โรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS แห่งแรกที่ เนินมะกอก นครสวรรค์

พืชเกษตรหลัก ที่มีผลชี้วัดทางเศรษฐกิจและการเมือง เราคงมองไปที่ ข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา แต่หารู้ไม่ว่า พืชที่สำคัญอีกชนิด ที่มีผลชี้วัดไม่แพ้กัน นั่นก็คือ “อ้อย”

“อ้อย” พืชอุตสาหกรรมที่ปลูกแล้วตัดส่งเข้าโรงงานหีบอ้อย ผ่านกระบวนการแปรรูปจนออกมาเป็นน้ำตาลต้องใช้พื้นที่ในการปลูกอ้อยไม่น้อยกว่าพืชหลัก 3 อย่างที่กล่าวมาข้างต้นจะกี่ยุคกี่สมัยจากผลสะท้อน เกษตรกรชาวไร่อ้อยก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ต่างอะไรกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปลูกมันสำปะหลัง และยางพารา จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง โรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS แห่งแรก ที่ตำบลเนินมะกอก อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์

คุณสมนึก ประธานทิพย์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS

ชื่อนี้เป็นมาอย่างไร คุณสมนึก ประธานทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครสวรรค์สติล จำกัด ผู้ผลิตเครื่องมือการเกษตร และเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS ได้ให้ความกระจ่างถึงที่มาของโรงเรียนแห่งนี้

ป้ายโรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS เริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2558

ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น คุณสมนึกเป็นผู้ผลิตเครื่องมือจักรกลการเกษตรมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2537 โดยเฉพาะการผลิตเครื่องมือ เครื่องจักรในการทำไร่อ้อย จึงทำให้ได้รู้จักกับ คุณกิวโด้ อานิก้าร์ (Mr.Guido Anicar) เกษตรกรชาวไร่อ้อยดีเด่นอันดับหนึ่งจากประเทศออสเตรเลีย ในการบริหารจัดการไร่อ้อยของตนเองที่อยู่ในออสเตรเลีย ไม่ว่าจะเป็น วิธีการปลูก วิธีการจัดการเรื่องแรงงาน สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกขั้นตอน ในการปลูกอ้อยได้ครึ่งต่อครึ่ง

คุณกิวโด้ อานิก้าร์ (Mr.Guido Anicar) เกษตรกรชาวไร่อ้อยดีเด่น

คุณสมนึก เล่าถึงที่มาของคุณกิวโด้ ให้ฟังต่ออีกว่า ขณะที่คุณกิวโด้อยู่ที่ออสเตรเลีย เขาสามารถบริหารจัดการไร่อ้อย 5,000 ไร่ โดยใช้แรงงานเพียงแค่ 5 คน และยังทำผลผลิตได้เยอะที่สุดต่อไร่มากกว่าเกษตรกรคนอื่นๆ ในออสเตรเลีย

หลังจากนั้น คุณกิวโด้เข้ามาอยู่เมืองไทย เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท เกษตรไทย ดูแลเรื่องการปลูกอ้อยโดยเฉพาะ ก็สามารถพลิกฟื้นผลผลิตจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเดิมเกษตรกรชาวไร่อ้อยของไทย เคยปลูกอ้อยได้เพียง 7-8 ตัน ต่อไร่ พอมาใช้แนวทางทฤษฎีของคุณกิวโด้ ไม่นานผลผลิตขยับขึ้นมาเฉลี่ย 15 ตัน ต่อไร่ ได้เท่าตัว

คุณกิวโด้ อานิก้าร์ ทดสอบเครื่องปลูกอ้อยร่องเดี่ยวในแปลงปลูกจริง

ขณะเดียวกัน คุณกิวโด้ก็ได้คิดค้นรูปแบบเครื่องมือในการปลูกอ้อย เพื่อให้ตรงกับความต้องการต่อสภาพพื้นที่แปลงปลูกอ้อยของเมืองไทย โดยมอบหมายให้โรงงานนครสวรรค์สติล ของคุณสมนึกเป็นผู้ประดิษฐ์ดัดแปลงเครื่องมือต่างๆ ในการจัดการแปลงปลูกอ้อย แต่ละขั้นตอน จากการทำงานร่วมกัน จึงทำให้คุณสมนึกได้เรียนรู้ถึงแก่นแท้ความจริงใจของคุณกิวโด้ ในการนำเทคนิคใหม่ๆ ที่เคยประสบความสำเร็จในการทำไร่อ้อยจากออสเตรเลียมาผสมผสานเติมเต็มให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยของเมืองไทย อย่างไม่มีปิดบัง

โรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS จึงก่อกำเนิดขึ้น ในปี 2558 จากอุดมการณ์ของคุณสมนึก ประธานทิพย์ และคุณกิวโด้ อานิก้าร์ ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ด้านการปลูกอ้อย โดยมี บริษัท นครสวรรค์สติล จำกัด เป็นผู้ให้การสนับสนุนสื่อการเรียนการสอน อุปกรณ์ค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยฟรี ในการจัดฝึกอบรม ทั้งค่าอาหาร ค่าที่พัก รวมทุนสนับสนุนแสนกว่าบาทต่อรุ่น เฉลี่ยต่อหัว 3,000 กว่าบาท ตามนโยบายคืนกำไรสู่สังคม…

อบรมเพิ่มเติมนอกห้องเรียน ในแต่ละฐานความรู้

ส่วนรูปแบบการคัดเลือกเกษตรกรเข้ามาฝึกอบรมในโรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS แห่งนี้จะมีตัวแทนแต่ละภาคคัดเลือกเกษตรกร ภาคละ 10 คน ไม่จำกัดอายุเพศวัย จะเป็นลูกหลาน เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยรายใหม่ รายเก่า จะเป็นเถ้าแก่ เจ้าของไร่อ้อย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องการปลูกอ้อย ก็สามารถเสนอชื่อเข้ามาฝึกอบรมการปลูกอ้อย ณ โรงเรียนแห่งนี้ได้ ในทุกๆ ปี ปีละ 10 รุ่น แต่ละรุ่นรับไม่เกิน 40-50 คน ทั้งนี้ เพื่อต้องการให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้นำความรู้เทคนิคใหม่ๆ ไปปฏิบัติได้จริงในไร่อ้อยของตัวเอง

คุณสรวิศ ประธานทิพย์ หรือ อาจารย์แชมป์ วิทยากรให้ความรู้เสริมในชั้นเรียน ก่อนออกปฏิบัติจริงนอกห้องเรียน

คุณสรวิศ ประธานทิพย์ หรือ “อาจารย์แชมป์” ผู้ที่จบครุศาสตร์อุตสาหกรรม หนึ่งในวิทยากรผู้ให้ความรู้ของโรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS ได้บอกเล่าประสบการณ์ว่า มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยท่านหนึ่งได้เข้ามาฝึกอบรมกับเรา มีไร่อ้อยเป็นพันๆ ไร่ ยิ่งทำเท่าไรก็ยิ่งแย่ ได้เงินมาผ่อนแต่ดอกก็ยังไม่พอ มีหนี้สินนับสิบๆ ล้าน เกือบจะเจ๊ง นับวันมีแต่จะขาดทุน เพราะยังยึดติดกับการทำไร่อ้อยแบบเก่าๆ อาทิ ลงทุนเยอะเรื่องแรงงาน ใช้สารเคมีเยอะ บริหารจัดการไร่อ้อยยังไม่เป็นระบบ เครื่องจักรก็ยังเป็นรุ่นเก่าๆ ประสิทธิภาพการทำงานจึงไม่ครอบคลุม ต้นทุนทุกอย่างเลยสูง

เมื่อเกษตรกรท่านนี้ได้มาเข้าอบรมกับโรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS จึงทำให้ทัศนคติเดิมๆ แนวความคิดเก่าๆ เปลี่ยนไป และยังมีเกษตรกรตัวอย่างอีกหลายๆ คน ที่ประสบปัญหา เมื่อเข้ามารับความรู้ใหม่ๆ จากโรงเรียนแห่งนี้แล้วนำกลับไปปรับปรุงพัฒนาไร่อ้อยของตนเองจนฟื้นตัว และประสบความสำเร็จ และได้กลับมาเป็นพี่เลี้ยง มาเป็นวิทยากรบอกเล่าประสบการณ์ถ่ายทอด ความรู้ต่อจากรุ่นสู่รุ่นให้กับโรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS ของเราต่อไป

