ขึ้นเฮือน เยือนบ้าน หมอดินอาสาคนเก่ง สกลนคร

วันนี้ได้รับการชวนจาก ดร.ชูพงศ์ คำจวง เจ้าของโครงการ “นอนบ้านมั่งคั่ง นอนนาแก้จน” จาก ดร. มาเป็นเกษตรกร ทำเอง ทำจริงเป็นตัวอย่าง หรือที่เรียกว่า “แหล่งเรียนรู้” จะไปศึกษาดูงานเรื่องที่ดินกับหมอดินอาสา ที่บ้านอีกุด อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ได้รับเกียรติจาก ดร.ชูพงศ์ เป็นสารถีให้นั่งรถ มุ่งหน้าจากตัวจังหวัดสกลนครไปตามถนนสายสกลนคร-นครพนม เลาะเลียบชมความเขียวขจี ท้องทุ่งริมหนองหารยามนี้ ข้าวกล้ากำลังงาม ภาพเขียวขจีมองผ่านต้นไม้ มองเห็นเทือกเขาภูพาน ตระหง่านด้วยสีน้ำเงินเข้ม ยามท้องฟ้าโปร่งใสไร้เมฆหมอก

ขับมาไม่นาน ผ่านอุทยาน “หนองหารน้อย” หรือที่เรียกกันว่า “สวนบัว” เข้าสู่ “บ้านท่าแร่” ที่เอ่ยชื่อแล้วหลายคนรู้จักเป็นอย่างดี และใช้เวลาประมาณ 20 นาที ก็เข้าสู่ตัวอำเภอกุสุมาลย์ ดินแดนที่ว่า “ดินแดนดอกกระเจียว เขียวงามผักหวาน ยอดอาหารไข่มดแดง แมงแคงจั๊ักจั่น ลือลั่นวัฒนธรรมไทโส้” อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสกลนคร 45 กิโลเมตร

คุณหทัยทิพย์ จารุสาร และ ดร.ชูพงศ์ คำจวง

พอเข้าเขตเทศบาลตำบลกุสุมาลย์ มีแยกตรงหน้าโรงเรียนบ้านกุสุมาลย์เลี้ยวซ้ายเข้าไป ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านอีกุด ตำบลกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร เป็นบ้านของ คุณหทัยทิพย์ จารุสาร หรือ ป้าเขียว หมอดินอาสาประจำตำบลกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร

หลังจากได้ทักทายกันแล้ว คุณหทัยทิพย์ เล่าให้ฟังว่า การศึกษาจบระดับปริญญาตรี ได้สมรสกับ จ.ส.อ. ประหยัด จารุสาร มีบุตรธิดา 3 คน ที่อยู่บ้านเลขที่ 60 หมู่ที่ 6 ตำบลกุสุมาลย์ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร

ป้าเขียว และสามี

จากแนวคิดที่จะพัฒนาที่ดิน จึงเข้าร่วมโครงการพัฒนาที่ดิน แต่เดิมเป็นแม่บ้าน ค้าขาย ทำขนม ขายอาหารตามสั่งและเพาะเห็ด และสามีรับราชการ ต้องโยกย้ายตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และการย้ายที่ทำงานแต่ละครั้ง ก็ทำให้ครอบครัวต้องย้ายตามสถานะ ทำให้บุตรต้องย้ายโรงเรียนทุกครั้ง เพราะครอบครัวไม่เคยแยกกันอยู่ ไม่เคยต้องให้ใครคนใดคนหนึ่งอยู่เพียงลำพังนับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จึงมีความตั้งใจว่าอยากปรับปรุงดินที่ตนเองมีอยู่และเพื่อเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าดินสามารถปรับเปลี่ยนสร้างให้เกิดคุณค่าได้

พื้นที่ตรงนี้ราว 40 ไร่ เป็นพื้นที่หลายคนบอกว่ามีความแห้งแล้ง และมีปัญหาเรื่องน้ำ ทำนาไม่ค่อยได้ผลผลิต คุณหทัยทิพย์มีความตั้งใจว่าอยากพัฒนาที่ดิน จึงไปสมัครเป็น “หมอดินอาสา”

