คนเมืองกาญจน์ ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ใช้เวลา 2 เดือน ได้ผลผลิต 2.5 ตัน ต่อไร่

ยิ่งโตยิ่งหยุดพัฒนาไม่ได้ สำหรับงานปลูกข้าวโพดฝักอ่อนของ คุณณัฐพล ทองร้อยยศ 

ปัจจุบัน คุณณัฐพล ทองร้อยยศ เป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 และยังเป็นผู้รวบรวมผลผลิตข้าวโพดฝักอ่อนที่ตำบลยางม่วง อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

คุณณัฐพล ทองร้อยยศ กับผลผลิตข้าวโพดฝักอ่อน

คุณณัฐพล เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อและแม่ โตขึ้นมาจึงมารับสานต่อกิจการที่พ่อแม่เคยทำไว้ หากแต่ว่าแต่เดิมนั้นยังไม่ได้มีความหลากหลาย ทำเพียงแค่เก็บฝักมากรีด (ปอก) ส่งโรงงาน แต่เดิมส่งโรงงานเพียงแค่ 1-2 โรงงานเท่านั้น แต่เมื่อคุณณัฐพลมารับช่วงต่อแล้ว เขาเริ่มทำหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น มีการทำการตลาด การส่งโรงงาน บรรจุใส่ถาดเองและมีส่งออกไปต่างประเทศ

ปัจจุบัน พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน ที่ปลูกอยู่ก็คือ พันธุ์แปซิฟิค 271 เป็นพันธุ์หลักที่เกษตรกรใช้ เพราะเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี เนื้อสวย ปลายเรียว เป็นที่ต้องการของตลาด

ปลูกข้าวโพดไม่ได้ยาก แค่ต้องดูแลเอาใจใส่

ไร่ข้าวโพดเขียวขจี

ขั้นตอนในการปลูกและเก็บผลผลิตนั้น ในการเก็บผลผลิต จะใช้เวลาในการเก็บทั้งหมดอยู่ที่ 7-10 วัน เมื่อเก็บผลผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถตัดต้นเพื่อเอาต้นไปเลี้ยงวัวหรือนำไปขายได้ พักแปลงประมาณ 1 สับดาห์ ต่อมาให้ชักร่องแล้วเริ่มปลูกใหม่ได้เลย โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ใช้นั้น ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ ในการให้ปุ๋ยระยะแรกใช้ 46-0-0 ในระยะเวลา 15 วันแรก

เมื่อข้าวโพดอายุได้ 45 วัน ให้ถอดยอด ก่อนถอดยอดต้องใส่ปุ๋ย 21-0-0 แต่บางคนจะใช้สูตรเสมอ คือ 15-15-15 ต้องให้น้ำในทุก 7 วัน แต่ถ้าอยู่ในช่วงแล้งจะต้องให้น้ำทุก 5 วัน ในช่วงข้าวโพดอายุ 45-50 วัน คือช่วงที่ถอดยอด เว้นระยะห่าง 5 วัน ก็เริ่มเก็บผลผลิตได้เลย 1 ต้น จะให้ฝักได้ทั้งหมด 4 ฝัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่ที่การดูแลของเกษตรกรด้วย โดยขั้นตอนการปลูกรวมเบ็ดเสร็จแล้วจะไม่เกิน 2 เดือน ข้าวโพดจะสามารถปลูกได้ทั้งปี ใน 1 ปี สามารถปลูกได้ขั้นต่ำ 5 รอบ

ปริมาณผลผลิตที่ได้ จะได้ 2-2.5 ตัน ต่อ 1 ไร่ ราคาขายจะอยู่ที่ 4.50 บาท ต่อกิโลกรัม (ทั้งเปลือก) แต่ถ้าช่วงไหนข้าวโพดราคาสูง จะขายอยู่ในราคา 8-10 บาท เลยทีเดียว

