นั่นหมายถึง อุณหภูมิภายในโรงเรือนใช้ได้ และเห็ดก็สามารถเจริญเติบโตในอุณหภูมิเช่นนั้นได้เช่นกัน กรณีที่อากาศร้อนอบอ้าวมากๆ อาจเปิดมินิสปริงเกลอร์ที่ติดไว้ด้านบนของโรงเรือน เพื่อช่วยระบายความร้อนภายในโรงเรือนออกไป

ขี้เลื่อยไม้ยางพารา วัตถุดิบที่ทำให้ก้อนเชื้อเห็ดมีคุณภาพ

กิจกรรมในแต่ละวันของการเพาะเห็ด ทุกเช้าจะต้องเข้ามาเก็บเห็ดก่อน เพื่อนำดอกเห็ดที่แก่เก็บไปขาย จากนั้นรดน้ำเห็ด โดยเปิดสปริงเกลอร์รดให้เปียกเห็ดทุกก้อน ใช้เวลาประมาณ 50 นาที หรือเปิดน้ำจากสายยางเดินรดน้ำเห็ดไปเรื่อยๆ ใช้เวลาเพียง 15 นาที เท่านั้น ค่าใช้จ่ายจากการรดน้ำเห็ดต่อเดือน ประมาณ 400 บาท จากนั้นเปิดดอกในก้อนเพาะเชื้อเห็ดที่มีความพร้อม โดยปกติหลังเก็บเห็ด จำเป็นต้องพักก้อนเชื้อเห็ด 10-15 วัน จึงจะเปิดดอกเห็ดรอบต่อไป

เวลาว่างหลังจากนั้น จึงเพิ่มมูลค่าด้วยการ “แปรรูป”

การอบลมร้อนเห็ดหูหนู

เมื่อเริ่มก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนฯ คุณวิวัฒน์ จึงให้บริการสมาชิกด้วยการรับซื้อเห็ดนางฟ้า เพื่อรวบรวมนำไปขายทั้งขายส่งและขายปลีก วันละประมาณ 100-120 กิโลกรัม และประกันราคาให้กับสมาชิกที่นำมาส่งให้กับวิสาหกิจชุมชนฯ ในราคารับซื้อ กิโลกรัมละ 50 บาท

“การเพาะเห็ด ไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ย สำคัญตรงที่การควบคุมความชื้นให้ได้ และโรงเรือนไม่จำเป็นต้องมืด แค่พอมีแสงรางๆ ก็พอ หากมืดเกินไป จะทำให้เห็ดมีสีซีดจาง”

เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มมีรายได้ จึงเริ่มผลิตก้อนเชื้อเห็ดเพื่อจำหน่ายเอง โดยก้อนเชื้อเห็ดที่ผลิตต้องรอให้เดินเส้นใยเห็ดแล้ว 1 เดือน จึงจะจำหน่ายออก แต่เพราะก้อนเชื้อที่ได้คุณภาพ ทำให้มีลูกค้าจำนวนมากออเดอร์ก้อนเชื้อเข้ามา แต่ความสามารถในการผลิตก้อนเชื้อต่อวัน ทำได้เพียงวันละ 1,000 ก้อน เท่านั้น ทำให้มียอดจองก้อนเชื้อยาวไปล่วงหน้า 2 เดือน ราคาก้อนเชื้อก็ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค จำหน่ายในราคา ก้อนละ 8.50 บาท กรณีรับด้วยตนเอง แต่ถ้าส่งถึงที่ คิดราคาก้อนละ 9 บาท

โรงผลิตเครื่องดื่มที่ได้มาตรฐาน

สมาชิกที่เข้ามาลงมือผลิตก้อนเชื้อ จะได้ค่าแรง วันละ 250 บาท ส่วนสมาชิกที่ไม่ได้เข้ามาทำงาน ก็รอรับปันผลรายปี

เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนหนึ่ง แนวคิดเรื่องการแปรรูปจึงเกิดขึ้น

ในการดูแลโรงเรือนเห็ด การทำก้อนเชื้อ และการแปรรูป คุณวิวัฒน์มีผู้ช่วยมือฉกาจที่มีมุมมองและแนวคิดในการเพาะเห็ดที่เก่ง คือ คุณวิมล ฟักทอง ภรรยา ที่เริ่มฟูมฟักช่วยกันมาตั้งแต่เริ่มต้น จนปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ ได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. โดยมี คุณวิวัฒน์ เป็นประธานศูนย์ฯ

เห็ดหัวลิง หรือเรียกอีกชื่อว่า เห็ดภู่มาลา

ในส่วนการแปรรูป คุณวิวัฒน์ บอกว่า โดยทั่วไปการแปรรูปเห็ดจะเน้นไปที่กลุ่มคนรักสุขภาพ จึงมองตลาดที่ไปตรงกับผู้ประกอบการอื่น เริ่มจากการทำสแน็กเห็ด และมองหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ โดยไม่ซ้ำกับผู้ผลิตรายอื่น ทำให้แนวคิดมาจบที่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากเห็ดหูหนู ซึ่งปกติจะผลิตจากเห็ดหลินจือ หรือเห็ดที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูง โดยมองข้ามเห็ดหูหนูไป แต่เนื่องจากกลุ่มมองว่าเห็ดหูหนูมีคุณลักษณะเป็นวุ้น เมื่อทำให้เนื้อเห็ดหูหนูละเอียด รับประทานแล้วก็ยังมีความนุ่ม กรุบ ความรู้สึกเหมือนรับประทานวุ้นหรือรังนก

ผลิตภัณฑ์ที่นำเห็ดหูหนูมาแปรรูป ประกอบด้วย น้ำเห็ดหูหนูขาวพร้อมดื่ม น้ำเห็ดหูหนูดำพร้อมดื่ม เครื่องดื่มเห็ดหูหนูขาวผสมวิตามินซี และอนาคตมีแนวคิดจะผลิตเจลเพิ่มพลังงานจากเห็ด สำหรับผู้ออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ซึ่งผู้สนใจสามารถซื้อได้ตามร้านค้าชุมชนใกล้เคียง หรือค้นหาสินค้าในเว็บขายสินค้าออนไลน์สำเร็จรูปหลายแห่ง

เห็ดเป๋าฮื้อ

สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านท่าช้าง เป็น ศพก. ของพื้นที่ และมี คุณวิวัฒน์ ฟักทอง เป็นประธานศูนย์ฯ จึงยินดีให้ความรู้สำหรับผู้ที่สนใจงานเกษตร ติดต่อสอบถามเข้ามาได้ที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านท่าช้าง หมู่ที่ 2 ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก หรือโทรศัพท์ 084-622-5879 นัดหมายก่อนล่วงหน้า ยินดีให้การต้อนรับ

เห็ดโคนญี่ปุ่น
เห็ดนางรมสีทอง
เห็ดนางฟ้าภูฏาน
ระบบสปริงเกลอร์ให้น้ำ เมื่ออุณหภูมิโรงเรือนสูงขึ้น
ก้อนเชื้อที่ได้รับการบรรจุเชื้อแล้ว อยู่ระหว่างรอให้เชื้อเดิน
เห็ดหูหนูดำ
ใช้เครื่องกรอกแทนแรงงานคน
คุณวิมล ฟักทอง กับเห็ดนางรมฮังการี