“เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ” พารวย ในสวนส้มโอทับทิมสยาม ปากพนัง

“ส้มโอทับทิมสยาม” ไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญของอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสินค้าขายดีที่ได้รับความนิยมสูงในกลุ่มคนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีน ที่ชื่นชอบส้มโอจากประเทศไทยมากเป็นพิเศษ เนื่องจากส้มโอทับทิมสยาม มีเนื้อแดง รสหวานฉ่ำ อร่อย น่ารับประทาน แถมยังเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพที่มีสรรพคุณทางยา มีวิตามินซีสูง สาวจีนจึงนิยมรับประทานเพื่อควบคุมน้ำหนัก ดังนั้น ส้มโอทับทิมสยาม จึงมีโอกาสส่งออกไปขายในประเทศจีนเพิ่มขึ้นทุกปี

ส้มโอทับทิมสยาม มีเนื้อแดง รสหวานฉ่ำ อร่อย

ในปี 2561 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนทุนกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยภายใต้โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เพื่อการใช้ประโยชน์โดยเครือข่ายวิจัยภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ 2560 ให้กับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ให้ดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสำหรับสวนส้มโอทับทิมสยาม ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อจัดการองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการสวนส้มโอทับทิมสยามและจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับองค์ความรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายในระดับผู้นำในพื้นที่

รศ.ดร. กฤษณะเดช โชว์ผลงานวิจัยต่อ ผู้บริหาร วช.

รศ.ดร. กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี และ รศ.ดร. มัลลิกา เจริญสุธาสินี แห่งศูนย์ความเป็นเลิศด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ซึ่งเป็นทีมคณะนักวิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอทับทิมสยาม พร้อมกับถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสำหรับส้มโอทับทิมสยามและระบบประมวลผลเทคโนโลยีสารสนเทศ บนคลาวด์ (Cloud) เพื่อนำมาแสดงแบบเว็บท่าเพื่อช่วยเกษตรกรสวนส้มโอทับทิมสยามในการตัดสินใจให้น้ำเพื่อการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่และก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรสวนส้มโอทับทิมสยาม

 วิธีปลูกส้มโอทับทิมสยาม ให้รอด 

หากต้องการปลูกส้มโอทับทิมสยามให้ประสบความสำเร็จ ต้องเริ่มต้นจากการคัดเลือกกิ่งพันธุ์ส้มโอที่เหมาะสม โดยเลือกจากต้นแม่พันธุ์ที่มีอายุ 3 ปีขึ้นไป ที่ให้ผลแล้ว มีผลดก มีรสชาติดี เลือกจากต้นที่มีความเจริญเติบโตแข็งแรง มีโรคและแมลงน้อยที่สุด เลือกกิ่งกลม ไม่เป็นเหลี่ยม เลือกกิ่งที่มีใบเป็นเพสลาด ไม่ควรเลือกกิ่งอ่อนหรือแก่เกินไป เพราะทำให้ตายง่ายและโตช้า

นอกจากนี้ ดิน ก็มีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้มีชัยไปกว่าครึ่ง ยิ่งปลูกในดินดี ที่มีส่วนผสมของดินเหนียว 70% มีค่า pH 5.2-7.2 จะช่วยให้ต้นส้มโอทับทิมสยามเจริญเติบโตได้ดี หากดินมีค่า pH น้อยกว่านี้ จำเป็นต้องปรับสภาพโดยใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยชีวภาพ

สวนส้มโอทับทิมสยามในพื้นที่อำเภอปากพนัง มีสภาพเป็นที่ลุ่ม เกษตรกรจึงนิยมปลูกโดยขุดยกร่องสวน กว้าง 6 เมตร สำหรับปลูกแบบแถวเดี่ยว หรือขุดร่องสวน กว้าง 14 เมตร สำหรับการปลูกแบบแถวคู่ และเว้นร่องน้ำให้กว้าง 2 เมตร ลึก 1 เมตร

แปลงปลูกส้มโอทับทิมสยามในพื้นที่อำเภอปากพนัง

เกษตรกรนิยมปลูกส้มโอทับทิมสยามโดยใช้กิ่งตอน มีทรงพุ่มค่อนข้างแผ่กว้าง 6-8 เมตร ติดผลตรงปลายกิ่ง กำหนดระยะปลูกระหว่างแถว 8 เมตร และระยะระหว่างต้น 6 เมตร ทำให้ปลูกได้ 33 ต้น ต่อไร่ การปลูกส้มโอทับทิมสยามจากกิ่งตอนทำให้มีรากน้อยและการกระจายของรากมีจำกัด ทำให้ต้องขุดหลุมขนาดใหญ่ ดินร่วนโปร่ง ระบายน้ำและอากาศดี มีธาตุอาหารที่เหมาะสม ขุดหลุมปลูกกว้าง 1x1x1 เมตร ตากหลุมไว้ 1 เดือน เพื่อให้แสงแดดฆ่าเชื้อโรคและทำลายวัชพืช หลังจากนั้น กลบหลุมโดยผสมหน้าดินที่ขุดขึ้นมากับปุ๋ยคอกเก่า จำนวน 10 กิโลกรัม และปุ๋ยหินฟอสเฟต ประมาณ 500 กรัม ต่อหลุม คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน เพื่อใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก

หลังปลูกให้ใช้ไม้ปักและผูกเชือกยึดกิ่งพันธุ์ ประมาณ 1 ปี เพื่อป้องกันลมพัดโยก คลุมดินบริเวณโคนต้นด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชุ่มชื้น รดน้ำให้ชุ่มและทำร่มเงาในช่วง 1-2 เดือนแรก ประมาณ 15-20 วัน ต้นส้มโอทับทิมสยามที่ปลูกจะแตกยอด หากเป็นไปได้ควรปลูกในฤดูแล้ง เพราะต้นส้มโอแตกยอดเร็วกว่าฤดูฝน เนื่องจากต้นส้มโอทับทิมสยามต้องการแสงแดด 100%

ต้นส้มโอทับทิมสยาม

ต้นส้มโอทับทิมสยาม อายุ 1-2 เดือน ไม่ต้องให้ปุ๋ย หลังปลูก 2-5 เดือน ให้ปุ๋ยชีวภาพ เมื่ออายุ 6 เดือน ให้ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 เดือนละ 1 ครั้ง เมื่อต้นส้มโออายุ 1 ปี ต้นส้มโอจะเติบโตแตกกิ่งก้านสาขา ค่อยให้ปุ๋ย สูตร 40-0-0 ผสมกับปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 สัดส่วน 1:2 ในอัตราส่วน 200 กรัม ต่อต้น ทุกๆ 3 เดือน สลับการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ เมื่อต้นส้มโอทับทิมสยาม อายุ 2-3 ปี ใส่ปุ๋ยเคมีสูตรดังกล่าวข้างต้น 0.5-1 กิโลกรัม ต่อต้น ทุกๆ 3 เดือน

เมื่อต้นส้มโออายุ 4 ปี เริ่มให้ผลผลิตในช่วงแรกให้ใส่ปุ๋ย 15-15-15 ในอัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อต้น ทุกๆ 2 เดือน หรือดูขนาดทรงพุ่มเป็นหลักในการให้ปุ๋ย หลังจากต้นส้มโอติดผลแล้ว ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 อัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น  เพื่อเพิ่มขนาดของผลและก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 1-2 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 14-14-21 อัตรา 2-3 กิโลกรัม ต่อต้น เพื่อเพิ่มความหวานของผลส้มโอทับทิมสยาม

ผลส้มโอทับทิมสยาม

ก่อนการเก็บผลส้มโอทับทิมสยาม เกษตรกรสวนส้มโอจะงดการให้น้ำ เพื่อให้ผลส้มโอทับทิมสยามมีรสชาติหวานขึ้นเป็นระยะเวลา 10-14 วัน เพื่อให้ได้ส้มโอทับทิมสยามรสหวานจัดซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบัน เกษตรกรสามารถคัดขนาดผลส้มโอทับทิมสยามออกขายเป็น 4 เบอร์ ได้แก่ เบอร์ 1 เส้นรอบผล 19 นิ้วขึ้นไป ราคา 280 บาท  เบอร์ 2 ขนาดเส้นรอบผล 18-19 นิ้ว ราคา 220 บาท  เบอร์ 3 ขนาดเส้นรอบผล 17-18 นิ้ว ราคา 200 บาท และ เบอร์ 4  ขนาดเส้นรอบผล 16-17 นิ้ว ราคา 180 บาท

ทั้งนี้ นักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้คำนวณพื้นที่ปลูกส้มโอทับทิมสยาม จำนวน 1 ไร่ พบว่า มีค่าใช้จ่ายต่อไร่ เฉลี่ย 36,250 บาท แบ่งเป็นค่าขุดร่องน้ำ 4×2 เมตร หน้าดินกว้าง 10-20 เมตร เพื่อปลูกจำนวน 2 แถว คิดเป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท ค่ากิ่งพันธุ์ 35 กิ่ง ต่อไร่ จำนวน 5,250 บาท ค่าวางระบบน้ำ 6,000 บาท ค่าดูแลรักษา 5,000 บาท และค่าปุ๋ย ค่ายา อีกไร่ละ 10,000 บาท