ฝักข้าวโพดพร้อมเก็บเกี่ยว

“เมื่อเก็บฝักมาแล้ว จะมีกลุ่มคนที่มากรีดฝักข้าวโพด บางคนกรีดเอาไปให้วัว บางคนกรีดเอาเปลือกไปขาย โดยส่วนนี้เราไม่ต้องจ้างเขา เขามาทำด้วยตัวของเขาเอง อย่างเก็บข้าวโพดอันนี้ ผมจ้างเขามาเก็บกิโลกรัมละ 1 บาท วันหนึ่งก็จะเก็บได้ 300-400 กิโลกรัม ก็เป็นรายได้ของพวกเขา ส่วนต้นจะขายได้ตันละ 500 บาท ยอดก็สามารถขายได้กิโลกรัมละ 1 บาท เหมือนกัน” คุณณัฐพล พูดถึงการสร้างรายได้ที่ได้ทั้งตนเองและกลุ่มคนในชุมชนที่อยู่ร่วมกัน

ในเรื่องของศัตรูพืช คุณณัฐพล เล่าว่า ในปีนี้เกษตรกรประสบปัญหาเรื่องหนอนเจาะยอด ดังนั้น จะต้องฉีดยาในช่วงที่ข้าวโพดมีอายุได้ประมาณ 10-15 วัน ขึ้นไป

หากดูแลดีๆ 1 ต้น อาจมีถึง 4 ฝัก

เรื่องการตลาด ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ

“เรื่องการตลาด ต้องทำการบ้านตลอด ต้องดูแลในเรื่องของความต้องการของตลาดต่อจำนวนผลผลิตที่เรามี ว่าโรงงานสามารถรับผลผลิตทั้งหมดได้หรือเปล่า ถ้าไม่หมดต้องเตรียมหาพื้นที่สำรองไว้รองรับผลผลิตของเราเอาไว้ด้วย” คุณณัฐพล กล่าว

การส่งออกนั้น ช่วงที่มีข้าวโพดฝักอ่อนมาเยอะๆ จะมีส่งมาที่แหล่งรวบรวมที่นี่ ถึงวันละ 10 ตัน ต่อวัน ราคาขายก็ขายตามราคาท้องตลาด อย่างเช่น ช่วงนี้ราคาจะอยู่ที่ ประมาณ 25-26 บาท ต่อกิโลกรัม แต่ในเรื่องของราคานั้นอาจจะมีปัจจัยอย่างอื่นมาเป็นตัวแปรด้วย เช่น เรื่องฤดูกาลต่างๆ ปัจจุบันแหล่งรวบรวมข้าวโพดฝักอ่อนแห่งนี้มีสมาชิกทั้งหมดกว่า 100 ราย เฉลี่ยแล้วตกอยู่ที่ รายละ 3-4 ไร่ รวมทั้งหมดก็มีประมาณ 300-400 ไร่ ณ ตอนนี้

ที่บ้านคุณณัฐพล เป็นแหล่งรวมผลผลิต

พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน ที่มีหลักๆ ก็คือ พันธุ์แปซิฟิค 271 และ พันธุ์แปซิฟิค 371 แต่ว่าปริมาณของพันธุ์แปซิฟิค 271 จะมากที่สุด

ถ้านับตั้งแต่สมัยก่อนมาจนถึงสมัยปัจจุบัน ในเรื่องของการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวโพด คุณณัฐพล เล่าว่า “ก็มีเปลี่ยนบ้างนะครับ พอมีข้าวโพดพันธุ์ใหม่มา ลูกไร่ก็จะนำไปลองปลูกเรื่อยๆ แต่ว่าแต่ละพันธุ์มันก็จะมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป” 

แหล่งรวบรวมผลผลิตของข้าวโพดฝักอ่อน

ย้ายมาดูในฝั่งกระบวนการรวบรวมกันบ้าง คุณณัฐพล ให้รายละเอียดว่า “ที่นี่จะเป็นจุดรวบรวมให้โรงงาน ตลาด และลูกค้าประจำ โดยที่เราจะเป็นคนเข้าไปหาเขา แต่จะมีบางรายที่จะโทร.มาเมื่อต้องการสินค้าจากเรา แต่ส่วนมากเราจะเป็นฝ่ายติดต่อเขาไปเองมากกว่า ช่วงนี้ก็ส่งออก วันละ 5-6 ตัน หรือ 2,000 กว่าแพ็ก”

