พลิกวิกฤติเป็นโอกาส รอน้ำหลากสร้างเม็ดเงิน

เมื่ออุทกภัยปี 2554 ผ่านไป หลายคนอยากให้ผ่านเลย ไม่ต้องหวนกลับมาอีก เพราะอุทกภัยครั้งนั้นยากเกินเยียวยา จนอยากลืมประโยค “น้ำท่วมใครว่าดีกว่าฝนแล้ง” ไปจากความทรงจำ

แต่กับชาวนาอำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ จึงหวัดน้องใหม่ที่มีพื้นที่ติดริมโขงทอดยาวต่อเนื่องไปถึงจังหวัดนครพนม กลับอยากผายมือรับน้ำตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่เพื่อทำนาอย่างที่บรรพบุรุษทิ้งอาชีพไว้ให้ แต่เพื่อโอกาสในการสร้างรายได้ที่ล้นหลาม

คุณนรินทร์ ศรีวรษา เกษตรกรที่ยึดอาชีพทำนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ มีผืนนาอยู่บริเวณ หมู่ที่ 4 บ้านนาดงน้อย ตำบลนาดง อำเภอปากคาด จังหวัดบึงกาฬ เป็นเกษตรกรรายแรกที่มองเห็นโอกาสสร้างเม็ดเงินจากน้ำ

วิกฤติที่เกิดขึ้นทุกปีของชาวนาบ้านนาดงน้อย คือ ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก พื้นที่หลายตำบลของอำเภอปากคาด เป็นพื้นที่ต่ำ เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมผืนนา เมื่อนั้นการทำนาจะถูกปิดฉากลงชั่วระยะหนึ่งจนกว่าน้ำจะแห้ง พร้อมรองรับการทำนาในรอบปีต่อไป

คุณนรินทร์ นั่งมองผืนนาที่ถูกน้ำท่วม หมดหวังไปกับการสร้างรายได้เพิ่มในรอบ 2-3 ของการทำนาเช่นที่อื่น เป็นมาอย่างนี้ชั่วอายุคน กระทั่งวันที่เห็นคนขายฝักบัวในตลาดปากคาด มีโอกาสได้กิน ฝักบัววันนั้นรสชาติหวาน กรอบ จึงสอบถามที่มาที่ไปได้ความว่า คนขายเก็บฝักบัวที่โผล่ขึ้นจากน้ำท่วมตามหนองและท้องนาสาธารณะที่ถูกน้ำท่วมมาขาย

ภัยธรรมชาติที่คุกคาม เป็นตัวกระตุ้นให้นรินทร์มองเห็นการปรับตัวเพื่อการอยู่รอด

เมื่อบัวไม่ขึ้นตามธรรมชาติในท้องนาของนรินทร์ เขาจึงตามไปหาแหล่งซื้อพันธุ์บัวมาปลูก เพราะคิดว่าอย่างน้อยก็เป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในแหล่งที่มีน้ำ

ลงทุนเริ่มแรกราคาต้นละ 10 บาท จำนวน 400-500 ต้น จ้างรถไถนาอีกประมาณ 20,000 บาท หมดกับต้นทุนครั้งแรกเกือบ 40,000 บาท แต่สุดท้าย ไม่ได้อะไร

ปัจจัยที่ทำให้เขาไมได้ผลผลิตจากการลงทุนในครั้งนั้น เนื่องจากไม่มีความรู้ด้านการปลูกบัว เมื่อน้ำท่วมบัว ทำให้บัวไม่โตและไม่ออกฝัก ทั้งยังประสบปัญหาหอยเชอรี่ แต่ในท้ายที่สุด การสังเกตทำให้เขารู้ว่า การควบคุมระดับน้ำในที่นาเพื่อปลูกบัว เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการเพิ่มผลผลิต

การสอบถามและค้นคว้าหาข้อมูลในแหล่งความรู้ของหมู่บ้าน ทำให้คุณนรินทร์ทราบว่า พืชที่เหมาะสมสำหรับปลูกในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ได้แก่ พืชประเภทบัว ข่าธรรมชาติ หญ้าแฝก คุณนรินทร์ จึงมั่นใจว่า การเลือกบัวมาปลูก ไม่ได้เป็นแนวคิดที่ผิด เพียงแต่ต้องนำสิ่งที่สังเกตได้ระหว่างความล้มเหลวที่ผ่านมา มาพัฒนาการปลูกและดูแลรักษา “บัว” ให้ได้ผลผลิตตามต้องการ

เริ่มต้นของคุณนรินทร์ อาจไม่แตกต่างจากชาวนาทั่วไป ที่เก็บฝักบัวจากที่นาที่ถูกน้ำท่วมไปขาย แต่แตกต่างตรงที่ คุณนรินทร์ ตั้งใจปลูกบัวในที่นาของตนเองที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งการตั้งใจปลูกกับการเก็บบัวที่ปล่อยให้เจริญเติบโตเองตามธรรมชาติ ผลผลิตที่ได้ย่อมแตกต่างกัน

พันธุ์บัว ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฝักบัวได้คุณภาพ มีรสชาติ ตามที่ตลาดต้องการ

