ผู้เขียน | ศ.เกียรติคุณ ดร.สรสิทธิ์ วัชโรทยาน มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
---|---|
เผยแพร่ |
มีคำพูดกันจนติดปากว่า ถ้าใช้ปุ๋ยเคมีติดต่อกันนานๆ ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะกลับลดลงเรื่อยๆ เพราะปุ๋ยเคมีทำให้ดินเสีย เช่น ทำให้ดินแข็งไถพรวนยาก พืชกินปุ๋ยได้น้อยลง จึงไม่เติบโตดีเท่าที่ควร ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นที่เคยสูงก็จะลดลงเรื่อยๆ ทำให้ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เสมือนกับการใช้ปุ๋ยเคมีนั้นเป็นยาเสพติด ฯลฯ
คำกล่าวนี้มีข้อเท็จจริงมากแค่ไหน?
ปัญหาดินแข็งและแน่นทึบ
เกิดจากอะไรได้บ้าง?
ดินที่ปลูกพืชได้ผลผลิตสูงแต่เดิมนั้นเป็นดินดี เพราะมีดินชั้นบนเป็นดินโปร่งร่วนซุย และอุดมสมบูรณ์ เมื่อเราไถพรวนดินเพาะปลูกพืชอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมานาน โดยไม่มีการปรับปรุงบํารุงดินเลยนั้น ดินก็จะเสื่อมสภาพ กลายเป็นดินเลว พืชผลที่ได้จากการเพาะปลูกจะลดลงอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตาม ปกติของดินกับการเพาะปลูก
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากการเตรียมดินเพื่อการเพาะปลูก แต่ละครั้งต้องมีการไถพรวนดิน สภาพโล่ง เตียนเมื่อมีฝนตกในช่วงนี้ ก่อนพืชที่ปลูกจะปกคลุมหน้าดิน จะเกิดการชะล้างพังทลายหน้าดิน โดยฝนที่ตกแต่ละครั้งที่เรียกว่าการชะกร่อน ทําให้หน้าดินสูญหายไปกับน้ำที่ไหลบ่าผ่านหน้าดินอยู่เรื่อยๆ นานเข้าดินชั้นบนที่เป็นหน้าดินดั้งเดิมซึ่งเป็นดินดี จะถูกชะกร่อนหายไปจนหมด ดินชั้นล่างซึ่งปกติจะเป็นชั้นดินที่แน่นทึบจะโผล่ขึ้นมาเป็นดินชั้นบนแทน จึงทําให้เห็นว่าหน้าดินมีสภาพแข็งและแน่นทึบขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว
สรุปก็คือ ดินแข็งเกิดจากการไถพรวนเพื่อปลูกพืช ตามด้วยการชะล้างหน้าดินออกไปโดยน้ำฝน นี่คือ สัจธรรมของดินการเกษตรกับการเพาะปลูกพืช ที่ไม่มีการปรับปรุงบํารุงดินและจัดการดินที่ดี
ใส่่ปุ๋ยเคมี…
ยิ่งใส่ต้องยิ่งเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ?
การสูญเสียหน้าดินไปนั้น นอกจากสูญเสียธาตุอาหารไปแล้ว ดินยังสูญเสียสภาพทางกายภาพ และทางเคมีที่ดีไปด้วย
ในขณะที่ดินกําลังเสื่อมสภาพลง ปัญหาเรื่องการขาดธาตุอาหาร หรือความอุดสมบูรณ์ของดินลดลง จะเกิดขึ้นก่อนเพื่อน และเป็นข้อจํากัดเป็นอันดับแรก เกษตรกรจึงมักใส่ปุ๋ย โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีเป็นอันดับแรก เพื่อแก้ปัญหา
เมื่อใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มธาตุอาหารที่ขาดแคลนให้พอเพียงแล้วก็ปรากฏผลผลิตที่เคยลดต่ำอยู่เรื่อยๆ นั้น มีผลผลิตสูงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เลยกลายเป็นความเคยชินและเข้าใจผิดของเกษตรกร ว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นปัจจัยเดียวในการแก้ไขดินเลวให้เป็นดินดี จึงยึดติดอยู่กับการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว ติดต่อกันทุกๆ ปี จนต่อมาก็พบว่าผลผลิตตอบสนองที่เคยได้รับจากการใช้ปุ๋ยเคมีนั้นจะค่อยๆ ลดลง บางคนก็จะต้องใส่ปุ๋ยเคมีในอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรักษาระดับผลผลิตให้สูงเท่าเดิม จึงดูเสมือนว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นเสมือนยาเสพติด