สร้างงานทำเงินให้คนในท้องถิ่น

ลักษณะข้าวโพดฝักอ่อนที่ดี ต้องมีความสวยของฝัก ขนาดต้องไม่ยาวมาก ความยาวประมาณ 10-11 เซนติเมตร แต่ขนาดและความยาวของฝักจะขึ้นอยู่กับการควบคุมของการเก็บฝักของตัวเกษตรกรเองมากกว่า ถ้าข้าวโพดตกเกรดราคาจะอยู่ที่ 4 บาท ต่อกิโลกรัม ราคาจะต่ำมากเมื่อเทียบกับข้าวโพดไซซ์มาตรฐานที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 25-26 บาท ต่อกิโลกรัม

การตลาด และการส่งออก

“ตลาดหลักที่ส่งออกจะอยู่ที่ไต้หวันและโรงงานกระป๋อง โดยที่ไต้หวันจะเป็นรถบริษัทมารับข้าวโพดถึงที่บ้าน ส่วนที่แพ็กสดจะส่งตลาดไท แต่ถ้าเป็นที่อื่นต้องดูเรื่องความคุ้มของภาระรายจ่ายต่อรายได้ที่ได้รับ ซึ่งส่วนมากจะไม่คุ้ม ก็เลยทำตลาดหลักคือ ส่งออกไต้หวัน และโรงงานกระป๋อง”

มีคุณภาพ

ราคาขายส่งออกกับขายในประเทศราคาจะใกล้เคียงกันมาก แต่ส่งออกต่างประเทศจะต้องใช้ปัจจัยหลายอย่าง เช่นการทำ GMP (มาตรฐานผลิตภัณฑ์ เป็นเกณฑ์ควบคุมการผลิต) GHP (มาตรฐานสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร) และจำเป็นที่จะต้องมีความชำนาญเรื่องของการตลาดควบคู่กันไปด้วย เรื่องภาษาก็เป็นสิ่งสำคัญ

หลักการบริหารการตลาด ส่วนมากจะเป็นไปในแนวทางของการคุยและเจรจากับคู่ค้าเสียมากกว่า

“บางทีเขาก็มีความต้องการในเรื่องของขนาด เราก็ต้องเอาขนาดที่เขากำหนดไปต่อรองราคากับเขา…ในช่วงที่สินค้าล้นตลาด ส่วนมากแล้วจะส่งไปที่แกรนด์เอเชียและโรงงานที่ลำปาง ของขาดตลาดเองก็มีบ้าง แต่ช่วงนี้ปริมาณของจะอยู่ในจุดที่พอดี ช่วงที่ของจะล้นตลาดจะอยู่ในช่วงของเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ขณะที่ของล้นตลาดจะส่งไปที่โรงงานที่ลำปาง ส่งไปเที่ยวละ 6 ตัน ใน 1 สัปดาห์ จะส่ง 2 ครั้ง ก็ตกอาทิตย์ละ 12 ตัน” คุณณัฐพล เล่า

เวลา 2 เดือน ก็ทำเงินได้

ถ้ามีเกษตรกรอยากจะลองเริ่มทำดูบ้าง คุณณัฐพล แนะนำว่า ให้มองหาตลาดหลักที่ส่งออกเยอะ ยิ่งช่วงเวลาของขาดราคาจะยิ่งดีขึ้นมาก แต่ต้องยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาในช่วงที่ของตายบ้าง ดังนั้น ผู้ที่จะเริ่มทำต้องดูเรื่องปริมาณความต้องการของตลาดกับจำนวนผลผลิตที่มีควบคู่กันไปด้วย

สนใจติดต่อซื้อขาย สามารถติดต่อ คุณณัฐพล ทองร้อยยศ ได้โดยตรง โทร. 085-297-5087 บ้านเลขที่ 33/1 หมู่ที่ 8 ตำบลยางม่วง อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

หรือติดต่อได้ที่ เจ้าของพันธุ์…บริษัท แปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ จำกัด เลขที่ 1 หมู่ที่ 13 ถนนพหลโยธิน ตำบลพระพุทธบาท อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี 18120 โทรศัพท์ 036-266-316-9, 036-267-877-8 เฟซบุ๊ก Fanpage: Pacific Seeds Thailand  www.advantaseedth.com