สะละเขาทะลุ ชุมพร เตรียมตัวดี หลังเกษียณรายได้เพิ่ม

คุณครูพนัส ศรีเขาล้าน วัย 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 213 หมู่ที่ 8 ตำบลเขาทะลุ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เป็นครูเกษียณที่มีความสุขกับงานที่ทำ คือปลูกสะละ พร้อมทั้งเก็บผลผลิตอย่างต่อเนื่อง

คุณครูพนัส ศรีเขาล้าน

คุณครูพนัส ศรีเขาล้าน บอกว่า “จุดเริ่มต้นในการปลูกสะละมาจากความชื่นชอบทานระกำหวาน ก็เอาระกำมาปลูกก่อน ทีนี้น้องสาวเขาก็ได้แฟนเป็นคนจันทบุรี อำเภอท่าใหม่ เขาก็เอามาให้ชิม หลังจากได้ชิมในใจก็รู้สึกโอเคเลย ก็เลยไปนำต้นพันธุ์มาปลูกเลยในตอนนั้น ช่วงแรกๆ ต้นพันธุ์แพงมาก ตังค์ก็ไม่ค่อยมี ปลูกเนินวง 100 ต้น เริ่มต้นตั้งแต่นั้น หลังจากนั้นก็ทยอยปลูกมาเรื่อยๆ ปีละ 200-300 ต้น จนในที่สุดก็ประมาณ 1,000 กอ ได้แหละ ประมาณ 5-6 ปี ก็ไปเอาพันธุ์สุมาลีมาจากระยอง อำเภอแกลง เอามาปลูก ปีนั้นต้นพันธุ์ยังแพงมาก 800 บาท เอามา 100 ต้น จ่ายสดหมดเป็นแสนอยู่ตอนนั้น นำรายได้จากเนินวงมาเป็นทุนซื้อพันธุ์สุมาลี จากนั้นก็ขยายพันธุ์สุมาลี”

คุณครูพนัส เผย “ช่วงแรกๆ สุมาลีดีมาก แต่ปัจจุบันนี้เนินวงค่อนข้างที่จะกลับมานิยมเนื่องจากผลผลิตมีได้เกือบตลอดทั้งปี ผลผลิตเนินวงกระจายเกือบทั้งปี อย่างสุมาลีนี่หมดก็คือหมด คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์สุมาลีมากกว่าพันธุ์เนินวง”

ในส่วนของรสชาติ คุณครูพนัส เผยว่า “สุมาลีมีรสชาติหวาน หอม เนื้อบาง เนินวงจะกลมกล่อม เนื้อหนา โดยสะละทางใต้จะมีรสชาติที่เข้มหวานกว่าสะละทางตะวันออก สะละทางตะวันออกรสชาติจะกลมกล่อมกว่าทางใต้ เป็นผลจากพื้นที่ดินปลูก”

คุณครูพนัส ศรีเขาล้าน และทีมงาน

คุณครูพนัส เผยวิธีการปลูก “โดยการขุดหลุมปลูกแบบธรรมดา จากนั้นช่วงแรกใส่ขี้ไก่สดๆ ได้เลย แต่ให้ห่างโคนต้นหน่อย (ช่วงแรกใส่ไม่ต้องเยอะ) ขี้ไก่ที่ผสมแกลบนี่สุดยอด เพราะว่าพอเวลายาวนานไปเนี่ยแกลบจะเป็นตัวบำรุงดินได้อย่างดีเลย ผมไปวัด pH ทั่วทั้งสวนโอเคเลย เป็นกรดอ่อนๆ พอดีเลย บางรุ่นผมก็ไม่ได้รอง ก็ขุดหลุมปลูกเลย เนื่องจากดินที่นี่โอเคปลูกปกติ ในส่วนของปุ๋ยวิทยาศาสตร์ช่วงเลี้ยงต้นใส่ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ ถ้าช่วงดอกออกเยอะ ก็ใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 ได้เลย (ใส่ไม่ต้องเยอะ) โดยการโรยที่โคนต้นได้เลย กระจายๆ ช่วงดอกออกเยอะผสมเกสรทุกวัน ใช้ดอกตัวผู้ตัด 4 ชิ้น หนามเสียบติดดอกตัวเมียที่กำลังบาน ติดริบบิ้นทุกต้น ในทุกๆ วันที่ทำการผสมเพื่อทราบถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิต ช่วงเลี้ยงลูกก็ใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 หากต้องการเน้นต้นโต ก็ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ”

ผลสะละบรรจุในลังเพื่อการค้าขาย

คุณครูพนัส บอก “การดูแลรักษาสะละ 1-2 คน ควรดูแลไม่เกิน 300 ต้น พื้นที่ในการปลูกให้ดูแหล่งน้ำเป็นสิ่งสำคัญ สะละชอบพื้นเสมอหรือที่ราบลุ่ม ถ้าเป็นภูเขา ถ้าเป็นเนิน สะละก็อยู่ได้นะขอแค่มีน้ำ”

ปัญหาอย่างเดียวที่จะต้องใช้ยาคือ มอด “มอดกับดอกสะละนี่คู่กันเลย ถ้าไม่กำจัดมอดก็ไม่ได้ดอก วิธีป้องกันมอดโดยการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดที่ดอกในปริมาณไม่มาก ฉีดเนื่องจากความจำเป็น ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง” คุณครูพนัส บอก