ข้อเท็จจริงที่เป็นเช่นนี้ อธิบายได้ว่า ขณะที่การใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มธาตุอาหารให้กับดินอย่างเพียงพอนั้น ปัจจัยตัวอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบของดินดี หรือที่เรียกว่า ผลิตภาพของดิน (Soil Productivity) นั้นยังมีปัจจัยตัวอื่นๆ อีกหลายปัจจัยที่สําคัญคือ สภาพทางกายภาพของดิน และสภาพทางเคมีของดินได้เสื่อมโทรมลงไปในระดับที่รุนแรง มากกว่าการขาดแคลนธาตุอาหาร
ยกตัวอย่างเช่น สภาพทางกายภาพของดินซึ่งได้แก่ ความโปร่ง ร่วนซุย การระบายถ่ายเทอากาศและน้ำในดิน ได้เสื่อมสภาพไปกลายเป็นดินที่แข็งแน่นทึบ การระบายถ่ายเทอากาศและนํ้าเลวลง ซึ่งเป็นผลต่อการเจริญเติบโตของราก การดูดกินน้ำ และธาตุอาหารจากดิน ถึงแม้จะมีอยู่ในดินเป็นจํานวนมาก รากก็ดูดกินได้ไม่เต็มที่ ทําให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหารของปุ๋ยที่ใส่ให้โดยเปล่าประโยชน์ หรือในบางกรณีสภาพทางเคมีของดินก็เสื่อมลงด้วย เช่น ดินเป็นกรดมากไป จนเป็นอุปสรรคต่อการดูดกินธาตุอาหาร และน้ำของราก เพราะมีธาตุบางธาตุในดินเกิดเป็นสารพิษขึ้นกับรากพืช เป็นต้น
ปัจจัยทางกายภาพของดิน เช่น ดินแข็งและแน่นขึ้นมาก ปัจจัยทางเคมี ดินเป็นกรดรุนแรงขึ้น ทั้งหลาย ทั้งปวงนี้จะเกิดขึ้นเป็นข้อจํากัด ในอันดับต่อมา ซึ่งจะต้องแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมก่อนหรือพร้อมๆ กับการใช้ปุ๋ยเคมี จึงจะทําให้การตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมีที่มีประสิทธิภาพ
สิ่งที่กล่าวมานี้ โดยทั่วไปเกษตรกรไม่ทราบ จึงไม่ได้ให้ความสําคัญเต็มที่ในการปรับปรุงสภาพทางกายภาพและทางเคมีของดินร่วมไปกับการใช้ปุ๋ยเคมี จึงทําให้ผลที่ได้จากการใช้ปุ๋ยเคมีไม่ได้ผลเต็มที่อย่างที่เคยได้รับอีกต่อไป จึงเสมือนว่าเมื่อใช้ปุ๋ยเคมีติดต่อกันนานปีเข้า ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้นลดลงเรื่อยๆ
สรุปก็คือ การใช้ปุ๋ยเคมีที่ไม่ได้ผลเต็มที่นั้น ก็เนื่องมาจากสภาพทางกายภาพของดิน และหรือสภาพทางเคมีของดินเสื่อมโทรมมากจนพืชไม่สามารถตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ยเคมีได้อย่างเต็มที่นั่นเอง
ปุ๋ยเคมีทําให้ดินเป็น “กรด” จริงหรือไม่?!
อีกประเด็นหนึ่งที่มักจะนํามาโจมตีปุ๋ยเคมีอยู่เสมอๆ ก็คือ ปุ๋ยเคมีทําให้ดินเป็นกรด เป็นความจริงที่ว่าการใช้ปุ๋ยเคมีนานเข้าจะทําให้ดินเป็นกรดได้ แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ปุ๋ยเคมีทุกชนิดทําให้ดินเป็นกรด ปุ๋ยเคมีพวกที่ให้ธาตุไนโตรเจนเท่านั้น และในกลุ่มของปุ๋ยในโตรเจนก็เพียงปุ๋ยพวกแอมโมเนียม เช่น แอมโมเนียซัลเฟต และ ยูเรีย เท่านั้นที่ทําให้ดินเป็นกรด
ส่วนปุ๋ยไนโตรเจนพวกไนเตรต เช่น แคลเซียมไนเตรต ไม่ทําให้ดินเป็นกรด และกลับทําให้ดินเป็นกลาง เหมาะสําหรับใช้กับที่เป็นกรด เพราะจะทําให้ดินมีสภาพใกล้เป็นกลางขึ้นเรื่อยๆ
สําหรับปุ๋ยฟอสเฟตและปุ๋ยโพแทสเซียม ไม่มีผลทําให้ดินเป็นกรดแต่อย่างใด ดังนั้น การใช้ปุ๋ยเคมีจึงไม่จําเป็นต้องทําให้ดินเป็นกรดเพิ่มขึ้นเสมอไป
อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนที่เป็นพวกแอมโมเนียมและยูเรีย และรู้ว่าต่อไปนานปีเข้าดินจะเป็นกรดมากขึ้น ผู้ใช้ปุ๋ยก็สามารถแก้ไขและป้องกันได้ กล่าวคือ มีการวัด pH ของดินอย่างสม่ำเสมอ ถ้า pH ของดินมีค่าต่ำกว่า 4.5 เกษตรกรก็จะต้องปรับสภาพความเป็นกรดของดินด้วยการใช้ปูน เช่น ปูนมาร์ล และปูนขาวในอัตราเหมาะสมเป็นประจําทุกปี แต่ถ้า pH ของดินมีค่าสูงกว่า 4.5 สภาพความเป็นกรดของดินจะไม่เป็นผลในทางลบต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่อย่างใด
อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ หันมาใช้ปุ๋ยไนโตรเจน พวกแคลเซียมไนเตรต และโพแทสเซียมไนเตรต แทนพวกแอมโมเนียมและยูเรียก็สามารถแก้ปัญหาได้