รายได้ก่อนและหลังปรับปรุงดิน

ในปี พ.ศ. 2555 คุณหทัยทิพย์ได้มีโอกาสเข้าอบรมที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร จากนั้นได้นำเอาความรู้ที่ได้รับนำมาปรับใช้ในการทำนา เดิมทำนาโดยการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว โดยไม่มีความรู้ว่าการใช้สารเคมีในปริมาณที่มากๆ นั้น ทำให้ดินเสื่อมสภาพ เมื่อได้เข้ารับการอบรม จึงได้รับความรู้จากเจ้าหน้าที่กิจกรรมงานศึกษาและพัฒนาที่ดิน สอนวิธีการทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำหมัก และแนะนำวิธีการใช้ พร้อมตัวอย่างน้ำหมัก และ พด. ลองกลับไปใช้ที่บ้าน ต่อมาคุณหทัยทิพย์พร้อมสามีรับการอบรมการเพาะเห็ดและนำความรู้จากการอบรมไปใช้ในทันทีปัจจุบันเพาะเห็ดขายทั้งเปิดดอกขาย และส่งขายก้อนเชื้อ นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของอาชีพ ที่เพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้

มะนาว

คุณหทัยทิพย์ บอกอีกว่า ความรู้การศึกษาไม่มีวันจบสิ้น จึงได้พาบุตรชายและหลานชาย เข้ารับการอบรมการทำเกษตรแบบผสมผสาน การปลูกไม้ผล จึงมีความคิดอยากลองปลูก เพราะเห็นในพื้นที่ศูนย์ฯ ภูพาน ปลูกได้ผล จึงหันลองมาปลูก จนถึงปัจจุบัน เริ่มให้ผลผลิตแล้ว ส่วนด้านปศุสัตว์ เลี้ยงโคเนื้อลูกผสม ด้านประมง เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงปลานิล เลี้ยงปลาหมอเทศ พร้อมนี้ยังปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาที่ไม่เหมาะสมมาปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเป็นอาหารโค ปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์ฝักโต ฝรั่ง หม่อนและผักหวาน รวมพื้นที่ 6 ไร่ ปัจจุบันพืชผลกำลังเจริญเติบโต และให้ผลผลิตในบางอย่าง

หลากหลาย

ส่วนไม้ยืนต้น ปลูกไม้สัก พะยูง ประดู่ ฯลฯ สิ่งที่น่าภูมิใจคือเป็นมรดกจากพ่อแม่ ป่านั้นนับเป็นสิ่งที่ครอบครัวตัวเองได้ประโยชน์มากมาย ทั้งทางด้านจิตใจและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป

ดังนั้น ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ที่ทุกท่านได้มอบให้นับเป็นประโยชน์อย่างมาก จากวันที่เข้ารับการอบรมครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน ทำให้ชีวิตครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวปรับเปลี่ยนเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ได้รับในปี พ.ศ. 2556 รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 เกษตรกรสาขา อาชีพไร่นาสวนผสมดีเด่น ระดับจังหวัด สุดท้ายการทำเกษตรแบบผสมผสาน ทำเกษตรอินทรีย์ พึ่งพาตนเอง และมีการเกื้อกูลกันได้อย่างเป็นระบบ

สร้างรายได้ดี
ลูก พ่อ และแม่

ทุกวันนี้ บ้านของคุณป้าหทัยทิพย์กลายเป็นศูนย์แหล่งการเรียนรู้ ในพื้นที่อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ท่านใดที่สนใจหรือมีโอกาสผ่านก็สามารถแวะชมและศึกษาได้ที่ คุณหทัยทิพย์ จารุสาร โทร. (080) 159-0461

