“กล้วยไข่ลิ่นถิ่น” รสหวาน อร่อย ที่ 1 ในไทย

ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ นับเป็นหนึ่งในทำเลทองของการเพาะปลูกสินค้าเกษตรของจังหวัดกาญจนบุรี ที่นี่ดินดี น้ำดี อากาศดี เพาะปลูกพืชใดก็เจริญเติบโตงอกงาม ให้ผลผลิตคุณภาพดีตามไปด้วย ยางพารา มันสำปะหลัง  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมทั้ง “กล้วยไข่” คือพืชเศรษฐกิจหลักของท้องถิ่นแห่งนี้

นับเป็นความโชคดีของทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้าน ที่ คุณสุเมธ หงษ์สาชุม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โทร. 086-769-3465 และ คุณศิริพร พณิชย์สานนท์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟ-บุกบ้านขนุนคลี่ ให้เกียรติสละเวลาพาทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านไปเยี่ยมชมกิจการส่งออกกล้วยไข่ ของ  วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ตำบลลิ่นถิ่น ตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 30/4 หมู่ที่ 1 ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

คุณสุเมธ หงษ์สาชุม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ตำบลลิ่นถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการผลิตกล้วยไข่เพื่อการส่งออกรายใหญ่อันดับต้นๆ ของจังหวัดกาญจนบุรี ที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอทองผาภูมิอีกด้วย โดยเกษตรกรต้นแบบเจ้าของแปลงเรียนรู้แห่งนี้ คือ คุณวีระ โซวเซ็ง มีประสบการณ์ด้านการส่งออกกล้วยไข่มานานกว่า 20 ปี

(จากซ้ายไปขวา) คุณศิริพร พณิชย์สานนท์ คุณสุเมธ หงษ์สาชุม และ คุณวีระ โซวเซ็ง

คุณวีระ เป็นแกนนำรวมกลุ่มเกษตรกรในท้องถิ่น จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อร่วมมือกันผลิตและจำหน่ายกล้วยไข่คุณภาพดี เกรดส่งออกให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีเท่าเทียมกันทุกต้น รวมทั้งเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการปลูกกล้วยไข่  เกษตรกรที่เข้ามาเยี่ยมชมจะได้เรียนรู้แนวทางลดการใช้ปุ๋ยเคมี โดยคุณวีระส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ควบคู่กับการใช้ปุ๋ยเคมี รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน

โรงคัดบรรจุของวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ตำบลลิ่นถิ่น

ปุ๋ย นับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของการปลูกพืช หากเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองได้ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ปุ๋ยอินทรีย์ประกอบด้วยอินทรียวัตถุและแร่ธาตุต่างๆ เมื่อนำมาใช้ในแปลงปลูกกล้วยไข่จะช่วยปรับปรุงดินให้มีสภาพอุดมสมบูรณ์ และมีแร่ธาตุอาหารแก่พืช ช่วยให้พืชเจริญเติบโตงอกงามได้ดีขึ้น

กล่องบรรจุกล้วยไข่ลิ่นถิ่นพร้อมส่งออกแล้ว

ต่อมา ปี 2560 สำนักเกษตรอำเภอทองผาภูมิ ได้ยกระดับการพัฒนากล้วยไข่ในชุมชนแห่งนี้ ในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ รวมทั้งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปัจจุบันแปลงใหญ่กล้วยไข่แห่งนี้ มีพื้นที่ปลูกกล้วยไข่เพื่อการส่งออก รวมกันกว่า 1,000 ไร่ ผลผลิตส่วนใหญ่มุ่งป้อนตลาดส่งออก คือ ฮ่องกง จีน ฯลฯ ผลผลิตที่เหลือป้อนตลาดห้างสรรพสินค้าชั้นนำในประเทศ

กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไข่ตำบลลิ่นถิ่น 

คุณวีระ โซวเซ็ง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ตำบลลิ่นถิ่น โทร. 089-258-5825 เล่าให้ฟังว่า  ผมเป็นเกษตรกรรายแรกที่บุกเบิกการปลูกกล้วยไข่เพื่อการส่งออกของตำบลลิ่นถิ่น โดยลงทุนซื้อต้นพันธุ์กล้วยไข่ สินค้าเด่นของดีของจังหวัดกำแพงเพชรมาปลูกในท้องถิ่นแห่งนี้ ตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ระยะแรกปลูกเพียงแค่ 5 ไร่ก่อนจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คุณวีระ โซวเซ็ง

กล้วยไข่ลิ่นถิ่น มีคุณภาพดี ถูกใจผู้ซื้อ และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะกล้วยไข่ลิ่นถิ่นมีเนื้อแน่น หอม หวาน รสชาติอร่อย ลักษณะการเรียงตัวของผลและสีผลสวยงาม สะดุดตาผู้ซื้อ ปลูกก็ง่าย ขายได้คล่อง แถมขายได้ราคาดีกว่ากล้วยไข่ทั่วไป ทำให้พื้นที่ปลูกกล้วยไข่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากกล้วยไข่ลิ่นถิ่นได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ปลูกในสภาพดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ อากาศดี รวมทั้งมีการบริหารจัดการสวนที่เป็นระบบ จึงได้ผลผลิตคุณภาพดี รสชาติหวาน อร่อย ไม่แพ้ใคร ครองใจผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างยาวนานหลายสิบปี 

