“กล้วยไข่” ผลไม้ยอดนิยม ขายได้ทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบัน พื้นที่ปลูกกล้วยไข่ในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยเริ่มมีมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากกล้วยไข่ไทยมีการส่งออกมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจนผลผลิตไม่พอต่อการส่งออก โดยเฉพาะตลาดสาธารณรัฐประชาชนจีนและฮ่องกง มีการสั่งซื้อมากที่สุด “กล้วยไข่” จัดเป็นกล้วยที่มีผลขนาดเล็ก นิยมนำมารับประทานแบบผลสด มีรสชาติหอมและอร่อย กล้วยไข่สามารถปลูกได้ในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย และเกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตการปลูกได้ตลอดทั้งปี ซึ่งแหล่งผลิตกล้วยไข่ 5 อันดับที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ จันทบุรี และเพชรบุรี

กล้วยไข่

โดยเฉพาะชาวจีนติดใจในรสชาติของกล้วยไข่ คือ ความอร่อยและมีกลิ่นหอม เหตุผลหลักอีกประการหนึ่งของความนิยมกล้วยไข่ไทย กล้วยไข่เป็นไม้ผลที่จัดระบบการปลูกแบบปลอดภัยไม่ต้องใช้สารปราบศัตรูพืชมาก หรือถ้าใช้ก็น้อยมากๆ คนจีนกลับไม่ชอบบริโภคกล้วยหอมเหมือนชาวต่างชาติอื่นๆ เนื่องจากเมื่อบริโภคมากๆ อาจจะทำให้จุกท้องได้ โดยจากข้อมูลพบว่า ประเทศที่สั่งซื้อกล้วยไข่จากประเทศไทยมาก คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน 70% และ ฮ่องกง 30%

ศักยภาพของผลผลิตกล้วยไข่ ในพื้นที่ 1 ไร่

หากให้แนะนำตามหลักวิชาการคือ ระยะปลูกกล้วยไข่ คือ 2×2 เมตร ก็จะได้จำนวนต้น 400 ต้น ต่อไร่ ซึ่งในพื้นที่ปลูกจริงของเกษตรกรมักจะปลูกชิดกว่านั้น คือ ระยะ 1.5 x 2 เมตร ซึ่งจะได้จำนวนต้นราว 500 ต้น ต่อไร่ โดยระยะปลูกที่แตกต่างกันนั้นก็จะมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป ในพื้นที่ปลูกระยะชิดคือ ระยะ 1.5 x 2 เมตร ได้จำนวนต้นที่มากกว่าก็จริง แต่หากไม่เจอมรสุม ไม่มีลมแรง ก็จะทำกำไรแก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าบังเอิญในปีนั้นลมแรงมาก เกิดมรสุม เจอลมพายุ การปลูกกล้วยไข่ระยะชิด 1.5 x 2 เมตร สวนกล้วยไข่จะไม่มีช่องให้ลมพัดผ่าน จะเป็นแนวบังลมเมื่อต้นกล้วยมันล้ม 1 ต้น มักจะล้มแบบโดมิโน่ คือ ล้มกันเป็นทอดๆ เลยทีเดียว แต่หากใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร อาจจะได้จำนวนต้นน้อยกว่าก็จริง แต่กลับมีช่องว่างให้ลมพัดผ่านได้อย่างสบาย ไม่ต้านแรงลมมากนัก หรือหากเกิดความเสียหายกลับพบการโค่นล้มน้อยกว่าระยะชิดอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเกษตรกรที่ปลูกกล้วยไข่ในแต่ละพื้นที่ ก็ควรพิจารณาสภาพพื้นที่ของตนว่ามีปัญหาความเสี่ยงเรื่องลมหรือไม่ จะได้นำแนวทางนี้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลกำไรแก่ตัวเกษตรกรเอง ซึ่งในบางพื้นที่จะต้องปลูกพืชชิดอื่นเพื่อเป็นแนวกันลมช่วยอีกทางรอบๆ สวนกล้วยไข่ เช่น ปลูกไผ่เป็นแนวกันลม แล้วไม้ไผ่ก็จะถูกนำมาใช้ในการค้ำยันต้น หรือเครือกล้วยได้ด้วย

