ชันโรง แมลงตัวจิ๋วแต่คุณประโยชน์มหาศาล ที่ศูนย์ผึ้งเชียงใหม่

ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขต 6 กรมส่งเสริมการเกษตร โดยมี คุณรัตนาภรณ์ กัญญาราช ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี 2523 มีบทบาทภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรด้านการเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจในเขตภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

นอกจากส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งแล้ว แมลงเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร นั่นคือ ชันโรง คุณปริวรรต ปันจะ นักวิชาการเกษตร ศูนย์ฯ ให้รายละเอียดว่า ชันโรง มีชื่อเรียกที่หลากหลาย ภาคเหนือ เรียก ขี้ตังนี หรือ ขี้ตึง ชนิดตัวใหญ่เรียก ขี้ย้าดำ ขี้ย้าแดง ภาคใต้ เรียก ชันโรง ทั้งตัวเล็กและตัวใหญ่ว่า แมลงอุ่ง ภาคอีสาน เรียกว่า ขี้สูด ภาษากลาง เรียก ชันโรง ภาคตะวันออก เรียก ตัวชำมะโรง หรือ อีโลม ภาคตะวันตก เรียก ตัวตุ้งติ้ง หรือ ติ้ง

ขยันทำงาน

ชันโรง แบ่งตามที่อยู่อาศัย ได้แก่

ชันโรงป่า อาศัยอยู่ตามโพรงหรือต้นไม้ขนาดใหญ่ เป็นชันโรงกลุ่มที่โบราณที่สุด ในโพรงไม้ อุณหภูมิจะเย็นสบายตลอดเวลา ไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้ เพราะไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

ชันโรงกึ่งป่ากึ่งบ้าน อาศัยอยู่ตามกิ่งไม้ที่ไม่ใหญ่โตมากนัก หรืออาศัยตามรอยแตกของฝาบ้าน ซอกตึก กล่องไม้หรือวัตถุที่มีลักษณะเป็นโพรง ที่ตัวชันโรงสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ได้ ได้แก่ ชันโรงใต้ดิน ชันโรงปากแตร

ชันโรงบ้าน เป็นชันโรงในโรงเทียมที่เกิดตามอาคารบ้านเรือน เครื่องใช้ไม้สอย ในภาชนะเครื่องมือและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่ทิ้งไว้ในร่ม สภาพเป็นโพรง เพราะเป็นที่อยู่อาศัยกันแดดกันฝนได้ เช่น ชันโรงหลังลาย ชันโรงขนเงิน ชันโรงรุ่งอรุณ

ชันโรง เป็นสัตว์สังคม แยกออกเป็น 3 วรรณะ ได้แก่

นางพญาชันโรง เปรียบเสมือนหัวหน้าครอบครัว มีขนาดใหญ่ ลำตัวยาว มีหน้าที่ในการวางไข่และควบคุมการทำงานของชันโรงงานภายในรังทั้งหมด

ชันโรงงาน มีขนาดเล็ก อกและท้องสีเหลืองกว่านางพญา มีหน้าที่ตั้งแต่การทำความสะอาดรัง สร้างกลุ่มไข่ ซ่อมแซมรัง เป็นพี่เลี้ยงช่วงนางพญาวางไข่ ป้องกันรัง ตลอดจนการออกหาอาหาร ได้แก่ น้ำหวาน เกสรและยางไม้

ชันโรงตัวผู้ มีขนาดเล็กใกล้เคียงกับชันโรงงาน มีตาและท้องสีน้ำตาลเข้ม ชอบจับกลุ่มอยู่บริเวณหน้ารังที่กำลังจะมีนางพญาใหม่ออกเรือน มีหน้าที่ผสมพันธุ์กับนางพญาพรหมจรรย์ที่จะออกเรือน

ประโยชน์ของการเลี้ยงชันโรง เป็นการอนุรักษ์แมลงที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยผสมเกสรพืชทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชที่ผสมเกสรติดยาก เช่น ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ มะพร้าว แตงกวา ฟักทอง เมล่อน ทานตะวัน สตรอเบอรี่ ช่วยให้อัตราการติดผลเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 80-90 การติดเมล็ดดีขึ้นกว่าการผสมเกสรตามธรรมชาติ เมล็ดพันธุ์มีความสมบูรณ์ ผลผลิตไม่มีรูปร่างบิดเบี้ยว ได้น้ำผึ้งชันโรงที่มีส่วนประกอบหลักคือ น้ำผึ้ง อาจมีชันผึ้งละลายปนอยู่ สีค่อนข้างดำหรือเข้ม มีความเป็นกรดค่อนข้างสูงจึงมีรสเปรี้ยว มีคุณสมบัติเป็นสารยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ ใช้เป็นสารปฏิชีวนะรักษาโรคบางโรคที่เกิดขึ้นในร่างกายของมนุษย์ มีราคาสูง เป็นที่ต้องการของคนรักสุขภาพ

ภายในรัง

ได้ชันผึ้ง ที่มีคุณสมบัติหลักคือ เป็นสารป้องกันและกำจัดโรคของมนุษย์ เป็นสารยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือโรคผิวหนัง รวมถึงโรคในช่องปาก กล่องเสียง และลำไส้ใหญ่ อีกทั้งได้รับการพัฒนาให้เป็นเครื่องสำอาง น้ำหอม โลชั่น ครีมและสบู่ ผลิตภัณฑ์มีราคาสูง สามารถเลี้ยงและขยายพันธุ์ได้แบบยกรัง ราคาประมาณ 1,500-2,000 บาท ต่อรัง บริการให้เช่ารังชันโรงนำไปวางในสวน เพื่อให้ชันโรงช่วยผสมเกสรในสวนของตนเอง ปัจจุบันราคาให้เช่า 30-50 บาท ต่อรัง ช่วยเป็นงานอดิเรกแก่ผู้เลี้ยง เป็นการคลายเครียดอีกทางหนึ่ง