นักเรียนเกษตรกรไร่อ้อยเรียนรู้ภาคปฏิบัติกับเครื่องปลูกอ้อยในแปลงทดลองจริง

อาจารย์แชมป์ ให้ข้อมูลต่ออีกว่า ในศูนย์ฝึกอบรมโรงเรียนแห่งนี้มีสอนทั้งทฤษฎีในห้องเรียน และปฏิบัตินอกสถานที่ เริ่มตั้งแต่การเตรียมดินซึ่งเป็นต้นทุนหลัก หากเตรียมดินดีก็มีกำไรไปกว่าครึ่ง เมื่อเตรียมดินดีแล้วปลูกอ้อยอย่างไรถึงมีอายุยืนยาว สามารถตัดทำกำไรได้หลายๆ ปี และผลผลิตไม่ลดลง เป็นหลักสูตรฐานความรู้ ตอบโจทย์ อยู่ในโรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS ที่เน้นทฤษฎีการสร้างรากอ้อย

ทฤษฎีการสร้างรากอ้อยนั้นเป็นเทคนิคใหม่ เปลี่ยนจากแนวคิดเดิมๆ ที่เกษตรกรเคยปลูกอ้อยร่องคู่ เน้นเอาหน่อเยอะๆ แล้วหันมาปลูกอ้อยร่องเดี่ยวในรูปแบบของเรา โดยยึดหลักแนวคิดแบบในหลวงรัชกาลที่ 9 คือการสร้างฐานให้แข็งแรง หรือสร้างรากให้มั่นคง อายุอ้อยก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานถึง 6 ปี

ลักษณะอ้อยที่ปลูกฝังอยู่ในร่องเดี่ยว การันตีเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ยาวนานหลายปี

ทฤษฎีการปลูกอ้อยร่องเดี่ยวมีผลดีอย่างไร อาจารย์แชมป์ อธิบายว่า หากปลูกร่องเดี่ยวอ้อยก็จะขยันการสร้างรากให้การแตกกอ ให้แม่เลี้ยงลูก เมื่อหน่อแม่ขึ้นมา หน่อลูกก็จะแตกกอขึ้นมาทดแทนภายหลัง อย่าลืมว่าอ้อยเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ย่อมแข่งกันเจริญเติบโต โดยธรรมชาติและแสงแดดจะเป็นตัวกำหนดการเจริญเติบโตของลำอ้อยไม่เหมือนกันทุกลำต้น

ข้อดีที่เห็นได้ชัดตามมาคือ ต้นทุนที่ลดลง เปรียบเทียบเรื่องการใส่พันธุ์อ้อย หากปลูกร่องคู่ เราจะต้องใส่พันธุ์อ้อยถึง 2 ตันครึ่ง ถ้าปลูกแบบร่องเดี่ยว ใช้พันธุ์อ้อยเพียง 800-900 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผลผลิตได้เท่ากัน หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ

สำหรับการปลูกแบบร่องเดี่ยวเป็นเครื่องการันตีแล้วว่า ทฤษฎีการปลูกอ้อยร่องเดี่ยวในรูปแบบของเรา เป็นที่ยอมรับจากทาง บริษัทโรงงานอ้อยที่จะให้การสนับสนุนเงินทุนกับเกษตรกรเริ่มต้นทันที ไร่ละ 7,000-8,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นค่าพันธุ์ ค่าไถเตรียมดิน ยิ่งถ้าหากไร่อ้อยของเกษตรกรพื้นที่ใดดินดี ผลผลิตอ้อยต่อไร่ น่าจะได้มากถึง 20 ตันเลยทีเดียว แต่ถ้าดินแย่มากๆ ผลผลิตก็จะลดลงมาไร่ละ 15 ตัน ตกไร่ล่ะ 15,000 บาท เมื่อหักลบต้นทุนจากบริษัท โรงงานอ้อย 7,000-8,000 บาท ก็ยังเหลือกำไรครึ่งต่อครึ่ง

นักเรียนที่ผ่านการอบรมกับโรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันกับวิทยากรผู้ให้ความรู้

ทฤษฎีการปลูกอ้อยร่องเดี่ยว เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง “โรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS” แหล่งเรียนรู้แห่งใหม่สำหรับการปลูกอ้อย ที่ตำบลเนินมะกอก อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ น่าจะเป็นการจุดประกาย ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ยังมองหาความสำเร็จได้พลิกฟื้นในอาชีพการทำไร่อ้อย ไปสู่เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน…

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “โรงเรียนเกษตรกรชาวไร่อ้อย NKS” ได้ที่ โทร. (056) 316-343 (ในวันและเวลาราชการ)