แปลงปลูกกล้วยไข่ที่เน้นการออกผลนอกฤดู

เริ่มต้นปลูกกล้วย

ไถพื้นที่ด้วยผาน 3 ก็เพียงพอ จากนั้นก็จะจ้างคนมาขุดหลุมปลูก ให้หลุม กว้าง x ยาว x ลึก ราวๆ 30 x 30 x 30 เซนติเมตร โดยระยะปลูกที่แนะนำก็คือ 2 x 2 เมตร 1 ไร่ จะปลูก ได้ 400 ต้น การปลูกก็วางหน่อพันธุ์ลงหลุม ถ้าทำได้ควรวางหน่อพันธุ์ให้ด้านที่ติดกับต้นแม่อยู่ในทิศเดียวกัน กลบดินลงหลุมปลูกและกดดินให้แน่น จากนั้นก็ต้องรดน้ำให้ชุ่ม ในช่วงแรกอาจจะต้องมีการกำจัดวัชพืชให้กล้วยไข่ พอกล้วยโตก็จะหมดปัญหา สำหรับการใส่ปุ๋ย ต้องใส่ปุ๋ยรองก้นหลุมทุกครั้งที่ปลูก ด้วยปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยคอกเก่า ประมาณ 1 กำมือใหญ่ๆ โดยอาจจะใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 อีกเล็กน้อย คลุกเคล้าร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ หน่อจะโตเร็ว จากนั้นไปเกษตรกรก็จะบำรุงหน่อให้เจริญทางลำต้นด้วยปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ สลับกับปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) กระตุ้นการเจริญเติบโต โดยจะใส่ให้ทุกๆ 15-30 วัน ตามความสมบูรณ์ของต้น แต่ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดเราจะใส่ให้ทุกๆ เดือนเช่นกัน ต้นละ 1 กำมือ การใส่ปุ๋ยจะใส่จนถึงการเก็บเกี่ยว ในการใส่ปุ๋ยก็โรยรอบๆ โคนต้นให้ห่างออกมาอย่างน้อย 1 คืบมือ 

บางแปลงใช้พลาสติกคลุมแปลงเพื่อรักษาความชื้นและคลุมหญ้า

การดูแลต้นกล้วยไข่ หลังปลูกลงดิน

การให้น้ำแก่ต้นกล้วย แม้ว่าต้นกล้วยเป็นพืชที่ค่อนข้างทนต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ แต่ถ้าปลูกกล้วยเป็นการค้า การให้น้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งกล้วยมีความต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ เนื่องด้วยกล้วยเป็นพืชใบใหญ่ ลำต้นอวบน้ำ และน้ำจะช่วยส่งเสริมเรื่องของการเจริญเติบโต เช่น ในช่วงหน้าแล้งจึงไม่ควรให้ต้นกล้วยขาดน้ำ หน้าดินควรมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพราะรากกล้วยส่วนใหญ่จะเจริญและแผ่กระจายเป็นจำนวนมากบริเวณผิวดิน วิธีการให้น้ำแก่ต้นกล้วยมีหลายวิธี เช่น ใช้สายยางเดินรด, ติดตั้งระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ ปล่อยน้ำเข้าร่องปลูก ฯลฯ

วิธีการใส่ปุ๋ยแก่ต้นกล้วย

ระบบน้ำดีย่อมได้เปรียบในการปลูกช่วงแล้ง

ค่อนข้างมีความสำคัญ ส่งผลถึงการเจริญเติบโต และผลผลิตที่จะออกมาก โดยเกษตรกรมักจะเน้นการใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 16-16-16 อัตราการให้ ประมาณ 200-300 กรัม หรือเฉลี่ย 1 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี โดยจะแบ่งใส่ 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 จะใส่หลังปลูกหน่อกล้วยไปแล้ว ประมาณ 1 สัปดาห์ ต่อจากนั้นทุกๆ 3 เดือน ก็จะมีการให้ปุ๋ยครั้งที่ 2, 3 และ 4 ซึ่งการใส่ปุ๋ยเคมีครั้งที่ 4 เกษตรกรหลายรายที่ใส่ใจในเรื่องของรสชาติ ก็มักจะเปลี่ยนจากสูตร 16-16-16 มาใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ก่อนการเก็บเกี่ยว

การตัดแต่งหน่อกล้วย

โคนต้นที่ต้องหมั่นตัดหน่อทิ้งเพื่อไม่ให้แย่งอาหาร

หลังจากปลูกกล้วยได้ประมาณ 5-6 เดือน หน่อใหม่จะเกิดขึ้นมาก่อนที่กล้วยจะตกเครือเล็กน้อย ซึ่งเราควรเลือกไว้หน่อ เพียง 2 หน่อแรกก็เพียงพอ เพื่อเตรียมไว้ทดแทนต้นแม่เดิมที่จะต้องถูกตัดทิ้งในอนาคต หน่อใหม่ที่เลือกควรอยู่ตรงกันข้ามกันของลำต้นเดิม โดยหน่อแรกๆ นั้นจะมีรากลึกและแข็งแรงถือว่าดีที่สุด ส่วนหน่อที่เกิดมาทีหลัง ชาวสวนมักเรียกว่า “หน่อตาม” ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นมา จะทำให้กล้วยเครือเล็กลง จึงทำลายทิ้งเสียโดยการทำลายหน่อกล้วย ก็อาจจะวิธีการขุดหน่อออก แต่ต้องกระทำเฉพาะตอนที่กล้วยยังไม่ตกเครือเท่านั้น เพื่อไม่ให้ต้นกล้วยชะงักทำให้ผลกล้วยเล็กลงได้

