ใช้สารบังคับให้ ‘มะม่วง’ ออกนอกฤดูก็แล้ว…แต่ไม่ได้ผล เกิดจากอะไร?

มีผู้อ่านถามมาในคอลัมน์ “หมอเกษตรทองกวาว” ว่า ที่บ้านนั้นมีมะม่วงอายุ 10 ปี อยู่ 15 ต้น เป็นมะม่วงแก้วมัน หนองแซง แห้วมัน แก้วดำ และพิมเสนมัน พยายามบังคับให้ออกผลนอกฤดู ทั้งๆ ที่ปฏิบัติตามคำแนะนำผู้รู้มากมายแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

โดยวิธีที่เคยทำคือ หลังเก็บเกี่ยวผลแล้ว บำรุงต้นด้วยปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-16 พร้อมกับเสริมด้วยปุ๋ยน้ำหมักทางดิน กะว่าให้ต้นมะม่วงสะสมอาหารพอสมควร จึงตัดกิ่งจนโกร๋นแล้วบำรุงต่อจนแตกใบอ่อน เป็นเพสลาด 2 รุ่น จากนั้นจึงราดสาร “พาโคลบิวทราโซล” รอจน 2 เดือน จึงฉีดด้วย “ไธโอยูเรีย” แต่มะม่วงยังแตกใบอ่อนอีก ระยะนี้ฝนตกหนัก รออีก 3 เดือน ก็ไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น

จากนั้นก็ฉีด “ไธโอยูเรีย” ซ้ำอีก คราวนี้ยังแตกใบอ่อนอีกแต่ไม่มากเหมือนครั้งก่อน ก็เลยใช้ปุ๋ย สูตร 8-24-24 ฉีดอีก 2 ครั้ง แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เพราะอะไรถึงทำตามตอนข้างต้นแล้วจึงไม่ได้ผล?

กรณีนี้ อ.ประเวศ แสงเพชร อดีตข้าราชการกรมวิชาการ แห่งคอลัมน์ “หมอเกษตรทองกวาว” นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากหลายสาเหตุคือ การตัดแต่งกิ่งจนโกร๋น จะทำให้ใบเหลือน้อย มีเวลาสะสมอาหารที่เกิดจากขบวนการสังเคราะห์แสงเกิดขึ้นในระยะสั้น แม้จะบำรุงอย่างไรก็ตามต้นมะม่วงก็ยังไม่พร้อมให้ผลผลิต แม้ถูกบังคับด้วยสารเคมีก็ตาม ดังนั้น ควรแก้ไขการตัดแต่งกิ่งหลังเก็บผลผลิตด้วยการตัดแต่งเฉพาะกิ่งกระโดงที่เกิดภายในทรงพุ่ม กิ่งแห้ง กิ่งเป็นโรค หรือกิ่งที่ไม่สมบูรณ์เท่านั้น เพื่อให้แสงแดดส่องเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้ อีกทั้งป้องกันไม่ให้กิ่งที่ไม่สร้างผลผลิต นำอาหารไปใช้โดยเปล่าประโยชน์

อีกประเด็นน้ำ กรณีที่ระดับน้ำใต้ดินตื้นเกินไปก็ทำให้เกิดปัญหาได้ คือระยะที่เตรียมติดดอกออกผล หากได้รับน้ำมากเกินไปจะทำให้ตาดอกเปลี่ยนเป็นตาใบทันที จึงต้องพูนโคน หรือก่อนปลูกต้องพูนดินให้สูงขึ้น และควรเซาะร่องระบายน้ำรอบทรงพุ่มป้องกันน้ำท่วมขังขณะรดน้ำหรือหลังจากฝนตกหนัก

นอกจากนี้ “พันธุ์” ของมะม่วงนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่ง พันธุ์มะม่วงที่ตอบสนองต่อการใช้สารบังคับได้ดี เช่น พันธุ์น้ำดอกไม้ ฟ้าลั่น หนองแซง แห้ว และ เจ้าคุณทิพย์ ส่วนเขียวเสวย แรด และหนังกลางวัน ตอบสนองต่อการใช้สารบังคับค่อนข้างต่ำ

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ.2564