ที่นี่ เป็นพื้นที่เครือข่ายของ โครงการ “นอนบ้านมั่งคั่ง นอนนาแก้จน” หมายถึง อยู่บ้านก็มีกินมีใช้ อยู่นาก็ไม่อดอยากมีรายได้…และมีอยู่มีกินอย่างพอเพียง

กิจกรรมในแปลงปัจจุบัน

1. การเพาะเห็ด (5 โรงเรือน) จำนวน 20,000 ก้อน
2. ปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเป็นอาหารโค จำนวน 2 ไร่
3. ปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์ฝักโต จำนวน 100 ต้น
4. ปลูกฝรั่ง จำนวน 200 ต้น
5. ปลูกหม่อน จำนวน 10 ต้น
6. ปลูกผักหวาน จำนวน 200 ต้น
7. ปลูกไม้สัก จำนวน 100 ต้น
8. ปลูกพะยูง จำนวน 100 ต้น
9. ปลูกประดู่ จำนวน 50 ต้น
10. เลี้ยงโค จำนวน 9 ตัว
11. เลี้ยงปลานิล (1 บ่อ) จำนวน 10,000 ตัว
12. เลี้ยงปลาหมอเทศ (1 บ่อ) จำนวน 20,000 ตัว

ไม้ยืนต้น

การลงทุนและผลตอบแทนในการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา

กิจกรรม                      ต้นทุน (บาท)            รายได้ (บาท)

1. การเพาะเห็ด              536,150                    937,400

2. การปลูกไม้ผล              90,000                     30,150

3.การปลูกมันสำปะหลัง      1,500                       3,000

4. การเลี้ยงโค                  162,800                     –

5.การปลูกข้าว                 9,400                     37,500

รวมเป็นเงิน                 799,850                 1,008,050

 

เทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการดิน/แก้ปัญหา

เทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการดินในช่วงแรกจะลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เช่น การเลือกชนิดพืชที่ปลูกให้เหมาะสมกับสภาพ ดิน น้ำ อากาศ แต่ก็ยังไม่ค่อยได้ผลผลิตที่ดีพอ เพราะยังประสบปัญหาใหญ่คือ การขาดน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้ง จนกระทั่งได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของสถานีพัฒนาที่ดินสกลนคร ในการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้องค์ความรู้ต่างๆ ของกรมพัฒนาที่ดิน

เตือนใจ

ก้อนเพาะเห็ด

หลังจากนั้น จึงได้เข้าร่วมเป็นหมอดินอาสาและก็ได้รับการสนับสนุนการขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน เพื่อให้มีน้ำใช้สม่ำเสมอตลอดปี โดยเก็บกักน้ำในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง หรือระยะฝนทิ้งช่วงพร้อมปลูกหญ้าแฝกรอบสระเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และบริเวณรอบๆ แปลงเกษตรเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในแปลงและสร้างความพรุนให้กับดินและยังขอรับการสนับสนุนปัจจัยต่างๆ ในการปรับปรุงดิน เช่น ในนาข้าว มีการใช้ปูนโดโลไมท์เพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างของดินการปรับปรุงดินด้วยวิธีงดเผาฟางและไถกลบตอซังข้าว โดยมีการฉีดพ่นน้ำหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ขณะไถกลบเพื่อช่วยเร่งการย่อยสลายของตอซังข้าวใช้ปุ๋ยหมักจากก้อนเห็ดเก่าและเศษพืช

การไถกลบปุ๋ยพืชสด (ปอเทือง) ในนาข้าวเพื่อเพิ่มไนโตรเจนและทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ดินร่วนซุยขึ้น โดยในระยะเวลา 3 ปี ผลผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้นจาก 300 กิโลกรัม ต่อไร่ เป็น 400 กิโลกรัม ต่อไร่ ส่วนในแปลงของพืชชนิดอื่นๆ นั้นมีการห่มดินคลุมดิน ใช้ทั้งปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพเพื่อช่วยลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรในการเพิ่มผลผลิตพืช รวมทั้งป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตดีขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

มีฐานเรียนรู้