การตัดแต่งใบกล้วย

เนื่องจากใบกล้วยมีใบเจริญเติบโตออกมาเรื่อยๆ เมื่อใบใหม่ออกมา ใบเก่าก็จะแก่ และแห้งติดลำต้น ชาวสวนต้องหมั่นลอกกาบ ใช้ขอเกี่ยวสางตัดใบกล้วยออก โดยจะสางใบกล้วยที่แห้งและเป็นโรคออกอยู่เสมอ โดยถือหลักว่า ถ้าใบแห้งและแก่มีสีเหลืองเกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของใบกล้วย ก็ควรตัดทิ้ง เพราะถือว่าไม่มีประโยชน์ในการสังเคราะห์แสงแต่อย่างใด โดยมักจะเลี้ยงใบไม่น้อยกว่า 7-8 ใบ และเมื่อเครือจวนแก่ก็แต่งใบให้เหลือ 4-5 ใบ ก็เพียงพอ การค้ำกล้วย เมื่อเครือกล้วยใกล้แก่ มีน้ำหนักค่อนข้างมาก จะทำให้ต้นโค่นล้มได้ง่าย หรือมีลมพัดแรงๆ ชาวสวนต้องมีไม้ไผ่ หรือไม้เนื้ออ่อนที่มีง่ามไว้ค้ำยันเครือกล้วย

เครือกล้วยที่พร้อมตัดปลีทิ้ง

เมื่อกล้วยมีอายุได้ประมาณ 6-9 เดือน (ขึ้นอยู่กับขนาดหน่อพันธุ์ที่นำมาปลูกด้วย) นับตั้งแต่วันปลูกกล้วยไข่ (รวมถึงกล้วยน้ำว้า, กล้วยหอม) จะออกปลีในระยะใกล้เคียงกัน ก่อนที่กล้วยจะแทงปลี จะสังเกตได้ว่ากล้วยจะแทง “ใบธง” คือ ใบจะมีลักษณะไม่เหมือนใบทั่วไป เป็นใบขนาดเล็ก ใบชี้ตรงขึ้นท้องฟ้า เมื่อเห็นใบธง เป็นสัญญาณให้เราทราบว่า กล้วยของเรากำลังจะออกปลี ซึ่งปลีกล้วยจะโผล่พ้นตายอดแล้วจะเริ่มทยอยบานให้เห็นดอกกล้วย (หวีกล้วย) ดอกจะบานไล่เวียนลงมา ซึ่งจะเจริญเป็นหวีกล้วยต่อไป

ไม่นานปลีจะบานถึงดอกกล้วย หรือ หวีกล้วย ซึ่งมีขนาดเล็กไม่สมบูรณ์อยู่ส่วนปลายของปลี ซึ่งชาวสวนกล้วยเรียก “หวีตีนเต่า” โดยช่องระยะเวลาการบานของดอกกล้วยจะใช้เวลาประมาณ 10-17 วัน หลังจากตกปลี เมื่อเห็นว่าดอกกล้วยบานเกือบสุดแล้ว ก็ต้องตัดปลีออก เพื่อช่วยให้ผลกล้วยมีการเติบโตได้เต็มที่ อายุการเก็บเกี่ยวกล้วยไข่ ใช้เวลาประมาณ 60 วัน นับจากแทงปลี หรือ 30-45 วัน หลังการตัดปลี

เมื่อกล้วยโตจนสุดเครือก็ให้ตัดปลีทิ้งไป

การเก็บเกี่ยวกล้วยเมื่อเห็นว่าผลแก่ ก็ให้เก็บเอาไม้ค้ำเครือกล้วยออก การตัดเครือกล้วยก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง แนะนำให้ใช้มีดฟันที่กลางลำต้นกล้วยให้ลึก พอที่จะทำให้ลำต้นกล้วยจะค่อยเอนโน้มมาในทิศทางของผู้รับยืนอยู่ หากไม่มีความชำนาญก็ต้องช่วยกันตัดกล้วยสัก 2 คน โดยคนหนึ่งตัด อีกคนคอยรับเครือกล้วย เมื่อตัดเครือกล้วยลงมาได้แล้ว ให้นำเครือกล้วยให้ตั้งปลายเครือกล้วยขึ้นข้างบน ให้รอยตัดอยู่ข้างล่าง ตั้งกับพื้น เพื่อไม่ให้ยางกล้วยไหลย้อนลงมาเปื้อนหวีกล้วย กัดผิวกล้วย