การเริ่มต้นเลี้ยงชันโรง เริ่มจากเลือกกล่องเลี้ยงชันโรง ต้องเป็นกล่องที่หาง่าย ราคาถูก ใช้ประโยชน์ได้ดี สะดวกในการปฏิบัติงาน รังจะต้องควบคุมอุณหภูมิได้คงที่ คงทนต่อสภาพแวดล้อมและอากาศได้ดี ชันโรงแต่ละชนิดมีความต้องการขนาดของรังแตกต่างกัน จำเป็นต้องให้มีความเหมาะสมของชันโรงแต่ละชนิด รังจะต้องประกอบและแยกขยายได้ง่าย สามารถเปิดรังสังเกตพฤติกรรมของชันโรงได้ง่ายและสะดวก พันธุ์ของชันโรงต้องมีคุณลักษณะที่สามารถนำมาเลี้ยง ได้แก่ เป็นชนิดที่สามารถปรับตัวและทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ด้วย ไม่ดุร้ายและไม่รบกวน มีความกระตือรืนล้น ขยายพันธุ์ได้ง่าย นางพญามีประสิทธิภาพในการวางไข่ได้ปริมาณมาก ทนต่อสภาพแวดล้อมเข้ากับที่อยู่ใหม่ได้ ขนาดของรังชันโรงต้องไม่ใหญ่เกินไป และสามารถแยกขยายได้ง่าย สะดวก เลือกสายพันธุ์ที่ทนทานต่อศัตรูได้ดี

ชันโรง สามารถแยกขยายได้ประมาณปีละ 2 ครั้ง พิจารณาจากความหนาแน่นของประชากรชันโรง รวมถึงอาหารที่สะสมไว้ในรัง การแยกขยายรังจะต้องสำรวจดูนางพญาหรือหลอดนางพญาชันโรงให้สัมพันธ์กับกลุ่มหลอดไข่และหลอดดักแด้ เพื่อให้หลอดนางพญาออกมาเป็นนางพญาพรหมจรรย์ และพร้อมสำหรับการผสมพันธุ์กับชันโรงตัวผู้ จึงจะประสบความสำเร็จในการขยายพันธุ์ชันโรง 

ช่วยผสมเกสรดีนักแล

ขั้นตอนการแยกรัง สำหรับผู้เริ่มเลี้ยงใหม่ มีขั้นตอนดังนี้

ทำความสะอาดรังแยกหรือรังใหม่ เตรียมรังพ่อแม่พันธุ์ การล่อให้ชันโรงออกมาจากรังก่อนเพื่อจะได้ไม่รบกวนขณะทำงาน เปิดรังสำรวจปริมาณไข่ ดักแด้ และตัวเต็มวัย ให้มีปริมาณสมดุลพอสมควรก่อนแยกรัง ที่สำคัญต้องมีไข่นางพญา คัดแยกมาวางที่ด้านหลังของรังที่เตรียมไว้ ตัดแยกกลุ่มอาหารวางไว้ด้านหน้าของรังที่ทางเข้า-ออกของชันโรง แยกกลุ่มไข่จากรังพ่อพันธุ์ ประมาณ 200 ฟอง วางไว้ใกล้ไข่นางพญา แล้วปิดด้วยพลาสติกใส นำไขหรือขี้ชันโรงจากรังเดิมมาปิดไว้ที่ทางเข้า-ออก เพื่อล่อให้ตัวเต็มวัยออกไปเก็บเกสรและน้ำหวานมาเข้าไว้ในรังเพาะขยาย ปิดทางเข้าด้วยไขชันโรง จากนั้นจึงย้ายรังชันโรงออกไปวางห่างกันจากจุดเดิม ประมาณ 300 เมตร

ข้อดีของการเลี้ยงชันโรง ได้แก่ ไม่มีพฤติกรรมการทิ้งรัง ไม่เลือกตอมดอกไม้ที่ชอบ ไม่ดุร้ายหรือไม่ต่อย รัศมีการบินหากินไม่เกิน 300 เมตร มีสัดส่วนในการเก็บเกสร ร้อยละ 80 และน้ำต้อย ร้อยละ 20 สามารถเลี้ยงแบบอยู่กับที่หรือเคลื่อนย้ายได้ ทนต่อสภาพการปิดรังได้นานนับ 10 วัน เพื่อการเคลื่อนย้ายรังไปหาอาหาร การเลี้ยงแต่ละรังมีอายุไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ถ้าเป็นรังที่เลือดชิด หรือเกิดจากการไม่คัดเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ จะเลี้ยงอยู่ได้ 1-2 ปี มีพฤติกรรมการเก็บยางไม้ น้ำผึ้งที่ได้จากชันโรงมีคุณสมบัติทางยา

ชันโรง เป็นแมลงผสมเกสรที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในภาคการเกษตรที่เน้นการลดการใช้สารเคมี ได้ประโยชน์จากผลผลิตและผลพลอยได้ ช่วยให้เกิดความหลากหลายทางธรรมชาติ อีกทั้งเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน เกษตรกรหันมาปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัยจากสารเคมี ฯลฯ การเลี้ยงชันโรงในพื้นที่ จึงเป็นตัวชี้วัดตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผลผลิตของตนเอง ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณปริวรรต ปันจะ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านแมลงเศรษฐกิจ เชียงใหม่ 082-629-7867

จุดสาธิตการเลี้ยง

รัง 2 ชั้น