เขาเลือกปลูกบัวพันธุ์หนองนาบอน ซึ่งเป็น 1 ใน 7 พันธุ์บัวเชิงการค้า ที่มีเฉพาะในอำเภอปากคาด ซึ่งพันธุ์หนองนาบอน เป็นพันธุ์ที่ให้ฝักแบนราบ ขอบฝักไม่เป็นขอบชัดเหมือนบัวพันธุ์อื่น เมล็ดจะโผล่ขึ้นมา รสชาติหวาน กรอบ ความกรอบของเมล็ดช่วยให้ท้องไม่ผูก เพราะรับประทานแล้วเมล็ดบัวจะกลายเป็นน้ำตาล ไม่ใช่แป้ง

บัวพันธุ์หนองนาบอน เป็นกลุ่มบัวชนิดเดียวกับบัวหลวง ซึ่งชื่อพันธุ์ตั้งขึ้นตามถิ่นที่พบ คือ หนองนาบอน

การสังเกตและนำมาพัฒนาการผลิต ช่วยให้นรินทร์มีข้อแตกต่างจากเกษตรกรรายอื่น

“ปกติการปลูกบัวของที่อื่น คือ รอให้ถึงฤดูน้ำหลากแล้วจึงปลูก แต่ผมไม่รอธรรมชาติ ลองปลูกแบบนาปรัง คือ ย่ำคราดและลงบัวหน้าแล้ง ปล่อยน้ำลงในนา เมื่อถึงฤดูฝน บัวจะเจริญเติบโตในระดับที่มีความแข็งแรงพอดี ทำให้บัวไม่ตาย”

ขณะที่หลายคน รอน้ำหลาก เพื่อเก็บฝักบัวที่ขึ้นตามธรรมชาติไปขาย แต่คุณนรินทร์ ปลูกจริงจังเพื่อให้ได้จำนวนฝักบัวตามความต้องการของตลาด และยังมีแนวคิดรุกไปถึงการปลูกนอกฤดู

การปลูกบัวให้ได้ฝักนอกฤดู ใช้วิธีการย่ำคราดและลงบัวในฤดูแล้ง ปล่อยน้ำเข้าแปลง ความสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร เมื่อเข้าฤดูฝน ใช้วิธีควบคุมระดับน้ำด้วยการสูบน้ำออก เพื่อควบคุมระดับน้ำไว้ จากนั้นค่อยๆ เติมน้ำเข้าแปลง เพื่อเพิ่มระดับน้ำ ครั้งละไม่เกิน 10 เซนติเมตร บัวจะเริ่มสูงตามระดับน้ำที่สูงขึ้น เสมือนการปรับตัว ทำให้บัวไม่ตาย

ก่อนเข้าฤดูฝน ฝักบัวชุดแรกก็สามารถตัดขายได้จำนวนหนึ่งแล้ว เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนก็สามารถตัดฝักขายได้อีก การผลิตฝักบัวนอกฤดู ทำให้พ่อค้าแม่ค้ามารอรับซื้อจากแปลงไปขาย เพราะมีเพียงรายเดียว ไม่ต้องแย่งตลาดเหมือนเกษตรกรผู้ปลูกบัวตามฤดูรายอื่น

ตลาดการค้าบัวตัดฝักครอบคลุมถึงตลาดหนองคายและบึงกาฬ โดยเฉพาะตลาดอำเภอปากคาด จะมีให้เห็นวางจำหน่ายมากกว่าแหล่งอื่น และมักพบการจำหน่ายในงานเทศกาลของจังหวัดด้วย ซึ่งพ่อค้าแม่ค้ารายใหญ่จะมารับบัวตัดฝักไปในปริมาณมาก จากนั้นนำฝักมัดเป็นกลุ่มแล้วจ้างพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ขายในงานเทศกาลต่างๆ

ราคาขายส่งต่อฝัก อยู่ที่ฝักละ 1 บาท แต่ถ้ามัดรวมแล้ว จำนวน 7 ฝัก ขายในราคา 10 บาท รวมรายได้ตลอดปีจากการตัดฝักบัวขาย อยู่ที่ปีละ 300,000-400,000 บาท

บัวตัดฝักของคุณนรินทร์ เริ่มจากผืนนาประมาณ 4 ไร่ เมื่อมีรายได้เข้าทุกปี จึงเริ่มซื้อแปลงนาเพื่อปลูกบัวเพิ่ม ทั้งยังปลูกข้าวสลับปลูกบัวไปด้วย ขึ้นอยู่กับราคาตลาดขณะนั้นของพืชทั้งสองชนิด หรือในบางคราวที่ยังไม่ทราบราคาตลาดที่แน่ชัด ในแปลงเดียวกัน คุณนรินทร์จะปลูกพืชทั้งสองชนิดเข้าด้วยกัน หากข้าวได้ราคาดีกว่าระดับน้ำในนาจะสูงขึ้น เพื่อบังคับไม่ให้บัวเจริญเติบโต เมื่อได้ผลผลิตจากข้าวแล้ว จึงย่ำแปลง เพื่อกระตุ้นให้บัวเจริญเติบโตใหม่

ปัจจุบันไม่น้อยกว่า 20 ไร่ ถูกแปลงเป็นแปลงบัวตัดฝักทั้งหมด มีเพียง 10 ไร่ ที่ทำนาปรัง

บัวตัดฝัก รสชาติดีของจังหวัดบึงกาฬอาจหารับประทานได้ง่ายในฤดูการผลิต แต่ถ้าต้องการชมแปลงบัวตัดฝักนอกฤดู คงต้องไปชมที่แปลงของคุณนรินทร์เท่านั้น