มะนาวสามชาย นครสวรรค์ ปลูกนอกฤดู ทำเงินแสน

พื้นที่หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยหอม อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนใหญ่เกษตรกรใช้พื้นที่ทำการเกษตรในรูปแบบของไร่มะขามเทศ ไร่อ้อย และท้องนา อีกจำนวนหนึ่งปล่อยเป็นที่รกร้างว่างเปล่า เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ ขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการทำการเกษตร เนื่องจากระบบชลประทานเข้าไม่ถึง จำนวนมากต้องขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ สำหรับพืชไร่และพืชสวน ส่วนที่นา อาศัยความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ

หากมีเกษตรกรคนใด ปลูกพืชที่นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ในบางโอกาสจะถูกมองว่า มีความคิดที่แปลกแตกต่าง แต่ความคิดที่แปลกแตกต่างของเกษตรกรที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จัดว่าเป็นความคิดที่แปลกแตกต่าง เพื่อก้าวสู่การพัฒนา ในแบบฉบับของเกษตรกรตัวจริง

 

คุณณรงค์ ร่างใหญ่ กับ ดร. รวี เสรฐภักดี
คุณณรงค์ ร่างใหญ่ กับ ดร. รวี เสรฐภักดี

ช่วงสายในปลายฤดูหนาว “เทคโนโลยีชาวบ้าน” เดินทางไปยัง หมู่ที่ 10 ตำบลห้วยหอม อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อพบกับเกษตรกรหนุ่ม คุณณรงค์ ร่างใหญ่ ผู้ซึ่งผันพื้นที่ปลูกอ้อยเกือบ 3 ไร่ มาปลูกมะนาวแทน

“ใครๆ ก็คิดว่าผมบ้า หรือไม่ก็คิดแปลกแยกจากคนอื่น เพราะไม่มีใครคิดทำสวนมะนาวเลย”

คุณณรงค์ มีความรู้ทางด้านกฎหมาย จบการศึกษาระดับเนติบัณฑิต ชีวิตการทำงานก้าวเข้าสู่ระบบลูกจ้างได้เพียง 1 ปี ก็ลาออก ก่อนลงทุนปลูกสร้างอพาร์ตเมนต์ให้เช่า ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพระนครศรีอยุธยา และยังคงเดินทางยังภูมิลำเนาเดิมที่ตำบลห้วยหอมอยู่เป็นประจำ

คุณณรงค์ บอกว่า ในทุกครั้งของการเดินทางกลับมาเยี่ยมมารดาที่ตำบลห้วยหอม คิดเสมอว่า ไม่ควรปล่อยให้เวลาระหว่างการเดินทางไปกลับสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ รถที่ใช้ในการเดินทางเป็นรถกระบะ ควรบรรทุกของหรือใช้ประโยชน์ให้คุ้ม น่าจะเป็นการสร้างรายได้ที่ดีกว่า

Advertisement

“ผมมองเห็นว่า ตลาดมะนาวหน้าแล้งน่าสนใจ ราคาแพง ราคาตลาดขายอย่างต่ำ ลูกละ 6 บาท จึงเริ่มศึกษาจากหนังสือและเว็บไซต์ ผิดบ้างถูกบ้าง และเริ่มทดลองทำในพื้นที่เดิมที่ปลูกอ้อยเกือบ 3 ไร่ เปลี่ยนเป็นปลูกมะนาวเกือบ 500 ต้น เหมือนจะไปได้ดี แต่ไม่นานใบมะนาวเริ่มเหลืองโดยไม่รู้สาเหตุ ทำให้แก้ปัญหาไม่ได้”

คุณณรงค์ ตัดสินใจเข้าอบรมการปลูกมะนาวนอกฤดู ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อศึกษาให้ถ่องแท้ และได้ผล คุณณรงค์ กลับมาแก้ปัญหามะนาวใบเหลืองตามความรู้ที่รับการอบรมมา ทำให้การแก้ปัญหาลุล่วงไปด้วยดี

Advertisement

พื้นที่เกือบ 3 ไร่ แบ่งเป็นบ่อกักเก็บน้ำ 1 ไร่ 2 งาน พื้นที่ที่เหลือ ทำมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์ 2 ไร่ จำนวน 300 วงบ่อ ลงทุนครั้งแรกประมาณ 1.4 แสนบาท ต่อไร่

lm17

ใช้วงบ่อซีเมนต์ ขนาด 80 เซนติเมตร วางระยะห่างระหว่างแถว 4 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 3 เมตร

กิ่งพันธุ์ที่ใช้ เป็นมะนาวพันธุ์แป้นพิจิตร 1 และแป้นพวง

สาเหตุที่เลือก 2 สายพันธุ์นี้ คุณณรงค์ บอกว่า เป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มภาคกลาง เพราะตลาดที่คุณณรงค์มองไว้ คือ ตลาดภาคกลาง และพันธุ์แป้นพิจิตร 1 ทนทานต่อโรคและแมลง ส่วนพันธุ์แป้นพวง ลูกดก