คุณครูพนัส บอกว่า “ช่วงผสมเกสร ผสมทุกวัน ใช้เวลาประมาณวันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง เนื่องจากความชำนาญ (คนทำเขาเก่ง) หลังจากสะละติดผล ช่วงผลอ่อนมีการให้ปุ๋ยทางใบช่วยบ้างนานๆ ครั้ง โดยใช้ปุ๋ยปลาหมักเพื่อที่จะบำรุงต้นและผล เพื่อช่วยเรื่องการเจริญเติบโต หมักกับ EM หมักกับกากน้ำตาล ใช้ของ พด. ด้วย อัตราส่วนที่ใช้โดยประมาณ ก็ปลา 10 กิโลกรัม กากน้ำตาลประมาณ 15 ลิตร แล้วก็น้ำ แล้วก็ EM (1 ลิตร 100 บาท) ใส่ พด. 2 ซอง (ได้ฟรี) หมักในถัง 200 ลิตร แต่ใส่น้ำเพียง 150 ลิตร เวลาจะใช้ก็ตักมาผสมน้ำแล้วฉีดพ่น ผลที่ได้จากการใช้ปุ๋ยปลาหมักนั้นให้ความสมบูรณ์ ให้รสชาติ แล้วก็ปลอดภัย เนื่องจากไม่ใช้สารเคมี”

สะละลอยแก้ว

คุณครูพนัสเผย “พืชตระกลูปาล์มชอบปุ๋ยปลาหมัก”

“หลังการผสมควรมีการติดริบบิ้น เพื่อบอกวันที่และเดือนที่ผสม (สีของริบบิ้นจะบอกถึงเดือนที่ผสม ส่วนตัวเลขนั้นหมายถึงวันที่ผสม) ข้อดีของการติดริบบิ้นคือ เมื่อสะละอายุครบ 9 เดือน เราสามารถรับรู้ถึงวันที่จะสามารถตัดได้เลย ทางด้านการตัดแต่งทางใบ สะละ 1 ปี ตัดแต่งทางใบ 1 ครั้ง อีกทั้งโยงผลให้พ้นดิน เพื่อลดอัตราการเน่าของผล” คุณครูพนัส บอก

คุณครูพนัส พูดถึงฤดูกาลให้ผลผลิตสะละ “อยู่ประมาณช่วงหน้าผลไม้ หน้าเงาะ หน้าลองกอง หน้าทุเรียน เริ่มจากปลายพฤษภาคม-กันยายน หรือตุลาคม (พฤศจิกายน-เมษายน เริ่มลดลง) ผลผลิตต่อต้นโดยเฉลี่ย ประมาณ40-50 กิโลกรัม ต่อกอ ถ้ากอใหญ่อาจจะถึง 70 กิโลกรัม ต่อกอ”

คุณครูพนัส เผยความแตกต่างระหว่างรสชาติสะละภาคใต้กับภาคตะวันออก “ที่นี่รสชาติจะต่างกันนิดหนึ่งของจันทบุรีจะกลมกล่อม ที่นี่จะหวานเข้มกว่าที่นู่น”

คุณครูพนัส กล่าวถึงทางด้านตลาด “หลักๆ ส่วนใหญ่จัดส่งจังหวัดภูเก็ต โดยส่งขึ้นรถทัวร์ให้พ่อค้ารับที่นู่น ส่งอำเภอสวี ประมาณ 2-3 ราย ราคาช่วงนี้ค่อนข้างลดลงหน่อย สู้ทุเรียนไม่ได้ แต่ก็อยู่ได้สบาย”

ขายปลีกข้างทาง

คุณครูพนัส เผยการเตรียมตัวทำการเกษตรหลังการเกษียณ “กรณีผม ผมเป็นคนชอบต้นไม้ตั้งแต่เดิม พ่อกับแม่สอนเรื่องนี้ ให้มามันก็รับ ก็ฝังในสายเลือด คนที่ชอบอยู่แล้วไม่มีปัญหา แต่ถ้าคนที่จะมาเริ่มใหม่ก็ต้องศึกษาให้เยอะหน่อย อยู่ที่ใจรักด้วย การเริ่มปลูกสะละหลังการเกษียณไม่หนัก ค่อยๆ เริ่มไป อย่าลงทุนทีเดียวเยอะ ถ้าจะทำเพื่อการค้าต้องดูตลาดเป็นหลัก ขั้นตอนการปลูก การดูแลศึกษา ก็ทำได้ไม่ยาก”

โดยหน้าบ้านของคุณครูพนัสช่วงนี้มีการจัดจำหน่ายวางขายปลีกสะละพันธุ์เนินวงสำหรับผู้ที่ผ่านไปผ่านมา ที่ไม่จัดวางจำหน่ายสะละพันธุ์สุมาลีด้วย เนื่องจากพันธุ์สุมาลีตอนนี้ผลผลิตยังคงหวานน้อย

อีกทั้งยังมีการจัดจำหน่ายสะละลอยแก้วตามสั่ง กำหนดราคาขายส่งอยู่ที่ 20 บาท

สนใจติดต่อผ่านเบอร์โทร. 089-469-1152 คุณครูพนัส ศรีเขาล้าน