เมล็ดพันธุ์แปซิฟิคขาดตลาด “ชาวนา-ชาวไร่” หนีแล้งแห่ซื้อ

นายยงยุทธ ปานสูง ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์การปลูกข้าวโพดไร่เพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์ปีการเพาะปลูก 2559/60 นี้ว่า เกษตรกรได้ปลูกข้าวโพดไปแล้วประมาณ 60-70% โดยเริ่มปลูกมาตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในเขตลพบุรี สระบุรีปลูกไปแล้ว 70% ในภาคเหนือส่วนใหญ่จะปลูกช้ากว่า ซึ่งปลูกไปแล้ว 40% ส่วนนครราชสีมาในเขตอำเภอปากช่อง สีคิ้ว ด่านขุนทดจะปลูกกันตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และปีนี้พื้นที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังที่ตายจากภัยแล้งรุนแรงในฤดูแล้งที่ผ่านมา อาทิ ในเขตลพบุรี นครสวรรค์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และนครราชสีมาได้หันมาปลูกข้าวโพดแทนทำให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 15-20% ทำให้การขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% จึงทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมแปซิฟิค 339 ขาดตลาด เกษตรกรจึงหันไปใช้เมล็ดพันธุ์แปซิฟิค 999 ซูเปอร์, 777, และ 559 แทน

“ปีที่ผ่านมาแล้งมาก ฝนมาช้า ฝนตกประมาณปลายเดือน ก.ค. 2558 ส่วนปีนี้การขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดไร่จะมาลุ้นตลาดเกษตรกรที่ปลูกในไร่นาช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค.ตามที่ภาครัฐสนับสนุนการปลูกแทนข้าวนาปรังมากขึ้น ทั้งนี้ ข้าวโพดไร่จะมีการปลูกต่อปีประมาณ 4 ครอปหรือ 4 รุ่นคือรุ่นแรก ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่เป็นครอปใหญ่ แล้วมาเก็บเกี่ยวในเดือน ก.ย. ครอปนี้จะมีพื้นที่ปลูกถึง 60-70% ต่อปี รุ่นสองหรือครอปสอง ปลูกช่วงปลายเดือน ก.ค.-ส.ค. รุ่นสามเป็นรุ่นปลูกในนาข้าวปลูกช่วงปลายเดือน ต.ค.-ม.ค. และรุ่นสี่เป็นรุ่นปลูกริมน้ำหลังน้ำลด เช่น ปลูกริมแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่านเป็นต้น”

นายยงยุทธกล่าวต่อว่า ราคาข้าวปีนี้ไม่ดี หากไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ ราคาข้าวที่ชาวนาขายได้ส่วนใหญ่จะขาดทุน แต่การปลูกข้าวโพดลูกผสม มีต้นทุนการปลูกไร่ละ3,600 บาท ผลผลิตข้าวโพดสดที่สีแล้ว1,500 กก.ต่อไร่ขายหน้าไร่เมื่อหักความชื้นก็ยังเหลือ กก.ละ 6-6.50 บาทหรือขายได้ไร่ละ 9,000-10,000 บาท หักต้นทุนยังเหลือกำไรไร่ละ 6,000-7,000 บาท ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกแทนข้าวมากขึ้น โดยเฉพาะผลผลิตข้าวโพดที่ออกตลาดในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. พ่อค้าจะรุมซื้อกันมาก เพราะฤดูแล้ง สารอัลฟาทอกซินในข้าวโพดจะน้อยมาก

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์