“ที่ผ่านมา ตลาดทั้งในประเทศและส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากกล้วยไข่จัดอยู่ในกลุ่มผลไม้เพื่อสุขภาพ จึงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบัน ฮ่องกง ซึ่งเป็นตลาดหลักสำคัญ เจอปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ยอดสั่งซื้อกล้วยไข่ในตลาดแห่งนี้ลดลงไปกว่าครึ่ง ผมจึงเร่งประสานกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเร่งหาตลาดใหม่เข้ามาทดแทนในอนาคต” คุณวีระ กล่าว

กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยไข่ลิ่นถิ่น

การปลูกดูแล

หากใครมีพื้นที่ว่างและสนใจปลูกกล้วยไข่ คุณวีระ มีคำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกกล้วยไข่ดังนี้ เริ่มจากคัดเลือกหน่อพันธุ์คุณภาพดีมาปลูก ในแปลงที่เตรียมไว้ โดยขุดหลุมปลูกให้มีขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ก่อนปลูก รองก้นหลุมด้วยดินผสมปุ๋ยคอก หลังปลูกกล้วยไข่ประมาณ 1 เดือน ควรพลิกดินให้ทั่วทั้งแปลงปลูก เพื่อให้ดินเก็บความชื้นจากน้ำฝนไว้ให้มากที่สุด วิธีนี้ยังเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วยในตัว ขณะที่รากกล้วยยังขยายไปไม่มากนัก

คุณวีระ แนะนำว่า ควรกำจัดวัชพืช ปีละ 3 ครั้ง ครั้งแรกทำไปพร้อมกับการพลิกดิน ส่วนครั้งที่ 2 และ 3 ให้พิจารณา จากปริมาณวัชพืช แต่ควรทำก่อนที่ต้นกล้วยตกเครือ ส่วนการให้ปุ๋ยนั้น ควรให้ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ครั้ง ก่อนปลูก ในอัตรา 3-5 กิโลกรัม ต่อหลุม และใส่ปุ๋ยเคมี จำนวน 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 และ 2 ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 หรือ 46-0-0+16-20-0 ในอัตราส่วน 125-250 กรัม ต่อต้น ต่อครั้ง หลังจากปลูก 1 และ 3 เดือน เป็นระยะที่ต้นกล้วยมีการเจริญเติบโตทางลำต้น ครั้งที่ 3 ควรให้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 8-24-24 อัตรา 125-250 กรัม ต่อต้น ต่อครั้ง ภายหลังจากปลูกไปแล้ว 5 เดือน ให้ปุ๋ยเคมี ครั้งที่ 4 เป็นปุ๋ย สูตร 13-13-21 อัตรา 125-250 กรัม ต่อต้น ต่อครั้ง เมื่อต้นกล้วยอายุได้ 7 เดือน เพียงเท่านั้น ต้นกล้วยไข่ก็จะเจริญเติบโตได้ดี

คุณวีระ โชว์เครือกล้วยไข่

นอกจากนี้ คุณวีระ ยังให้คำแนะนำว่า เกษตรกรควรพูนโคนต้นกล้วยไข่ โดยการโกยดินเข้าสุมโคนกล้วย เพื่อลดปัญหาการโค่นล้มของต้นกล้วย เมื่อเจอลมแรง โดยเฉพาะต้นตอที่เกิดขึ้นระยะหลังโคนจะลอยขึ้น ทำให้ต้นกล้วยโค่นล้มลงได้ง่าย

ขั้นตอนต่อมา เกษตรกรควรตัดแต่งหน่อหลังปลูกกล้วย ประมาณ 5 เดือน ปาดหน่อ ทุกๆ 20-30 วัน ครั้งแรก ควรปาดเฉียงตัดขวางเพื่อให้ลำต้นกล้วยเอียงทำมุม 45 องศา สูงจากโคนต้นประมาณ 4-5 นิ้ว ครั้งต่อไปให้รอยปาดครั้งใหม่อยู่ทิศทางตรงข้าม กับรอยปาดครั้งแรก หลังจากนั้นอีกประมาณ 20-30 วัน จึงเฉือนหน่อ ครั้งที่ 2 ให้รอบ เฉือนครั้งใหม่อยู่ทิศทางตรงข้าม กับรอยเฉือนครั้งก่อน และให้รอยเฉือน มุมล่างสุดครั้งใหม่อยู่สูงจากรอยเฉือนมุมบนครั้งก่อน 4-5 นิ้ว แต่งหน่อเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่า จะถึงกล้วยตอต่อไป หรืออาจขุดหน่อไว้สำหรับปลูกใหม่หรือขายก็ตาม

กล้วยไข่ลิ่นถิ่น รสหวาน ที่ 1 ในไทย

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปลูกดูแลกล้วยไข่ สามารถแวะเข้ามาเยี่ยมชมแปลงใหญ่กล้วยไข่ลิ่นถิ่น หรือโทรศัพท์พูดคุยกับ คุณวีระ โซวเซ็ง ได้ตามเบอร์โทร.ข้างต้น คุณวีระยินดีแบ่งปันความรู้เพื่อให้เพื่อนเกษตรกรได้ผลผลิตคุณภาพดีเช่นเดียวกับแปลงปลูกกล้วยไข่ลิ่นถิ่น สินค้าทำเงินของท้องถิ่นแห่งนี้