การเตรียมดินสำหรับปลูกในวงบ่อซีเมนต์ คุณณรงค์ นำวัสดุปลูกประกอบด้วยดินนา ขี้วัว กากถั่วแระ กากถั่วเขียว จากนั้นไถผาล 7 ดินนาก่อน ทิ้งดินนาที่ไถแล้วตากแห้งเกือบ 1 เดือน แล้วไถผาล 7 อีกรอบให้ดินร่วนซุย นำขี้วัวและกากถั่วโรยแล้วไถกลับไปมา จากนั้นนำรถไถดันพื้นที่ปลูกให้เป็นคู วางวงบ่อ ตักดินใส่วงบ่อที่มีแผ่นรองด้านล่าง

ระบบน้ำและการให้น้ำ คุณณรงค์ใช้ระบบน้ำหยดกับมะนาวต้นเล็กๆ โดยให้น้ำในช่วงเช้า เพียง 5 นาที หลังจากมะนาวเริ่มโตก็เปลี่ยนระบบน้ำหยดเป็นมินิสปริงเกลอร์ ให้น้ำในช่วงเช้าเช่นเดียวกัน แต่ปรับเวลาเป็น 10-15 นาที

หลังจากมะนาวผลิยอดอ่อนให้เห็น คุณณรงค์จะขลิบยอดทิ้ง จากนั้น 15 วัน พ่นสารแพคโคลบิวทราโซลในครั้งแรก และอีก 45 ต่อมา พ่นสารแพคโคลบิวทราโซลอีกครั้ง สำหรับอัตราความเข้มข้นของสารแพคโคลบิวทราโซล ชนิดความเข้มข้น 10% ในอัตรา 80 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

สารแพคโคลบิวทราโซล เป็นสารที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของกิ่งใบ เมื่อกิ่งใบน้อยลง โอกาสการออกดอกก็มีมากขึ้น

มะนาวที่จะบังคับให้ออกนอกฤดูได้นั้น ควรมีอายุอย่างน้อย 8 เดือนขึ้นไป

คุณณรงค์ อธิบายว่า ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนตก ควรงดให้น้ำ โดยการนำผ้าพลาสติกกันฝนขนาดใหญ่คลุมรอบวงบ่อ สังเกตใบมะนาวจะเริ่มเหี่ยว หลังจากคลุมผ้าพลาสติกประมาณ 10-15 วัน และนำผ้าพลาสติกคลุมออก เมื่อใบสลด เหี่ยวหรือร่วงประมาณ 75-80% ให้น้ำพร้อมปุ๋ย

มะนาวแป้นพิจิตร 1 ใช้ปุ๋ยทางดินโยกหลัง 15-5-20 ทำให้เปลือกบาง
มะนาวแป้นพิจิตร 1 ใช้ปุ๋ยทางดินโยกหลัง 15-5-20 ทำให้เปลือกบาง

การให้ปุ๋ยทางดิน ใช้สูตร 0-0-60 หรือ 15-5-20 ส่วนปุ๋ยทางใบ ใช้สูตร 9-19-34

“หลังจากนั้น ประมาณ 14 วัน มะนาวจะเริ่มแตกใบอ่อน พร้อมออกดอก ระยะนี้ต้องหมั่นดูแลไม่ให้แมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย ซึ่งผลมะนาวจะสมบูรณ์พร้อมเก็บจำหน่ายในช่วงฤดูแล้งพอดี”

โรคและแมลงศัตรูพืช คุณณรงค์ เล่าว่า โรคแคงเกอร์ ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายที่สุดสำหรับมะนาว ป้องกันโดยพ่นสารคอปเปอร์หลังจากมียอดอ่อนแทงออกมา แต่ถ้ายังพบโรคแคงเกอร์อีก ให้แต่งกิ่งนำไปเผาทิ้ง นอกจากนี้ ควรระวังเพลี้ยไฟ ซึ่งจะทำให้เกิดโรคใบเหลืองในมะนาว ควรใช้ยาฆ่าเชื้อราพ่นป้องกัน

พันธุ์แป้นพิจิตร 1
พันธุ์แป้นพิจิตร 1

สำหรับ คุณณรงค์ การทำมะนาวนอกฤดูในวงบ่อซีเมนต์ เพิ่งเริ่มต้นในรอบที่ 2 เท่านั้น ซึ่งรอบแรกของการทำมะนาว ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ นับเฉพาะ 150 วงบ่อ คือ ครึ่งหนึ่งของจำนวนวงบ่อทั้งหมด สามารถจำหน่ายได้ราคาดี คิดเป็นต้นทุนและกำไรราว 3 แสนบาท ราคามะนาวออกจากสวน ลูกละ 5-6 บาท ทีเดียว

สวนมะนาวนอกฤดูของ คุณณรงค์ ร่างใหญ่ หาง่าย ไม่ไกลแหล่งชุมชน หากท่านใดต้องการปรึกษาหรือเยี่ยมชมถึงสวน คุณณรงค์ยินดีต้อนรับ โทรศัพท์สอบถามกันก่อนได้ที่ (089) 122-4179 หรือทางเฟซบุ๊ก ในชื่อของ มะนาวสามชาย

 

 

เก็บขาย
เก็บขาย

lm19