ระบบการเก็บข้อมูลสภาพอากาศ อุณหภูมิ และความชื้นในดิน

เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม

เกษตรอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทฟาร์ม (Smart Farming) เป็นการทำเกษตรรูปแบบใหม่ที่จะทำให้การทำไร่นามีภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการนำข้อมูลของภูมิอากาศทั้งในระดับพื้นที่ย่อยระดับไร่ และระดับมหภาคมาใช้ในการบริหารจัดการ ดูแลพื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศที่เกิดขึ้น รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

สำหรับอุปกรณ์ที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นำมาใช้ในสวนส้มโอทับทิมสยามครั้งนี้ ได้แก่ การติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ตรวจวัดอากาศ ตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นในดิน รวมไปถึงระบบประมวลผลเทคโนโลยีสารสนเทศบนคลาวด์ (Cloud) แสดงผลแบบเว็บท่าทำให้เกษตรกรสวนส้มโอทับทิมสยามสามารถตัดสินใจให้น้ำเพื่อการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่และก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิต

รศ.ดร. กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี

รศ.ดร. กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี นักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) กล่าวว่า งานด้านการเกษตรแม่นยำที่เป็นกรณีศึกษาครั้งนี้ มุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความชื้นดินกับความหวานของผลส้มโอที่เหมาะสมในการเก็บผลผลิต ซึ่งจากการสังเกตการณ์และการทดลองของชาวสวนส้มโอทับทิมสยาม พบว่า เนื้อส้มโอจะหวานขึ้นเมื่อความชื้นในดินลดลงถึงระดับหนึ่ง

อุปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้ทดสอบในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย เซ็นเซอร์วัดค่าความกดอากาศ ตัววัดความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศได้ ถังวัดปริมาณน้ำฝน เซ็นเซอร์วัดค่าการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ และค่าดัชนีอัลตราไวโอเล็ต เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิห้อง เซ็นเซอร์วัดความเร็วลม และอุปกรณ์ยังมีแผงพลังงานแสงอาทิตย์ในการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์สำหรับการต่อเข้ากับเครื่องตรวจวัดที่สามารถสำรองไฟไว้ใช้ได้ในช่วงไม่มีแสงอาทิตย์ไม่น้อยกว่า 8 เดือน นอกจากนี้เกษตรกรสามารถดาวน์โหลดข้อมูลทั้งแบบ USB และแบบสายแลน (LAN line) และระบบไร้สายได้

สถานีตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติจะถูกติดตั้งไว้ในสวนส้มโอทับทิมสยาม จะตรวจวัดสภาพอากาศทุก 5 นาที และส่งข้อมูลดังกล่าว แบบไร้สายมายังอุปกรณ์รับสัญญาณ (Local Console) ซึ่งเชื่อมต่ออยู่กับอุปกรณ์กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต (Router) และส่งต่อไปยังคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (Portable Computer) ตามลำดับ นอกจากนี้ ข้อมูลสภาพอากาศดังกล่าว ยังถูกส่งสัญญาณผ่านเครือข่าย 3G (Cellular Console) ไปเก็บรวบรวมเป็นฐานข้อมูลสภาพอากาศระยะยาวบนคลาวด์ (Cloud) เพื่อที่เกษตรกรสามารถดูข้อมูลย้อนหลัง เพื่อวิเคราะห์การตัดสินใจในการจัดการสวนส้มโอทับทิมสยามได้

โชว์การทำงานสถานีตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ

จากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ นำเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำมาใช้ โดยติดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศอัตโนมัติ สถานีวัดอุณหภูมิและความชื้นในดินแบบแม่นยำและระบบกล้องติดตาม นำข้อมูลเชิงสภาพอากาศที่วัดได้นี้มาหาองค์ความรู้ พัฒนาระบบเว็บท่าที่สามารถแสดงข้อมูลสภาพอากาศและดินแบบทันที เพื่อนำไปสู่การทำเกษตรแม่นยำของสวนส้มโอทับทิมสยาม ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตส้มโอทับทิมสยามคุณภาพรสชาติหวานจัด เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และลดการสูญเสียของผลผลิตแก้ปัญหาผลส้มโอแตกก่อนการเก็บเกี่ยว

สำหรับผู้อ่านที่สนใจ เทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์ม และระบบเกษตรแม่นยำของสวนส้มโอทับทิมสยาม สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กับ รศ.ดร. กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี นักวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) ได้ทางอีเมล [email protected] หรือทาง https://www.facebook.com/ krisanadej