“กล้วยไข่นอกฤดู” ทำได้กำไรดี รับซื้อแพง

การผลิตกล้วยไข่ที่นี่ปกติส่วนใหญ่เกษตรกรจะเริ่มปลูกในปลายเดือนพฤศจิกายน-มกราคม จากนั้นนับไปอีก 7-8 เดือน ก็จะไปเก็บเกี่ยวกันช่วงเดือนพฤษภาคม เรื่อยมาจะมีมากๆ ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พอเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน น้ำมักจะมาแล้วท่วมพื้นที่ลุ่มแถบนี้ ที่ส่วนใหญ่ก็จะปลูกกล้วยกันริมแม่น้ำโดยผลผลิตช่วงในฤดูดังกล่าว ถ้าเป็นตลาดส่งออกหรือลงกล่องจะตกราว 8-10 บาท/กิโลกรัม ถ้าตกเกรดลงมาก็จะส่งพ่อค้าขายในประเทศ หรือเรียกว่ากล้วยหมอน จะขาย 5-6 บาท/กิโลกรัม ถ้าคิดเป็นเงินต่อกล้วย 1 เครือ น่าจะได้ 50-70 บาท/เครือ

สำหรับกล้วยไข่ส่งออกจะห่อเครือด้วยถุงสีฟ้า

แต่หากเราทำกล้วยไข่ให้ออกมาขายช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ได้ ซึ่งเป็นช่วงกล้วยไข่มีน้อย ผลไม้ชนิดอื่นมีไม่ค่อยมาก จะขายได้ราคาดี อย่างราคาลงกล่องส่งนอก จะได้ราคาราวๆ 10-15 บาท/กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นเกรดตีหมอน ราคาก็ถือว่าดีเช่นกัน คือ 7-8 บาท/กิโลกรัม เช่นกัน ถ้าคิดเป็นตัวเงินต่อกล้วยไข่ 1 เครือ ก็น่าจะได้เงินราวๆ 70-150 บาท แล้วกล้วยที่ออกช่วงนี้ผิวจะสวย ไม่ค่อยมีโรค หรือฝนมารบกวนมากเหมือนที่ปลูกกันในช่วงฤดูนี้ ถ้ากล้วยเจอฝนตกหนักๆ เมื่อไหร่ มักจะทำให้ผลลายเป็นจุดๆ ทำให้กล้วยไข่ตกเกรด เป็นกล้วยหมอนซะมาก

หากเกษตรกรมีที่ดินในพื้นที่ดอน และมีน้ำรดแก่ต้นกล้วยอย่างเพียงพอ การเลือกที่จะปลูกกล้วยไข่ให้ออกช่วงนอกฤดูนี้น่าสนใจมากๆ ไม่ต้องแย่งกันขายกับใครเลย เพราะเกษตรกรรายอื่นไม่ทำ อาจจะเพราะสภาพพื้นที่ไม่อำนวย ไม่มีน้ำให้ตลอดการเลี้ยงและดูแล และเขาไม่รู้ช่วงเวลาที่ตลาดต้องการกล้วยไข่ก็ได้

แนะนำการปลูกกล้วยไข่ จากประสบการณ์

กล้วยไข่ใกล้แก่ที่จะตัดขายได้

“กล้วยไข่” มันดีตรงที่เราสามารถที่จะคำนวณวันเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ราวๆ 7-10 เดือน ถ้าเกษตรกรบำรุงน้ำ ปุ๋ย ถึงน้ำถึงต้นสมบูรณ์ กล้วยมันจะเก็บเกี่ยวได้ภายใน 7-8 เดือนเท่านั้น แต่ถ้ามีการบำรุงปุ๋ยและน้ำไม่เต็มที่ อายุการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรก็จะยืดออกไปอีกเรื่อยๆ

กำไรในการทำกล้วยไข่ เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ดูแลง่ายไม่จำเป็นต้องใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชใดๆ คือทำปลอดสารพิษได้ก็จะมีเพียงต้นทุนปุ๋ยและการจัดการอื่นๆ เฉลี่ยแล้วก็ 7,000-10,000 บาท/ไร่ เมื่อดูรายได้ต่อไร่ เราจะขายผลผลิตได้เฉลี่ย ไร่ละ 30,000-50,000 บาท/ไร่ หรือมากกว่านี้ มันก็ขึ้นกับราคาในช่วงนั้นๆ ด้วย และคุณภาพของกล้วยไข่ด้วย

กล้วยไข่ที่เริ่มตัดขายได้
กล้วยไข่คุณภาพดี

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562